|

ชาติเอเชียทยอยลดถือครอง'ดอลลาร์' 3 ปีแล้ว แต่เงินมะกันก็ยังกร่างแม้'หยวน'เริ่มแข่งบารมี
ผู้จัดการรายสัปดาห์(18 มีนาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
บรรดาธนาคารกลางในเอเชียพากันทยอยลดการถือครองเงินดอลลาร์ และหันมาเก็บเงินตราสกุลภูมิภาคเอาไว้เป็นสำรองเพิ่มขึ้นอย่างเงียบๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปีแล้ว รายงานของธนาคารเพื่อการชำระบัญชีระหว่างประเทศ (บีไอเอส) บ่งบอกไว้เช่นนั้น ถึงแม้ตลาดเพิ่งจะเกิดความแตกตื่นกันใหญ่ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สืบเนื่องจากญี่ปุ่นตลอดจนเกาหลีใต้ ออกมาประกาศว่าจะกระจายสกุลเงินซึ่งพวกตนครอบครองอยู่ และความปั่นป่วนดังกล่าวนี้เอง ก็ทำให้ประเทศทั้งสองต้องรีบออกมาแถลงกันใหม่ว่าเรื่องนี้ยังเป็นเพียงแนวความคิดเท่านั้น
ธนาคารกลางของเกาหลีใต้ ซึ่งมีทุนสำรองอยู่ 200,000 ล้านดอลลาร์ และถือพันธบัตรคลังสหรัฐฯไว้ 69,000 ล้านดอลลาร์ ทำท่าเหมือนจะประกาศออกมาในเดือนที่แล้วว่า ทุนสำรองเหล่านี้บางส่วนอาจจะเปลี่ยนไปถือเป็นสกุลเงินตราอื่น แต่แล้วก็ต้องรีบกลับคำ เมื่อปรากฏว่าเงินวอนมีค่าทะยานลิ่วสู่ระดับแข็งสุดในรอบ 7 ปี โดยธนาคารบอกว่า ข้อเสนอนี้ซึ่งตอนแรกปรากฏออกมาระหว่างการอภิปรายในรัฐสภานั้น ไม่ใช่เป็นการแถลงแสดงเจตจำนงอย่างแน่นอนแล้ว
มาในเดือนนี้ นายกรัฐมนตรีจุนอิชิโร โคอิซูมิ ของญี่ปุ่น ก็กลายเป็นชนวนทำให้เกิดความโกลาหลทำนองเดียวกัน หลังจากพูดเมื่อวันที่ 10 ว่า "โดยทั่วไปแล้ว" ประเทศของเขาอาจจำเป็นต้อง "วินิจฉัยกันโดยองค์รวม" เพื่อกระจายทุนสำรองที่ถือครองอยู่ไปสู่สินทรัพย์สกุลเงินต่างๆ ผลก็คือค่าเงินดอลลาร์ลดฮวบโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับยูโร จนกระทั่งเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังผู้หนึ่งต้องออกมา "อธิบายให้กระจ่าง" ว่า นี่เป็นเพียงหัวข้อสำหรับการอภิปรายหารือกัน ยังไม่ได้เป็นนโยบาย
อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางจำนวนมากในเอเชีย ไม่ว่าจีน, อินเดีย, ไทย, อินโดนีเซีย, ไต้หวัน, ฟิลิปปินส์, หรือฮ่องกง ต่างเดินหน้าทยอยปล่อยเงินดอลลาร์กันแล้ว ถึงแม้ต่อภายนอกพวกเขายังแสดงท่าทีสนับสนุนให้ค่าเงินอเมริกันมีความแข็งแกร่ง เพราะเกรงว่าขืนผลีผลามก็จะทำให้เกิดวิกฤตความเชื่อมั่นในระบบอัตราแลกเปลี่ยน
มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งว่า เงินดอลลาร์ที่ประเทศเหล่านี้ปล่อยออกมาจากทุนสำรองของพวกตน จะมิได้เวียนกลับเข้ามาเก็บเป็นดอลลาร์อีกแล้ว สืบเนื่องจากเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้กำลังเปลี่ยนแปลงไป โดยที่มีการพึ่งพาระหว่างกันมากขึ้น อีกทั้งอำนาจบารมีทางการค้าซึ่งเพิ่มทวีขึ้นทุกทีของจีน ก็กำลังค่อยๆ เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของตลาดเดิมๆ ในแถบนี้
บีไอเอส ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองบาเซิล, สวิตเซอร์แลนด์ และทำหน้าที่เป็นเสมือนธนาคารกลางสำหรับบรรดาแบงก์ชาติทั้งหลายของโลก เพิ่งเผยแพร่รายงานการศึกษาชิ้นหนึ่ง ซึ่งระบุว่า สัดส่วนของเงินฝากสกุลดอลลาร์ในทุนสำรองออฟชอร์ของพวกชาติเอเชีย ได้ลดต่ำลงเหลือ 67% ณ เดือนกันยายนปีที่แล้ว จากที่เคยอยู่ในระดับ 81% เมื่อไตรมาสสามของปี 2001
อินเดียคือชาติที่ปล่อยขายสูงที่สุด โดยกำลังลดสินทรัพย์สกุลดอลลาร์ของตนจากที่เคยเป็น 68%ของทุนสำรองรวม มาจนเหลือเพียง 43% ส่วนจีนซึ่งเงินหยวนยังคงผูกตรึงค่าโดยตรงเอาไว้กับดอลลาร์อเมริกัน อีกทั้งถูกกดดันหนักจากสหรัฐฯให้ยืดหยุ่นสกุลเงินตรามากขึ้นนั้น ก็ได้หั่นการถือดอลลาร์ลงจาก 83% เหลือ 68%
อันที่จริงการปรับเปลี่ยนเช่นนี้ของประเทศในเอเชีย ดูจะสอดคล้องกับแนวโน้มของทั่วโลกที่พวกธนาคารกลางทั้งหลายต่างกำลังหาวิธีที่จะลดแรงกระทบกระเทือน จากที่สหรัฐฯประสบปัญหาขาดดุลการค้าและดุลงบประมาณอย่างบานเบิกยิ่งขึ้นเรื่อยๆ รายงานการสำรวจอีกชิ้นหนึ่งซึ่งจัดทำโดย เซนทรัล แบงกิ้ง พับลิเคชั่นส์ อันมีฐานอยู่ทางยุโรป ได้พบว่าจาก 65 ชาติซึ่งทำการสำรวจนั้น มีอยู่ 29 ชาติที่กำลังลดการถือครองดอลลาร์ และ 39 ชาติกำลังซื้อเงินยูโรเพิ่มมากขึ้น
การขาดดุลงบประมาณระดับ 500,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีของอเมริกานั้น ส่วนใหญ่แล้วได้เงินมาอุดรูโหว่จากการที่เอเชียเข้าไปซื้อพันธบัตรคลังสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนกับญี่ปุ่น การขาดดุลการค้าและดุลชำระเงินของอเมริกาก็ทำนองเดียวกัน นั่นคือได้อาศัยเงินทุนต่างประเทศราว 530,000 ล้านดอลลาร์ไหลเข้าไปอุดรอยรั่วจากการขาดดุลในปี 2003 และเพิ่มเป็น 650,000 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว โดยที่ในปีนี้คาดหมายกันว่าจะสูงขึ้นจนอยู่ในระดับ 800,000 ล้านดอลลาร์
ทางฝ่ายชาติในเอเชียซึ่งเศรษฐกิจอาศัยการส่งออกเป็นอย่างมากนั้น พวกธนาคารกลางในประเทศเหล่านี้ได้พยายามกดให้เงินตราของตนอ่อนตัวเอาไว้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของสินค้าของประเทศตนในตลาดโลกมาหลายสิบปี นโยบายเช่นนี้นำไปสู่การถือครองเงินดอลลาร์ เฉพาะญี่ปุ่นชาติเดียวได้สะสมทุนสำรองเอาไว้ถึง 841,000 ดอลลาร์เพื่อหยุดยั้งค่าเงินเยน ดังนั้น หากธนาคารกลางเหล่านี้ผละหนีไม่ถือดอลลาร์ สหรัฐฯก็คงจะพบว่าตัวเองยากที่จะหยิบยืมหาเงินสดมาจุนเจือรายจ่ายซึ่งสูงกว่ารายได้ของรัฐบาล อย่างไรก็ดี ความคิดซึ่งเป็นที่เชื่อถือกันอยู่มากก็คือ เอเชียคงไม่ทำเช่นนั้นหรอก เพราะเข้ามาพัวพันกับเรื่องนี้จนถลำลึกแล้ว ถ้าปล่อยขายดอลลาร์กันออกมา เงินตราอเมริกันมีหวังหล่นฮวบ และประเทศเหล่านี้แหละจะต้องขาดทุนกันอย่างมหาศาล
ทว่ามีผู้รับผิดชอบนโยบายการเงินของชาติเอเชียบางราย ได้ลงมติแล้วว่ามีความเสี่ยงใหญ่หลวงกว่าเสียอีกหากจะยังคงถือครองพันธบัตรคลังอเมริกันเอาไว้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 45 ปีจวบจนถึงเมื่อปีที่แล้ว และแม้ปัจจุบันจะขยับขึ้นบ้างก็ยังสูงขึ้นเพียงนิดเดียว ทำให้ได้ผลตอบแทนจากตลาดบอนด์มีน้อยมากจนไม่ดึงดูดใจเอาเลย ดังนั้น ในปี 2002 จีนก็กลายเป็นผู้ขายสุทธิพันธบัตรคลังสหรัฐฯ โดยกำลังหันไปถือทุนสำรองจำนวนมากเป็นสกุลเงินยูโร, ดอลลาร์ออสเตรเลีย, และดอลลาร์แคนาดา ไต้หวันก็ถอยห่างจากตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯในปีเดียวกัน และฮ่องกงก็ลดการถือครองสกุลเงินดอลลาร์ลงไปอย่างมาก
การซื้อขายในตลาดเงินตราแถบเอเชียปัจจุบันก็มีการปรับเปลี่ยนจุดเน้นหนักด้วยเช่นกัน โดยที่เงินหยวนของจีนกำลังทรงความสำคัญเพิ่มขึ้นมาก จนเป็นที่จับตาว่ามีศักยภาพจะก้าวขึ้นเป็นสกุลเงินตราของภูมิภาค ถึงแม้ยังอีกไกลนักกว่าจะเป็นจริงได้ ขณะที่เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลงของการค้าในเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ มันก็เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความสุกงอมของกิจกรรมซื้อขายแลกเปลี่ยนสกุลเงินตราเอเชียไปด้วย ทั้งนี้ตามข้อมูลของบีไอเอส การหมุนเวียนของเงินหยวนในแถบเอเชีย นับตั้งแต่ไตรมาสสามของปี 2001 จนถึงเดือนกันยายนปีที่แล้ว ได้พุ่งทะยานลิ่วถึง 530% เปรียบเทียบกับการเติบโตของการซื้อขายดอลลาร์ในช่วงเดียวกันซึ่งอยู่ที่ 48%, เงินยูโร 49%, และเงินปอนด์สเตอร์ลิง 93%
สำหรับการซื้อขายเงินรูปีอินเดียในระยะเวลาดังกล่าวขยายตัวในระดับ 114% ขณะที่เงินเยนอยู่ที่ 35% ทว่าผู้สูญเสียใหญ่หลวงที่สุดย่อมได้แก่เงินดอลลาร์ฮ่องกงซึ่งการซื้อขายเติบโตเพียง 21% กับเงินดอลลาร์สิงคโปร์ที่ขยายตัว 32% ทั้งฮ่องกงกับสิงคโปร์นั้นเป็นศูนย์กลางการค้าสำคัญของภูมิภาค สภาพการณ์เช่นนี้จึงเป็นการสะท้อนถึงปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจซึ่งกำลังเสื่อมโทรมลงของทั้งคู่
ในตลาดอนุพันธ์เงินตราต่างประเทศ ภาพก็ปรากฏออกมาในลักษณะเดียวกัน กล่าวคือ การซื้อขายอนุพันธ์เงินหยวนพุ่งทะลุฟ้า 272,355% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รองลงมาคือเงินบาทไทย ซึ่งมีอัตราซื้อขายเพิ่มขึ้น 2,858% ขณะที่การซื้อขายอนุพันธ์เงินดอลลาร์สูงขึ้นเพียง 94% ในระยะเวลาดังกล่าว ส่วนเงินยูโรเพิ่มขึ้น 95%, ปอนด์ 126%, และเยน 58%
แน่นอนว่าเงินหยวนทะยานลิ่วขนาดนี้จากฐานเดิมซึ่งต่ำเตี้ยติดดิน ดังนั้นรายงานของบีไอเอสจึงเตือนไว้ว่า ในทางเป็นจริงแล้วเงินตราของจีนยังคงมีอิทธิพลกระจิ๋วเดียวในทางการค้า สืบเนื่องจากภายในประเทศยังมีมาตรการควบคุมพอร์ตเงินทุนที่เข้มงวดมาก ทั้งนี้การซื้อขายเงินหยวนยังเป็นแค่ 1% ของสัดส่วนโดยรวมของการหมุนเวียนเงินตราต่างประเทศต่อกระแสการค้ารวม
ความเคลื่อนไหวในอัตราแลกเปลี่ยน ดอลลาร์/เยน ยังคงมีอิทธิพลสำคัญสุดต่อสกุลเงินตราเอเชีย และกว่า 90% ของการค้าต่างประเทศทั้งหมดยังคงซื้อขายกันโดยตรงด้วยเงินดอลลาร์ เชื่อกันว่าการถือครองเงินยูโรมีในราว 12% เท่านั้น
กระนั้นก็ตาม เงินหยวนก็กำลังบรรจบเข้ากับเงินเยนและเงินวอนเกาหลี และแสดงอิทธิพลอย่างแข็งแกร่งต่ออัตราแลกเปลี่ยนเงินตราฮ่องกงและไต้หวัน ซึ่งเป็นไปได้ว่านั่นเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงการซื้อขายอันไม่ได้มีการบันทึกเป็นทางการของเงินตราจีน
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|