เศรษฐกิจโลกไม่สมดุลชนิดเรื้อรัง IMF - เวิลด์แบงก์เตือนปรับด่วน


ผู้จัดการรายสัปดาห์(18 เมษายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

สหรัฐอเมริกาถูกเตือนนับครั้งไม่ถ้วนในหลายปีที่ผ่านมา ว่าระดับการจับจ่ายของสหรัฐฯนั้นเว่อร์อย่างน่ากลัวไม่ว่าจะในแง่ของผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศตนเองหรือต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม กระนั้นก็ตาม สหรัฐฯยังละเลยต่อหายนะ และเดินหน้าเร่งเครื่องยอดติดลบบัญชีบัญชีเดินสะพัด ตลอดจนยอดติดลบงบประมาณ ให้พุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดตลอดกาลใหม่ๆ ไม่ได้หยุดหย่อน ขณะนี้ทั้งธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) ดูเหมือนจะพยายามยื่นมือเข้าแทรกแซง กล่าวคือตอนต้นเดือนนี้ ทั้งสองสถาบันโลกออกรายงานฐานะการเงินโลก ซึ่งเตือนเสียงเข้มว่าความไม่รับผิดชอบต่อฐานะทางการคลังของสหรัฐ คือปัจจัยอันตรายต่อเศรษฐกิจโลก

การใช้ท่าทีดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการหมิ่นกันอย่างแรง แต่ในเวลาเดียวกัน ทั้งธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟยิงตรง แจ่มชัดมากว่า ระดับการจับจ่ายของสหรัฐฯทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐ เป็นปัญหาต่อประชาคมโลกอย่างไม่ต้องสงสัย อีกทั้งนับวันแต่จะหนักข้อมากขึ้น

สหรัฐฯมียอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดรอบ 12 เดือนที่ระดับสูงลิ่วคือ 665,900 ล้านดอลลาร์ เทียบเท่ากับ 5.7%ของจีดีพี ในเวลาเดียวกันสหรัฐฯชดเชยยอดขาดดุลนี้ด้วยการกู้เงินจากต่างประเทศผ่านตลาดพันธบัตร ซึ่งเท่ากับสหรัฐฯใช้วิธีเอาอนาคตมาจดจำนอง เพื่อประคองฐานะในปัจจุบัน

สถานการณ์หนี้ท่วมศีรษะที่สหรัฐฯเผชิญอยู่ เป็นไปอย่างซ้ำซ้อน ในเบื้องแรกคนอเมริกันติดกับอยู่ในหนี้ไฟแนนซ์บ้าน กับหนี้บัตรเครดิต ตัวเลขล่าสุดจากสำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจของสหรัฐฯเอง ระบุว่าในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คนอเมริกันมีการออมน้อยมาก คือแค่ 0.6% ของยอดรายได้รวม

ในเบื้องถัดมา รัฐบาลบุชกระเป๋าฉีกจากการหั่นลดภาษีอย่างมหาศาลไปแล้ว ก็ไม่หยุด ยังมีการออกโครงการเพื่อการจับจ่ายภาครัฐอีกบานเบิก ส่งผลให้ยอดขาดดุลงบประมาณภาครัฐในปี 2004 พุ่งแตะระดับ 412,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 3.6% ของจีดีพีทีเดียว ส่วนสำหรับปี 2005 นี้ รัฐบาลบุชตั้งเป้าจะคุมยอดขาดดุลงบประมาณให้อยู่ไม่เกินระดับ 3% ของจีดีพี หรือประมาณ 365,000 ล้านดอลลาร์

เท่าที่ผ่านมา กระทรวงการคลังอเมริกันออกพันธบัตรออกขายเพื่อระดมเม็ดเงินไปอุดช่องกลวงแห่งการขาดดุล ซึ่งปรากฏว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ที่ถือพันธบัตรกระทรวงการคลังอเมริกัน คือแบงก์ชาติของนานาประเทศย่านเอเชีย กระบวนการตรงนี้กำลังก่อตัวเป็นวงจรอุบาทว์ขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง

ขณะที่หนี้ของสหรัฐทวีตัว ค่าเงินดอลลาร์ก็อ่อนลงตามความไม่เชื่อมั่นของตลาด พร้อมกับส่งผลให้ค่าเงินสกุลต่างๆ ของประเทศย่านเอเชียเขยิบแข็งมากขึ้น แต่ทางการของประเทศเหล่านี้ไม่สามารถยอมรับกับสถานการณ์ค่าเงินแข็งได้ ในเมื่อเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ถูกขับเคลื่อนด้วยภาคส่งออกเป็นด้านหลัก และการส่งออกในยุคปัจจุบันก็พึ่งพิงอย่างยิ่งกับความได้เปรียบด้านค่าเงินที่ทำให้สินค้าส่งออกมีระดับราคาถูก

ดังนั้น ทางการของบรรดาชาติย่านเอเชียจึงยิ่งเร่งมือที่จะแทรกแซงตลาดเงิน เพื่อกดดันให้ค่าเงินสกุลท้องถิ่น ค้างเติ่งอยู่ในระดับต่ำ ด้วยการพิมพ์ธนบัตรสกุลท้องถิ่นไปดูดเงินดอลลาร์ออกจากตลาด และนำเงินดอลลาร์ไปซื้อพันธบัตรอเมริกันเป็นวงจรอันต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม วันเวลาที่ผ่านไปหมายถึงว่าต้นทุนของการขับเคลื่อนกระบวนการ”ชง”ราคาค่าเงิน จะตึงเครียดขึ้นตามลำดับ

ธนาคารโลกคำนวณว่าขณะนี้เม็ดเงินในกองทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของนานาประเทศทั่วโลก เป็นสกุลดอลลาร์ราว 70% และเสถียรภาพของทุนสำรองฯเหล่านั้นนับว่าอยู่ในเกณฑ์สุ่มเสี่ยงสูงทีเดียวเมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงว่า ไม่เร็วก็ช้า กระบวนการปรับปรุงสถานภาพค่าเงินตามกลไกแท้จริงของตลาดจะต้องเกิดขึ้น และหากกระบวนการดังกล่าวทยอยเกิดขึ้นทีละน้อย ก็แล้วไป แต่แนวโน้มมีอยู่ว่าเรื่องอย่างนี้ไม่เคยที่จะค่อยเป็นค่อยไปได้เลย และเมื่อกระบวนการปรับราคาเงินดอลลาร์เกิดขึ้นอย่างฮวบฮาบ สถานการณ์ปั่นป่วนจะตามมาอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกแบงก์ชาติจะพบตนเองว่ามูลค่าสินทรัพย์ในพอร์ตวูบหายไปอย่างปุบปับ

ปัญหาดังกล่าวไม่ใช่ปัญหาฉกรรจ์เพียงข้อเดียวที่รอเล่นงานอยู่ อันที่จริงหลายแบงก์ชาติใกล้จะหมดความสามารถที่จะเดินหน้ากับกระบวนการแทรกแซงตลาดเงินโดยกีดกันผลกระทบด้านเงินเฟ้ออักเสบออกจากระบบเศรษฐกิจได้ เรื่องมีอยู่ว่าพวกแบงก์ชาติมีเครื่องมือป้องกันปัญหานี้ด้วยการออกพันธบัตรในตลาดท้องถิ่นเพื่อดึงเม็ดเงินส่วนเกินออกจากระบบ และในความเป็นจริงดอกเบี้ยตรงนี้จะแพงกว่าดอกเบี้ยอันเป็นต้นทุนของพันธบัตรรัฐบาลอเมริกันมาก

ในเรื่องนี้ ธนาคารโลกคำนวณพบว่าส่วนต่างของภาระดอกเบี้ยตรงนี้สูงเอาเรื่อง กล่าวคือ ทุกๆ 10,000ล้านดอลลาร์ของทุนสำรองฯ แบงก์ชาติเหล่านี้มีต้นทุนที่ 250 ล้านดอลลาร์ต่อปี

ใช่แต่เท่านั้น บางแบงก์ชาติ อาทิ แบงก์ชาติของอินเดีย ถูกกฎหมายห้ามออกตราสารหนี้ในตลาดต่างประเทศ ดังนั้น ความสามารถในการปล่อยพันธบัตรจึงตีบลงอย่างรวดเร็ว และเมื่อไตรมาส 3/2004 แบงก์ชาติเกาหลีใต้ออกตราสารหนี้จนชนเพดานที่สามารถทำได้ ขณะที่แบงก์ชาติจีนต้องยัดเยียดพันธบัตรเข้าไปในพวกแบงก์รัฐวิสาหกิจ ณ ราคาต่ำกว่าอัตราตลาด

ไอเอ็มเอฟชี้ว่าการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์มิใช่กลไกเพียงประการเดียวในการปรับอสมดุลในตลาดเงินโลก แต่ไอเอ็มเอฟและธนาคารโลกยังมีความต้องการให้พวกประเทศกำลังพัฒนาที่มีค่าเงินอ่อนแบบอปกติ เร่งปล่อยให้ค่าเงินอยู่ในระดับที่สมเหตุสมผลตามจริง

ด้านยุโรปและญี่ปุ่นก็ถูกสองสถาบันโลกคู่นี้เร่งรัดให้กระตุ้นการบริโภคภายใน ขณะที่สหรัฐฯถูกเรียกร้องให้เร่งแก้ปัญหาขาดดุลภายในโดยด่วน ตลอดจนให้กระตุ้นการออมภายในประเทศ

ข่าวร้ายมีอยู่ว่า คำแนะนำ คำเรียกร้องเหล่านี้ ไร้วี่แววที่จะมีใครนำไปปฏิบัติในเร็ววัน

ประเทศย่านเอเชียมีแต่จะถูกแรงกดดันทางการเมืองบีบคั้นให้อุดหนุนการส่งออกด้วยมาตรการค่าเงินอ่อนจัดๆ ขณะที่ทางการญี่ปุ่นก็ไม่เหลือเครื่องมือดอกเบี้ยให้หั่นลดเพื่อกระตุ้นความคึกคักของระบบเศรษฐกิจ เพราะขณะนี้ดอกเบี้ยพื้นฐานของญี่ปุ่นแตะระดับศูนย์เปอร์เซ็นต์เรียบร้อยมา 4 ปีแล้ว ด้านทางการยูโรโซนก็อาจต้องยอมปรับขึ้นดอกเบี้ยภายในครึ่งหลังของปี เพื่อรักษาระดับเงินเฟ้อไม่ให้สูงกว่า 2% ส่วนภายในสหรัฐฯ ความเอาจริงเอาจังที่จะลดภาวะขาดดุลก็ไม่ค่อยจะปรากฏเป็นจริงเป็นจัง หนำซ้ำเรื่องนี้แทบจะเรียกได้ว่าใกล้สูญพันธุ์เต็มที

กระนั้นก็ตาม ธนาคารกลางสหรัฐฯคงจะเดินหน้าเอาจริงกับมาตรการปรับขึ้นดอกเบี้ยไปทีละน้อย ขณะที่คนอเมริกันก็จะถูกกระตุ้นให้ออมเงินมากขึ้นกว่าที่ผ่านๆ มา ฝ่ายต่างๆ จึงตั้งหวังว่าเสถียรภาพของค่าเงินดอลลาร์จะสามารถทยอยปรับตัวดีขึ้นได้เป็นลำดับ

ภายในกระบวนการนี้ ชาตินักส่งออกสินค้าถูกอย่างพวกในเอเชียก็มีแต่จะเดือดร้อนตามๆ กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การถูกตีจาก ทั้งนี้ แนวโน้มที่กำลังก่อตัวขึ้นมีอยู่ว่านักลงทุนที่เคยหนีออกจากตลาดตราสารหนี้ในสหรัฐฯ กำลังตบเท้ากลับบ้านภายในกระแสที่อัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯทยอยดีดตัว

คำถามที่ยังไม่เห็นแววคำตอบจึงมีว่า ชาติเอเชียจะปรับตัวได้ล่ะหรือกับสถานการณ์อย่างนี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.