|

สำรวจทีมงานเศรษฐกิจของบุชสมัยสอง ยังขาดมือฉมังพร้อมรับมือหากเกิดวิกฤต
ผู้จัดการรายสัปดาห์(25 มีนาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ไม่ว่าจะมองกันในแง่มุมไหน ก็ต้องสรุปว่าประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ตั้งเป้าหมายเรื่องทางเศรษฐกิจที่จะต้องกระทำในสมัยสองของเขาเอาไว้อย่างคนใจใหญ่จริงๆ อาทิ ยกเครื่องระเบียบกฎหมายทางด้านภาษี, ปฏิรูประบบประกันสังคม, ลดการขาดดุลงบประมาณลงให้ได้ครึ่งหนึ่ง, ตลอดจนผลักดันให้ทำข้อตกลงการค้ากับต่างประเทศให้ได้มากขึ้น
ว่าแต่ว่าใครจะเป็นคนทำเรื่องทั้งหมดเหล่านี้กันล่ะ
นิตยสารอีโคโนมิสต์ชี้ว่า ในทางทฤษฎีแล้ว ทีมเศรษฐกิจของบุชต้องนำโดยรัฐมนตรีคลัง ซึ่งคือ จอห์น สโนว์ ทว่าท่านประธานาธิบดีไปถึงจุดที่เตรียมจะไล่ขุนคลังของเขาผู้นี้ออกจากตำแหน่งอยู่แล้วเมื่อตอนสิ้นปีที่ผ่านมา หลังจากนั้นจีงเกิดเปลี่ยนใจ โดยดูเหมือนว่าต้องการเก็บสโนว์เอาไว้ เพื่อทำหน้าที่เป็นเซลส์แมนเดินตลาดช่วยเสนอขายแผนการปฏิรูประบบบำนาญของบุช ดังนั้น ในระยะหลังๆ นี้ เราจึงได้เห็นอดีตซีอีโอบริษัทรถไฟผู้นี้ เที่ยววิ่งวุ่นไปตามเมืองซึ่งไม่ได้มีชื่อเสียงความเป็นศูนย์การเงิน ทว่าสำคัญสำหรับคะแนนเสียงสนับสนุนในรัฐสภา อาทิ แซนแอนโตนิโอ, อัลบูเกอร์กี หรือ นิวออลีนส์
ตัวกระทรวงการคลังเอง ก็ดูเหมือนจะขาดแคลนทั้งเจ้าหน้าที่คนทำงาน ตลอดจนบารมีที่จะเแผ่อิทธิพลในคณะรัฐบาล สภาพเช่นนี้อาจจะพอทนได้ถ้าหากนโยบายเศรษฐกิจได้รับการดูแลคุมหางเสือโดยทีมมืออาชีพในทำเนียบขาว แต่การณ์กลับปรากฏว่าที่นั่นเองก็หานักเศรษฐกิจทำยายากเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่สามารถเข้าสนิทใกล้ชิดกับตัวบุช
ประธานสภาเศรษฐกิจแห่งชาติเวลานี้คือ แอลแลน ฮับบาร์ด เพื่อนเก่าแก่ของประธานาธิบดี ทว่าเขาเป็นนักธุรกิจจากมลรัฐอินเดียนา ไม่ใช่เป็นมือกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ ทำนองเดียวกันกับ คาร์ล โรฟ ผู้ดำรงตำแหน่งรองประธานเจ้าหน้าที่ทำเนีบบขาวรับผิดชอบนโยบายเศรษฐกิจ โรฟแม้ขึ้นชื่อในฐานะอัจฉริยะในการวางแผนทางการเมือง โดยมีชัยชนะในการแข่งขันเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีทั้งสองสมัยของบุชเป็นประกาศนียบัตร จนเป็นที่คร้ามเกรงของพรรคเดโมแครต แต่เขาไม่เคยเป็นที่รู้จักมีเครดิตเลยในเรื่องการกุมนโยบายทางการคลัง
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนี้เองซึ่งบุชตัดสินใจได้ในที่สุดว่า จะเลือกใครเข้ามาเป็นผู้แทนการค้าสหรัฐฯ(ยูเอสทีอาร์)คนใหม่ สืบแทน รอเบิร์ต เซลลิก ที่โยกย้ายไปเป็นหมายเลขสองในกระทรวงการต่างประเทศ ร็อบ พอร์ตแมน บุคคลผู้ที่บุชเลือกเป็น ส.ส.พรรครีพับลิกันซึ่งได้รับความยกย่องนับถือ จึงน่าจะเป็นเซลส์แมนชั้นดีในการเสนอขายนโยบายด้านการค้าของบุชต่อรัฐสภา ทว่าเขาจะทำได้ดีแค่ไหนในภาระหน้าที่หลักของยูเอสทีอาร์ ซึ่งคือการเจรจาต่อรองทำดีลระหว่างประเทศ เป็นสิ่งที่ยังไม่เห็นถนัดและคงต้องติดตามกันต่อไป
บุชยังได้เสนอให้ พอล วูลโฟวิตซ์ เข้าชิงตำแหน่งเป็นประธานธนาคารโลก เรื่องที่โยกย้ายนักอนุรักษ์นิยมใหม่ (นีโอคอนเซอร์เวทีฟ) ตัวเอ้ผู้นี้ออกมาเสียจากกระทรวงกลาโหม ย่อมเป็นสิ่งซึ่งพึงได้รับการยกย่องสรรเสริญ ทว่าเมื่อพิจารณาจากเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจแล้ว มันก็ดูจะห่างไกลจากความเหมาะสมไปอักโข
เห็นได้ชัดว่าบุชนั้นชื่นชอบพวกนักธุรกิจและคนที่เขาเชื่อถือไว้วางใจ มากกว่าบุคคลในแวดวงวิชาการหรือประเภทมาจากตลาดวอลล์สตรีท อันที่จริงการมีนักเศรษฐศาสตร์ขนานแท้อยู่ในทีมงาน ก็ใช่จะเป็นหลักประกันความสำเร็จเสมอไป ดังเห็นได้จากแผนการปฏิรูประบบดูแลสุขภาพของคลินตัน ซึ่งอัดแน่นไปด้วยข้อเสนอแนะเด็ดๆ ของนักเศรษฐศาสตร์ ทว่ากลับตกม้าตายไม่มีโอกาสคลอดออกมา
อย่างไรก็ตาม ต้องถือว่าบุชกำลังเล่นอยู่กับความเสี่ยง โดยเฉพาะถ้าหากเกิดมีวิกฤตเศรษฐกิจในลักษณะใดลักษณะหนึ่งปรากฏขึ้น
เพื่อให้เห็นภาพอย่างกระจะ อาจจะยกตัวอย่างของกระทรวงการคลัง ในสมัยรัฐบาลคลินตันนั้น กระทรวงนี้คือหน่วยงานที่ครอบงำกระทรวงทบวงกรมอื่นๆ ในเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะยามที่มีขุนคลังนาม รอเบิร์ต รูบิน กระทั่งต่อมาในยุคซึ่ง แลร์รี ซัมเมอร์ส ขึ้นเป็นรัฐมนตรี
มาบัดนี้กระทรวงการคลังกลับเป็นหน่วยงานที่ค่อนข้างอ่อนแอ ขุนคลังคนแรกของบุช คือ พอล โอนีล เป็นคนที่เข้าอกเข้าใจนโยบายเศรษฐกิจทีเดียว แต่เขาชอบแสดงตัวเป็นคนตรงไปตรงมาเพื่อให้เป็นที่นิยมของประชาชน มากกว่าจะให้เป็นที่ชื่นชอบของบิ๊กบอสหรือของตลาดการเงิน สำหรับสโนว์จัดอยู่ในประเภทค่อนข้างมั่นคงสม่ำเสมอกว่า ทว่าข้ออ่อนกลับอยู่ที่แทบไม่มีบทบาทในการร่วมกำหนดนโยบายเอาเสียเลย
ตำแหน่งงานสำคัญๆ ในกระทรวงการคลังถึงประมาณหนึ่งในสามทีเดียว ยังไม่มีคนมาครองเก้าอี้ หรือไม่ก็มีแต่ผู้รักษาการเท่านั้น โดยเฉพาะในเรื่องนโยบายเกี่ยวกับภาษีอากร ดูจะอ่อนมากเป็นพิเศษ ดังนั้นหากคณะกรรมาธิการด้านนโยบายภาษีของบุชทำงานเสร็จ และเสนอแนะการปฏิรูปในแง่มุมต่างๆ ออกมา ก็ยังไม่เป็นที่กระจ่างว่าใครจะนำเอาข้อเสนอเหล่านี้มาย่อยให้กลายเป็นร่างระเบียบกฎหมายซึ่งมีความชัดเจนถี่ถ้วน
ตอนครองทำเนียบขาวสมัยแรก บุชได้พึ่งพาอาศัยประธานสภาที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจ เกลนน์ ฮับบาร์ด (ไม่ได้เป็นญาติกับแอลแลน) อย่างมากมายทีเดียว แต่ฮับบาร์ดผู้นี้วางมือไปในปี 2003 ทายาทของเขาคือ เกร็ก แมนคิว ถือเป็นนักเศรษฐศาสตร์มือเซียนอีกคนหนึ่ง ทว่าเขาถูกดองภายหลังออกความเห็นแบบถูกต้องตามหลักวิชาการแต่ไม่เป็นที่โปรดปรานของบิ๊กบอส โดยพูดว่าการเอาต์ซอร์สงานต่างๆ ของบริษัทสหรัฐฯ ไปทำกันยังประเทศนอกอเมริกาซีงมีราคาถูกกว่า ควรถือเป็นสิ่งที่ให้คุณแก่เศรษฐกิจมากกว่าให้โทษ
คนที่จะเป็นทายาทของแมนคิวไปอีกอย่างน้อยในช่วงหลายๆ เดือนข้างหน้า ได้แก่ ฮาร์วีย์ โรเซน ผู้เชี่ยวชาญด้านการคลังซึ่งเป็นที่ยอมรับในฝีมือ ทว่าไม่มีกิตติศัพท์ว่าใกล้ชิดกับบุช เมื่อเป็นเช่นนั้น อำนาจอันแท้จริงในทำเนียบขาวเกี่ยวกับเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ จึงยังคงขึ้นอยู่กับ แอลแลน ฮับบาร์ด และ คาร์ล โรฟ
มีแต่เซลส์แมนไร้นักเศรษฐศาสตร์
ในเรื่องวิธีการกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจของบุชนี้ กำลังทำให้ผู้คนเกิดความสงสัยข้องใจกันมากขึ้นทุกทีอยู่ 2 ด้าน
ด้านแรกคือ เขาดูจะมองว่าการวางนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญแล้ว เป็นเรื่องศิลปะแห่งความเป็นเซลส์แมน นั่นคือจะหาวิธีขายสิ่งซึ่งรัฐบาลจะต้องทำกันอย่างไรมากกว่า การที่บุชซึ่งประกาศตนเป็นคนบาปกลับใจกลายเป็นคริสเตียนที่ดี และแสดงตัวชื่นชมศรัทธาในพลังของตลาด ทำให้ดูเหมือนกับว่าเขามีแนวความคิดว่า นโยบายด้านเศรษฐกิจโดยพื้นฐานแล้วสามารถที่จะดำเนินไปได้ด้วยตัวของมันเอง สิ่งที่คุณจะต้องทำก็คือการหยอดความกระปรี้กระเปร่านิดๆ หน่อยๆ เพื่อขายแผนการปฏิรูปในด้านต่างๆ ของประธานาธิบดี ด้วยเหตุนี้เอง ทำเนียบขาวจึงกระตือรือร้นนักที่จะแต่งตั้ง คาร์ลอส กูเตียร์เรซ ขึ้นเป็นรัฐมนตรีพาณิชย์คนใหม่ เนื่องจากเขาเป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างงดงามในการขายผลิตภัณฑ์อาหารเช้าตอนที่ทำงานกับบริษัทเคลล็อกก์
เรื่องที่ผู้คนข้องใจกันด้านที่สองได้แก่ บุชดูจะถือคุณสมบัติความจงรักภักดีเป็นสิ่งสำคัญกว่าความรอบรู้ ตัวอย่างของด้านนี้มีอาทิ กรณีของโอนีล รัฐมนตรีคลังคนแรกของบุช ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่ถูกเด้งเพราะเปิดปากพูดว่าถ้ายังคิดจะดำเนินมาตรการลดภาษีต่อไปก็จะเป็นไอเดียที่แย่เอามากๆ หรืออีกคนหนึ่งคือ แลร์รี ลินด์ซีย์ ประธานสภาเศรษฐกิจแห่งชาติคนแรกของบุช ซึ่งถูกเขี่ยออกเพียงไม่นานหลังจากที่เขาออกมาชี้อย่างไม่มีประโยชน์ทางการเมือง แต่น่าจะถูกต้องตรงเผงว่า สงครามอิรักจะทำให้ต้องสิ้นเปลืองเงินทองในระดับ 200,000 ล้านดอลลาร์
โชคร้ายที่ตลาดการเงินนั้นไม่เคยดำเนินไปอย่างหวานชื่นไร้ปัญหาหรอก ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเรื่องน่าสงสัยว่าทีมงานของบุชจะทำอย่างไรถ้าเกิดวิกฤตเศรษฐกิจระหว่างประเทศอะไรสักอย่างขึ้นมา อาทิ หากค่าเงินดอลลาร์เกิดตกพรวดพราด
ตัวหลักทางด้านระหว่างประเทศที่กระทรวงการคลังมีอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ จอห์น เทย์เลอร์ ทว่าเขาได้เกรดในขั้นสอบตกจากผลงานที่ผ่านมา และเตรียมเปิดหมวกอำลาในเร็ววัน คนซึ่งจะขึ้นมาแทนเขาน่าจะเป็น ทิม แอดัมส์ หัวหน้าด้านนโยบายในทีมรณรงค์หาเสียงของบุช-เชนีย์ โดยที่ก่อนหน้านั้นก็เคยเป็นหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ให้กับขุนคลังจอห์น สโนว์ ส่วนในทำเนียบขาวนั้น คนซึ่งเข้าอกเข้าใจเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศดูจะมีน้อยยิ่งกว่านี้อีก
ในยามวิกฤต บุชลงท้ายคงจะต้องหันมาพึ่งพิงบุคคล 2 คน คนแรกคือเซลลิก ที่นอกจากนั่งเก้าอี้ผู้แทนการค้าสหรัฐฯมาแล้ว ก่อนหน้านั้นยังเคยทำงานอยู่ในกระทรวงการคลัง ส่วนอีกคนหนึ่งหนีไม่พ้น อลัน กรีนสแปน ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) และผู้วางนโยบายเพียงคนเดียวในวอชิงตันเวลานี้ซึ่งมีอิทธิพลบารมีในตลาดการเงินอย่างแท้จริง
เฟรด เบิร์กสเตน แห่งสถาบันเพื่อการศึกษาเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ชี้ว่าสถานการณ์เช่นนี้ได้เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้วในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน กล่าวคือ เมื่อต้นทศวรรษ 1980 ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ก็ต้องหันไปหา พอล โวล์กเกอร์ ประธานเฟด กับ ฌากส์ เดอ ลารูซิเยร์ กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟในตอนนั้น เพื่อรับมือกับวิกฤตหนี้เม็กซิโก ปัญหาในเวลานี้อยู่ตรงที่ว่าไอเอ็มเอฟมีสัมพันธ์อันไม่ราบรื่นกับบุช และกรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟคนปัจจุบัน โรดริโก ราโต ก็ขาดบารมีอย่างที่เดอ ลารูซิเยร์เคยมี
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทุกๆ อย่างคงจะมาลงเอยที่ตัวกรีนสแปน ทว่าผู้เฒ่าประธานเฟดรายนี้มีกำหนดจะก้าวลงจากตำแหน่งในต้นปีหน้า โดยที่มีตัวเก็งซึ่งจะมีขึ้นแทนที่เขาอยู่ 3 คน ได้แก่ เกลนน์ ฮับบาร์ด ซึ่งได้รับความยกย่องนับถือทว่ายังคงถูกมองเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการคลังมากกว่าด้านการเงิน อีกคนหนึ่งคือ เบน เบอร์นังเก อดีตศาสตราจารย์ทางเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยปรินซตัน และเวลานี้เป็นผู้ว่าการคนหนึ่งของเฟดอยู่แล้ว และสุดท้ายเป็น มาร์ติน เฟลด์สไตน์ ผู้เชี่ยวชาญการคลังจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจในยุคเรแกน
ตัวเก็งเหล่านี้ไม่มีคนไหนเลยเคยผ่านประสบการณ์รับมือกับวิกฤตการเงิน แต่กรีนสแปนตอนที่ขึ้นนั่งเก้าอี้ประธานเฟดก็อยู่ในสภาพเช่นนี้เหมือนกัน และเขาสร้างชื่อเป็นที่ยอมรับก็จากการจัดการกับเหตุการณ์ตลาดหุ้นตกถล่มทลายในปี 1987 นั่นแหละ
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงความขาดเขินอ่อนเชิงของทีมงานเศรษฐกิจในคณะรัฐบาลด้วยแล้ว ก็ต้องสรุปอยู่ดีว่า เวลานี้ดูจะมีความเสี่ยงยิ่งกว่าเมื่อตอนโน้น
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|