|

วิพากษ์สถาบันสอน MBA คือต้นตอ พฤติการณ์ฉ้อฉลในแวดวงธุรกิจวันนี้
ผู้จัดการรายสัปดาห์(27 กุมภาพันธ์ 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
สถาบันวิชาบริหารธุรกิจของโลกตะวันตก ถูกตั้งข้อหาฉกาจฉกรรจ์ ว่าต้องเป็นผู้ร่วมรับผิดชอบอย่างสำคัญด้วยเจ้าหนึ่ง ต่อการบริหารจัดการอย่างผิดพลาดของบรรดาบริษัทต่างๆ ในทุกวันนี้
อีโคโนมิสต์ นิตยสารรายสัปดาห์แนวเศรษฐกิจการเมืองทรงอิทธิพล รายงานเรื่องนี้เอาไว้ว่า ในวารสารทางวิชาการ อะคาเดมี ออฟ แมเนจเมนต์ เลิร์นนิง แอนด์ เอยูเคชั่น ฉบับเร็วๆ นี้ จะมีการตีพิมพ์บทความเขียนโดย สุมันตรา โกชาล ซึ่งกล่าวหากันตรงๆ ว่า พฤติการณ์ในการบริหารธุรกิจชนิดหนักข้อเลวร้ายที่สุดซึ่งเกิดขึ้นในระยะหลังๆ มานี้นั้น จำนวนมากทีเดียวมีรากเหง้ามาจากชุดแนวความคิดที่ก่อกำเนิดขึ้นจากนักวิชาการในบรรดาบิสซิเนสสคูลช่วง 30 ปีที่ผ่านมา
ตัวโกชาลเองก็เคยเป็นนักวิชาการในแวดวงนี้มาก่อน นั่นคือ เขาเป็นศาสตราจารย์อยู่ที่ ลอนดอน บิสซิเนส สคูล จวบจนกระทั่งสิ้นชีวิตลงเมื่อเกือบ 1 ปีก่อน สิริอายุรวม 55 ปี
ในบทความซึ่งตีพิมพ์หลังจากเขาวายชนม์ชิ้นนี้ ศาสตราจารย์โกชาลเชื่อว่า ความมุ่งมาตรปรารถนาของบรรดาบิสซิเนสสคูล ที่จะทำให้การศึกษาเรื่องธุรกิจมีความเป็นศาสตร์ “แบบเดียวกับวิชาฟิสิกส์” ทำให้นักวิชาการในแวดวงนี้หันมาสร้างทฤษฎีบริหารของพวกเขา โดยวางอยู่บนสมมุติฐานและเทคนิคของวิชาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งได้เคยถูกตั้งสมญาว่าเป็น “ศาสตร์แห่งความหดหู่” โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมมุติฐานและเทคนิคของสำนักเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยชิคาโก ตลอดจน มิลตัน ฟรีดแมน ผู้นำทางปัญญาของสำนักนี้
สมมุติฐานและเทคนิคดังกล่าวมีอาทิ การสร้างโมเดลพฤติกรรมมนุษย์ปัจเจกบุคคลซึ่งรวบรัดและตื้นเขินเกินไป (เช่น เห็นว่าปัจเจกบุคคลเป็น “มนุษย์เศรษฐกิจ” homo economicus ที่ทำอะไรด้วยความมีเหตุมีผล มุ่งหาประโยชน์ใส่ตน และมุ่งหาผลประโยชน์สูงสุด) หรือโมเดลพฤติกรรมบรรษัท ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน (เช่น แนวคิดที่ว่าเป้าหมายของกิจการหนึ่งๆ ควรจะเป็นการสร้างคุณค่าสูงที่สุดให้แก่ผู้ถือหุ้น)
บรรดาสมมุติฐานเหล่านี้ แม้ในทัศนะของโกชาลแล้วจะเห็นว่าเต็มไปด้วยความผิดพลาดบกพร่อง แต่ก็สามารถช่วยให้เหล่านักวิชาการในสถาบันวิชาบริหารธุรกิจ พัฒนาบรรดาทฤษฎีแม่บทเกี่ยวกับการบริหารจัดการ ซึ่งสนับสนุนด้วยโมเดลทางคณิตศาสตร์อันอลังการ์ และประกอบด้วยการวิเคราะห์เชิงประจักษ์ซึ่งดูเป็นวิทยาศาสตร์ จนกระทั่งทำให้วิชาของพวกเขาได้รับความยอมรับนับถือในทางวิชาการ ทว่าแท้จริงแล้วเป็นเพียงความรู้ซึ่งเกิดจากการเสแสร้าง หาใช่ความรู้จริงๆ ไม่
บทความของโกชาลมุ่งวิพากษ์เป็นพิเศษต่อทฤษฎีการบริหารซึ่งเกี่ยวข้องกับศาสตราจารย์ 2 คนของคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้แก่ ไมเคิล เจนเสน กับ ไมเคิล พอร์เตอร์
โกชาลบอกว่า ทฤษฎีตัวแทน (agency theory) ซึ่งเจนเสนพัฒนาขึ้นมา ได้ส่งเสริมให้บรรดาบิสซิเนสสคูลสอน “นักศึกษาของเราว่าไม่สามารถไว้วางใจให้พวกผู้จัดการทำงานของพวกเขาได้” ส่วนทฤษฎีกรอบโครงพลังทั้ง 5 (five forces framework) ที่พอร์เตอร์เสนอขึ้นมา ก็ดูจะมุ่ง “บ่งชี้ว่าบริษัททั้งหลายจักต้องขันแข่งไม่เฉพาะแต่กับคู่แข่งของพวกเขาเท่านั้น หากยังต้องแข่งกับซัปพลายเออร์, ลูกค้า, ลูกจ้าง, และผู้คุมกฎของพวกเขาอีกด้วย”
ส่วนซึ่งน่าห่วงเป็นพิเศษของทฤษฎีเหล่านี้ในความเห็นของโกชาลก็คือ การที่ไม่ได้พูดถึง “บทบาทของความมุ่งมั่นตั้งใจหรือการเลือกของมนุษย์” และไม่เพียงทฤษฎีดังกล่าวจะอวดอ้างอย่างผิดๆ ว่าเป็นวิทยาศาสตร์เท่านั้น หากการสอนเรื่องเหล่านี้ก็ยังจะทำให้สิ่งที่ทฤษฎีนี้กล่าวถึงกลายเป็นความจริงขึ้นมาด้วย
ตัวอย่างเช่น นักศึกษาบริหารธุรกิจเรียนมาว่า ไม่สามารถไว้วางใจบรรดาผู้จัดการได้เลย ดังนั้นเมื่อถึงคราวที่พวกเขาขึ้นเป็นผู้จัดการเสียเอง พวกเขาก็พร้อมที่จะแสดงพฤติกรรมอันไว้วางใจไม่ได้ออกมา ชนิดไม่รู้สึกสำนึกถึงความรับผิดชอบทางศีลธรรมใดๆ ด้วยเหตุนี้เองจึงได้เกิดกรณีทุจริตคดโกงฉาวโฉ่ในบริษัทยักษ์ใหญ่ อาทิ เอนรอน ซึ่งให้ความสำคัญมากกับพวกจบเอ็มบีเอ และเมื่อเป็นเช่นนั้น จึงอาจสรุปต่อไปว่า กิจการแบบเอนรอนในอนาคตก็อาจจะถูกสร้างขึ้นมาอีก ด้วยฝีมือของเหล่ามหาบัณฑิตเอ็มบีเอที่จบออกมาในรุ่นปัจจุบัน
โกชาลมิได้เป็นนักวิชาการระดับเฮฟวีเวตเพียงท่านเดียวซึ่งออกมาสารภาพบาปเช่นนี้ เจฟฟรีย์ เฟฟเฟอร์ แห่งบัณฑิตวิทยาลัยบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ถึงกับเขียนไว้ในวารสารฉบับเดียวกันว่า ข้อบกพร่องในบทความของโกซาลคือ เขา “กล่าวเอาไว้น้อยเกินไปเกี่ยวกับศักยภาพทางขาลงจากการพร่ำสอนและยอมรับภาษา สมมุติฐาน และทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์”
เพื่อสนับสนุนสิ่งที่เขาพูด เฟฟเฟอร์ได้อ้างอิงผลการศึกษาในปี 2000 ซึ่งพบว่า ความเกี่ยวพันระหว่างขนาดของบริษัทกับจำนวนกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดระเบียบกฎเกณฑ์ด้านสุขภาพและความปลอดภัย จะยิ่งเป็นความจริงขึ้นทุกที เมื่อเปอร์เซ็นต์ของพวกผู้บริหารระดับท็อปที่จบเอ็มบีเอในบริษัทนั้นๆ มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น
หรือในหนังสือซึ่งตีพิมพ์เมื่อปีที่แล้วเรื่อง “Managers not MBAs” เฮนรี มินต์ซเบิร์ก ศาสตราจารย์ด้านบริหารธุรกิจชาวแคนาดา และก็เป็นนักวิพากษ์ปริญญาบัตรนี้มานานช้าแล้ว เขียนเอาไว้ว่า “เอ็มบีเอฝึกอบรมคนที่ผิดพลาด ด้วยวิธีการที่ผิดพลาด ซึ่งได้ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ผิดพลาด”
หลังจากเสนอความเห็นของฝ่ายวิพากษ์แล้ว อีโคโนมิสต์ก็ได้แสดงทัศนะของฝ่ายสนับสนุนเอ็มบีเอบ้าง
อีโคโนมิสต์กล่าวว่า ไม่น่าประหลาดใจที่บิสซิเนสสคูลจำนวนมากมายออกมาปฏิเสธไม่ยอมรับข้อกล่าวหาเหล่านี้ และขณะที่เอนรอนเต็มไปด้วยผู้จบเอ็มบีเอ ตลอดจนนำโดย เจฟฟรีย์ สกิลลิ่ง บุรุษผู้ใคร่จะให้ใครๆ รู้จักตัวเองในฐานะคนที่ได้คะแนนเกือบสูงสุดในหมู่ผู้จบเอ็มบีเอจากฮาร์วาร์ดรุ่นเดียวกัน พวกผู้บริหารระดับท็อปของบริษัทอื่นๆ จำนวนมากซึ่งเวลากำลังถูกฟ้องร้องดำเนินคดีด้วยข้อหาทุจริตฉ้อโกง ก็ไม่ได้มีปริญญาบัตรจากบิสซิเนสสคูลเลย อาทิ เบอร์นาร์ด เอบเบอร์ส อดีตซีอีโอของเวิลด์คอม, เดนนิส คอสซโลว์สกี้ อดีตบิ๊กบอสของไทโค อินเตอร์เนชั่นแนล, หรือ ริชาร์ด สครูชี อดีตนายใหญ่ของเฮลธ์เซาธ์
นอกจากนี้ ข้ออ้างของโกชาลที่ว่ากรณีผู้บริหารบริษัทจำนวนมากปฏิบัติฉ้อฉลจนเป็นเรื่องฉาวโฉ่ในช่วงหลังๆ มานี้ เป็นผลมาจากการที่เหล่าผู้จัดการกระตือรือล้นเกินไปที่จะสร้างมูลค่าสูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้นนั้น ก็ยังอาจโต้แย้งได้มากเนื่องจากข้อเท็จจริงที่ว่า หลายกรณีทีเดียวที่ผู้ถือหุ้นก็ตกเป็นเหยื่อของการฉ้อฉลด้วย
หรือที่เขากล่าวหาว่าบิสซิเนสสคูลพยายามทำให้ทฤษฎีทุกอย่างซึ่งสอนสั่งกันอยู่ของพวกตนกลายเป็นวิทยาศาสตร์ ก็ดูจะไม่ใช่ความจริงนัก ตัวอย่างเช่น วิธีการเรียนการสอนของฮาร์วาร์ดที่เน้นหยิบยกเอาตัวอย่างบริษัทต่างๆ มาเป็นกรณีศึกษา เพื่อให้นักศึกษาอภิปรายถกเถียงกัน ย่อมไม่สามารถจัดได้ว่าเป็นวิธีการวิทยาศาสตร์
สำหรับข้อวิจารณ์ที่ว่ามีการใช้สมมุติฐานทางเศรษฐศาสตร์ที่ตื้นเขินเกินไป แม้ดูจะเป็นข้อหาที่หนักแน่นพอสมควร (อันที่จริง กระทั่งที่มหาวิทยาลัยชิคาโกเอง เวลานี้ก็กำลังเสื่อมความศรัทธาในแนวคิดว่าด้วย homo economicus) แต่จากกรณีความล้มเหลวด้านบรรษัทภิบาลซึ่งเกิดขึ้นเร็วๆ นี้หลายๆ กรณี ก็จะพบว่าส่วนใหญ่ถูกมองว่า มันเป็นหลักฐานยืนยันทฤษฎีตัวแทน หาใช่คัดค้านไม่
กระนั้นก็ตาม เมื่อวินิจฉัยจากพฤติกรรมในช่วงหลังๆ แล้ว อย่างน้อยก็มีบิสซิเนสสคูลจำนวนมากที่เชื่อว่า เสียงวิพากษ์ที่ระดมใส่พวกเขานั้นมีมูลความจริงอยู่ ดังนั้น เราจึงเห็นฮาร์วาร์ด กับ สแตนฟอร์ด ตลอดจนอีกหลายๆ แห่ง เพิ่มวิชาจริยธรรมเข้ามาในหลักสูตรเอ็มบีเอ
ส่วนที่ทัค ซึ่งเป็นบิสซิเนสสคูลระดับท็อปในสังกัดดาร์ตเมาธ์ คอลเลจ มีภาควิชาต่างๆ ถึง 7 ภาควิชา อาทิ การตลาด ยุทธศาสตร์ และการเงิน ซึ่งสอนกรณีศึกษาเกี่ยวกับปัญหาที่ต้องตัดสินใจในเชิงศีลธรรม
ในปี 2003 สมาคมเพื่อความก้าวหน้าของสถาบันวิชาธุรกิจ (เอเอซีเอสบี) อันเป็นองค์กรที่บิสซิเนสสคูลระดับท็อปทุกแห่งในสหรัฐฯเป็นสมาชิก ได้ออกกฎเกณฑ์ใหม่ ให้มีวิชาจริยธรรมในหลักสูตรของบิสซิเนสสคูลทั้งหลาย ถึงแม้นักวิชาการหลายคนเรียกร้องให้เอเอซีเอสบีทำให้มากกว่านี้อีก นั่นคือ กำหนดให้สถาบันวิชาบริหารธุรกิจทั้งหลาย ต้องถือวิชาจริยธรรมธุรกิจเป็นวิชาบังคับ
อย่างไรก็ตาม การกระทำเหล่านี้เพียงพอที่จะทำให้บรรดาบริษัทตลอดจนเหล่าผู้จัดการมีจริยธรรมมากขึ้นแล้วหรือยัง นี่ดูจะเป็นคำถามซึ่งยังยากที่จะตอบ
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|