|

จีนแสดงท่าทีใกล้เพิ่มค่าเงินหยวน ผ่อนแรงกดดันทั้งภายในและต่างปท.
ผู้จัดการรายสัปดาห์(13 พฤษภาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
การส่งออกแบบบูมสนั่นของจีนในระยะไม่กี่เดือนหลังมานี้ กลายเป็นชนวนให้เกิดการอภิปรายถกเถียงอีกครั้งเรื่องปักกิ่งควรจะต้องปรับค่าเงินหยวน นั่นคือ ปล่อยให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์
ถึงแม้ผู้นำจีนหลายคน โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีเวินเจียเป่า ได้ออกมาเรียกร้องบ่อยครั้ง ให้บันยะบันยังสินค้าออกซึ่งไหลทะลักออกจากโรงงานในแผ่นดินใหญ่กันบ้าง แต่เอาเข้าจริงแล้ว ผลิตภัณฑ์ตีตราเมดอินไชน่า ก็ยังคงพรั่งพรูกันออกมาอยู่ดี
ตามตัวเลขศุลกากรจีน รอบไตรมาสแรกของปีนี้ ยอดส่งออกขยายตัวเป็นสถิติใหม่ด้วยซ้ำ โดยสูงขึ้น 34.9% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีที่แล้ว ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯก็รายงานว่า สินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มซึ่งนำเข้าจากจีนใน 3 เดือนแรกของปี 2005 พุ่งพรวดขึ้นถึง 60%
ระลอกคลื่นแห่งสินค้าออกเช่นนี้ทำให้ทั้งสหภาพยุโรป(อียู) และสหรัฐฯ ซึ่งต่างเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีน แสดงอาการไม่เป็นสุขมากขึ้นทุกที เวลานี้ทั้งยุโรปและอเมริกาต่างออกมาเตือนแกมขู่ว่า อาจจะต้องใช้มาตรการอย่างเช่น การขึ้นภาษีเพื่อเป็นการลงโทษ มาเล่นงานยับยั้งการส่งออกจากจีน ถ้าจีนยังทำเฉยเมยไม่คิดแก้ไขสถานการณ์อย่างจริงจัง
ในรัฐสภาอเมริกันซึ่งกระแสกีดกันการค้ารุนแรงกว่าในฝ่ายรัฐบาลด้วยซ้ำ เมื่อเร็วๆ นี้วุฒิสภาก็ได้ผ่านร่างกฎหมายฉบับหนึ่ง ซึ่งเปิดทางให้สามารถขึ้นภาษี 27.5% เอากับสินค้านำเข้าจากแดนมังกร หากปักกิ่งยังไม่ยอมปรับค่าเงินหยวนภายในเวลา 6 เดือน
ร่างกฎหมายนี้บอกว่า จีนทำให้สกุลเงินตราของตนอ่อนค่า เพื่อให้ได้เปรียบในการส่งออก ดังนั้น การเข้าแทรกแซงค่าเงินหยวนของรัฐบาลจีน จึงเป็นการละเมิดทั้งลายลักษณ์อักษรและเจตนารมณ์ของระบบการค้าโลก ซึ่งเวลานี้จีนก็เข้าเป็นสมาชิกแล้ว
อันที่จริงก็อย่างที่ทราบกันดี การส่งออกของจีนซึ่งติดลมบนในระยะไม่กี่เดือนหลังมานี้ เหตุผลสำคัญเนื่องมาจากระบบกำหนดโควตาในการค้าสิ่งทอระหว่างประเทศได้หมดอายุลงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมปีนี้ ทำให้สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเมดอินไชน่า มีช่องทางเจาะตลาดได้คล่องขึ้นกว่าเดิม จนทำให้นานาประเทศหวั่นไหวคร้ามเกรงไปหมด
อีกปัจจัยสำคัญซึ่งทำให้การส่งออกของจีนบานเบิก ได้แก่การที่เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(เอฟดีไอ) ได้ไหลบ่าเข้าสู่แดนมังกรมาหลายปีแล้ว ตามตัวเลขที่ปรากฏ ในปี 2003 จีนดึงดูดเอฟดีไอเข้าไปได้ถึง 50,000 ล้านดอลลาร์ และปีรุ่งขึ้นยังกวาดเพิ่มเป็น 60,000 ล้านดอลลาร์ด้วยซ้ำ
เงินลงทุนเหล่านี้เข้าไปแล้วก็ย่อมต้องการผลตอบแทน ผลคือโครงการต่างๆ ที่อุดหนุนโดยเม็ดเงินต่างประเทศ ได้ทำให้ศักยภาพการผลิตโดยรวมของจีนขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะไปผลักดันให้ปริมาณการส่งออกพุ่งพรวด
ขณะที่แรงกดดันจากภายนอกกำลังเพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้จีนปรับเพิ่มค่าเงินหยวน แดนมังกรเองก็แสดงทีท่าสนองรับอยู่ไม่น้อย
เมื่อวันที่ 14 มีนาคม นายกรัฐมนตรีเวินแถลงยอมรับว่า ทางเจ้าหน้าที่ของจีน "กำลังจัดทำแผน" เพื่อปรับค่าเงินหยวนกันใหม่
นอกจากนั้นยังมีรายงานในสื่อจีนว่า พวกนักวิเคราะห์เงินตราของวาณิชธนกิจยักษ์อย่างเช่น เจพี มอร์แกน และ เอบีเอ็ม แอมโรม ออกโรงมาคาดหมายว่าเงินหยวนจะเพิ่มค่าขึ้นอย่างน้อย 5-10% ในปีนี้ การที่สื่อจีนซึ่งอยู่ในความควบคุมแน่นหนาของรัฐ ออกมารายงานข่าวแบบนี้ ย่อมเพิ่มน้ำหนักให้แก่ผู้ที่เชื่อว่าปักกิ่งใกล้จะเคลื่อนไหวในทิศทางนี้จริงๆ แล้ว
ไม่เพียงเท่านั้น ในด้านความคิดทฤษฎี ก็มีนักเศรษฐศาสตร์ออกมาแสดงเหตุผลรองรับว่า การที่เงินหยวนอ่อนค่าเกินไปกำลังเป็นผลเสียหายต่อเศรษฐกิจของจีนเองด้วยซ้ำ
อาทิ หลิวเป่ยเสวือง รองศาสตราจารย์แห่งคณะบัญชีและการเงิน มหาวิทยาลัยฮ่องกงโปลีเทคนิค อีกทั้งเป็นสมาชิกคนหนึ่งของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติของจีน ชี้ว่า เมื่อเงินหยวนเพิ่มค่าแข็งขึ้น จีนก็จะสามารถลดการไหลเข้าของเอฟดีไอ ผ่อนเพลาให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตซึ่งร้อนแรงได้เย็นตัวลง และในที่สุดแล้วก็จะประคับประคองทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นไปอย่างมีสุขภาพดี
อาจารย์หญิงผู้นี้บอกว่า การที่หยวนผูกตรึงแน่นหนากับดอลลาร์ ทำให้มูลค่าของมันอ่อนลง(ตามดอลลาร์)ในราว 50% ในระยะสองสามปีที่ผ่านมา
การอ่อนตัวเช่นนี้เป็นดาบสองคม ด้านหนึ่งอาจทำให้วิสาหกิจจีนซึ่งมุ่งส่งออกมีความได้เปรียบในตลาดโลก แต่อีกด้านหนึ่งมันก็ทำให้สภาพแวดล้อมทางการค้าสำหรับผลิตภัณฑ์เมดอินไชน่าต้องเสื่อมทรามลง เพราะพวกคู่ค้าของจีนย่อมโทษว่าตลาดภายในของพวกเขาวุ่นวายประสบปัญหาสืบเนื่องจากการทะลักเข้าไปของสินค้าแดนมังกร และบางรายถึงขั้นเริ่มขึ้นภาษีเป็นการลงโทษเอากับสินค้าจีนแล้วด้วยซ้ำ
นอกจากนั้น การส่งออกมากๆ ยังทำให้มีการสะสมทุนสำรองเงินตราต่างประเทศในปริมาณสูงลิ่ว ซึ่งมักจะก่อให้เกิดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อต่อเศรษฐกิจจีนเอง
อาจารย์หลิวกล่าวว่า แม้เงินหยวนที่อ่อนค่าสามารถดึงดูดเงินลงทุนต่างชาติ แต่เรื่องนี้ไม่ค่อยให้ประโยชน์แก่คนงานธรรมดาๆ ชาวจีน เนื่องจากเม็ดเงินดังกล่าวจำนวนเล็กน้อยเท่านั้นซึ่งเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในเงินเดือนค่าจ้าง ขณะที่ส่วนใหญ่จะใช้จ่ายในการซื้อหาขอใช้สิทธิบัตรตลอดสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ เพื่อจะเดินเครื่องจักรผลิตสินค้าได้
ท่าทีของฝ่ายจีนเช่นนี้ ทำให้ใครๆ ก็ดูจะเชื่อกันแล้วว่า แดนมังกรจะต้องมีการปรับค่าเงินหยวนแน่นอน เพียงแต่ว่าจะเมื่อใดเท่านั้น
นักวิเคราะห์บางคนคิดที่จะฟันธง อาทิ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม แฟรงก์ กง แห่ง เจพีมอร์แกน ออกบทวิเคราะห์ว่า อีก 2 วัน คือ ในวันอาทิตย์ที่ 8 จะเป็นโอกาสทองที่จีนน่าจะลงมือ เนื่องจากเป็นวันทำงานวันแรกภายหลังเทศกาลหยุดยาว 1 สัปดาห์เนื่องในวันกรรมกรสากล โดยปักกิ่งกำหนดให้กลับมาทำงานกันในวันอาทิตย์ ขณะที่ตลาดอื่นๆ ทั่วโลกยังคงปิดอยู่ เมื่อเป็นเช่นนี้ ตลาดและผู้คนภายในจีนเอง จึงเป็นพวกที่จะมีโอกาสก่อนคนอื่น ในการสนองตอบต่อข่าวใหญ่ปรับเพิ่มเงินหยวนนี้
อย่างไรก็ตาม เขาก็หน้าแตกไปตามระเบียบ เมื่อไม่ได้มีความเคลื่อนไหวอะไรเกิดขึ้นในวันนั้น
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|