เศรษฐกิจโลกโดนกันเต็มๆ เมื่อราคาทองคำสีดำพุ่งลิ่ว


ผู้จัดการรายสัปดาห์(8 เมษายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ถ้าราคาน้ำมันเกิดสูงลิบลิ่วจริงๆ ย่อมเป็นปัญหาใหญ่สำหรับบรรดาชาติผู้ต้องนำเข้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมันเกิดยืนอยู่อย่างนั้นได้นานๆ

ผลกระทบจากราคาพลังงานแพงลิบที่จะมีต่อเศรษฐกิจ ก็คือภาวะซึ่งเรียกกันว่า "stagflation" อันหมายถึงอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง พร้อมๆ กับที่เศรษฐกิจมีอัตราเติบโตต่ำเตี้ย ซึ่งทำให้รายได้ของผู้คนหดเหี้ยน และเศรษฐกิจก็ยิ่งไร้เสถียรภาพ

เนื่องจากคำนึงถึงเรื่องนี้นั่นเอง สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ(ไออีเอ)จึงได้จัดร่างรายงานฉบับหนึ่ง ซึ่งมุ่งแนะนำประเทศต่างๆ ถึงวิธีจัดเตรียมมาตรการฉุกเฉินไว้รับมือกับราคาน้ำมันโด่งทะลุฟ้า

ไอเดียบางอย่างของรายงานฉบับนี้ถูกวิจารณ์ว่าล้าสมัยไปแล้ว ตัวอย่างเช่น ข้อเสนอให้เร่งจัดทำเลนถนนพิเศษสำหรับรถยนต์ซึ่งหลายๆ ครอบครัวรวมตัวกันมาใช้รถคันเดียว มาตรการแบบนี้ล้มเหลวไม่เป็นท่าเมื่อครั้งพยายามนำไปใช้ในอเมริกา

อย่างไรก็ตาม บางอย่างซึ่ง เคลาด์ แมนดิล กรรมการบริหารของไออีเอ หยิบยกขึ้นมาพูดระหว่างให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ ก็ดูน่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะมาตรการยกเลิกให้การอุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิง

พยากรณ์กันว่าเอเชียคือผู้รับผิดชอบถึงราว 40% ของปริมาณความต้องการน้ำมันซึ่งเพิ่มขึ้นทั่วโลกในปีนี้ การปล่อยให้ผู้บริโภคต้องรับภาระของราคาในตลาดกันแบบเต็มๆ ย่อมช่วยให้ดีมานด์ใช้สอยลดลงอย่างได้สมดุลกับซัปพลาย ก่อนที่วิกฤตจะพัฒนาขยายตัวมากไปกว่านี้

เมื่อมองในระยะยาวไกลออกไป ศักยภาพการผลิตน้ำมันของโลกจำเป็นจะต้องมีการขยายตัว ราคาที่พุ่งโด่งในที่สุดแล้วควรจะสามารถดึงดูดให้บริษัทต่างๆ ออกสำรวจขุดค้นแหล่งน้ำมันใหม่ๆ ยิ่งเมื่อยักษ์ใหญ่ทองคำสีดำอย่างเช่น เชลล์ ได้ถูกบีบคั้นให้ต้องลดตัวเลขประมาณการปริมาณน้ำมันสำรองซึ่งยังไม่ได้สูบขึ้นมาของตนลงอย่างมากมายมาแล้ว แรงกดดันให้ต้องออกวิ่งหาบ่อน้ำมันใหม่ๆ ก็ควรจะเพิ่มสูงขึ้นอีก

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เชฟรอนเท็กซาโก บริษัทน้ำมันใหญ่อันดับ 5 ของโลก ประกาศข่าวจะเข้าซื้อยูโนแคล บริษัทน้ำมันใหญ่อันดับ 9 ของสหรัฐฯ ด้วยราคาประมาณ 16,400 ล้านดอลลาร์ สาเหตุสำคัญก็ดูจะมาจากการที่เชฟรอนเท็กซาโกต้องการเพิ่มธุรกิจในด้านการขุดค้นและพัฒนาแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติใหม่ๆ นั่นแหละ

ทว่าศักยภาพใหม่ๆ เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะปรากฏเป็นของจริงออกมา ในระหว่างนี้ความยากลำบากของผู้บริโภคน้ำมันทั่วโลกจึงดูจะเพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ ราคาน้ำมันโด่งลิบสามารถชะงักงันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในชาติอุตสาหกรรมจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้นำเข้าทองคำสีดำอย่างมหาศาล

ขณะที่ยุโรปอาจจะรู้สึกถึงภาระน้อยกว่า สืบเนื่องจากมีการเก็บภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงในอัตราสูงอยู่แล้ว แถมยังเป็นเขตที่ใช้เงินสกุลยูโร ทั้งนี้เพราะน้ำมันนั้นคิดราคากันเป็นดอลลาร์ การที่ดอลลาร์มีค่าลดวูบเมื่อเทียบกับยูโร ก็ย่อมทำให้เขตซึ่งใช้เงินยูโรได้รับผลกระทบกระเทือนลดลง กระนั้นในสภาพที่เยอรมนีกับฝรั่งเศส 2 ชาติใหญ่ของยุโรปยังคงมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนเปราะ ราคาเชื้อเพลิงซึ่งพุ่งขึ้นจึงอาจจะกลายเป็น "ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้อูฐหลังหัก"

อย่างไรก็ตาม บางทีประเทศซึ่งน่าเป็นห่วงที่สุดอาจจะเป็นอเมริกา ซึ่งจะต้องรับผลกระทบกระเทือนอย่างแรงจากราคาน้ำมัน เนื่องจากเก็บภาษีต่ำ แถมน้ำมันยังคิดราคากันเป็นดอลลาร์อเมริกัน

เท่าที่ผ่านมา อเมริกายังมีฐานะเป็นหัวรถจักรฉุดให้เศรษฐกิจโลกหลุดพ้นจากภาวะถดถอย ดังนั้นสิ่งที่วิตกกันอยู่มากก็คือ หากราคาน้ำมันกระหน่ำหนัก อเมริกาจะกลายเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจโลกกลับเข้าสู่ภาวะถดถอยรอบต่อไปหรือเปล่า


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.