|
ราคาน้ำมันยังวิ่งลิ่วแม้โอเปกเพิ่มเพดานผลิต เศรษฐกิจโลกชักสะเทือนผวาซัปพลายตึงตัว
ผู้จัดการรายสัปดาห์(24 มิถุนายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ราคาน้ำมันยังคงวิ่งฉิวสู่ระดับบาร์เรลละ 60 ดอลลาร์ เหมือนเป็นการยืนยันว่า การประกาศเพิ่มเพดานโควตาการผลิตของกลุ่มโอเปกเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา เป็นเพียงสัญลักษณ์ที่ไม่ค่อยมีความหมายจริงจังอะไร ในภาวะที่ซัปพลายตึงตัว แต่ความสามารถในการผลิตและในการกลั่นน้ำมันยังไม่ใช่จะเพิ่มขึ้นได้ง่ายๆ บวกกับการเก็งกำไรอย่างหน้าด้าน ราคาจึงน่าจะยังสูงลิวอย่างน้อยก็ในระยะสั้น เท่าที่ผ่านมา น้ำมันแพงอาจจะไม่ทำให้เศรษฐกิจโลกย่ำแย่ดังที่คาดหมายกัน แต่เมื่อมันยังไม่ลงมาเสียที ก็ทำให้หลายๆ ฝ่ายชักใจไม่ค่อยดี
ล่วงเลยมาหลายปีแล้วที่พวกมองการณ์แง่ร้ายเที่ยวป่าวร้องว่า ราคาน้ำมันกำลังจะพาให้โลกซึ่งหิวกระหายพลังงานเหลือเกินเข้าสู่ภาวะมืดมนอนธกาล ทว่าคำพยากรณ์ของพวกเขาเกี่ยวกับความหายนะที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจจากราคาน้ำมันแพงกลับไม่เป็นความจริงขึ้นมาเสียที
ทั้งที่เจ้าทองคำสีดำพุ่งทะยานผ่านหลักบาร์เรลละ 30 ดอลลาร์ แล้วก็ 40 ดอลลาร์ และ 50 ดอลลาร์ แต่เศรษฐกิจโลกกลับมีระดับเติบโตขยายตัวดีที่สุดในชั่วอายุคนทีเดียว แถมประเทศจอมตะกละซดน้ำมันอย่างสหรัฐฯ ยังมีผลงานทางเศรษฐกิจดียิ่งกว่าประเทศอื่นซึ่งคอยประหยัดพลังงานด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตาม แม้กระทั่งพวกรัฐสมาชิกขององค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ก็ยังกำลังมองหาหนทางที่จะทำให้ราคาชะลอตัวลงบ้าง เนื่องจากพวกเขากลัวว่า หากราคาน้ำมันแพงเป็นเวลานานๆ ดังที่เคยเกิดขึ้นในทศวรรษ 1970 จะทำให้เศรษฐกิจโลกทรุดตัว ซึ่งส่งผลลดทอนดีมานด์ในผลิตภัณฑ์ของพวกเขา หรือถ้าเลวร้ายยิ่งกว่านั้นอีกก็คือ มันจะเป็นแรงกระตุ้นให้พวกชาติผู้บริโภคหาทางทำให้เศรษฐกิจใช้สอยน้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ในการประชุมครั้งล่าสุดของรัฐมนตรีน้ำมันโอเปกเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พวกสมาชิกที่กระวนกระวายใจเฉกเช่นไนจีเรีย จึงสามารถเอาชนะการต่อต้านจากพวกเหยี่ยวอย่างเวเนซุเอลา และทำให้โอเปกมีมติเพิ่มระดับการผลิตอย่างเป็นทางการในทันที 500,000 บาร์เรลต่อวัน(บีพีดี) เป็น 28 ล้านบีพีดี นอกจากนั้นยังประกาศด้วยว่า พวกเขาจะพิจารณาเพิ่มอีก 500,000 บีพีดีภายในปีนี้ ถ้าราคายังแพงไม่เลิก
โชคร้ายสำหรับผู้บริโภคน้ำมัน ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ถูกจับไต๋ได้ว่าเป็นแค่เพียงสัญลักษณ์ มากกว่าเป็นความพยายามที่จะฉุดรั้งให้ราคาอ่อนตัวลงจริงๆ เนื่องจากทราบกันดีว่าพวกสมาชิกโอเปกแอบผลิตเกินโควตากันแทบทั้งนั้น โอเปกจึงสูบทองคำสีดำออกมาอย่างน้อย 28 ล้านบีพีดีกันอยู่แล้ว และเป็นไปได้ว่าอาจจะถึง 30 ล้านบีพีดีด้วยซ้ำ การเพิ่มเพดานจึงเป็นเพียงการรับรองให้ความชอบธรรมแก่สิ่งซึ่งได้กระทำกันไปแล้วเท่านั้นเอง
ที่ย่ำแย่ยิ่งไปกว่านั้นอีกก็คือ ถึงแม้โอเปกปรารถนาที่จะผลิตน้ำมันออกมาให้มากขึ้น พวกเขาส่วนใหญ่ก็จะทำไม่ได้ เพราะได้ใช้กำลังการผลิตกันจนแทบถึงขีดสุดแล้ว
ในอดีตที่ผ่านมา มีสมาชิกโอเปกบางราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งซาอุดีอาระเบีย พยายามทำตัวเป็นผู้สร้างความสมดุล ด้วยการรักษากำลังการผลิตเหลือใช้เอาไว้จำนวนหนึ่ง จะได้สามารถสูบน้ำมันเพิ่มขึ้น หากราคาพุ่งแรงเกินไป
ทว่าระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา กำลังการผลิตที่เป็นตัวกันกระทบดังกล่าวได้เหือดแห้งไปเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งสืบเนื่องจากดีมานด์ในตลาดทะยานลิ่วเหลือเกิน และอีกส่วนหนึ่งเพราะราคาที่ช่วงหนึ่งเคยตกวูบลงเหลือแค่บาร์เรลละ 10 ดอลลาร์ ยังคงเป็นความทรงจำอันขมขื่นไม่อาจลืมเลือน จึงทำให้เหล่าผู้ผลิตน้ำมันลังเลไม่อยากที่จะคำนวณผิดเพิ่มกำลังการผลิตกันรวดเร็วเกินไป
ยิ่งพวกแหล่งผลิตซึ่งอยู่นอกโอเปกด้วยแล้ว กำลังผลิตของพวกเขาอยู่ในอาการตึงตัวยิ่งกว่าโอเปกด้วยซ้ำ อาทิ รัสเซียซึ่งสูบน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา กลับอยู่ในภาวะการผลิตชะงักงันในช่วงสองสามเดือนมานี้ โดยที่สำคัญเกิดจากนโยบายรัฐบาลซึ่งเข้าแทรกแซงอุตสาหกรรมพลังงาน ดังเช่น กรณีบริษัทยูคอสอันอื้อฉาว
สำหรับพื้นที่อื่นๆ พวกบ่อน้ำมันใหญ่ๆ ที่เคยพัฒนากันขึ้นมาตั้งแต่ช่วงวิกฤตน้ำมันแพงตอนทศวรรษ 1970 ต่างเริ่มเสื่อมโทรมลงไปกันทั้งนั้น และพวกบริษัทน้ำมันต้องหันไปหาภูมิภาคซึ่งยังไม่มีการพัฒนา อันหมายถึงต้องลงทุนหนักในด้านเทคโนโลยี เพื่อนำน้ำมันขึ้นมาจากใต้ดิน ขณะที่เขตเหล่านั้นยังมักมีความเสี่ยงสูงในทางการเมืองและทางระเบียบกฎหมายอีกด้วย
ด้วยเหตุผลนานาเหล่านี้ กำลังการผลิตเหลือใช้ของทั่วโลกจึงลดลงอยู่ในระดับเกือบต่ำสุดในรอบ 20 ปีทีเดียว
แต่การพูดเช่นนี้มิได้หมายความว่า การผลิตน้ำมันของโลกกำลังใกล้ถึงจดสูงสุดแล้ว อันที่จริงยังมีช่องทางที่สมาชิกโอเปกหลายประเทศจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ เพียงแต่ความทรงจำเกี่ยวกับน้ำมันบาร์เรลละ 10 เหรียญ ยังคอยถ่วงรั้งพวกเขาเอาไว้
นอกจากนั้นเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ ไม่เพียงทำให้บ่อน้ำมันทุกหนแห่งทำผลผลิตได้สูงขึ้นเท่านั้น หากยังกำลังสร้างโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำมันใหม่ๆ ซึ่งเมื่อก่อนได้แต่ปล่อยทิ้งเอาไว้ อาทิ การขุดน้ำมันจากใต้ทะเลลึก หรือ การกลั่นน้ำมันจากหินน้ำมันและทรายน้ำมัน
อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงที่ว่ายังมีแหล่งทรัพยากรน้ำมันเพิ่มเติมซึ่งสามารถนำมาใช้สอยได้ ไม่จำเป็นต้องแปลว่าน้ำมันจะมีราคาถูก
อันที่จริงหลายๆ ฝ่าย รวมทั้งโอเปก เตือนว่า ศักยภาพในการกลั่นน้ำมันซึ่งอยู่ในภาวะตึงตัว กำลังเป็นปัญหาใหญ่โตเสียยิ่งกว่าด้านการผลิตด้วยซ้ำ
น้ำมันดิบที่โอเปกสามารถจะผลิตออกมาเพิ่มเติมได้ในขณะนี้ จะเป็นน้ำมันดิบประเภทหนักและมีกำมะถันสูง ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยโรงกลั่นไฮเทค จึงจะสามารถทำผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย ซึ่งอยู่ในกรอบมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมของโลกตะวันตก ทว่าศักยภาพการกลั่นน้ำมันประเภทนี้อยู่ในสภาพตึงตัวสุดเหยียดอยู่แล้ว
พวกรัฐมนตรีน้ำมันโอเปกซึ่งยอมรับตรงๆ ว่า การเพิ่มโควตาการผลิตเที่ยวนี้จะไม่มีผลต่อราคา ได้ให้เหตุผลอธิบายว่า หากพวกประเทศตะวันตกยังไม่เพิ่มศักยภาพการกลั่นน้ำมันขึ้นมาแล้ว โอเปกเองก็แทบหมดปัญญาทำอะไรได้
ตลาดน้ำมันซึ่งพวกกองทุนเฮดจ์ฟันด์ตลอดจนกองทุนขนาดใหญ่อื่นๆ จ้องเขม็งเก็งกำไรกันเต็มเหนี่ยวอยู่ขณะนี้ ไม่พลาดเลยที่จะหากินกับข่าวภาวะตึงตัวเช่นนี้ จนราคาน้ำมันดิบประเภทไลต์สวีตครูด (บางทีก็เรียกกันว่าไลต์ครูด, เวสต์เทกซัสอินเตอร์มีเดียต) อันเป็นตัวมาตรวัดราคาน้ำมันของฟากฝั่งสหรัฐฯ วิ่งฉิวในช่วงหลายๆ วันภายหลังการประชุมโอเปก และทำท่าจะสร้างประวัติการณ์ทะลุหลัก 60 ดอลลาร์
กระนั้นก็ตาม แรงต่อต้านไม่ให้สร้างโรงกลั่นน้ำมันใหม่ๆ ในประเทศร่ำรวยของโลกที่ใช้สอยน้ำมันกันโครมๆ ก็ยังคงดุเดือด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอเมริกา มลรัฐจำนวนมากมีมาตรฐานที่แตกต่างกันในเรื่องส่วนประกอบของน้ำมัน กลายเป็นการบังคับให้โรงกลั่นต้องผลิตน้ำมันสำเร็จรูปหลายๆ เกรด แต่ละเกรดจำนวนไม่มาก สภาพเช่นนี้ไม่เพียงลดทอนประสิทธิภาพ แต่บางครั้งยังเป็นสาเหตุทำให้ราคาพุ่ง เพราะน้ำมันต่างเกรดกันไม่สามารถส่งขายข้ามเขตกันได้
จวบจนถึงขณะนี้ กล่าวได้ว่าผู้บริโภคจำนวนมากยังดูไม่สะดุ้งสะเทือนอะไร ราคาน้ำมันอันแพงระยับแทบไม่ส่งผลกระทบต่อดีมานด์ของโลกเอาเลย ทำให้นักวิเคราะห์ต้องเที่ยววิ่งหาเหตุผลคำอธิบายกันแทบไม่ทัน
บางคนมองไปที่รัฐบาลของโลกตะวันตก ซึ่งตั้งแต่เกิดวิกฤตน้ำมันทศวรรษ 1970 ก็ได้ดำเนินมาตรการอย่างจริงจังในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเศรษฐกิจของพวกตน อาทิ ประกาศเก็บภาษีน้ำมัน และมาตรฐานประหยัดเชื้อเพลิง
หลายๆ คนเสนอว่า ราคาน้ำมันยังสามารถขยับขึ้นไปได้อีกจนกระทั่งถึงจุดหนึ่ง โดยจะแทบไม่สร้างความสะเทือนอะไรเลย ทว่าหลังจากผ่านจุดดังกล่าวไปแล้ว การเขยิบแม้เพียงไม่มากก็อาจทำให้พฤติการณ์ของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างรุนแรง
แล้วก็ยังมีผู้ที่เห็นว่า ผู้บริโภคไม่ค่อยแสดงปฏิกิริยาอะไรออกมา เพราะการขึ้นราคารอบล่าสุดเกิดมาจากการเพิ่มขึ้นของดีมานด์ ไม่เหมือนกับรอบที่ผ่านๆ มาซึ่งมักเกิดจากการหดตัวอย่างฉับพลันของซัปพลาย การเพิ่มขึ้นของดีมานด์ย่อมหมายถึงการเติบโตของเศรษฐกิจ และดังนั้นจึงอาจจะสามารถชดเชยผลลบของราคาน้ำมันแพงได้
หรืออาจจะเพียงเพราะการขึ้นราคาจากแรงขับดันของดีมานด์ มีลักษณะค่อยเป็นค่อยไปมากกว่าการลดฮวบของซัปพลาย จึงทำให้ผู้บริโคตลอดจนระบบเศรษฐกิจมีเวลาในการปรับตัวมากกว่า
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะอธิบายอย่างไร เมื่อขณะนี้เศรษฐกิจโลกกำลังประจันหน้ากับภาวะซัปพลายมีจำกัดอย่างน้อยก็ในระยะสั้น สถานการณ์โดยรวมจึงอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลง และพวกเล็งการณ์ในแง่ดีว่าราคำน้ำมันจะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจโลก ดูจะกำลังเหลือน้อยลงทุกที
ระหว่างนี้ แม้อาจมีบางช่วงที่ราคาลดต่ำลง แต่แนวโน้มน่าจะมีความวูบวาบหวั่นไหวไม่หยุดหย่อน หากโลกยังไม่สามารถสร้างกำลังการผลิตและศักยภาพการกลั่นเหลือใช้ขึ้นมาได้
กระทั่งเกิดเหตุเล็กๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อซัปพลาย (อาทิ โรงกลั่นน้ำมันในอิรักสองสามแห่งเกิดระเบิด) ก็จะสามารถสร้างความไม่สมดุลระหว่างซัปพลายกับดีมานด์ขึ้นมาได้แล้ว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|