ภาษาอังกฤษ : UNIGUE SELLING POINT


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

สินค้าหนึ่งๆ ถ้ามีจุดขายทีเด่นชัดแตกต่างไปจากสินค้าประเภทเดียวกันรายอื่นๆ ผู้บริโภคย่อมเห็นความแตกต่าง เมื่อลองใช้แล้วสินค้านั้นคุณภาพดี สิ่งที่ตามมาก็คือยอดขายและภาพพจน์ที่ดี

อัสสัมชัญก็เช่นกัน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จุดขายในทุกๆ รอยต่อแห่งการขยายสถาบันการศึกษาออกไปอยู่ที่ "ภาษาอังกฤษ" จากแรกเริ่มโรงเรียนอัสสัมชัญที่สอนด้วยภาษาอังกฤษ ขยายการศึกษาออกมาในระดับพาณิชยการก็เปิดโรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชย์ด้วยการสอน COMMERCE เป็นภาษาอังกฤษและในระดับอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญบริหารธุรกิจก็เปิดสอนบริหารธุรกิจระดับปริญญาตรีด้วยภาษาอังกฤษ

ใครๆ ก็รู้สึกได้ว่าอัสสัมชัญต่างจากสถาบันการศึกษาอื่นที่ "ภาษาอังกฤษ"

เมื่อศึกษาจากประวัติอัสสัมชัญแล้วเมื่อแรกนั้น อัสสัมชัญอาจไม่ต้องการให้ภาษาอังกฤษเป็นจุดเด่นของสถาบันก็ได้ แต่เพราะมีสถานการณ์หลายอย่างบีบบังคับให้เป็นเช่นนั้น เพราะบาทหลวงกอลมเบต์ และภราดาคณะเซนต์คาเบรียลที่เข้ามาดำเนินการตอนนั้น เป็นนักบวชและเป็นชาวต่างประเทศ ข้อจำกัดด้านนี้ทำให้ต้องเน้นภาษาต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประเทศสยามรวมกำลังเปิดประเทศ มีการติดต่อซื้อขายกับชาวต่างประเทศมากขึ้น บุคลากรที่ตลาดต้องการส่วนใหญ่ต้องมีพื้นความรู้ทางด้านภาษา ที่จะสามารถทำงานหรือติดต่อกับชาวต่างประเทศได้

"นักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญรุ่นแรกๆบางคนยังไม่จบก็มีบริษัทห้างร้านต่างๆ มาจองตัวไปทำงานแล้ว บางทีไปเป็นล่ามก็มี" มาสเตอร์เก่าแก่ของโรงเรียนคนหนึ่งเล่าให้ฟัง

ภาษาอังกฤษเป็นหน้าตาของโรงเรียนอัสสัมชัญมาแต่ไหนแต่ไร เพราะการสอนเน้นให้นักเรียนใช้ภาษาอังกฤษทั้งในและนอกเวลาเรียน หากใครฝ่าฝืนก็จะถูกลงโทษด้วยวิธีการต่างๆ นักเรียนอัสสัมชัญในโดยเฉพาะในสมัยแรกๆ จึงมีความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี

ครั้นเมื่อแยกโรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชย์ออกมา ด้วยแนวความคิดที่จะให้เป็นโรงเรียนการพาณิชย์ที่ผลิตบุคลากรออกมาให้ PRACTICAL มากที่สุด ก็มีหลักสูตร COMMERCE แบบต่างประเทศที่สอนด้วยภาษาอังกฤษล้วน

และมีเมื่อขยายการศึกษาออกมาถึงขั้นอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยอัสสัมชัยบริหารธุรกิจ มีแนวคิดหลักที่จะให้เป็นสถาบันการศึกษาการบริหารธุรกิจที่ผลิตบุคลากรออกมาในลักษณะ INTELLESTUAL ก็สอนเป็นภาษาอังกฤษล้วนเช่นกัน

ครั้งถึงวันนี้ก็มีคำถามว่า จุดแตกต่างเรื่องภาษาอังกฤษของสถาบันการศึกษาเครืออัสสัมชัญนั้น จะต่างจากสถาบันการศึกษาอื่นๆ ในระดับเดียวกันได้นานสักเพียงไร

โรงเรียนอัสสัมชัญขณะนี้ต้องใช้หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ชั่วโมงภาษาอังกฤษจำกัดให้ลดน้อยลง แม้โรงเรียนจะหาทางออก โดยการเสริมชั่วโมงภาษาอังกฤษเข้าในบางวิชาที่เห็นว่าลดชั่วโมงเรียนลงได้ และสามารถเรียนได้ตามที่กระทรวงฯ กำหนดก็ตาม

"เดี๋ยวนี้เด็กมีสิ่งเบี่ยงเบนความสนใจมาก มีโทรทัศน์ การ์ตูน และโรงเรียนจะลงโทษเด็กรุนแรงเหมือนสมัยก่อนก็ไม่ได้" มาสเตอร์โรงเรียนอัสสัมชัญคนหนึ่งออกความเห็นว่า ภาพนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญเก่งภาษาอังกฤษนับวันจะเลือนลางลง เพราะปัจจัยภายนอกที่โรงเรียนควบคุมไม่ได้

สำหรับโรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชย์เมื่อแรกใช้หลักสูตร COMMERCE แบบต่างประเทศที่เป็นภาษาอังกฤษล้วน เพราะมุ่งให้นักเรียนที่เรียนจบสามาถทำงานได้ทันที แต่ในปัจจุบันนักเรียนมีความต้องการศึกษาต่อมากขึ้นถึง 80% โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชย์จึงต้องยอมปรับตัวรับหลักสูตร ปวช.ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด เพื่อแลกกับประกาศนียบัตร ม.6 และเพื่อนักเรียนจะได้เรียนต่อได้โดยไม่ต้องไปสอลเทียบอีก รวมทั้งสิทธิที่นักเรียนชายจะได้เรียนรักษาดินแดน

"เราคิดว่าหลักศูตรใกม่ COMMERCE ผสม ปวช.กับหลักสูตรเก่านั้นไม่แตกต่างกันนัก เพียงแต่หลักสูตรใหม่นักเรียนต้องทำงานหนักขึ้น คือต้องเรียนวิชาที่กระทรวงบังคับและเรียนตำราภาษาอังกฤษด้วย" หัวหน้าฝ่ายวิชการโรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชย์ กล่าวกับ"ผู้จัดการ" ว่าขณะนี้มี 2 หลักสูตร

1. หลักสูตรเก่า เป็นหลักสูตร COMMERCE แบบต่างประเทศ
2. หลักสูตรใหม่ COMMERCE ผสม ปวช. ซึ่งผู้เรียนจบจะได้ประกาศนียบัตร ม.6 และมี

สิทธิเรียนวิชาทหาร

"เราคิดว่าจะปรับให้หลักสูตรใหม่นี้ให้เป็นระดับปวส. และคิดว่าอีก 2 ปี หลักสูตรเก่าก็จะถูกลืนไปเหลือเพียงหลักสูตรเดียว" หัวหน้าฝ่ายวิชาการกล่าวเสริมกับ "ผู้จัดการ" ถึงแนวทางการปรับตัว "ไม่ถึงกับสูญเสียหมดไปแต่คงเหลือของเดิมอยุ่บ้าง"

ส่วนมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญบริหารธุรกิจนั้น ขณะนี้ดูเหมือนจะมีจุดขายที่ภาษาอังกฤษเด่นชัดกว่าที่อื่น เพราะในระดับปริญญาตรียังไม่มีสถาบันใดที่สอนบริหารธุรกิจเป็นภาษาอังกฤษตลอดหลักสูตร และทางนักศึกษาก็ให้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในการให้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี ในกลุ่มนักศึกษาถึงกับมีหน่วยสอดแนมจับตาอาจารย์สอน ถ้าอาจารย์คนใดเผลอสอนเป็นภาษาไทยจะถูกเตือนทันที

ที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญบริหารธุรกิจภาษาอังกฤษยังเป็นจุดขายเด่นชัด และนักศึกษาให้ความร่วมมือและปกป้องผลประโยชน์ในเรื่องภาษาอังกฤษเป็นอย่างดีนั้น

อาจเป็นเพราะค่าเล่าเรียนหน่วยกิตละ 275 บาทก็เป็นได้!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.