วิตกสกุลเงินยูโรจะอยู่รอดหรือไม่ ในภาวะที่อียูประสบวิกฤตล้ำลึก


ผู้จัดการรายสัปดาห์(9 มิถุนายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ประเทศสำคัญๆ ในกลุ่มผู้ใช้สกุลเงินยูโร (ยูโรโซน) กำลังประสบสภาพเศรษฐกิจย่ำแย่เป็นทิวแถว อิตาลีก้าวเข้าสู่ภาวะถดถอยเป็นรอบที่สองในช่วงเวลา 2 ปีเมื่อตอนไตรมาสแรกปีนี้ เยอรมนีก็กำลังดิ้นกระเสือกกระสนอยู่กับอัตราเติบโตซึ่งแสนจะวังเวงขณะที่อัตราการว่างงานอยู่ในระดับตัวเลขสองหลัก และโปรตุเกสที่กำลังต่อสู้กับภาวะถดถอยอยู่เหมือนกัน เพิ่งประกาศว่ายอดขาดดุลงบประมาณของตนจะพุ่งขึ้นเท่ากับ 6.8% ของจีดีพีในปีนี้ หรือกว่าสองเท่าตัวของขีดลิมิต 3% ตามที่กำหนดเอาไว้ในสนธิสัญญาว่าด้วยเสถียรภาพและการเจริญเติบโตซึ่งลงนามกันที่เมืองมาสทริชต์

โปรตุเกสไม่ได้เป็นประเทศเดียวหรอกที่เจอปัญหาขาดดุลคุมไม่อยู่ ฝรั่งเศส, เยอรมนี, และอิตาลี 3 ระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยูโรโซน ก็ล้วนแล้วแต่ละละเมิดหลักเกณฑ์ของมาสทริชต์กันซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยไม่ได้ถูกมาตรการลงโทษอย่างอัตโนมัติดังที่วาดวางกันเอาไว้ แถมเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สหภาพยุโรปยังยอมรับความเป็นจริงด้วยการผ่อนปรนระเบียบหลักเกณฑ์ดังกล่าว ทำให้กฎเหล่านี้เต็มไปด้วยช่องโหว่จนแทบปราศจากเขี้ยวเล็บ

แต่ทั้งที่ใช้จ่ายเกินรายรับจนขาดดุลงบประมาณกันได้กันดี รายจ่ายก็ดูยังไม่ใหญ๋พอที่จะกลายเป็นเครื่องกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจอยู่นั่นเอง ตามธรรมดาแล้ว รัฐบาลซึ่งอาศัยมาตรการทางการคลังเป็นแรงชักจูงเศรษฐกิจจนกระทั่งหมดพลัง ย่อมหันมาหานโยบายทางการเงินเพื่อผ่อนเบาการชะลอตัวไม่ให้รุนแรงนัก ทว่าพวกรัฐบาลในยูโรโซนได้ยินยอมยกอำนาจการควบคุมปริมาณเงินของพวกตนไปให้แก่ธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี)เสียแล้ว

อีซีบีนั้นรักษาอัตราดอกเบี้ยคงที่อยู่ในระดับ 2% ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา และถึงแม้ 3 เศรษฐกิจพี่เบิ้มของตนจะอยู่ในอาการชะลอตัวหรือกระทั่งอัตราเติบโตติดลบ ทางแบงก์ก็พูดจากันว่ายังจะพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยในช่วงหลังของปีนี้ ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ไม่เป็นที่นิยมชมชื่นเลย ไม่เพียงเฉพาะรัฐบาลซึ่งเกิดปัญหาที่มุ่งมาตรได้มาตรการมาช่วยเหลือตัวเองบ้าง กระทั่งองค์การเพื่อการความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ที่เป็นหน่วยงานศึกษาวิจัยของพวกชาติอุตสาหกรรม ยังเอ่ยไว้ในรายงานทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจฉบับล่าสุด ซึ่งเผยแพร่เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม เรียกร้องให้อีซีบีลดอัตราดอกเบี้ยลงมา

อย่างไรก็ตาม นโยบายการเงินแบบขึงตึงเช่นนี้มิได้เป็นเหตุผลประการเดียวซึ่งทำให้ผู้คนกำลังบ่นพึมเกี่ยวกับเงินยูโร ตัวอย่างเช่น ในเยอรมนีที่เคยมีเงินสกุลมาร์กอันมั่นคงมายาวนานและทำให้กิจการในประเทศนี้มีความได้เปรียบทางการเงินหลายประการ บัดนี้ความได้เปรียบดังกล่าวได้ลบหายไปหมดแล้ว ส่วนการที่ค่าเงินยูโรกำลังแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ก็ส่งผลให้การส่งออกและอัตราเติบโตของประเทศในยูโรโซนจำนวนมากประสบภาวะชะลอตัวลง

การที่ประชาชนในฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ลงประชามติไม่ยอมรับธรรมนูญยุโรป ทำให้พวกนักวิพากษ์เงินยูโรมีกำลังใจเพิ่มขึ้นอีกมาก แถมเมื่อวันพุธที่ 1 มิถุนายน ปรากฏรายงานข่าวว่า ฮันส์ ไอเคล รัฐมนตรีคลังเยอรมัน ได้เคยปรากฏตัวอยู่ในการประชุมหลายต่อหลายนัดซึ่งมีการอภิปรายหารือกันถึงความเป็นไปได้ที่เงินยูโรจะพังครืนลง รวมทั้งรัฐบาลเยอรมันชุดปัจจุบัน ซึ่งประสบความพ่ายแพ้ยับเยินในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นเมื่อเร็วๆ นี้ สืบเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ อาจจะกำลังวางแผนการที่จะกล่าวโทษประณามเงินยูโรว่าเป็นตัวสร้างปัญหาให้แก่ประเทศ ในระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาทั่วประเทศซึ่งคงจะจัดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

ครั้นมาถึงวันศุกร์ที่ 3 มิถุนายน หนังสือพิมพ์อิตาเลียนฉบับหนึ่งได้ตีพิมพ์คำวิจารณ์ของ โรแบร์โต มาโรนี รัฐมนตรีที่มาจากพรรคประชานิยมทางภาคเหนือของแดนสปาเกตตี้ ซึ่งโจมตีแหลกว่ายูโรเป็นตัวการทำให้เศรษฐกิจอิตาลีย่ำแย่ พร้อมกับเสนอให้นำสกุลเงินลีร์กลับมาใช้กันใหม่

ข่าวเหล่านี้ทำให้ตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศสะดุ้งเฮือก เพราะการแตกสลายของยูโรโซนกำลังเริ่มทำท่าว่าจะเป็นไปได้ หากไม่ถึงขั้นว่ากำลังจะเกิดขึ้นแล้วด้วยซ้ำ

หนึ่งสกุลเงิน-หลายอัตราเติบโต

กระทั่งก่อนจะตกลงยอมรับให้มีการใช้สกุลเงินยูโรตั้งแต่วันขึ้นปีใหม่ปี 2000 ก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ไม่ว่าทั่วทั้งอียูซึ่งตอนนั้นมีสมาชิก 15 ประเทศ หรือเฉพาะกลุ่มที่ตกลงเข้าร่วมสหภาพเงินตราจำนวน 12 ประเทศ ต่างก็ไม่ได้เป็นอาณาบริเวณอันเหมาะสมแก่การใช้เงินตราสกุลเดียวเอาเสียเลย

มองในแง่อุดมคติแล้ว เขตสกุลเงินหนึ่งๆ ควรที่จะมีขนาดอันกระชับ และมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันพอสมควร จนแทบจะไม่แสดงให้เห็นความแตกต่างหลากหลายของแต่ละท้องถิ่นออกมาในวัฏจักรธุรกิจทุนนิยมซึ่งย่อมมีการขึ้นๆ ลงๆ เวียนวนกันเป็นรอบๆ เพราะมิฉะนั้นแล้ว การใช้นโยบายเงินตราหนึ่งเดียวทั่วทั้งเขตนั้นๆ ย่อมทำให้บางภูมิภาคจมอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างยืดเยื้อ ขณะที่บางภูมิภาคกลับเติบโตเร็วรี่จนร้อนแรงเกินไป

หลายๆ คนบอกว่า สภาพการณ์ย่ำแย่ดังที่ยกตัวอย่างมานี้แหละ เป็นสิ่งซึ่งกำลังเกิดขึ้นในยุโรป โดยที่มีบางประเทศ อาทิ ไอร์แลนด์ มีอัตราขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างเร็วจี๋ ขณะที่พวกระบบเศรษฐกิจใหญ่ๆ เช่น เยอรมนี และอิตาลี กลับอยู่ในภาวะชะงักงัน

อันที่จริงในเขตใช้เงินตราสกุลเดียวซึ่งมีพื้นที่กว้างใหญ่ ก็มีวิธีการจำนวนหนึ่งที่สามารถช่วยบรรเทาความไม่สมดุลซึ่งบังเกิดขึ้น เพราะแม้กระทั่งสหรัฐอเมริกา ก็มิได้เป็นพื้นที่อันเหมาะสมแก่การใช้เงินตราสกุลเดียวหรอก บางครั้งบางภูมิภาคของอเมริกา เศรษฐกิจจะเฟื่องฟูหรือฟุบแฟบชนิดแตกแถวไม่เข้ากันกับส่วนอื่นๆ ของประเทศเอาเลย

ทว่าอเมริกามีคุณลักษณะสำคัญหลายประการซึ่งช่วยผ่อนเพลาปัญหาอันเกิดจากการต้องใช้นโยบายเงินตราที่เป็นเอกภาพ กล่าวคือ โครงการต่างๆ ของส่วนกลางจะทำหน้าที่เป็นเสมือนตัวสร้างเสถียรภาพทางการคลังอย่างอัตโนมัติ โดยจะดูดเอาเงินภาษีจากพื้นที่ซึ่งกำลังเฟื่องฟู แล้วถ่ายโอนไปยังพื้นที่ซึ่งกำลังอ่อนแอ ในรูปของเงินประกันการว่างงาน หรือเงินสงเคราะห์ช่วยเหลือด้านสุขภาพสำหรับคนยากจน

นอกจากนั้นตลาดแรงงานของอเมริกายังมีความยืดหยุ่นสูงมาก สภาพเช่นนี้เปิดทางให้ค่าจ้างและราคามีการปรับตัวแบบลดต่ำลงมาได้ ซึ่งทำให้ภูมิภาคที่ย่ำแย่เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน จนสามารถดึงดูดบริษัทหน้าใหม่ๆ และด้วยเหตุนี้จึงทำให้ความแตกต่างระหว่างภูมิภาคไม่ถึงกับเพิ่มพูนจนถึงขั้นเกิดแตกเป็นขั้ว และคนแรงในเมืองอุตสาหกรรมที่กำลังเสื่อมโทรม บ่อยครั้งจะเก็บข้าวของและโยกย้ายข้ามประเทศไปหางานทำในพื้นที่อื่น ขณะที่เงินทุนก็มีช่องทางไหลเวียนได้อย่างเสรีเช่นกัน

หากไม่มีปัจจัยบรรเทาผลกระทบเหล่านี้แล้ว ผู้คนในเขตซึ่งเศรษฐกิจแร้นแค้นคงง่ายที่จะตกลงไปสู่วัฏจักรแห่งภาวะชะงักงัน

แต่ในยุโรปกลับเป็นตรงกันข้าม แทบไม่มีกลไกอะไรในมือที่จะสามารถนำพาเอาวัฏจักรธุรกิจอันแตกต่างกันมากเหลือเกินในแต่ละท้องถิ่นของยูโรโซน เข้ามาผสมผสานกันเป็นหนึ่งเดียวได้เลย อีซีบีที่ผ่านมาพยายามทำหน้าที่เดินอยู่ตรงกลางๆ ระหว่างพวกประเทศซึ่งกำลังเติบโตช้า และพวกซึ่งกำลังเติบโตเร็ว ขณะเดียวกับที่สร้างเครดิตให้กับตัวเองในฐานะนักต่อสู้ต้านทานเงินเฟ้อ

ผลที่เกิดขึ้นก็คือ นโยบายการเงินซึ่ง "ร้อน" เกินไปสำหรับบางชาติ "หนาว" เกินไปสำหรับชาติอื่นๆ และแทบไม่มีชาติใดเลยที่รู้สึกว่า "พอดีแล้ว"

การขาดเขินกลไกสำหรับการปรับตัวหมายความว่า การเร่งรวมตัวเป็นสหภาพเดียวกันให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ไม่ใช่เป็นเพียงอุดมคติเจิดจรัสที่เอาไว้ดูเล่นเป็นกำลังใจเท่านั้น หากเป็นเรื่องความเป็นความตายทีเดียว

ทว่ากำแพงทางด้านภาษาและวัฒนธรรมในแต่ละประเทศยูโรโซน รวมตลอดถึงความแตกต่างอันมากมายเหลือเกินในเรื่องมาตรการประกันสังคม และโครงการสวัสดิการหลังเกษียณอายุ กลับกลายเป็นปัจจัยกระตุ้นให้คนงานปรารถนาที่จะอยู่อาศัยในประเทศของตนเองต่อไป ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเลวร้ายลงแค่ไหน และนั่นย่อมเป็นการปิดเส้นทางแห่งการบรรจบรวมตัวกันอย่างง่ายดายที่สุดเส้นทางหนึ่งลงไป

ถ้าระบบเศรษฐกิจต่างๆ ของยุโรปยังไม่ขับเคลื่อนก้าวไปสู่การรวมตัวเป็นตลาดหนึ่งเดียว แต่ตลาดแรงงานกลับมีความยืดหยุ่นมากกว่า (และเป็นสากลมากกว่าด้วย) ก็ย่อมมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นทุกทีที่ลงท้ายบางประเทศสมาชิกยูโรโซนจะพบว่า ช่องห่างระหว่างเศรษฐกิจของพวกเขากับนโยบายการเงินของยูโรโซนนั้น มันกว้างเกินกว่าที่จะทนต่อไปได้แล้ว

โชคร้ายสำหรับพวกสนับสนุนเงินยูโร เมื่อปรากฏว่าความเคลื่อนไหวด้านนโยบายในช่วงหลังๆ มานี้ต่างอยู่ในทิศทางอันผิดพลาดไปเสียทั้งนั้น ไม่เพียงสนธิสัญญาด้านเสถียรภาพและอัตราเติบโต (ซึ่งควรเป็นกลไกที่ช่วยบังคับเหล่าชาติสมาชิกต้องดำเนินนโยบายการคลังให้สอดคล้องต้องกัน อย่างน้อยก็ในระดับกว้างๆ ) จะอ่อนแอลงทุกขณะ ความก้าวหน้าในเรื่องมาตรการเปิดตลาดเพื่อไปสู่ตลาดหนึ่งเดียว ก็อยู่ในอาการชะงักงันเช่นกัน อาทิ ระเบียบด้านภาคบริการของอียู ทางด้านแรงงาน การที่เกิดแรงต่อต้านหนักหน่วงไม่ให้ทำลายการคุ้มครองแรงงานและผู้บริโภค ได้ทำให้รัฐบาลทั้งหลายไม่ปรารถนาหรือไม่สามารถที่จะดำเนินการปฏิรูปเชิงโครงสร้างชนิดลึกซึ้งรุนแรงได้

ปราศจากความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เงินยูโรอาจจะยังคงกระย่องกระย่องต่อไปได้ อย่างน้อยก็อีกสักพักหนึ่ง แต่ถ้ายังไม่ทำอะไรเสียเลยไปเรื่อยๆ ความไร้เสถียรภาพก็จะเพิ่มพูนทุกขณะ

เวลานี้มีการยกเอาอิตาลีไปเปรียบเทียบกับอาร์เจนตินาแล้ว ในแง่ที่ว่าอาร์เจนตินาซึ่งใช้ระบบเงินตราผูกตรึงกับดอลลาร์ ได้ทำให้สินค้าส่งออกแข่งขันกับคนอื่นไม่ได้ กลายเป็นชนวนให้เกิดภาวะถดถอย และท้ายที่สุดก็เกิดวิกฤตทางการคลังซึ่งบังคับให้ประเทศนี้ต้องยกเลิกระบบตรึงค่าเงินและประกาศลดค่าเงินเปโซของตัวเอง

ณ จุดนี้ การเปรียบเทียบดังกล่าว ยังอาจเป็นแค่เอาไว้ขู่ให้ตกใจกลัว มิใช่เป็นผลลัพธ์ซึ่งน่าจะต้องเกิดขึ้นแน่ๆ กระนั้นก็ตาม มันก็เป็นหนึ่งในภาพความเป็นไปได้ ที่ความป่วยไข้ทางเศรษฐกิจของหมู่สมาชิก อาจเป็นชนวนนำพาให้สกุลเงินยูโรก้าวสู่จุดอวสานในที่สุด


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.