|
แผนรัฐกู้วิกฤตภาคเกษตร หนุนปลูกปาล์ม-ป้อนแปรรูปสินค้า 600 ชนิด
ผู้จัดการรายสัปดาห์(29 กรกฎาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
กระทรวงเกษตรฯ ปรับโครงสร้างภาคการเกษตร แก้ปัญหาสินค้าตกต่ำ พร้อมดันยุทธศาสตร์ “ปาล์ม” เข้าประชุม ครม.สัญจร วันที่ 1-2 ส.ค. ที่จังหวัดจันทบุรี ตั้งเป้าขยายพื้นที่ปลูก 6 ล้านไร่ ทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน แนะเกษตรกรทิ้งยางพารา เงาะ ทุเรียน ปลูกปาล์มแทนเพื่อนำไปผลิตไบโอดีเซล และนำไปแปรรูปสินค้ากว่า 600 ชนิด มั่นใจการตลาดดี พร้อมทุ่มงบวิจัยแปรรูปปาล์มทำเครื่องสำอางและวิตามินต่อยอดสินค้า เชื่ออาชีพปลูกปาล์มมั่นคง-ไม่จน
ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำนับว่าเป็นปัญหาเรื้อรังของสังคมไทยมานาน และที่ผ่านมาเกือบทุกรัฐบาลจะแก้ปัญหาโดยใช้วิธีการ “แทรกแซง-อุดหนุน-จำนำ” ซึ่งเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและไม่ตรงจุด หลายครั้ง ทำให้เกิดปัญหามากกว่าการเข้าไปแก้ปัญหา วันนี้กระทรวงเกษตรฯ จึงเตรียมผ่าตัดปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ในสินค้า 16 กลุ่ม โดยเฉพาะพืชน้ำมันที่มีศักยภาพสูงอย่าง ปาล์มน้ำมัน ที่เป็น 1 ใน 3 เรื่องนอกจากเรื่องปัญหาขาดแคลนน้ำ และปรับโครงสร้างผลไม้ เตรียมเสนอครม.สัญจรที่จังหวัดจันทบุรี 1-2 สิงหาคมนี้…
เน้นบริหารด้านตลาดเพิ่มราคาสินค้า
บรรพต หงษ์ทอง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า การปรับโครงสร้างสินค้าเกษตรทั้ง 16 กลุ่ม เพื่อแก้ปัญหาราคาสินค้าตกต่ำนั้น ที่สำคัญจะต้องเลิกใช้วิธีบริหารจัดการแค่ด้านการผลิต แต่ต้องหันมาให้ความสำคัญกับด้านการตลาด โดยก่อนที่จะมีการควบคุมการผลิต ไม่ว่าจะเป็นให้เกษตรกรเลิกปลูกพืชชนิดเดิม หรือการโค่นพืชยืนต้นเดิมเพื่อปลูกพืชชนิดใหม่ทดแทน เกษตรกรที่จะเปลี่ยนอาชีพจำเป็นจะต้องศึกษาให้แน่ก่อน ว่าการปรับเปลี่ยนครั้งนี้จะมีผลต่อความมั่นคงของเกษตรกร เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น และต้องกินดีอยู่ดี
“สินค้ามีปัญหาเรื่องราคา ล้นตลาด ทำมาตลอดด้านการบริหารด้านการผลิต กี่ปีกี่ปีก็ทำอย่างนี้ ต้องยอมรับว่ารัฐบาลนี้ ท่านสุดารัตน์มา ก็ให้ความสำคัญกับด้านการตลาดมาก”
อย่างไรก็ดีเพื่อให้การแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรถูกจุด บรรพต เล่าว่า ทางรัฐบาลได้จัดสินค้าในความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรฯ ออกเป็น 16 กลุ่มตามศักยภาพด้วยกัน ได้แก่
กลุ่มสร้างรายได้จากการส่งออก (Cash Cow) ได้แก่สินค้าที่อยู่ในการดูแลของกระทรวงเกษตรฯ 5 กลุ่มคือ กุ้ง ไก่ ยางพารา ผัก(รวม) และไขมัน น้ำมันพืชหรือน้ำมันสัตว์ เนื้อสัตว์ และของปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ และสินค้าที่อยู่ในการดูแลของกระทรวงพาณิชย์ 4 กลุ่มสินค้าคือ ข้าว อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง ผักและผลไม้กระป๋องและแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์ข้าว ข้าวสาลี และอาหารแปรรูป
กลุ่มที่มีโอกาส (New Opportunity) 4 กลุ่มสินค้าคือ พลังงานทดแทน(ปาล์ม มัน อ้อย) ไม้ยาง(เฟอร์นิเจอร์) โคเนื้อ และสินค้าเกษตรอินทรีย์
กลุ่มที่ต้องปรับโครงสร้างการผลิต ในการดูแลของกระทรวงเกษตรฯ มี 2 กลุ่มคือกลุ่มผลไม้ ประกอบด้วย ลำไย ทุเรียน ลิ้นจี่ เงาะ มังคุด และกลุ่มผลกระทบจาก FTA ประกอบด้วย หอมแดง กระเทียม หอมหัวใหญ่ กาแฟ และกลุ่มที่อยู่ในการดูแลของกระทรวงพาณิชย์ 1 กลุ่ม คือ กลุ่มพืชอาหารสัตว์ ได้แก่ ถั่วเหลืองและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
“ปาล์ม-มัน-อ้อย”พืชน้ำมันศักยภาพสูง
ทั้งนี้ กลุ่มที่เล็งเห็นแล้วว่ามีศักยภาพมากที่สุด และอยากจะเน้นให้เกษตรกรปลูกที่สุดคือสินค้าพืชน้ำมัน เพราะในแง่ยุทธศาสตร์ยังเป็นเรื่องความมั่นคงของประเทศด้วย ยิ่งราคาน้ำมันในตลาดโลกมีราคาแพงขึ้นมากเท่าไร เรื่องของพลังงานทดแทนก็มีความสำคัญมากขึ้นโดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน ที่มีศักยภาพในการนำไปผลิตไบโอดีเซล
ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน 2 ล้านไร่ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้วางเป้าหมายไว้ว่าจะเพิ่มพื้นที่การผลิตให้ได้ 6 ล้านไร่ ภายใน 5 ปี ถือว่าเป็น 10% ของความต้องการน้ำมัน
สำหรับพื้นที่ที่คาดว่าจะขยายกำลังการผลิตได้นั้นประกอบด้วย พื้นที่ร้างภาคใต้ ประมาณ 1 ล้านไร่ พื้นที่ยางที่ปลูกแล้วไม่ได้คุณภาพ(ในที่ลุ่ม) 1 ล้านไร่ ทดแทนพื้นที่ปลูกทุเรียน เงาะ กาแฟ
1 ล้านไร่ ที่ภาคอิสาน 1 ล้านไร่ อีก 1 ล้านไร่ที่เหลือกำลังมองไปที่ประเทศเพื่อนบ้าน คือพม่า และกัมพูชา ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างพิจารณา
“ผมคิดว่าต่อไปราคาปาล์มน้ำมันจะชนะยางพารา เพราะว่ายางพารามีค่าใช้จ่ายมาก ใช้แรงงานเยอะ ขณะที่ปาล์มน้ำมันตัดเดือนละ 2 ครั้ง ไม่ต้องใช้แรงงานมาก”
ยันปลูกปาล์ม-ไม่มีทางจน
นอกจากนี้ปาล์มน้ำมันยังเป็นพืชน้ำมันที่ให้ผลผลิตสูงสุด เมื่อเทียบกับพืชน้ำมันตัวอื่นเช่น ถั่วเหลืองถั่วเขียวได้ผลผลิตแค่ 700-800 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะที่ปาล์มของไทยนั้นได้ผลผลิตมากถึง 3,000 ต่อไร่ และถ้าเน้นเรื่องของพันธุ์และควบคุมการผลิตให้ได้คุณภาพอย่างของมาเลเซียจะได้ผลผลิตมากถึง 4,000 ต่อไร่
“น้ำมันที่สกัดออกมาราคาดีมาก 3 บาทกว่า ราคาน้ำมันที่สกัดจากแกนกลางที่เดิมไม่เคยใช้ ตอนนี้เมื่อนำมาสกัดก็ขายได้ราคาเท่า ๆ กับราคาน้ำมันที่สกัดได้จากเปลือก ปลูกแล้วมั่นคง ที่สำคัญรัฐบาลยังรับซื้อไม่อั้นในราคา 2.50 บาทเพื่อนำมาผลิตน้ำมันไบโอดีเซลด้วย เพราะฉะนั้นเกษตรกรไม่ต้องกลัว”
สำหรับภาคอิสานนั้น เนื่องจากเป็นพื้นที่ดินเค็ม จึงต้องมีการทดลองปลูกก่อน ขณะนี้กรมส่งเสริมการเกษตรไปปลูกที่จังหวัดหนองคายและจังหวัดตราด ซึ่งผลออกมาเป็นที่น่าพอใจ
อย่างไรก็ดีการปลูกปาล์มนั้น ตั้งแต่เริ่มปลูกใหม่จะให้ผลเต็มที่ต้องใช้เวลา 6 ปี โดยผ่าน3 ปีแรกไปแล้วถึงจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ฉะนั้นรัฐบาลจะเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรในจุดนี้ โดยจะเข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจตัวอื่นที่มีศักยภาพในการส่งออกหลายตัวด้วยกัน เช่น หน่อไม้ฝรั่ง บล็อกโคลี ที่แต่ละปีจะมีการส่งออกไปประเทศญี่ปุ่นจำนวนมาก โดยให้เกษตรกรปลูกคั่นระหว่างต้นปาล์มที่ยังไม่โต เพื่อทำให้เกษตรกรมีรายได้เลี้ยงตัวเองในช่วงที่ยังเก็บเกี่ยวผลผลิตจากปาล์มไม่ได้
ต่อยอดผลผลิตทำเครื่องสำอางค์-วิตามิน
นอกจากนี้รัฐบาลจะส่งเสริมให้มีการศึกษา วิจัยและพัฒนาเรื่องเมล็ดพันธุ์ให้ดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องเนื้อเยื่อ ที่ไทยยังสู้ประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ และจะมีการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาในการทำอุตสาหกรรมปลายน้ำ ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องแปรรูปสินค้าจากปาล์มน้ำมันให้ได้ 600 ชนิด ที่สำคัญจะมีการนำปาล์มน้ำมันมาผลิตเป็นเครื่องสำอางค์ หรือ อาหารเสริม(วิตามิน) เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วย ฉะนั้นมั่นใจได้เลยว่าถ้าทำได้ตามเป้าแล้ว เรื่องการตลาดไม่มีปัญหา
“ถ้าเกิดสินค้าปาล์มน้ำมันล้นตลาดยังสามารถนำไปฉีดเข้าเครื่องปั่นไฟได้โดยตรง และทำได้อีกหลายอย่าง มาเลเซีย กับ อินโดนีเซีย ห็นศักยภาพของปาล์มน้ำมัน จึงยอมทิ้งยางพาราแล้วหันมาส่งเสริมการปลูกปาล์มแทน”
ทุ่ม 2 หมื่นล.เพิ่มผลผลิตต่อไร่ “มัน-อ้อย”
นอกจากนี้ สินค้าอีก 2 ตัวในกลุ่มพืชน้ำมันที่มีความสำคัญเช่นเดียวกันคือมันสำปะหลัง และอ้อย ที่เป็นสินค้าสำคัญในการผลิตเอธานอลนั้น รัฐบาลก็เตรียมส่งเสริมให้ได้ผลผลิตต่อไร่มากขึ้นโดยเน้นใช้พันธุ์ที่ดี ปรับปรุงดิน และใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ขณะที่ไม่ต้องเพิ่มเนื้อที่ปลูก
โดยมันสำปะหลัง ขณะนี้มีผลผลิตต่อไร่อยู่ในระดับที่ต่ำมากคือแค่ 3 ตันต่อไร่ จึงจะต้องมีการส่งเสริมให้ได้ผลผลิต 5 ตันต่อไร่ เพื่อให้เกษตรกรส่งออก 3 ตัน ส่วน 2 ตันที่เป็นส่วนเกินจะนำมาผลิตเอธานอล เช่นเดียวกับอ้อย ที่มีผลผลิตต่อไร่แค่ 10 ตันต่อไร่ จะต้องผลิตให้ได้ 15 ตันต่อไร่ 5 ตันที่เพิ่มขึ้นมาก็จะนำไปผลิตเอธานอลเช่นกัน
เมื่อได้ผลตามเป้า ก็จะได้ผลผลิตอ้อยและมันสำปะหลังจำนวน 73.3 – 82.6 ล้านตันต่อปี และสามารถนำส่วนเกินมาผลิตเอทานอลได้ถึง 6.5 – 40.4 ล้านตันต่อปี เมื่อรวมกับการแปรรูประบบโรงงานแล้ว จะทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตเอทานอลได้วันละ 10.11 ล้านลิตร
อย่างไรก็ดี เพื่อให้ผลผลิตต่อไร่ของมันสำปะหลัง และอ้อยเพิ่ม นั้นในแผนยุทธศาสตร์จะมีการบริหารจัดการแหล่งผลิต เน้นจัดโซนนิ่ง และฝึกอบรมให้ความรู้เกษตรกร ร่วมกับบริหารจัดการวัตถุดิบในเรื่องของกล้าพันธุ์อ้อย และกล้าพันธุ์มัน แปรรูปโรงงาน ทำการตลาดโดยรณรงค์ให้มีการใช้พลังงานทดแทนในประเทศ รวมทั้งวิจัยและพัฒนาทั้งพันธุ์พืชและเทคโนโลยี ไปพร้อม ๆ กัน โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณในส่วนของการผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังและอ้อย รวมประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ส่วนยุทธศาสตร์ปาล์มน้ำมันจะใช้งบประมาณทั้งสิ้นรวมทั้งการสร้างระบบลอจิกติกส์ ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท
สำหรับเป้าหมายของการผลิตพืชทดแทนพลังงานในปี 2548-2551 นั้น รัฐบาลตั้งเป้าว่าจะต้องทดแทนดีเซลให้ได้ 10% ผลิตเอทานอล ทดแทน MTBE 100% เบนซิน 91 อีก 50 % ขยายพื้นที่ปาล์มน้ำมัน 6 ล้านไร่ คงพื้นที่ และเพิ่มประสิทธิภาพ อ้อย และมันสำปะหลัง 12.6 ล้านไร่ และรายได้เกษตรกรต้องเพิ่มขึ้น
เสนอยุทธศาสตร์เกษตรในครม.สัญจร
ปลัดกระทรวงเกษตร ระบุว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ที่จะจัดขึ้นที่จังหวัดจันทบุรี วันที่ 1-2 สิงหาคมนี้ ทางกระทรวงเกษตรฯ จะนำเสนอยุทธศาสตร์ 3 เรื่องด้วยกัน คือ เรื่องปัญหาขาดแคลนน้ำ ยุทธศาสตร์ปาล์มน้ำมัน และยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างผลไม้แบบใหม่
ในเรื่องการปรับโครงสร้างผลไม้ ในหลักการจะเน้นเรื่องการทำการตลาด และเน้นให้เกษตรกรปลูกผลไม้ให้มีคุณภาพมาตรฐานเป็นรายตัว เช่น เงาะ เมื่อเกษตรกรจะปลูกเงาะก็ต้องปลูกให้ได้ 28 ลูกต่อกิโลกรัม จะได้ขายได้กิโลกรัมละ 30 บาท เป็นต้น ขณะนี้สำนักงานมาตรฐานสินค้ากำลังจัดวางมาตรฐานสินค้าเกษตรตัวหลัก ๆ เพื่อจะนำไปสู่การปรับโครงสร้างการผลิตที่ได้คุณภาพ และไม่เกิดปัญหาสินค้าล้นตลาด ขณะที่สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศมากขึ้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|