คิดก่อนลงทุน ไม่เจ็บตัว : ปั่นหุ้น...ไม่ใช่ปั่นไอติม จับไม่ได้แถมไล่ไม่ทัน!


ผู้จัดการรายสัปดาห์(11 สิงหาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

การตัดเส้นทาง "ไซฟอน"หรือ ยักยอกถ่ายเทเงินของผู้บริหาร ส่วนใหญ่ก็คือ ผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์(บจ.)โดยก.ล.ต. ที่ปรากฎข่าวอื้อฉาวเป็นระยะๆ ในช่วงที่ตลาดหุ้นค่อนข้างเหงาหงอย พลอยทำให้นักลงทุนหลายต่อหลายคนต้องเฝ้าจับพิรุธผู้บริหาร และธุรกรรมทางการเงินของบางบริษัทไม่วางตา...

พฤติกรรมที่มีนอกมีในอย่าง "ไซฟอน" ที่แล้วๆมา มีหลายรายการที่ผู้ควบคุมและกำกับดูแลใกล้ชิดอย่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ยอมรับว่า หากเทียบกับการ "ปั่นหุ้น" ถือว่า มีหลักฐานที่เห็นได้ง่ายกว่า

เพราะการ "ไซฟอน" นั้น จะแสดงผ่าน "การทำรายการระหว่างกัน" ในงบการเงิน ซึ่งหากมีหลักฐานชัดเจน ก็จะเอาคานเข้าไปสอด ก่อนบริษัทจะส่งเรื่องให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติอนุมัติหน้าตาเฉย

ชุดมือปราบก.ล.ต. ถึงกับยกกรณีบางบริษัทที่ "จับได้คาหนังคาเขา" เหมือนการปล้นกลางวันแสกๆ ก.ล.ต.จึงต้องบอกให้หยุด... ถ้าไม่...ก็จะตีฆ้องร้องป่าว ส่งสัญญาณให้รับรู้กันทั่วว่า "โจร" กำลังจะปล้น...

"ปั่นหุ้น ไม่ใช่ปั่นไอติม ที่เห็นกันเหยงๆ" ชาลี จันทนยิ่งยง รองเลขาธิการอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เปรียบเปรยการปั่นหุ้นที่ค่อนข้างจับผิดได้ยากกว่า "ไซฟอน"

ที่บอกว่ายากกว่า ส่วนสำคัญมาจาก พฤติกรรมการปั่นหุ้น หรือสร้างราคาหุ้นแบบผิดปกติจะมีทั้งแบบ "ถูกกฎหมาย" และ "ผิดกฎหมาย"

นั่นก็แปลว่า พฤติกรรมการสร้างราคาหุ้น ถึงแม้จะจับได้ไล่ทันก็อาจไม่เข้าข่ายผิดกฎหมาย เว้นแต่หลักฐานมีให้เห็น "ตำตา" และมากพอ

แบบที่เรียกว่า "ถูกกฎหมาย" ดูได้จาก นักลงทุนที่มีเงินในกระเป๋ามากๆ อยากเก็งกำไรหุ้นสักตัว ก็จะเข้าซื้อโดยไล่ราคาขึ้นไปเรื่อยๆ ไล่ขึ้นสูงจนคนแห่ตาม เพราะคิดว่าราคาหุ้นบริษัทนี้ควรจะสูง ก็จะเข้าซื้อในราคาแพงๆ เมื่อคนวิ่งเข้าซื้อมากขึ้น ราคาก็วิ่งขึ้น

แต่ในที่สุด พอคนแห่ซื้อในราคาสูงมากพอแล้ว นักลงทุนที่ไล่ราคาขึ้นสูงก็จะเทขายทิ้งเพื่อทำกำไร โดยทำวิธีเดียวกันนี้หลายๆรอบ กระบวนการไล่ราคาลักษณะนี้ ก.ล.ต. ระบุว่า ไม่ผิดกฎหมาย

ส่วนที่เข้าข่ายผิดกฎหมายก็คือ คนกลุ่มที่ซื้อหุ้นและขายหุ้นเป็นพวกเดียวกัน ร่วมมือกัน โดยใช้เงินก้อนเดียวกันโยนไปมา วนไปมา ไล่ราคาจนหุ้นวิ่งขึ้นสูง ทำให้ราคาผิดไปจากสภาพความเป็นจริง

อย่างไรก็ตาม ก.ล.ต. ยังได้ยกกรณีตัวอย่าง การจับปั่นหุ้นได้แบบคาหนังคาเขาในครั้งแรก แต่ที่ศาลต้องปล่อยให้หลุดมือไป เพราะเหตุผลหลักคือ ครอบครัวเล่นหุ้นกันเอง โดยควบคุมราคาหุ้นได้ โดยศาลก็อ้างว่า พี่น้องรู้กันเอง ไม่ใช่พฤติกรรมรวมหัวกัน "ปั่นหุ้น" กรณีที่ว่า จึงหลุดรอดลอยนวล...

ชาลี อ้างข้อมูลในอดีตว่า การจับผิดพฤติกรรม "ปั่นหุ้น" โดยพวกเดียวกัน ร่วมมือกัน จับได้ยาก ยกเว้นต้องมีหลักฐานมากพอ ขณะที่กรณี "ไซฟอน" กลับต่างออกไป รูปแบบ "ไซฟอน"จะเห็นได้ง่าย และบ่อยกว่า ขณะเดียวกันก็มีหลักฐานสาวไปถึงง่ายกว่า

แต่ภายใต้ความต่างก็ยังมีความเหมือน เพราะสิ่งที่คล้ายคลึงกันไม่มีผิด ระหว่างพฤติกรรมปั่นหุ้น และ "ไซฟอน" ก็คือ กระบวนการปั่นหุ้น และพฤติกรรม"ไซฟอน" ที่ทางการสะกดรอยตามไปจนทัน แต่ผู้ร้ายก็มักจะหลบเข้ามุมมืดอย่างรวดเร็วและว่องไว พร้อมกับเสียงที่ค่อยๆเงียบหายไป จนดูเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเสียทุกครั้ง....


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.