แฉขบวนการ “ต่างด้าว” ปล้นเงียบแสนล้านกินรวบอัญมณีไทย!!! ผวาฟอกเงิน-ยาบ้า-คอร์รัปชัน


ผู้จัดการรายสัปดาห์(21 กรกฎาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

*กิจการอัญมณีไทยกำลังตกอยู่ในอุ้งมือต่างด้าวเสียแล้ว
*อัดยับ “แขก” หักหัวคิวซื้อเพชรพลอยไทย 20-30%
*กินรวบเบ็ดเสร็จ จากจันทบุรีสู่บางรัก-สีลม-สุริวงศ์ กรุงเทพฯ
*หวั่นเลี่ยงภาษีหมื่นล้าน-เบี้ยวส่งออก-ดัมป์ราคาในประเทศ
*วงการชี้เป็นแหล่งฟอกเงิน-ยาบ้า-คอร์รัปชันดีๆ นี่เอง!!!
*ร้อง ครม.สัญจรจันทบุรี 1-2 ส.ค.นี้
*จัดระเบียบค้าเพชรพลอย ตั้งศูนย์กลางอัญมณีโลกปลอดภาษี ก่อนไทยจะสูญพันธุ์

เปิดโปงขบวนการปล้นข้ามชาติแสนล้านอุตสาหกรรมอัญมณี อุตสาหกรรมดาวรุ่งของไทย แต่ทว่าขณะนี้มันกำลังอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ธุรกิจที่เคยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ โดยเฉพาะกับคนจันทบุรีด้วยแล้ว นี่คือ ภูมิปัญญาชาวบ้านที่สั่งสมมานับร้อยปี แต่วันนี้ตกอยู่ในอุ้งมือของต่างด้าวที่เข้ามายึดอาชีพนายหน้าค้าเพชรพลอย เป็นตัวกลางระหว่างลูกค้าชาวต่างชาติกับผู้ผลิตเพชรพลอยจันทบุรี

จนกระทั่งทำให้นักเจียระไนพลอย นักค้าพลอยคนไทยได้รับผลไปตามๆ กัน บางหมู่บ้านปิดตัวเองลงจาก 100 โรงงานเหลือไม่ถึง 10 โรงงาน คนงานตกงานจำนวนมาก เพียงเพราะเกมการตลาดของ "แขกต่างด้าว" ที่เข้ามาทำมาหากิน

"กลุ่มนักธุรกิจ SMEs และผู้ค้ารายย่อยหลายร้อยรายในเมืองจันท์มีปัญหาเรื่องการหักค่านายหน้า 15-25% จากกลุ่มพ่อค้าชาวต่างชาติ นับวันจะทำให้ธุรกิจพลอยเมืองจันทบุรีใกล้จะปิดตัวลงแล้ว "ขวัญเมือง บำรุงพนิชถาวร แกนนำกลุ่ม SMEs เรียกร้องให้รัฐเข้ามาจัดการโดยด่วน เพราะเกรงว่าภูมิปัญญาการหุงพลอย การเจียระไนพลอย การค้าขายพลอยจะถึงกาลอวสาน

เพราะนับจากอดีตเมืองจันทบุรีถือเป็นเมืองต้นน้ำที่เป็นแหล่งผลิตและเจียระไนพลอยที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของกลุ่มพ่อค้าพลอยทั่วโลก ชาวบ้านเมืองจันทบุรีถึง 55,000 คนยึดอาชีพเจียระไนพลอยแล้วนำออกไปขายสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่ปัจจุบันสถานการณ์ต่างๆ เริ่มเปลี่ยนแปลงไป เพราะมีปัจจัยจากภายนอกเข้ามาพัวพันจนทำให้ราคาการซื้อขายพลอยเปลี่ยนแปลงไปจากหน้ามือเป็นหลังมือจนไม่มีใครสามารถควบคุมได้

ตกต่ำเหตุจากถูก "แขก" กดราคา
เป็นที่รู้กันดีว่าในวงการค้าพลอยนั้นไม่มีใครสามารถตั้งราคากลางการซื้อขายได้ ผู้ซื้อผู้ขายจะใช้ "ความพอใจ" ในการตีราคากันเอง ทำให้เกิดช่องสำหรับคนกลุ่มหนึ่งที่อาศัยความน่าเชื่อถือและสามารถในการเจาะตลาดได้ดีอย่างชาวอินเดีย เข้ามามีบทบาทในการซื้อขายพลอยในตลาดพลอยเมืองจันทบุรี

"ตอนนี้กลุ่มคนที่มีบทบาทสูงในตลาดค้าพลอยทั้งที่จังหวัดจันทบุรีและกรุงเทพฯ กลายเป็นชาวต่างประเทศ โดยเป็นชาวอินเดียถึง 95 % คนกลุ่มนี้เริ่มเข้ามามีบทบาทในวงการค้าพลอยเมืองไทยเมื่อช่วงที่เกิดภาวะเศรษฐกิจ เพราะกลุ่มพ่อค้าพลอยรายใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ เจอพิษเศรษฐกิจไม่สามารถสต็อกพลอยคราวละมากๆ ได้อีก ทำให้กลุ่มผู้ค้าพลอยจากอินเดียเข้ามาทำหน้าที่แทน แต่การเข้ามาในครั้งนี้ไม่ได้เข้ามาซื้อขายกันตามกลไกการตลาดอย่างที่เคยทำกัน แต่คนกลุ่มนี้เข้ามาติดต่อซื้อขายพลอยในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำจึงมีโอกาสกดราคากับพ่อค้ารายย่อยชาวไทย ซึ่งนี่ก็คือต้นเรื่องของปัญหาทั้งหมด" ขวัญเมือง บำรุงพนิชถาวร เล่าถึงความเป็นมาของต้นเหตุของปัญหา ที่เขาระบุว่าผู้ค้ารายย่อยชาวจังหวัดจันทบุรีกำลังถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าชาวต่างชาติ

เงินสะพัดอาทิตย์ละ 500 ล้าน
การทำการค้าร่วมกับชาวต่างชาติกลุ่มนี้ยังไม่มีปัญหามากนักแม้ในระยะแรกจะมีการเรียกเก็บเปอร์เซ็นต์ก็ตาม แต่ปัญหาเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อกลุ่มพ่อค้านี้ซื้อพลอยแล้วไม่นำพลอยไปเก็บสต็อกหรือนำออกไปขายในต่างประเทศ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำการค้าจะต้องส่งออกทั้งหมด เพราะได้สิทธิไม่เสียภาษี แต่คนเหล่านั้นกลับนำพลอยเหล่านี้กลับมาทุ่มตลาดในบ้านเราทำให้ราคาพลอยในประเทศเริ่มตกต่ำลง

ปัจจุบันกลุ่มพ่อค้าชาวต่างชาติได้ลงทุนตั้งโต๊ะรับซื้อในตลาดพลอยจากผู้ค้าขนาดกลางและรายย่อยในจังหวัดจันทบุรีอย่างเป็นล้ำเป็นสัน โดยจะมีการหักเปอร์เซ็นต์จากผู้ขาย 17-25% และเมื่อซื้อแล้วกลับไม่นำออกไปขายยังต่างประเทศ แต่กลับมาวนขายในประเทศโดยซื้อขายเป็นเงินสดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีใบกำกับภาษี ไม่มีใบเสร็จที่สมบูรณ์ ว่ากันว่าตลาดค้าขายพลอยเมืองจันทบุรีแต่ละอาทิตย์มีวงเงินสูงถึง 500 ล้านบาท เท่ากับว่าเฉพาะตลาดที่นี่มีเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาทต่อเดือน หรือปีละ 26,000 ล้านบาท

สำหรับการหักเปอร์เซ็นต์ของพ่อค้ากลุ่มนี้จะใช้วิธีการเขียนจำนวนเงินบนกระดาษเปล่าเพียงแผ่นเดียว แล้วเขียนวัน เวลาและจำนวนเงินลงไป ซึ่งผู้ขายจะนำกระดาษแผ่นนั้นไปติดต่อรับเงินสดจากผู้ซื้อต่อไป

"ผมเคยสอบถามเจ้าของออฟฟิศหรือโต๊ะที่ขายพลอยถึงการหักเปอร์เซ็นต์ที่มีความแตกต่างกันไป พบว่าถ้าลูกค้าที่จะซื้อพลอยที่อยู่ต่างประเทศเขาโอนเงินสดมาที่เมืองไทย เขาจะเก็บลูกค้า 5% เป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งทางเราก็ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว แต่รายที่หักถึง 20% เพราะคนที่มาซื้อพลอยนั้นซื้อด้วยเครดิตถึงต้องหักค่าเปอร์เซ็นต์เป็นค่าความเสี่ยง ซึ่งเท่ากับเป็นการผลักภาระให้กับผู้ค้ารายย่อยเต็มๆ"

เขาอธิบายว่าชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในบ้านเราจะต้องไปจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้วสามารถมาซื้อสินค้าต่างๆ เพื่อนำออกไปขายยังประเทศที่สามต่อไป ซึ่งถ้าชาวต่างชาติซื้อแล้วไม่นำออกจะต้องไปจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ใหม่ว่าจะขายภายในประเทศแต่จะต้องเสียภาษี แต่ด้วยความที่เจ้าหน้าที่ไม่มีการตรวจสอบทำให้เกิดการ "เวียนเทียน" พลอยในตลาดขึ้น

ที่ร้ายที่สุดพ่อค้าชาวต่างชาติกลุ่มนี้ได้คัดพลอยเกรดดีออกไปขายต่างประเทศในราคากะรัตละไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท เขาได้กำไรเต็มๆ ส่วนพลอยที่เหลือเอากลับมาทุ่มตลาดในประเทศในราคากะรัตละ 100 กว่าบาท ทำให้ราคาพลอยที่กลุ่มพ่อค้าคนไทยนำมาเจียระไนลดลงทุกวัน

"อย่างพลอยอุตสาหกรรมที่เราทำอยู่เมื่อสามปีที่แล้วเราขายกะรัตละ 2 พันบาท แต่ปัจจุบันราคากะรัตละ 200 บาทเท่านั้น ซึ่งถ้ายังมีปัญหาการทุ่มตลาดและกดราคาอยู่อย่างทุกวันนี้อีกไม่ถึงปีกลุ่มพ่อค้ารายย่อยกว่า 55,000 คนก็คงต้องถูกลบชื่อออกจากทำเนียบพ่อค้าพลอยอย่างแน่นอน"

จากเด็กไม่มีอะไรรวยอื้อซ่า
สำหรับความเป็นมาของกลุ่มแขกต่างชาติที่เข้ามามีอิทธิพลในกิจการค้าเพชรพลอยเมืองจันทบุรี เป็นกลุ่มเดียวกับพ่อค้าเพชรพลอยในเมืองหลวง เชื่อมโยงกับกลุ่มนักค้าเพชรพลอยในกรุงเทพฯ แถวๆ บางรัก สุริวงศ์ สีลม โดยเริ่มต้นจากการเป็นเด็กวิ่งพลอย หาเพชรพลอยให้กับกลุ่มพ่อค้าในกรุงเทพฯ

"ตอนแรกก็นั่งแท็กซี่มาที่จันท์ ไม่รู้ว่าเขาเอาเงินมาจากไหนมาซื้อ ต่อมาก็มีรถยนต์หรูหราขับ แล้วก็มีทำธุรกิจอย่างถาวร จนกระทั่งมีแนวโน้มว่าการค้าเพชรพลอยทั้งเมืองจันท์ และกรุงเทพฯ ตกอยู่ในกลุ่มคนต่างด้าวไปแล้ว" แกนนำอธิบาย

ว่ากันว่าอุตสาหกรรมค้าอัญมณีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาทที่ส่งออกตามตัวเลขที่ปรากฏของกรมส่งเสริมการส่งออกนั้น อาจจะเพียงแค่ครึ่งหนึ่งของมูลค่าจริง เพราะมีบางส่วนที่ไม่ได้ลงบัญชี

"ผมว่าน่าจะมากกว่าเท่าตัวที่มีการซื้อขาย คุณคิดว่าเงินเหล่านั้นจะไปไหน" ปรีชา ปิตานนท์ ส.ว.จันทบุรี ตั้งข้อสังเกต

เขาเป็นคนหนึ่งที่เป็นพ่อค้าพลอย เป็นผู้ก่อตั้งสมาคมผู้ค้าอัญมณีที่จันทบุรี และเมื่อได้เป็นวุฒิสมาชิกเขาก็ได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้าน ผู้ทำธุรกิจค้าเพชรพลอยในจันทบุรีให้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เขาได้ต่อสู้ต้องการให้เกิดความเป็นธรรม โดยเฉพาะการหักค่าหัวคิว 25-30% การนำพลอยเข้ามาวนขายในตลาดภายในประเทศ อันทำให้ราคาตกต่ำ แต่ทุกอย่างก็ยังไม่เป็นผล ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้คนค้าพลอยได้ แม้เวลาจะผ่านมากว่า 4 ปีแล้ว

"ผมเคยเสนอว่าเราควรจะต้องแก้ไขจัดระบบใหม่ การเข้าไปจับไม่ยากเลย แค่คุณไปดูสต็อกพลอยว่าเขามีเท่าไร เขาส่งออกจริงไหม แค่นี้ก็จับได้แล้ว เรื่องนี้ไม่ได้ซับซ้อนแต่เราทำกันไม่จริงจังมากกว่า"

แนะตั้งจันทบุรีเป็นเศรษฐกิจพิเศษ
ปัญหาการกลับเข้ามาทุ่มตลาดและการหักเปอร์เซ็นต์การซื้อกลายเป็นปมปัญหาที่สำคัญที่ทำให้เกิดความขัดแย้งกันระหว่างกลุ่มพ่อค้าพลอยรายใหญ่และกลุ่มผู้ค้าพลอยรายย่อย จนทำให้กลุ่มผู้ค้ารายย่อยทำหนังสือร้องเรียนไปยังตำรวจเศรษฐกิจให้ลงไปตรวจสอบหาข้อเท็จจริง ซึ่งหากยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อาจจะส่งผลกระทบต่อการผลักดันให้จังหวัดจันทบุรีเป็นมหานครแห่งอัญมณีได้

ขวัญเมืองเสนอแนวคิดที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นว่า ต้องเริ่มต้นจากต้นทาง คือจังหวัดจันทบุรีต้องมีความเข้มแข็ง โดยต้องรัฐบาลต้องให้ความช่วยเหลือด้วยการส่งเสริมให้มีกองทุนรับจำนำพลอยจากผู้ค้ารายย่อยที่เกิดจากการตัดราคาและรอราคาตลาดที่สูงขึ้นก่อนนำออกไปขาย นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ต้องเข้ามาควบคุมการทุ่มตลาดโดยตรวจสอบสต็อกของพ่อค้าชาวต่างประเทศว่าเขาได้นำพลอยออกไปขายยังต่างประเทศหรือไม่

แต่หากต้องการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเบ็ดเสร็จ รัฐบาลควรจะตั้งให้จังหวัดจันทบุรีเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเพราะจังหวัดจันทบุรีมีความพร้อมทุกอย่าง ทั้งด้านเงินทุน ฝีมือ ซึ่งถ้าจะทำจริงๆ สามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม ซึ่งหากเมืองจันทบุรีเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษปัญหาต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นนี้จะหมดไปทันที

"การลงทุนของธุรกิจจิวเวลรีใช้เม็ดเงินไม่มาก เมื่อเราประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้วเชื่อว่าจะมีนักลงทุนจากทั่วโลกเข้ามาลงทุนในบ้านเรา ที่สำคัญเราจะสามารถแก้ไขปัญหาของการค้ากดราคาได้โดยปริยายเพราะเราจะได้นักลงทุนที่มีประสิทธิภาพมากกว่าปัจจุบัน"

ต้นตอแหล่งฟอกเงิน
ว่ากันว่ากิจการค้าเพชรพลอย อัญมณีมูลค่าแสนล้านบาทนั้น ถือเป็นแหล่งฟอกเงินจากดำเป็นขาวมายาวนานโดยที่หลายคนไม่เคยทราบ รวมไปถึงเป็นแหล่งฟอกเงินของวงการค้ายาบ้าข้ามชาติอีกด้วย

"เพชรพลอยก้อนคือที่มาของการฟอกเงิน คุณไม่รู้ว่ามูลค่าแท้จริงมีเท่าไร ใครจะใส่ราคาเท่าไรก็ได้ บางคนให้แหวนเพชรแทนเงินสด บางคนใส่เวลาเดินทางไปต่างประเทศ พอไปถึงก็ไปแลกเป็นเงินสด ไม่ต้องดีแคลร์ด้วย" แหล่งข่าวในวงการค้าพลอยเล่าให้ฟัง

สำหรับขบวนการค้ายาบ้ากับวงการค้าพลอยนั้น แหล่งข่าวใน ปปง.อธิบายว่าเกิดขึ้นมาในช่วงยาบ้ากำลังเบิกบานเมื่อ 5-6 ปีก่อน ซึ่งกลุ่มว้าในประเทศพม่าอ้างว่าตนเองทำธุรกิจค้าเพชรพลอยทำให้มีรายได้จำนวนมาก แต่กลุ่มนี้ใช้เทคนิคเปิดประมูลพลอยก้อนหลังจากส่งยาบ้าเข้ามาในประเทศแล้ว ซึ่งผู้เข้าประมูลก็จะนำเงินค่ายาผ่านกระบวนการประมูลอย่างแยบยล จนแยกไม่ออกว่านี่คือธุรกิจค่าพลอยหรือการส่งเงินค่ายาบ้ากันแน่

"หลายคนกำลังหันมาทำกิจการพลอยเพราะเป็นช่องทางของพวกคอรัปชันที่จับได้ยาก เพราะมูลค่าที่มหาศาล บวกกับราคาขายที่ไม่มีราคากลางจริง" แหล่งข่าวบอก

ว่ากันว่ามีระดับรัฐมนตรีพยายามอาศัยกระบวนการค้าเพชรพลอยในการตกแต่งบัญชีเช่นกัน แต่นับวันจะให้ความสนใจมากขึ้น

**********

รัฐดัน SMEs สร้างแบรนด์-ต่อยอดลุยส่งออกอัญมณี 1.3 แสนล้านบาท

กรมส่งเสริมการส่งออกลุยเต็มที่ดันสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสู่ตลาดโลก เร่งขยายตลาดใหม่เข้าตะวันออกกลาง เจาะกลุ่มลูกค้าระดับล่างตลาดสหรัฐฯ ที่เป็นตลาดหลัก พร้อมหนุน SMEs ต่อยอด-สร้างแบรนด์เจาะกลุ่มลูกค้าระดับบน เพิ่มมูลค่าสินค้า เชื่อส่งออกได้ตามเป้า 3.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 1.36 แสนล้านบาท

ในขณะที่ภาคค้าเพชรพลอยภายในประเทศตกอยู่ในอุ้งมือชาวต่างด้าว ไม่ว่าจะเป็นคนอินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา จีน ซึ่งว่ากันว่ากุมอำนาจตลาดไปกว่า 80% แต่ในภาคส่งออกรัฐบาลก็ได้พยายามเต็มที่ที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมอัญมณีไทย ซึ่งว่ากันว่าสินค้าที่ส่งออกนอกส่วนใหญ่ก็อยู่ในมือชาวต่างชาติเช่นกัน ขณะที่ SMEs ไทยมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น

ตั้งเป้าส่งออก 3.4 พันล้านเหรียญฯ
จันทรา บูรณฤกษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวว่าในปี 2548 กรมส่งเสริมการส่งออกตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับให้ได้ประมาณ 3,441 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 30% คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกภาพรวมประมาณร้อยละ 2.9 ของการส่งออกทั้งหมด โดยสถานการณ์ขณะนี้ ตั้งแต่ต้นปีผ่านมาแล้ว 5 เดือนมีการส่งออกไปแล้ว 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวประมาณ 20.4% อีก 7 เดือนที่เหลือจึงจะต้องส่งออกให้ได้ 2,240 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

โดยตลาดส่งออกหลักของไทยที่สำคัญคือประเทศสหรัฐอเมริกา โดยใน 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.48) ไทยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไปสหรัฐฯ แล้วมูลค่า 370.98 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.18 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2547 โดยสินค้าที่ตลาดสหรัฐฯ นิยมคือเครื่องประดับแท้ที่ทำด้วยทองคำ และอัญมณีประเภทเพชร

ส่วนตลาดรองลงมาใน 10 อันดับแรก ประกอบด้วย อิสราเอล ฮ่องกง เบลเยี่ยม ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และออสเตรเลีย

อย่างไรก็ดี การที่จะส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับให้ได้ตามเป้าหมายในสิ้นปีนี้นั้นก็ใช่ว่าจะราบรื่น

"ได้คุยกับทางภาคเอกชนและสมาคมฯ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว ว่าภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำอยู่ในขณะนี้จะส่งผลให้การสั่งซื้อสินค้าชะลอตัวลง โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรป และราคาน้ำมันก็อาจส่งผลกระทบต่อการนำเข้าในตลาดหลักของเรา คือสหรัฐอเมริกาด้วย"

2 มาตรการดันส่งออกเพิ่ม
จันทรากล่าวว่า มี 2 มาตรการที่จะนำมาใช้เพื่อทำให้การส่งออกให้ได้ตามเป้า คือ

1.กระตุ้นให้ประเทศคู่ค้ามีการนำเข้าเพิ่ม โดยเฉพาะตลาดหลักคือประเทศสหรัฐอเมริกา โดยจะเน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายเพิ่มจากลูกค้ากลุ่มเดิม คือกลุ่มระดับกลางไปถึงกลุ่มระดับบน โดยจะเน้นไปเจาะฐานลูกค้ากลุ่มระดับกลางไปจนถึงระดับล่างเพิ่ม โดยจะใช้กลยุทธ์การจัดแสดงสินค้าให้ไปถึงคนหลายระดับ

2.เปิดตลาดใหม่ โดยมุ่งหาตลาดที่มีศักยภาพการนำเข้าสูง โดยเฉพาะตลาดตะวันออกกลาง แอฟริกา เพราะว่าเป็นประเทศที่ได้เปรียบและได้กำไรมากจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นสูง โดยในช่วงเดือนตุลาคม กรมฯ จะจัดงาน บางกอก เจมส์ แอนด์ จิวเวลรี่ (Bangkok Gems and Jewelry 2005) ชวนผู้ซื้อจากตลาดใหม่ๆ เข้ามาหนุน SMEs สร้างแบรนด์-ต่อยอดจิวเวลรี่

นอกจากนี้ทางกรมฯ ยังเข้าไปช่วยเหลือผู้ผลิตในการพัฒนาสินค้าด้วย โดยเฉพาะผู้ผลิตระดับ SMEs หรือผู้ผลิตระดับเล็ก คนงานไม่เกิน 50 คนที่มีอยู่ 400 กว่าราย โดยเน้นให้พยายามนำพลอยร่วมที่ SMEs ผลิตได้จำนวนมากนั้นมาแปรเป็นเครื่องประดับที่มีมูลค่าต่อหน่วยสูงกว่า และให้สร้างแบรนด์เนมของสินค้าเพื่อมุ่งสู่การขายในตลาดระดับกลางถึงระดับบน

"ขณะนี้มีการส่งออกพลอยร่วม 37% ส่งเป็นเครื่องประดับสำเร็จ 53% ซึ่งถือว่าเป็นโครงสร้างที่ดี เพราะการทำเป็นเครื่องประดับสำเร็จจะได้มูลค่าต่อหน่วยสูงกว่า เราจึงอยากเน้นให้ผู้ผลิตเน้นผลิตเป็นเครื่องประดับให้มากกว่าจะส่งออกพลอยร่วม"

ทั้งนี้ทางกรมฯ จะพยายามหาตลาดรองรับ และให้ร่วมงานแสดงสินค้าใหญ่ระดับโลก 3 งานด้วยกัน คือ ที่อิตาลี สหรัฐอเมริกา และฮ่องกง ที่สำคัญทางกรมฯ จะขอความร่วมมือจากห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ในต่างประเทศในการจัดแสดงสินค้า เพื่อผลักดันอัญมณีและเครื่องประดับให้มีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มด้วย

สำหรับคู่แข่งหลักของไทย มี 3 แห่งด้วยกัน ประกอบด้วย

1.อิตาลี ที่เป็นแหล่งผลิตและส่งออกเครื่องประดับเจาะกลุ่มลูกค้าระดับบน

2.อินเดียและจีน ที่มีข้อได้เปรียบเรื่องราคา เพราะแรงงานราคาถูกกว่าไทยมาก

3.ฮ่องกง ที่ซื้อจากไทยแล้วไปขายในราคาที่สูงขึ้น

"เรายังมีเวลาพัฒนารูปแบบสร้างแบรนด์เนมให้เข้าสู่ตลาดบน แทนที่จะแข่งกับอินเดียและจีน ในตลาดล่าง เพราะค่าแรงเขาถูกกว่ามาก ส่วนฮ่องกง เราต้องพยายามที่จะขายตรงโดยไม่ผ่านฮ่องกงด้วย"

**********

ผู้ว่าฯ สั่งจัดระเบียบพ่อค้าพลอย ปั้น "จันทบุรีนครอัญมณี" เสนอ ครม.สัญจร

ผู้ว่าฯ เมืองจันท์เร่งสางปัญหาพ่อค้าแขกหักหัวคิวซื้อพลอยแพง เตรียมเสนอ 5 มาตรการปั้น "จันทบุรีนครอัญมณี" ทำเมืองจันท์เป็นศูนย์กลางอัญมณีโลก เสนอ ครม.สัญจร 1-2 ส.ค.นี้

ปัญหาขบวนการค้าพลอยเมืองจันท์ที่เกิดขึ้นเวลานี้ ดูจะเป็นปัญหาท้าทายที่ผู้ว่าฯเมืองจันทบุรีต้องแก้ไขให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ไม่เช่นนั้นโครงการปั้นเมืองจันท์เป็นศูนย์กลางอัญมณีโลก...อาจถึงคราวสะดุด!...

ผนึกกำลังปราบขบวนการพลอย
พนัส แก้วลาย ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่าปัญหาขบวนการค้าพลอยเมืองจันท์ที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้นั้น ทางจังหวัดได้ติดตามและตรวจสอบ โดยในวันที่ 29 กค.นี้จะมีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และมั่นใจว่าจะได้ข้อสรุปที่นำไปสู่การจัดการปัญหาให้หมดไป ทั้งนี้เพระจังหวัดได้เตรียมที่จะนำเสนอแผนการสร้างเมืองจันทบุรีเป็นศูนย์กลางอัญมณีและเครื่องประดับโลกเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม.สัญจร ที่จะมาจัดที่จังหวัดจันทบุรี วันที่ 1-2 สิงหาคมนี้

ผู้ว่าฯ จันทบุรีระบุว่า ปัญหาขบวนการค้าพลอยนั้นเกิดจากการรวมตัวของผู้ค้าพลอยต่างชาติที่เข้าควบคุมการซื้อการขายพลอยซึ่งมีตลาดใหญ่อยู่ที่จันทบุรี โดยมีการหักเปอร์เซ็นต์จากพวกเดินพลอยในจำนวนที่สูงคือ 15-20% ขณะที่เดิมมีการหักแค่ 5% ทำให้คนเดินพลอยที่เมืองจันท์มีความเดือดร้อน และผู้ค้าพลอยชาวต่างชาติเหล่านี้เมื่อซื้อพลอยมาแล้ว มีการคัดแต่พลอยดีไปขายต่างประเทศ ขณะเดียวกันพลอยคุณภาพไม่ดีก็นำมาขายตีตลาดในเมืองไทย เช่นพลอยหาง ขณะที่ราคาของคนไทยอยู่ที่ประมาณ 2,000 บาท แต่ผู้ค้าชายต่างชาติกลับนำมาขายในลักษณะตัดราคาคนไทย คือ 1,000 บาท ทำให้ราคาพลอยในตลาดเมืองจันท์ตกต่ำ

ปัจจุบันจังหวัดได้ร่วมกับสรรพากรจังหวัด สมาคมผู้ค้าอัญมณีจังหวัดจันทบุรี กองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ (สศก.) และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ได้ผลสรุปเบื้องต้นว่า การจะทำให้เมืองจันทบุรีเป็นศูนย์กลางอัญมณีโลกจำเป็นต้องอาศัยผู้ทำธุรกิจพลอยต่างชาติ เพราะทำให้ไทยซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศโดยเฉพาะแถบอินเดียได้ถูก และสามารถนำมาผลิตอัญมณีได้มากขึ้น ไม่ต้องนั่งเครื่องบินไปซื้อเอง

ทั้งนี้ เมื่อผู้ค้าของไทยมีปัญหากับผู้ค้าชาวต่างชาติโดยเฉพาะผู้ค้าชาวอินเดียซึ่งเรายังจำเป็นต้องอาศัยเขาในการหาวัตถุดิบมาให้ ทางออกของเรื่องนี้จึงต้องกำหนดกรอบในการทำงาน กล่าวคือกรอบในการสร้างความพึงพอใจ โดยจังหวัดจะเป็นตัวกลางประสานระหว่างผู้ค้าต่างชาติกับผู้ค้าไทยเพื่อกำหนดราคาค่าหัวคิวใหม่ เพื่อให้ผู้ค้าต่างชาติมีกำไรพอสมควร ขณะเดียวกันผู้ค้าคนไทยก็ต้องอยู่ได้ มีกำไรพอสมควรเช่นกัน

ในด้านกรอบกฎหมาย จะศึกษาดูว่ามีกฎหมายอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับอัญมณีที่จะปฏิบัติกับผู้ค้าต่างชาติได้ เช่น สรรพากรต้องการให้ผู้ค้าต่างชาติที่มีบริษัทใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ มาเปิดสาขาที่เมืองจันทบุรีเพื่อที่จะได้เก็บภาษีได้ ซึ่งเป็นภาษีที่จำนวนไม่มากนัก และจะมีการคุยกันว่าการเข้ามาทำธุรกิจของผู้ค้าต่างชาติเหล่านี้จำเป็นต้องมีใบอนุญาตประกอบอาชีพหรือไม่ด้วย

"วันที่ 29 จะได้คำตอบ ถ้าตกลงกันได้ทุกฝ่ายทุกอย่างก็จบ" ผู้ว่าฯ จันทบุรีระบุ

เชื่อราคาพลอยตกจากกลไกตลาด
ด้าน พ.ต.ท.เกษมสันติ อยู่สุขสมบูรณ์ รองผู้กำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนก็ได้เข้าร่วมประชุมกับทางจังหวัดจันทบุรี และสมาคมผู้ค้าอัญมณี ซึ่งความเห็นส่วนใหญ่คิดว่าปัญหาราคาพลอยตกต่ำไม่ได้เกิดจากผู้ค้าพลอยชาวอินเดียเหล่านี้ทุ่มตลาด แต่เกิดจากปัญหาราคาตลาดพลอยในตลาดโลกตกต่ำมากกว่า เนื่องจากเศรษฐกิจไม่อำนวย โดยเฉพาะเรื่องราคาน้ำมันและสงครามที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง ซึ่งเคยเกิดมาแล้วในช่วงสงครามอิรักบุกคูเวตที่ส่งผลให้ราคาพลอยดิ่งลงต่ำมาแล้ว

"พ่อค้าชาวอินเดียเหล่านี้เมื่อซื้อพลอยหมู่ไปนั้นก็จะมีทั้งพลอยสวยและพลอยไม่สวย ซึ่งในส่วนของพลอยสวย เขาก็นำไปขายต่างประเทศ แต่พลอยไม่สวยเขาก็จะนำมาขายในเมืองไทย แต่ที่ผู้ร้องเรียนมองว่าเป็นการทุ่มตลาดนั้นไม่น่าจะเป็นความจริง เพราะพลอยที่ไม่สวยก็ขายได้ในราคาที่ไม่สูงมากอยู่แล้ว เพราะเป็นพลอยหางจะเป็นเกรดราคาอีกราคาหนึ่งที่เขาต้องขายในราคาเหมือนเศษพลอย ถือเป็นเรื่องปกติทางการค้า"

ส่วนกลุ่มพ่อค้าคนไทยที่ระบุว่าพ่อค้าชาวอินเดียร่วมมือกันกดราคา ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มพ่อค้ารายเล็กที่มีเงินทุนน้อย ไม่สามารถเก็บสต็อกพลอยไว้ในมือรอให้ราคาพลอยในตลาดสูงแล้วค่อยนำพลอยมาขายได้ นอกจากนี้ยังมีความจำเป็นต้องจ่ายค่าแรงให้ผู้เจียระไนพลอยด้วย คนกลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มคนที่เดือดร้อนจากราคาพลอยตกต่ำ

"เมื่อทุกคนอยากให้จันทบุรีเป็นนครแห่งอัญมณี เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ปัญหาทุกอย่างจึงต้องคุยกันอย่างระมัดระวัง ปัญหานี้จึงต้องรอคำตอบในการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 29 ก่อน”

แจ้งจับพ่อค้าจีน-หวั่น ปห.สัมพันธ์
สำหรับปัญหาในส่วนที่พ่อค้าจีนนำพลอยจากเมืองจีนเข้ามาขายตีตลาด และส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตไทยเพราะค่าแรงของจีนถูกกว่า ทำให้โรงงานไทยอยู่ไม่ได้นั้น ทางตำรวจ สศก.สามารถดำเนินการตรวจค้นหลักฐานการนำเข้าได้ทันที แม้ว่าสินค้าพลอยจะไม่ต้องเสียภาษี แต่ต้องต้องมีการสำแดงที่ศุลกากร ซึ่งขอให้ผู้เดือดร้อนแจ้งความหรือส่งชื่อพ่อค้าพลอยเหล่านั้นมาให้ ตำรวจสศก. หรือแจ้งตำรวจท้องที่ได้ทันที หากพบว่ามีความผิดก็จะมีการยึดของกลางทันที

อย่างไรก็ดี การจะเอาผิดกับทางพ่อค้าจีนนั้นก็ต้องระมัดระวัง เพราะไทยเปิดเสรีทางการค้า คือได้ทำ FTA (Free Trade Area) กับจีน การจะจับพ่อค้าจีนโดยไม่ระมัดระวังอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ไทย-จีนได้

นอกจากนี้ พ.ต.ท.เกษมสันติ กล่าวว่าที่ประชุมได้คุยกันแล้วว่าทางแก้ไขที่ดีที่สุดคือผู้ผลิตพลอยเมืองจันท์ต้องออกไปหาตลาดต่างประเทศเอง ไม่ต้องพึ่งพาพ่อค้าคนกลาง

5 กลยุทธ์ดันจันทบุรีเป็นฮับอัญมณี
อย่างไรก็ดี เมื่อจังหวัดมีกรอบในการแก้ไขปัญหาขบวนการค้าพลอย และการลักลอกนำเข้าพลอยจากจีนแล้ว การจะปั้นให้จันทบุรีเป็นนครแห่งอัญมณีก็ย่อมมีโอกาสผลักดันได้ พนัส แก้วลาย ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า โครงการ "จันทบุรีนครแห่งอัญมณี" เกิดขึ้นจากความคิดของหอการค้าจังหวัดและหอการค้าไทยที่ได้กำหนดให้จันทบุรีเป็นศูนย์กลางอัญมณีและเครื่องประดับโลก เนื่องจากจันทบุรีมีศักยภาพในการผลิตพลอยได้มากที่สุด และมีการส่งออกมูลค่าปีละเป็นแสนล้าน ซึ่งจะนำกรอบกลยุทธ์ 5 ประการซึ่งถือเป็นแนวทางปฏิบัติเสนอต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในการประชุม ครม.สัญจรครั้งนี้

1.ออกใบรับรองมาตรฐาน หรือ certificate ให้กับสินค้าที่ผลิตได้คุณภาพ โดยขณะนี้จังหวัดได้ให้มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี เป็นเจ้าภาพในการจัดทำตราและออกแบบใบรับรองมาตรฐาน รวมทั้งจัดทำเครื่องตรวจสอบอัญมณีว่าเป็นของแท้หรือไม่ ใช้งบประมาณ 32.5 ล้านบาท

2.พัฒนาคุณภาพบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอัญมณี โดยจะมีการอบรมเพิ่มพูนความรู้ในอุตสาหกรรมผลิตอัญมณีทั้งระบบ ตั้งแต่การคัดพลอย เจียระไน ไปจนถึงขั้นออกแบบ โดยมอบหมายให้มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณีเป็นเจ้าภาพ ใช้งบประมาณ 10 ล้านบาท

" 2 ส่วนนี้จะนำเสนอ ครม.แต่ไม่ได้ของบประมาณ เพราะจังหวัดมีงบประมาณจากภาคเอกชนแล้ว ส่วนงบประมาณจังหวัด 50 ล้านบาท ทางจังหวัดจะจัดทำศูนย์อัญมณี ทั้งศูนย์บริหารจัดการ ศูนย์ข้อมูลข่าวสารให้เป็น complex"

3. Gems Bank หรือธนาคารอัญมณี จะใช้หลักของการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน โดยผู้ประกอบการนำอัญมณีที่มีอยู่ไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันกับทางธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เพื่อขอสินเชื่อมาขยายกำลังการผลิต โดยตั้งเป้าวงเงินที่จะใช้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

"หอการค้าไทยได้ประมาณการไว้ว่าเงินหมุนเวียนเบื้องต้นที่จะใช้ตรงนี้ 1 หมื่นล้านบาท เมื่อนำมาขยายการผลิตได้สำเร็จแล้วคาดจะมีเงินหมุนเวียนได้เป็นแสนล้าน ในการประชุม ครม.เราจะมีการนำเสนอหลักการความคิดให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพเชื่อมโยงไปที่ธนาคารพาณิชย์"

4.ตั้งพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับเรื่องพลอยไทย
5.จัดงานอัญมณีโลกที่ตำบลบางกะจะ จังหวัดจันทบุรี เนื่องจากครบปีที่ 130 ที่พลอยไทยเป็นที่รู้จักของโลกในนาม "ทับทิมสยาม"

ดังนั้นการดำเนินการแก้ไขปัญหาขบวนการค้าพลอยที่จังหวัดและหน่วยงานต่างๆ ได้ร่วมกันแก้ไข รวมไปถึงกรอบการทำงานที่ถือเป็นการเตรียมพร้อม 5 ประการก็เพื่อนำไปสู่ "จันทบุรีนครแห่งอัญมณี" ที่มีความพร้อมและสมบูรณ์ที่สุด


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.