ธุรกิจคาดศก.ปีนี้โตจิ๊บจ๊อย2.5-3.5%


ผู้จัดการรายวัน(19 สิงหาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ภาคธุรกิจ 64.7% คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้โตแค่ 2.5-3.5% เหตุน้ำมันแพงและเจอปัญหา เศรษฐกิจในประเทศ ชี้เศรษฐกิจจะถึงจุดต่ำสุดในไตรมาส 3 และจะเริ่มดีขึ้นในไตรมาสที่ 4

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ได้มีการสำรวจการประเมินสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจ จากภาคธุรกิจ 600 รายทั่วประเทศ โดยพบว่าผู้ประกอบการ 64.7% ระบุว่าโอกาสที่เศรษฐกิจปี 2548 จะขยายตัว 2.5-3.5% เป็นไปได้สูง โดยในจำนวนนี้ 38.8% ระบุว่าจะขยายตัว 2.5-3.0% ขณะที่ 25.9% เห็นว่าจะขยายตัว 3.1-3.5% ขณะที่ปี 2549 ผู้ประกอบการ 62.1% ระบุว่าจะขยายตัว 3-4% โดย 34.3% ระบุว่าจะขยายตัว 3.-3.5% ขณะที่ 27.8% ระบุว่าจะขยายตัว 3.5-4%

สำหรับปัจจัยที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง อันดับแรกยังเป็นปัญหาราคาน้ำมัน ทั้งเบนซินและดีเซล รองลงมา คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ความกังวลเกี่ยวกับการขาดดุลการค้า ความไม่สงบในภาคใต้และเหตุการณ์สึนามิที่ยังส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การที่ธุรกิจส่วนใหญ่ มองว่าเศรษฐกิจปีนี้อาจจะโต 2.5% สะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจจะโตในระดับต่ำ และไม่ถึง 4% ตามที่ภาครัฐประมาณการไว้ เพราะภาคธุรกิจมองว่าภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน โดยคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังราคาน้ำมันดีเซลน่าจะปรับขึ้นอีกลิตรละ 2 บาท ขณะที่ราคาน้ำมันดิบในไตรมาส 4 อาจถึงบาร์เรลละ 70 เหรียญสหรัฐ

"ผลการสำรวจเห็นได้ชัดเจนว่า ช่วงไตรมาส 3 จะเป็นจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจไทย เพราะกำลังซื้อของประชาชนยังต่ำอยู่ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันแพง และจะเริ่มดีขึ้นในไตรมาส 4 โดยนักธุรกิจคาดว่าสภาพธุรกิจ ยอดขาย หรือแม้แต่การจ้างแรงงานจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การส่งออกที่จะขยายตัวดีขึ้น ดุล การค้าจะขาดดุลลดลง การเร่งเบิก จ่ายงบประมาณ และการปรับเงินเดือนเพิ่มขึ้น" นายธนวรรธน์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ฯ ยังคงคาดว่าเศรษฐกิจทั้งปีจะอยู่ที่ 3.5-4% แต่มีโอกาสที่จะขยายตัวแค่ 3-3.5% โดยในไตรมาส 1 ขยายตัว 3.3% ไตรมาส 2 คาดว่าจะขยายตัว 3-3.2% ไตรมาส 3 คาดว่าจะขยาย ตัว 2.8-3% และไตรมาส 4 คาดว่าขยายตัว 4-4.2% ส่วนอัตราเงิน เฟ้อคาดว่าจะอยู่ในระดับ 4-4.2% เนื่องจากภาคธุรกิจจะใช้กลยุทธ์ด้านราคาแข่งขันกันมากขึ้น โดย จะปรับราคาลดลงเพื่อกระตุ้นการบริโภค

นายธนวรรธน์กล่าวอีกว่า สำหรับการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาลวงเงิน 1.7 ล้านล้านบาท เห็นว่าควรจะลดวงเงินในการลงทุนลง เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องรายละเอียดในการลงทุน การระดมทุน วงเงินลงทุนในแต่ละโครงการ และแต่ละโครงการก็ยังไม่ ชัดว่าจะต้องมีการนำเข้าเครื่องจักร จากต่างประเทศมากน้อยแค่ไหน

"วงเงินอาจจะไม่ใช่ประเด็น แต่การลดวงเงินเพื่อต้องการดูเรื่อง บัญชีเดินสะพัดว่ามีการนำเข้าเครื่องจักรแค่ไหน ในการลงทุนควรให้ความสำคัญว่าสร้างความเติบโตให้เศรษฐกิจแค่ไหน ควรเน้น โครงการที่ทำให้เศรษฐกิจโตได้ก่อน โดยเรียงลงลำดับการลงทุน เริ่มโครงการที่ใช้วัตถุดิบในประเทศก่อน หรือควรเน้นโครงการก่อสร้าง บนพื้นราบก่อนใต้ดิน เป็นต้น" นายธนวรรธน์กล่าว

นายธนวรรธน์กล่าวถึงการสำรวจพฤติกรรมการเลือกสื่อโฆษณาของภาคธุรกิจ ในภาวะที่กำลังซื้อของประชาชนชะลอตัวว่า ธุรกิจ 44.8% เลือกซื้อสื่อโทรทัศน์ เนื่องจากสัญญาณภาพชัดเจน มีผลต่อการกระตุ้นยอดขายมาก มีผู้ชมรายการมาก แม้ว่าอัตราค่าโฆษณาจะอยู่ในระดับสูง รองลงมาคือสื่อวิทยุ และอันดับสามคือหนังสือพิมพ์

สำหรับโทรทัศน์ที่ภาคธุรกิจต้องการโฆษณามากที่สุด เรียงตามลำดับ ได้แก่ ช่อง 7, ช่อง 3, ไอทีวี, ช่อง 5 ช่อง 11 และ ช่อง 9


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.