ท่องเที่ยวอันดามันตายสนิท แห่ปิดกิจการ - หยุดบิน


ผู้จัดการรายสัปดาห์(5 สิงหาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

พิษเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง พ่นใส่ท่องเที่ยวไทยอีกระลอก ธุรกิจท่องเที่ยวฝั่งอันดามันยังโคม่า ปฏิบัติการวิ่งสู้ฟัดของผู้ประกอบการถึงทางตันปิดกิจการแล้วกว่าพันแห่ง สายการบินต่างประเทศที่บินตรงหยุดให้บริการ ขณะที่ช่วงพีคซีซั่นส่งสัญญายังไม่ฟื้น...หลายฝ่ายหวั่นใจกระทบรายได้รวมทั้งประเทศแน่

อัตราการเข้าพักของนักท่องเที่ยวเพียงแค่ร้อยละ 15-20% ในช่วงครึ่งปีแรกบ่งบอกถึงทิศทางท่องเที่ยวไทยส่อแววอาการน่าเป็นห่วงทั้งที่ตัวเลขการเข้าพักน่าจะอยู่ที่ 70%ในช่วงเวลานี้ หากตัวเลขยังคงเป็นแบบนี้และไม่เพิ่มขึ้นในฤดูกาลท่องเที่ยวที่กำลังจะมาถึง...แน่นอนรายได้รวมที่รัฐบาลหวังไว้ว่าจะได้จากการท่องเที่ยวถึง 70% คงเป็นแค่เพียงฝันค้างในที่สุด

ผ่านไปครึ่งปีธุรกิจใน 3 เมืองท่องเที่ยวหลักฝั่งอันดามัน ได้แก่ ภูเก็ต พังงา และกระบี่ หลังสึนามิ ยังคงไม่ดีขึ้นเลย ทั้งที่ภาครัฐและเอกชนต่างร่วมแรงร่วมใจในการกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศเข้าไป ขณะเดียวกันผู้ประกอบการท่องเที่ยวต่างทนแรงเสียดสีของพิษเศรษฐกิจไม่ไหวโดยเฉพาะช่วงลอยตัวราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลทำให้ต้องปิดกิจการลงไปแล้วเป็นจำนวนมากส่งผลให้มีคนตกงานกันอีกเพียบ

แม้ว่าจะมีการจัดโปรโมชั่นลดราคากันอย่างหนักเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวไทยเข้าไปเที่ยว เพื่อขับเคลื่อนภาคธุรกิจให้พออยู่ได้ แต่นั่นก็ไม่ได้ช่วยทำให้รายได้โดยรวมของการท่องเที่ยวฝั่งอันดามันดีขึ้น เพราะเม็ดเงินรายได้หลักที่มาจากเงินตราต่างประเทศนั้นหายไป อีกทั้งราคาแพ็คเกจทัวร์ที่ขายกันในประเทศก็ต่ำเอามากๆ เหตุผลนี้เองทำให้รายได้รวมทั้งหมดของ 6 จังหวัดฝั่งอันดามันจึงตกต่ำอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับทุกปีที่ผ่านมา และถ้าไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นคาดว่าน่าจะมีรายได้รวมประมาณกว่า 114,769 ล้านบาททีเดียว
ทุกฝ่ายเร่งเปิดเกมรุก

แม้แนวโน้มการท่องเที่ยวอันดามันช่วงครึ่งปีแรกจะมีการชลอตัวไป แต่ททท.สำนักงานภาคใต้เขต 4 ต่างมุ่งเน้นทำตลาดเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีหลังอย่างหนัก ซึ่งได้รับการอนุมัติวงเงินกว่า 2,500 ล้านบาท ในการทำโครงการเมกะ แฟมทริป เพื่อดึงสื่อและเอเย่นต์ต่างประเทศกว่า 300 คนเข้ามาสัมผัสอันดามัน เพื่อแสดงให้เห็นว่าอันดามันมีความพร้อมที่จะขายนักท่องเที่ยว

โดยแบ่งเป็นตลาดจีน ฮ่องกง ไต้หวัน 100 คน ตลาดญี่ปุ่น 120 คน และตลาดอื่นๆ โดยมีแผนการเดินทางไปทำโรดโชว์ต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศหวังกระตุ้นให้เกิดการเดินทางช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยวก่อนที่ช่วงไฮซีซันจะมาถึง ทั้งที่ความเป็นจริงสายการบินต่างประเทศที่บินตรงสู่ภูเก็ตกลับหยุดให้บริการ

กลยุทธ์อัดแคมเปญ “ลดทั้งเกาะ สนุกทั้งเมือง”เพื่อให้คนไทยเที่ยวไทยที่ยังเห็นภาพไม่ชัดเจนมากนัก กอปรคนไทยนิยมท่องเที่ยวในวันหยุด ทำให้เอเย่นต์ประสบปัญหาทำทัวร์ค่อนข้างยาก อีกทั้งปัญหาเรื่องของการกั๊กที่นั่งของสายการบินที่ทำให้กลุ่มเอเย่นต์มีผลกระทบต่อยอดขายเช่นกัน แม้แต่สายการบินไทยเองก็มีกระแสออกมาว่าอาจจะต้องเปลี่ยนเครื่องบินให้ใหญ่ขึ้นแทนเครื่องที่ใช้บินในปัจจุบันเพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย

ด้านสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) ที่ได้เดินทางลงไปจัดประชุมสมาชิกโรงแรมทั่วประเทศที่ภูเก็ต ทำให้ได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวอันดามัน ถึงอัตราเข้าพักเฉลี่ยที่ต่ำมากในประวัติศาสตร์โดยเฉพาะบนเกาะพีพี ที่เหลืออยู่ประมาณ 12% เท่านั้น ภูเก็ตก็เหลือเพียงแค่ 10% ขณะที่แผนในการปรับปรุงฟื้นฟูอันดามัน ล่วงเลยไปกว่า 6 เดือนภาพที่ออกไปยังต่างประเทศเรื่องของความปลอดภัยยังไม่มีความชัดเจนและถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และนั่นหมายถึงรายได้รวมที่ประเทศไทยต้องสูญเสียไปในที่สุด
สู้ไม่ไหว

ขณะที่ทุกฝ่ายต่างเร่งทำตลาดเพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างประเทศเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวนั้น ยังมีผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากที่ประสบปัญหารุมเร้ากดดันทั้งภาวะทางเศรษฐกิจผันผวนทำให้พบว่ามีการยื่นขอหยุดดำเนินธุรกิจและเลิกกิจการ ต่อสำนักงานประกันสังคมจังหวัด และสำนักทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ในพื้นที่ภาคใต้เขต2 (ภูเก็ต,พังงา,กระบี่)รวมแล้วกว่า 769 บริษัท(ยังไม่นับรวมบริษัทที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมอีกเป็นจำนวนมาก) และเลิกจ้างพนักงานกว่าหมื่นคน

เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไปส่งผลให้อาชีพอย่างมักคคุเทศก์ไม่มีงานทำ และเมื่อตกงานจึงต้องยื่นขอลาออกจากเป็นมัคคุเทศก์ทันที โดยขณะนี้มีบริษัทนำเที่ยวกว่า 152 แห่งยื่นเรื่องผ่านสำนักงานทะเบียนมัคคุเทศก์ของ 3 จังหวัดท่องเที่ยว(ภูเก็ต,กระบี่,พังงา) ขอยกเลิกใบอนุญาตดำเนินธุรกิจรวมแล้ว1,186 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง

ด้านจังหวัดกระบี่ มีสถานประกอบการแจ้งหยุดดำเนินธุรกิจไปแล้วกว่า 130 แห่ง ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการโรงแรมบนเกาะพีพี อาทิ โรงแรมพีพี โฮเต็ล,โรงแรมพีบี คาบาน่า,โรงแรมพีพีชาลี บีช รีสอร์ท,โรงแรมพีพีปริ๊นเซส มีการเลิกจ้างพนักงานไปแล้วราว 3,000 คน ส่วนจังหวัดพังงา มีสถานประกอบการแจ้งขอหยุดดำเนินธุรกิจรวมแล้ว 120 แห่ง มีการเลิกจ้างพนักงานไปกว่า 3,459 คน

นอกจากนี้ยังพบว่าในส่วนของผู้ประกอบการที่ยังเปิดดำเนินธุรกิจอยู่ ได้ทำเรื่องต่อประกันสังคมจังหวัดเพื่อขอยืดระยะเวลาในการจ่ายเงินสมทบให้กับลูกจ้างออกไปก่อนจากเดิมที่จะต้องจ่ายเป็นประจำทุกเดือนในทุกวันที่ 15 ของเดือน ขอเลื่อนมาจ่ายย้อนหลังในวันที่ 28 ตุลาคมศกนี้ ซึ่งการยื่นขอได้ทำมาถึงสองครั้งแล้ว โดยก่อนหน้านี้ครั้งแรกจากเดือนมกราคมที่ผ่านมาโดยขอยื่นจ่ายในเดือนเมษายน แต่เมื่อผ่านมาแล้วหลายเดือนก็เห็นว่าธุรกิจยังไม่ดี จึงมีการขอขยายเวลาอีกครั้งมาเป็นเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ คาดว่าบริษัทต่าง ๆ จะมีการเลิกจ้างพนักงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว

ล่าสุดแม้แต่เรือสำราญอย่างอันดามันปริ๊นเซสก็ต้องปิดฉากตัวเองไปเชกเช่นเดียวกันเหมือนธุรกิจท่องเที่ยวที่ประสบภาวะขาดทุน ภาพความเป็นจริงของธุรกิจท่องเที่ยวไทยวันนี้จึงต้องร้องเพลงรอ(นักท่องเที่ยว)ไปก่อน ใครที่มีธุรกิจสายป่านที่ยาวกว่าเท่านั้นจึงจะอยู่รอดได้และกว่าวันที่ฝันไว้จะมาถึงเราคงเห็นอีกหลายบริษัทต้องปิดบริการอย่างแน่นอน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.