อียู-จีนบรรลุข้อตกลงส่งออกสิ่งทอฉันมิตร ตรงข้ามกับวิธีใช้ไม้แข็งลูกเดียวของสหรัฐฯ


ผู้จัดการรายสัปดาห์(16 มิถุนายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

สหภาพยุโรป(อียู) กับจีนตกลงกันได้แทบจะในชั่วโมงสุดท้าย ในเรื่องการจำกัดสินค้าสิ่งทอส่งออกของแดนมังกรเข้าสู่อียู แม้มันจะเป็นการโอเคกันได้อย่างเคร่งเครียดและเฉียดฉิว แต่ก็ช่างตรงกันข้ามกับวิธีอันเอื้อเฟื้อน้อยกว่าของสหรัฐฯ ซึ่งประกาศตูมจำกัดโควตาสินค้าจีนตามอำเภอใจฝ่ายเดียว แถมความเคลื่อนไหวคราวนี้ยังบังเกิดขึ้น ขณะที่ยุโรปกับอเมริกากำลังแตกแยกกันมากขึ้น ในประเด็นเรื่องจะรับมือกับการผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจของปักกิ่งกันอย่างไร

จากการเจรจาต่อรองกันอย่างยืดเยื้อ ที่ทำเนียบรับรองแขกเมืองของรัฐบาลจีนในนครเซี่ยงไฮ้จนกระทั่งถึงตอนดึกวันที่ 10 มิถุนายน รัฐมนตรีพาณิชย์ ป๋อซีไหล ของจีน กับ กรรมาธิการด้านการค้า ปีเตอร์ แมนเดลสัน ของอียู ก็สามารถแก้ไขข้อพิพาทเรื่องยุโรปไม่พอใจที่สินค้าสิ่งทอจีนรวม 10 รายการ อาทิ เสื้อยืด, ด้ายสำหรับทอผ้าลินิน, ผ้าปูเตียง, ผ้าปูโต๊ะ, ชุดกระโปรง, เสื้อชั้นในสตรี ไหลทะลักเข้าสู่ตลาดอียูอย่างพรวดพราด

ตามข้อตกลงดังกล่าวนี้ ซึ่งยังต้องรอขั้นตอนรัฐสมาชิกอียูให้ความเห็นชอบก่อน ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบในการกำหนดขีดจำกัดปริมาณผลิตภัณฑ์สิ่งทอจีนทั้ง 10 รายการซึ่งจะส่งเข้าสู่อียูได้

ขีดจำกัดนี้ มีอายุบังคับใช้ไปจนถึงปี 2007 และรายละเอียดแตกต่างกันไปตามแต่ละรายการ อาทิ กระโปรงสตรีจะนำเข้าอียูในปี 2005 ได้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 8% ส่วนปี 2006 และ 2007 เพิ่มขึ้นได้ไม่เกิน 10% หรือ ผ้าปูโต๊ะสามารถส่งไปขายอียูเพิ่มขึ้นไม่เกิน 12.5% ในแต่ละปีตลอดทั้ง 3 ปี แต่รวมความแล้วก็ยังสูงกว่าเพดานปีละ 7.5% ซึ่งยุโรปสามารถประกาศออกมาใช้ตามลำพังฝ่ายเดียว โดยอ้างสิทธิตามข้อตกลงที่แดนมังกรเคยยินยอมเอาไว้ในครั้งที่เจรจาเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก(WTO)

ข้อตกลงนี้ยังสร้างความแน่นอนในระดับหนึ่งให้แก่อุตสาหกรรมสิ่งทอจีน ซึ่งมีอันปั่นป่วนผันผวนทั้งจากมาตรการจริงๆ และคำข่มขู่ว่าจะตอบโต้แก้เผ็ดกัน ทั้งจากพวกคู่ค้าของจีน ตลอดจนจากทางการแดนมังกรเอง

ภายหลังโลกย่างเข้าสู่ระบบการค้าสิ่งทอแบบไม่มีกำหนดโควตาเมื่อเริ่มต้นปีนี้ ยอดขายสิ่งทอจีนในยุโรปและสหรัฐฯก็ทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่สร้างความขุ่นเคืองให้แก่ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างแดนมังกรกับบรรดาคู่ค้าเหล่านี้

ถึงแม้จีนมีเหตุผลที่จะกล่าวโทษคู่ค้าเหล่านี้ได้ว่า ไม่ยอมปรับตัวเตรียมรับสภาพเลยทั้งที่ทราบล่วงหน้าตั้งหลายปีแล้วว่าระบบการค้าแบบจำกัดโควตากำลังจะหมดอายุลง ทว่าแดนมังกรมีข้อเสียเปรียบประการหนึ่ง ตรงที่เมื่อครั้งงอนง้อขอเข้า WTO ในปี 2001 ต้องยินยอมรับปากว่า พวกคู่ค้าของจีนสามารถประกาศใช้มาตรการ "คุ้มครองตัวเอง" เพื่อจำกัดสินค้าสิ่งทอนำเข้าจากจีนให้เพิ่มขึ้นสูงสุดไม่เกินปีละ 7.5% ถ้าหากสินค้าจีนดังกล่าวได้สร้างความผันผวนให้แก่ตลาดของคู่ค้าเหล่านั้น

เมื่อเดือนเมษายน กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯก็ได้อาศัยข้อตกลงนี้เอง ประกาศจำกัดการนำเข้าสิ่งทอจีนหลายรายการทีเดียว

ปักกิ่งนั้นแสดงท่าทีชัดเจนว่า ชมชอบการแก้ไขข้อพิพาทด้วยวิธีของอียูมากกว่า โดยหลังจากบรรลุข้อตกลงกับแมนเดลสันแล้ว รัฐมนตรีป๋อของจีนได้กล่าวยกย่องคู่เจรจาของเขาผู้นี้ พร้อมถือโอกาสปล่อยหมัดแย็ปเข้าใส่วิธีการอันแข็งกร้าวกว่าของสหรัฐฯ

"ไม่เหมือนกับประเทศอื่นๆ บางประเทศ อียูมิได้นำเอามาตรการตามอำเภอใจฝ่ายเดียวมาใช้กับจีน แต่กลับหารือประเด็นปัญหานี้ด้วยท่าทีเป็นมิตร" ป๋อบอกกับผู้สื่อข่าว พร้อมกับยกคำพังเพยของจีนที่ว่า "ถ้าคุณเคารพผม 1 นิ้ว ผมก็จะเคารพคุณ 1 ฟุต"

ความขัดแย้งเรื่องการส่งออกสิ่งทอของจีน นับเป็นสัญญาณล่าสุดของการที่โลกกำลังต่อสู้ดิ้นรนเพื่อปรับตัวให้เข้ากับการเติบโตขยายตัวอย่างรวดเร็วของแดนมังกร ขณะเดียวกันก็ชี้ให้เห็นว่านานาประเทศได้ใช้วิธีซึ่งผิดแผกกันไปในการแก้ไขปัญหานี้ ประเทศร่ำรวยหรือยากจนล้วนแต่กำลังหาวิธีให้ได้ผลประโยชน์จากการทำธุรกิจกับจีน ทว่าขณะเดียวกันพวกเขาก็ต้องการลดทอนความเจ็บปวดให้กับบรรดาอุตสาหกรรมภายในประเทศ ที่ต้องแข่งขันกับผลิตภัณฑ์ต้นทุนต่ำของจีน

ทั้งสหรัฐฯและอียูต่างก็แสดงความไม่พอใจจีนในหลายๆ ประเด็นการค้า ตั้งแต่การบริหารจัดการเงินหยวน ไปจนถึงการปล่อยให้มีสินค้าปลอมเลียนแบบผลิตภัณฑ์ต่างประเทศวางขายเกลื่อน แต่สำหรับนักวิเคราะห์ชาวจีนหลายๆ คนแล้ว ข้อตกลงสิ่งทอระหว่างจีนกับอียู เป็นตัวอย่างย้ำให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างวิธีที่ยุโรปและอเมริกาใช้ในการดีลกับแดนมังกร

"ผมคิดว่าประเทศยุโรปจำนวนมากต้องการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาของจีน ขณะที่อเมริกันกลับต้องการมีอิทธิพลต่อทิศทางการพัฒนาดังกล่าว" เป็นความเห็นของเฟิงจงผิง ผู้อำนวยการสถาบันยุโรป ที่สังกัดอยู่ในสถาบันเพื่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศร่วมสมัยของจีน อันเป็นองค์การศึกษาวิจัยในเครือของหน่วยงานรักษาความมั่นคงของรัฐบาลแดนมังกร

ทั้งๆ ที่วอชิงตันคัดค้าน แต่อียูกลับต้อนรับจีนเข้าเป็นหุ้นส่วนรายหนึ่งในการพัฒนาระบบนำร่องโดยใช้ดาวเทียม ซึ่งยุโรปกำลังพัฒนาขึ้นมาเพื่อเป็นคู่แข่งกับระบบจีพีเอสที่อเมริกันควบคุมอยู่ วอชิงตันระแวงว่า การเข้าร่วมของปักกิ่งอาจกลายเป็นผลประโยชน์ทางการทหาร โดยทำให้กองทัพปลดแอกประชาชนจีนมีสิทธิเข้าถึงระบบดาวเทียมซึ่งจะใช้นำทางขีปนาวุธและทหารของตนในยามที่เกิดต้องทำศึกสงครามขึ้นมา

ยิ่งกว่านั้น อียูยังกำลังพิจารณาที่จะยกเลิกมาตรการห้ามขายอาวุธให้แก่จีน ซึ่งได้ใช้กันมาตั้งแต่ปี 1989 แม้สหรัฐฯยังคงคัดค้านอย่างแข็งขันมาโดยตลอด

แมนเดลสัน กรรมาธิการด้านการค้าของอียู กล่าวในวันที่ 11 มิถุนายนว่า จีนกับพวกคู่ค้าบางครั้งอาจมีการปะทะคัดง้างกันในทางผลประโยชน์ แต่สิ่งที่ต้องระวังคืออย่าทำให้เกิดเป็นปฏิกิริยาตอบโต้ในลักษณะต่อต้านจีน ซึ่งรังแต่จะเป็นอุปสรรคต่อการค้าของโลกเท่านั้น "เราจำเป็นต้องบริหารจัดการเรื่องการบูรณาการจีนเข้ามาในเศรษฐกิจโลกด้วยวิธีที่สมเหตุสมผลและราบรื่น" เขาย้ำ

ที่กรุงวอชิงตัน โฆษกกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯแถลงในวันที่ 12 เพียงว่า เจ้าหน้าที่ซึ่งรับผิดชอบกำลังดำเนินการศึกษาทบทวนข้อตกลงที่อียูทำกับจีนอยู่

แต่เมื่อพิจารณากระแสความรู้สึกต่อต้านจีนซึ่งกำลังเพิ่มทวีขึ้นในสหรัฐฯ บวกกับการที่คณะรัฐบาลประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช กำลังวุ่นอยู่กับปัญหาภายในประเทศหลายๆ เรื่อง นักวิเคราะห์จึงมองว่าช่องทางที่อเมริกาจะยอมประนีประนอมในประเด็นปัญหาเรื่องสิ่งทอดูจะมีจำกัดมาก อย่างน้อยก็ในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

อันที่จริงกำลังมีแรงกดดันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากรัฐสภาอเมริกัน ไม่ว่าจะฝ่ายรีพับลิกันหรือฝ่ายเดโมแครต ให้คณะรัฐบาลบุชต้องใช้ท่าทีแข็งกร้าวขึ้นกับปักกิ่งด้วยซ้ำ ทั้งนี้คาดหมายกันว่า วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรต่างก็จะผลักดันผ่านร่างกฎหมายซึ่งมุ่งหมายบีบคั้นให้จีนต้องยอมปรับค่าเงินหยวนให้แข็งขึ้น อันเป็นประเด็นที่พวกนักการเมืองสหรัฐฯ ชอบหยิกยกขึ้นมาอ้างว่า เป็นสาเหตุทำให้สินค้าจีนมีราคาถูกและตีตลาดสินค้าอเมริกัน

ไม่เหมือนกับในสหรัฐฯ ทางฝ่ายยุโรปกลับไม่สบายใจที่จะเล่นไม้แข็งกับจีนในเรื่องการค้า อียูจึงได้เปิดเจรจากับจีนในเรื่องการส่งออกสินค้าสิ่งทอมาหลายรอบแล้วนับแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา

วิธีระวังตัวรัดกุมเช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจริงทางการเมืองของอียูเอง กล่าวคือในหมู่ 25 ชาติสมาชิก อิตาลีกับฝรั่งเศสเรียกร้องให้จำกัดสินค้าเข้าจากแดนมังกร แต่ประเทศอื่นๆ อาทิ กลุ่มสแกนดิเนเวีย กลับออกมาเตือนว่าการจำกัดเช่นนั้นจะเป็นผลร้ายต่อผู้ค้าปลีก ผู้นำเข้า และในที่สุดต่อผู้บริโภคด้วย

นอกจากนั้น ยุโรปยังเสียเปรียบดุลการค้าจีนประมาณ 78,500 ล้านยูโร (95,200 ล้านดอลลาร์) ในปีที่แล้ว ไม่ถึงครึ่งหนึ่งด้วยซ้ำของการขาดดุลการค้าต่อแดนมังกรของสหรัฐฯในช่วงเวลาเดียวกันนี้

ในการเจรจาเมื่อวันที่ 10 แมนเดลสันต้านทานข้อเรียกร้องสำคัญประการหนึ่งของฝ่ายจีนอย่างแข็งขัน นั่นคือ การให้อียูยกเลิกสิทธิที่จะประกาศใช้มาตรการคุ้มครองตนเองกับผลิตภัณฑ์สิ่งทอรายการอื่นๆ นอกเหนือจาก 10 รายการซึ่งตกลงกันไปแล้วนี้ โดยในที่สุดแล้วยุโรปยินยอมเพียงโอเคที่จะแสดง "ความยับยั้งชั่งใจ" ในการนำเอามาตรการคุ้มครองตนเองมาใช้ในอนาคต

จุดยืนอะลุ้มอะล่วยกับจีนมากกว่าของอียู มีหวังจะได้รับการพิสูจน์ครั้งใหม่ในราว 1 เดือนข้างหน้า เพราะอียูเพิ่งเผยแพร่ตัวเลขข้อมูลใหม่ซึ่งแสดงให้เห็นว่า รองเท้าทำในเมืองจีนก็กำลังถูกนำเข้าไปในยุโรปพุ่งพรวดพราด ทำให้อียูบอกว่าอาจจะต้องพิจารณาใช้มาตรการต่อต้านการทุ่มตลาด รวมทั้งเป็นไปได้ว่าอาจจะนำไปฟ้องร้องต่อ WTO ด้วย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.