|

กังวลน้ำมันแพงส่งผลฉุดรั้งเศรษฐกิจโลก ญี่ปุ่น-ยุโรปวิตกหนักแต่สหรัฐฯ-จีนแค่หวิวๆ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(22 เมษายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
สำหรับกรุงวอชิงตัน ฤดูใบไม้ผลิมาเยือนย่อมหมายถึงช่วงเวลาแย้มบานของดอกเชอร์รี (หรือจะเรียกว่าดอกซากุระ ก็ไม่ผิดกติกา) และการมาถึงของรายการเจ้าประจำแม้จะสร้างสีสรรน้อยลงมา นั่นคือการประชุมของธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ซึ่งบรรดานายธนาคารกลางและขุนคลังของชาติต่างๆ จะต้องเข้าร่วม
ตอนที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการเงินการคลังเหล่านี้ไปชุมนุมกันในเมืองหลวงอเมริกัน เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าอารมณ์ความรู้สึกของพวกเขามัวมนกว่าฤดูกาลมากนัก วาระบนสุดในบัญชีรายการความวิตกกังวลของพวกเขาก็คือ ความคิดที่ว่าราคาน้ำมันอันแพงลิบอาจจะผลักไสให้เศรษฐกิจโลกถลำเข้าสู่ภาวะลำบากผันผวน
อันที่จริง ราคาน้ำมันได้หล่นลงมาแล้วในระยะเร็วๆ มานี้ โดยน้ำมันดิบชนิดไลต์ครูดของตลาดไนเม็กซ์ รูดมาอยู่ระดับต่ำกว่า 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอยู่ช่วงหนึ่งเมื่อวันจันทร์ที่ 18 เม.ย. ทว่าความกังวลของพวกเขาก็เป็นที่เข้าใจกันได้ ในเมื่อปัจจุบันราคาค่าน้ำมันแท้จริง (คำนวณโดยหักปัจจัยเงินเฟ้อออกไปแล้ว) ยังคงอยู่สูงกว่าตอน 2 ปีก่อนถึง 70%
เอาเถอะ แม้การดีดตัวขึ้นขนาดนี้ ยังถือว่า "เบบี้" หากเปรียบเทียบกับคราวที่ราคาน้ำมันทะยานทะลุฟ้าในปี 1974 โดยตอนนั้นเผ่นโผนพรวดพราดไปถึง 185% เมื่อคำนวณจากค่าแท้จริง หรือเทียบกับครั้งปี 1978-79 ซึ่งกระโจนไปถึง 158% แต่กระนั้น มันก็ยังคงเป็นการพุ่งลิ่วรุนแรงอยู่นั่นเอง
ช่วงหลังๆ มานี้ ความวิตกของทางการยังได้ถูกระบุออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย เมื่อวันที่ 7 เมษายน พวกนักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟกลายเป็นคนทำให้ป่วนกันไปทั่ว ด้วยการเสนอแนะว่า โลกเราจำเป็นต้องทำตัวให้คุ้นชินเอาไว้กับ "ภาวะช็อกแบบถาวรจากราคาน้ำมัน"
นักเศรษฐศาสตร์ไอเอ็มเอฟเหล่านี้บอกว่า หากพิจารณาจากด้านดีมานด์ซึ่งยังแข็งแกร่งมาก ขณะที่ด้านซัปพลายกลับอยู่ในภาวะตึงตัวยิ่ง ดังนั้นราคาน้ำมันในอนาคตจึงจะสูงกว่าในช่วงทศวรรษ 1990 ที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก
ฌอง-โคลด ตริเชต์ ประธานธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) ก็ระบุเอาไว้เมื่อไม่นานมานี้ว่า การไต่ขึ้นของราคาน้ำมัน เป็นความเสี่ยง "ซึ่งไม่เป็นที่ต้อนรับ" อันอาจกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ในบทวิจารณ์ที่ย้อนความหลังถึงความน่าตื่นตระหนกของยุคทศวรรษ 1970 ประธานอีซีบีเรียกร้องผู้บริโภคทั้งหลายให้ปฏิบัติตนเป็น "นักประหยัดพลังงานที่ดี"
การออกมาแสดงความเห็นในลักษณะนี้ของเขาไม่ใช่เรื่องชวนเซอร์ไพรซ์อะไร เมื่อพิจารณาจากบรรดาระบบเศรษฐกิจในยุโรปซึ่งกำลังซวดเซกันเป็นแถว อัตราการว่างงานในเขตยูโรโซนสูงถึง 8.9% ยิ่งในเยอรมนี, ฝรั่งเศส, และสเปนด้วยแล้ว อยู่ในระดับตัวเลขสองหลักด้วยซ้ำ ด้านการผลิตทางอุตสาหกรรมของเขตใช้สกุลเงินยูโรนี้ก็อยู่ในอาการชะงักงัน ในรายงาน เวิลด์ อีโคโนมิก เอาต์ลุค ที่ไอเอ็มเอฟออกเป็นประจำปีละ 2 ฉบับ ฉบับล่าสุดซึ่งออกเผยแพร่กลางเดือนนี้ ก็ทำนายคล้ายๆ กับสำนักพยากรณ์รายอื่นๆ ก่อนหน้า นั่นคือ ลดการคาดการณ์เกี่ยวกับอัตราเติบโตของจีดีพีในเขตยูโรโซนปีนี้ลงมาเหลือ 1.6%
ขณะที่ ญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นห่วงโซ่อ่อนแออีกห่วงหนึ่งของเศรษฐกิจโลก ก็อยู่ในอาการปวกเปียกอยู่ตั้งครึ่งปีในช่วงปี 2004 และถึงสภาพจะกระเตื้องขึ้นบ้าง ก็ยังไม่ถึงขนาดกลับฟื้นคืนชีวิตชีวาได้อย่างจริงจัง
แน่นอนว่า ราคาน้ำมันที่กำลังแพงขึ้น จะไม่ช่วยยักษ์ใหญ่สุขภาพอ่อนแอเหล่านี้เลย
กระทั่งในอเมริกา ที่รักษาความเข้มแข็งในการเจริญเติบโตเอาไว้ได้อย่างสม่ำเสมอมายาวนานจนเป็นที่ประหลาดใจของเหล่านักเศรษฐศาสตร์ ก็ยังเริ่มมีสัญญาณของการชะลอตัว ตลอดจนความกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันออกมาให้เห็น
ทั้งนี้ ด้วยอัตราการขยายตัวของการจ้างงานเลยหลัก 100,000 ตำแหน่งไปไม่มากนัก รายงานตัวเลขการจ้างงานประจำเดือนมีนาคมของสหรัฐฯ จึงย่ำแย่กว่าที่คาดหมายกันอยู่มาก นอกจากนั้นยอดขายปลีกในเดือนมีนาคมก็เติบโตเพียงแค่ 0.3% (เปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า) ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของที่นักวิเคราะห์กะเก็งเอาไว้ บ่งชี้ให้เห็นว่าราคาน้ำมันเบนซินกำลังทำให้ผู้บริโภคชักไม่อยากควักกระเป๋าออกมาจับจ่ายอย่างสนุกเพลิดเพลินเสียแล้ว
สภาพการณ์แบบนี้จึงไม่น่าสงสัยเลยที่เรื่องน้ำมันเป็นวาระลำดับต้นๆ ในการหารือในกรุงวอชิงตันตอนกลางเดือนที่ผ่านมา ในรายงานเวิลด์ อีโคโนมิก เอาต์ลุค ไอเอ็มเอฟซึ่งทำนายว่า อัตราเติบโตของเศรษฐกิจโลกปีนี้จะต่ำลงจากปีที่แล้ว 0.8% ก็ยังให้น้ำหนักว่าการหดตัวเช่นนี้ถึงราว 1 ใน 3 มาจากราคาน้ำมันซึ่งแพงขึ้น ทั้งที่คำพยากรณ์นี้ยังใช้ฐานราคาน้ำมันซึ่งต่ำกว่าเวลานี้เล็กน้อยด้วยซ้ำ
สิ่งที่น่ากังวลใจมากขึ้นไปอีกก็คือ พวกนักเศรษฐศาสตร์มองว่าราคาน้ำมันไม่ได้มีผลกระทบต่อผลผลิตของโลกแบบเป็นเส้นตรง กล่าวคือ เมื่อดำเนินไปถึงบางจุดบางช่วง เจ้าราคาน้ำมันนี้จะกระหน่ำใส่จีดีพีโลกอย่างหนักหน่วงขึ้นอีกมาก แล้วที่เป็นปัญหามากก็คือ ไม่มีใครรู้หรอกว่าจะมาถึงจุดถึงช่วงนั้นเมื่อใด
อย่างไรก็ตาม เท่าที่ผ่านมาจนถึงเวลานี้ ต้องบอกว่าการทะยานขึ้นของราคาน้ำมันยังแทบไม่ค่อยส่งผลกระทบอะไรมากนัก เห็นได้จากที่ปีที่แล้ว ถึงยังไงจีดีพีของโลกก็ยังสามารถเติบโตในระดับ 5.1% อันเป็นอัตรารวดเร็วที่สุดในรอบ 1 ชั่วอายุคนทีเดียว
เรื่องนี้มีเหตุผลอธิบายได้หลายประการ เช่น เศรษฐกิจโลกปัจจุบันมีความเข้มข้นในการใช้น้ำมัน ต่ำกลงกว่าในอดีตเป็นอันมาก
หรือถ้าเทียบกับคราวที่เกิดภาวะช็อกด้านราคาน้ำมันในทศวรรษ 1970 เวลานั้นสาเหตุสำคัญมาจากกลุ่มผู้ผลิตชาวอาหรับไม่พอใจสหรัฐฯที่เข้าข้างอิสราเอล จึงคว่ำบาตรทำให้ซัปพลายในตลาดลดฮวบ แต่ราคาน้ำมันแพงขึ้นในช่วงหลังๆ นี้กลับมีสาเหตุมาจากดีมานด์ความต้องการใช้ทองคำสีดำเผ่นโผนขึ้นอย่างรวดเร็ว
กล่าวคือ น้ำมันแพงในเวลานี้ ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากระบบเศรษฐกิจบางแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อเมริกา และจีน เติบโตขยายตัวอย่างคึกคัก
การที่ธนาคารกลางต่างๆ มีนโยบายต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้ออย่างเข้มแข็งในระยะหลายๆ ปีที่ผ่านมา ก็ส่งผลยับยั้งไม่ให้ราคาน้ำมันแปรไปเป็นราคาค่าจ้างแรงงานซึ่งสูงขึ้น แล้วบานปลายส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้ราคาอะไรต่างๆ แพงขึ้นเรื่อยๆ
แต่เงื่อนไขที่อำนวยโชคเหล่านี้ คงจะไม่ยั่งยืนไปตลอดกาล ถึงแม้ปัจจุบันมันจะเป็นเหตุผลให้เรายังไม่ถึงขั้นต้องตีโพยตีพายมองโลกในแง่ร้ายสุดๆ
คงต้องยอมรับด้วยว่า อย่างไรเสียราคาน้ำมันสูงก็เป็นตัวเร่งทวีเพิ่มความอ่อนแอแท้จริงในเศรษฐกิจโลก ซึ่งได้แก่ภาวะความไม่สมดุลในการเจริญเติบโตของทั่วโลก
ทั้งนี้เบื้องหลังผลประกอบการโดยรวมที่ดูสดใสสวยงามของเศรษฐกิจโลกนั้น อันที่จริงมีการแยกส่วนกันอย่างชัดเจน ระหว่างฝ่ายที่ใสสดจริงๆ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อเมริกา กับจีน) กับฝ่ายซึ่งปริ่มๆ จมน้ำหายใจแทบไม่ออก (ได้แก่ ญี่ปุ่น กับประเทศบนภาคพื้นทวีปยุโรป)
ถึงแม้ประเทศเหล่านี้ทั้งหมดต่างก็เป็นผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิกันทั้งสิ้น แต่พวกเขากำลังแสดงปฏิกิริยาซึ่งแตกต่างกันมากต่อราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จวบจนถึงเวลานี้ อเมริกากับจีนยังมีท่าทีไม่ทุกข์ร้อนอะไรนัก ขณะที่พวกเศรษฐกิจซึ่งอ่อนแอกว่าประสบภาวะดีมานด์ความต้องการภายในประเทศลดวูบลงอย่างกระจะตาแล้ว อีกทั้งภาวะเช่นนี้ยังไปขยายทำให้ความไม่สมดุลภายนอกยิ่งถ่างกว้างออกไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของอเมริกาซึ่งขาดดุลทวีขึ้นอย่างรวดเร็ว
ตามตัวเลขที่วอชิงตันเผยแพร่ออกมาในวันที่ 12 เมษายน ยอดขาดดุลการค้าประจำเดือนกุมภาพันธ์ของสหรัฐฯพุ่งขึ้นทำลายสถิติที่ระดับ 61,000 ล้านดอลลาร์แล้ว ถึงแม้การขาดดุลที่เพิ่มลิ่วในเดือนดังกล่าวนี้ มาจากการนำเข้าสินค้าซึ่งมิใช่น้ำมันสูงขึ้นมากด้วย กล่าวคือสูงขึ้นกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2004 ถึงราว 16% ทว่ายังมีความเป็นไปได้แยะที่ราคาน้ำมันซึ่งแพงอยู่นานวันในเดือนมีนาคม อาจจะหมายถึงสถิติขาดดุลการค้าประจำเดือนของอเมริกาจะถูกทำลายอีกคำรบหนึ่ง
แบรด เซตเซอร์ อดีตข้าราชการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ซึ่งเวลานี้ทำงานให้กับ รูบินี กลอบัล อีโคโนมิกส์ บริษัทวิเคราะห์เศรษฐกิจ คำนวณว่า ถ้าการนำเข้าสินค้าที่มิใช่น้ำมันยังคงเติบโตด้วยฝีก้าวเดียวกับช่วงหลายเดือนก่อนหน้านี้ แล้วราคาน้ำมันยืนอยู่แถวๆ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ยอดขาดดุลการค้าประจำปีของอเมริกาก็น่าจะพุ่งขึ้นไปเกือบใกล้หลัก 800,000 ล้านดอลลาร์ภายในสิ้นปีนี้
แต่ตัวเลขอาจจะไม่สูงถึงขนาดนั้นก็ได้ หากเกิดสถานการณ์ซึ่งอาจจะย่ำแย่ยิ่งกว่าเสียอีก นั่นคือ ราคาน้ำมันระดับ 50 ดอลลาร์ทำให้ผู้บริโภคอเมริกันจับจ่ายใช้สอยกันน้อยลง และดังนั้นอัตราขยายตัวของการนำเข้าก็เลยต่ำลงไปด้วย
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|