|

มาเลเซียคุยท่องเที่ยวยังคงขยายตัว วาดฝันดึงนักกอล์ฟ-นักช็อปมือเติบ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(13 พฤษภาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปยังมาเลเซีย มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างเป็นเนื้อเป็นหนังทีเดียวในระยะหลังๆ มานี้ ถึงแม้แดนเสือเหลืองเป็นประเทศหนึ่งซึ่งถูกผลกระทบจากภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิด้วย แม้ไม่สาหัสเท่าประเทศไทย อินโดนีเซีย หรือศรีลังกา
ตัวเลขในเดือนกุมภาพันธ์แสดงว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าไปเที่ยวเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน 3.9% ขึ้นสู่ระดับ 1.35 ล้านคน โดยที่สำคัญแล้วเนื่องจากมีนักท่องเที่ยวจากไทย สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ หลั่งไหลเข้าไปสูงมาก ถึงแม้ผู้ที่เดินทางมาจากจีนและญี่ปุ่นจะถดถอยลดฮวบไปถึง 41.8% และ 23.6% ตามลำดับก็ตาม
ข้อมูลซึ่งรวบรวมโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการท่องเที่ยวมาเลเซีย หรือที่รู้จักกันในนาม ทัวริซึม มาเลเซีย บอกให้ทราบว่า ระยะ 2 เดือนแรกของปีนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าสู่แดนเสือเหลืองเพิ่มขึ้น 36,407 คน หรือประมาณ 1.3% เจ้าหน้าที่รัฐบาลซึ่งพออกพอใจกับผลประกอบการของภาคการท่องเที่ยวในประเทศเป็นอันมาก เวลานี้จึงกำลังตั้งเป้าหมายว่าจะดึงดูดผู้มาเยือนได้ถึง 16.6% ในปีนี้ ตัวเลขดังกล่าวถือว่ากล้าหาญทีเดียว เพราะหากทำได้ก็จะเพิ่มขึ้น 10.7% จากปีที่แล้วซึ่งทำเอาไว้ที่จำนวน 15 ล้านคน
แต่คนซึ่งกล้าหาญเด็ดเดี่ยวกว่านั้นอีก เห็นจะได้แก่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงท่องเที่ยว ดาโต๊ะ อาหมัด ซาฮิด ฮามีดี ผู้แถลงเปรี้ยงว่า รัฐบาลหวังจะดึงดูดนักกอล์ฟเข้าประเทศให้ได้จำนวน 5 ล้านคนในปีนี้ หรือ 10 เท่าตัวจากจำนวนนักกอล์ฟ 500,000 คนซึ่งไปเยือนมาเลเซียในปีที่แล้ว
เขาบอกว่ากอล์ฟเป็นจุดเด่นสำคัญยิ่งในการหว่านเสน่ห์ให้อาคันตุกะนานาชาติมาเยือนแดนเสือเหลืองเสมอมา และในปีนี้แพกเกจท่องเที่ยวเล่นกอล์ฟ ก็ยังคงเป็นมนตร์ขลังหลักอย่างหนึ่งซึ่งทางกระทรวงท่องเที่ยวหวังที่จะใช้เรียกแขกผู้มาเยือน โดยเฉพาะกลุ่มนักกอล์ฟต่างก็เป็นผู้มีรายได้ระดับกลางและระดับสูงกันทั้งนั้น ซึ่งตรงกับเป้าหมายของกระทรวงอย่างเหมาะเหม็ง
"ระยะหลายปีที่ผ่านมา พวกเพลเยอร์ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต่างเร่งส่งเสริมแพกเกจท่องเที่ยวเล่นกอล์ฟในมาเลเซีย ในปัจจุบันมีเอเยนต์บริษัททัวร์ประมาณ 35 รายทีเดียวซึ่งกำลังขายแพกเกจประเภทนี้กันอยู่" เขาคุยพร้อมกับแจกแจงว่า ทางกระทรวงเองยังได้ใช้ความพยายามเป็นพิเศษในการส่งเสริมแพกเกจท่องเที่ยวเล่นกอล์ฟในมาเลเซีย ในประเทศเป้าหมายอย่างไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส และอิตาลี
ฮามีดียืนยันว่า มีการแข่งขังทัวร์นาเมนต์ระดับอินเตอร์อย่างน้อย 15 รายการแล้วในปีนี้ซึ่งวางแผนจะนำนักกอล์ฟเข้ามาประลองฝีมือกันในแดนเสือเหลือง และเขาหวังว่าบรรดาโรงแรม สโมสรกอล์ฟ สายการบิน ตลอดจนเอเยนต์ทัวร์ทั้งหลาย จะร่วมมือกันดึงนักท่องเที่ยวและนักกอล์ฟหลั่งไหลกันเข้ามาให้มากกว่านี้อีก
ทัวริซึม มาเลเซีย และอุตสาหกรรมค้าปลีกแดนเสือเหลือง ต่างกำลังมองโลกในแง่ดีว่าจะสามารถทำรายได้เพิ่มสูงขึ้นกว่ายอดรายรับในการช็อปปิ้งของพวกนักท่องเที่ยวเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 6,490 ล้านริงกิต (1,700 ล้านดอลลาร์) พุ่งพรวดจากปีก่อนหน้าถึง 47% แถมยังทำได้ทั้งๆ ที่เกิดปัญหาการระบาดของโรคซาร์ส (โรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง) ซึ่งทำให้การเดินทางท่องเที่ยวของทั่วโลกหดหายไปตั้งหลายเดือน
โมฮาหมัด รอสลี เซลามัต ผู้จัดการทั่วไปของสำนักเลขาธิการช็อปปิ้งมาเลเซีย ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของทัวริซึม มาเลเซีย ชี้ว่ารัฐบาลกำลังหาทางดึงนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักเข้ามามากขึ้น และพำนักอยู่ในแดนเสือเหลืองให้ยาวนานยิ่งขึ้นด้วย
พวกเจ้าหน้าที่ท่องเที่ยวของมาเลเซีย ที่เข้าร่วมออกร้านในงานนิทรรศการการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ต่างแสดงความเริงร่าว่า แพกเกจทัวร์มายังมาเลเซียเป็นที่สนใจต้อนรับยิ่งกว่าที่คาดหมายกันไว้ ดังนั้น จึงน่าจะมีอาคันตุกะจากยุโรปเข้ามากันมากขึ้นนับจากนี้ไป
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานภาคเอกชนในอุตสาหกรรมนี้ อาทิ สมาคมเอเยนต์ท่องเที่ยวแห่งมาเลเซีย (มัตตา) ยังคงเหยียบเบรกอย่าให้มองอะไรสดใสเกินไปนัก โดยชี้ว่าพวกปัจจัยด้านลบ อาทิ การจำกัดสิทธิลงจอดของสายการบินโลว์คอสต์ และราคาน้ำมันที่แพงลิ่วจนทำให้ต้องมีการคิดค่าเชื้อเพลิงเพิ่มเติมจากค่าโดยสาร อาจทำให้การเติบโตขยายตัวของการท่องเที่ยวในมาเลเซีย ไม่เป็นไปตามที่วาดหวัง
ตนกู ดาโต๊ะ ศรี อิสกันดาร์ ตนกู อับดุลเลาะห์ ประธานมัตตาย้ำเป็นพิเศษว่า ข้อจำกัดต่างๆ ที่รัฐบาลมาเลเซียและสิงคโปร์ประกาศออกมาใช้คุมสายการบินโลว์คอสต์ อาจเป็นตัวการทำให้นักท่องเที่ยวหันไปสู่จุดหมายอื่นซึ่งยุ่งยากน้อยกว่า
แต่แม้ภาคเอกชนยังไม่กล้าฝันไกลเท่าภาครัฐ ผลประกอบการในปีที่แล้วของพวกเขาโดยเฉพาะรายใหญ่ๆ ก็ยังคงสะท้อนให้เห็นถึงความสดใส
บริษัทรีสอร์ตส์ เวิลด์ รายงานว่าในรอบปี 2004 ทำกำไรสุทธิได้ 753.35 ล้านริงกิต ทะยานขึ้นจากปีก่อนหน้า 47.7% สืบเนื่องจากบริษัทลูกอย่าง สตาร์ ครูซส์ ทำรายได้ให้แก่บริษัทเพิ่มลิ่ว ขณะเดียวกัน รายรับรวมของทั้งเครือก็ดีขึ้น 4.8% โดยทำได้ 2,840 ล้านริงกิต จาก 2,710 ล้านริงกิตในปีก่อนหน้า เนื่องด้วยกิจการในด้านนันทนาการและต้อนรับอาคันตุกะต่างทำเงินได้สูงขึ้น ซึ่งที่สำคัญแล้วเพราะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มขึ้นมากนั่นเอง
ทางด้าน รีไลแอนซ์ แปซิฟิก คาดหมายว่าปี 2005 จะบูมแน่นอน โดยทำนายยอดขายว่าจะเติบโต 12% เนื่องจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในมาเลเซียทำท่าจะไปได้สวย ทั้งนี้ในกิจการด้านท่องเที่ยว บริษัทตั้งเป้าว่าจะทำยอดขายได้ 50 ล้านริงกิตในปี 2005 กระโจนพรวด 20% จากประมาณ 30 ล้านริงกิตในปีที่แล้ว สำหรับระยะ 6 เดือนที่สิ้นสุด 30 กันยายน 2004 รีไลแอนซ์รายงานว่าทำกำไรสุทธิได้ 4.4 ล้านริงกิต จากยอดขาย 159 ล้านริงกิต
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|