เบนซ์ยกศักยภาพไทยผลิตเอ-คลาสแห่งแรก


ผู้จัดการรายวัน(19 สิงหาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

เดมเลอร์ไครสเลอร์ตอกย้ำความสำคัญตลาดไทยระดับโลก ยกระดับความร่วมมือกับธนบุรีประกอบรถยนต์ ลงขันทุ่มเงินกว่า 10 ล้านยูโร หรือกว่า 520 ล้านบาท ขึ้นไลน์ผลิตรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ เอ-คลาส และเอส-คลาส โดยเฉพาะเอ-คลาส ไทยเป็นแห่งแรกในโลกที่ประกอบนอกเยอรมนี เผยสัญญาใหม่จ้างธนบุรีฯ ประกอบแค่ 7 ปี จากนั้นจะอยู่หรือไปขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจ-ตลาดในอนาคต

นายคริสโทฟ ไวน์เคอทซ์ รองประธานบริหารฝ่ายวิศวกรรมและการผลิต บริษัท เดมเลอร์ไครสเลอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำเข้าและจำหน่ายรถยนต์เมอร์- เซเดส-เบนซ์ในไทย เปิดเผยว่า เดมเลอร์ ไครสเลอร์ได้ลงนามเซ็นสัญญาฉบับใหม่ เพื่อร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด เพื่อประกอบรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ (CKD) ในไทย พร้อมขยายสายการผลิตใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยมีสัญญาไปจนถึงปี 2555

"ความชัดเจนในการร่วมมือครั้งนี้ เราได้ร่วมกันลงทุนสำหรับแผนการขยายไลน์การผลิตรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ ในช่วง 2 ปีจากนี้เพื่อเพิ่มไลน์ประกอบรุ่นเอ-คลาส ซึ่งถือเป็นแห่งแรกในโลกที่ประกอบรถรุ่นนี้นอกประเทศเยอรมนี และอีกส่วนจะนำมาทำการปรับไลน์ผลิต รองรับการประกอบ รุ่นเอส-คลาส โฉมใหม่ โดยรวมเงินลงทุน ทั้งหมดกว่า 10 ล้านยูโร หรือประมาณ 520 ล้านบาท"

ทั้งนี้ การที่เดมเลอร์ไครสเลอร์เลือกไทยทำการประกอบเมอร์เซเดส-เบนซ์ เอ-คลาส ซึ่งถือเป็นแห่งแรกของโลกนอกโรงงานในเยอรมนี เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพทางการตลาด เห็นได้จากการการนำเข้า รถรุ่นนี้มาเปิดตัวในงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่ขณะนี้มียอดขายแล้วกว่า 500 คัน ซึ่งเต็มปริมาณที่ไทยได้รับโควตามาแล้ว

นายไวน์เคอทซ์กล่าวว่า ขณะเดียวกันโรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์ยังมีมาตรฐานการประกอบระดับโลก เช่นเดียวกับการผลิตรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ ที่ประเทศเยอรมนี ซึ่งสามารถผลิตเพื่อส่งออกในอนาคตได้ ดังจะเห็นได้จากปัจจุบันได้มีการผลิตตัวถังรถเอส-คลาสรุ่นปัจจุบัน ส่งออกไปยังโรงงานที่อินโด-นีเซียภายใต้ข้อตกลงอาฟตา เหตุนี้เอ-คลาสในอนาคตก็อาจจะส่งออกในรูปแบบเดียวกัน เพียงแต่ขณะนี้ยังไม่ได้มีการตัดสินใจ เพราะอยู่ในช่วงเริ่มต้นการประกอบในไทยเท่านั้น

"สำหรับการเซ็นสัญญาฉบับใหม่ จ้างธนบุรีฯประกอบรถยนต์เป็นเวลา 7 ปี หรือจน ถึงปี 2555 หลังจากนั้นเมื่อสัญญาดังกล่าวหมดลง จะทำการต่อไปอีก 3 ปี และในช่วงดังกล่าวก็จะร่วมกันพิจารณาว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งต้องดูองค์ประกอบหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสภาวะเศรษฐกิจหรือตลาด แต่สิ่งหนึ่งที่ยืนยันจากการลงทุนขยายไลน์การ ประกอบรถครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าเดมเลอร์ไครสเลอร์ มีความมุ่งมั่นที่จะทำตลาดรถยนต์ไทยตลอดไป"

ในส่วนของความเป็นไปที่หลังจากหมดสัญญาเดมเลอร์ไครสเลอร์จะเทกโอเวอร์โรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์ นายณรงค์ ไหลมา ผู้อำนวยการ โรงงานประกอบรถยนต์นั่ง บริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด เปิดเผยว่า การเข้ามาเทกโอเวอร์บริษัทคงเป็นไปไม่ได้แน่นอน ขณะที่การเข้ามาถือหุ้นในโรงงานคงไม่สามารถตอบได้ แต่ ณ ขณะนี้ไม่มีแน่นอน ส่วนอนาคตจะเป็นอย่างไรคงไม่สามารถตอบได้

นายไวท์เคอทซ์กล่าวว่า ส่วนการผลิตรถ ยนต์รุ่นใหม่ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ในรุ่นเอ-คลาสจะเริ่มไลน์การผลิตในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 โดยใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศประมาณ 40% และมีกำลังการผลิตเต็มที่ 1,000 คันต่อปี และคาดว่าจะสามารถส่งมอบลูกค้าได้ในอีก 2-3 เดือนถัดไป ขณะที่ราคาจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะราคาของเอ-คลาสรุ่นนำเข้าที่จำหน่ายในปัจจุบันเป็นราคาที่ตั้งไว้ สำหรับรุ่นซีเคดีอยู่แล้ว ซึ่งถือว่า 500 คันนี้เดมเลอร์ ไครสเลอร์รับภาระส่วนเกินมาทั้งหมด

ด้านเมอร์เซเดส-เบนซ์ เอส-คลาส โฉมใหม่ จะเริ่มทำการประกอบในไทยประมาณต้นปี 2550 เนื่องจากรถรุ่นนี้จะเปิดตัวสู่ตลาดโลกครั้ง แรกในเดือนกันยายนนี้ที่เยอรมนี และรุ่นพวงมาลัยขวาจะเปิดตัวช่วงเดือนมีนาคม แต่ในช่วงนี้เดมเลอร์ไครสเลอร์จะนำเข้ารถสำเร็จรูป(CBU) รุ่นเอส-คลาสมาจำหน่ายก่อน และจะส่งมอบให้ลูกค้าในช่วงก่อนไตรมาสแรกปีหน้าได้

ทั้งนี้ การที่เดมเลอร์ไครสเลอร์ต้องขยายไลน์การผลิตเพิ่ม โดยเฉพาะรถเซกเมนต์ใหม่อย่างเมอร์เซเดส-เบนซ์ เอ-คลาส ซึ่งเป็นรถ ยนต์ขนาดเล็กครั้งแรก ที่เดมเลอร์ไครสเลอร์นำเข้ามาทำตลาดในไทย เพราะต้องการรักษาและขยายตลาดของตัวเอง หลังจากในอนาคตอันใกล้นี้ จะต้องถูกแย่งชิงตลาดจากค่ายรถ ญี่ปุ่นที่ได้เปรียบจากการทำข้อตกลงทางการค้าเอฟทีเอกับไทย

ส่วนความร่วมมือระหว่างเดมเลอร์ไครสเลอร์ และโรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์เพื่อ ยกระดับการผลิตรถยนต์เมอร์เซเดสเบนซ์ในไทยที่ผ่านมา โดยในเดือนกันยายน 2547 ได้เริ่ม โครงการแลกเปลี่ยนรถซีเคดีระหว่างไทยกับอินโดนีเซีย ภายใต้สนธิสัญญาอาฟตา และสามารถจัดทำสีพิเศษของรถเอส-คลาสรุ่นปัจจุบันให้ได้ กรณีสั่งเป็นโครงการหรือรถฟลีท รวมถึงอุปกรณ์ตกแต่งเอเอ็มจี และตอนนี้ยังเริ่มจัดส่งตัวถังรถ (Painted Body)รุ่นเอส-คลาสไปยังโรงงานที่อินโดนีเซียภายใต้สนธิสัญญาอาฟตา

นอกจากนี้ ยังนำเครื่องตรวจสอบการรั่วของน้ำชนิดไหลวนในรถมาใช้ เพื่อลดปริมาณการสูญเสียของน้ำ และปราศจากการเน่าเสีย อีกทั้งยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมกันนี้ยังเริ่มขยายคลังเก็บรถเพื่อความสะดวกในการขนส่งสู่สายการผลิตโดยตรง

สำหรับการเป็นพันธมิตรระหว่างธนบุรีประกอบรถยนต์ และเดมเลอร์ไครสเลอร์ มานานหลายสิบปี เดิมธนบุรีประกอบรถยนต์ เป็นผู้ถือสิทธิ์จำหน่ายและประกอบรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ในไทย แต่เมื่อไทยเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 เดมเลอร์ ไครสเลอร์ เอจี จึงเข้ามาดำเนินธุรกิจจำหน่ายรถยนต์ในไทย เอง ขณะที่ธนบุรีประกอบรถยนต์เปลี่ยนสภาพ กลายเป็นเพียงตัวแทนจำหน่ายหรือดีลเลอร์ และรับจ้างประกอบรถยนต์เมอร์เซเดสเบนซ์ ให้กับเดมเลอร์ไครสเลอร์เท่านั้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.