|
จับตาปี 49 อุตฯ-เกษตรวิกฤตน้ำของแท้ สงครามชิงน้ำยังระอุ!โคราช-อีสานเจอหนัก-เขื่อนแห้ง
ผู้จัดการรายสัปดาห์(5 สิงหาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ประเทศขาดแคลนน้ำใครจะรับผิดชอบ... ?!?!
มันเป็นความผิดของใครที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรม-เกษตรขาดแคลนน้ำ
จนเกิดสงครามแย่งน้ำระหว่างเกษตรกรกับอุตสาหกรรมในแถบตะวันออก
วงการคาดตั้งแต่ 1 มกราคม 2549 นิคมอุตฯมาบตาพุดขาดน้ำ วิกฤตหนักยิ่งกว่าปีนี้
ขณะที่ โคราช-อีสาน เจอดี น้ำในเขื่อนแห้งขอด
************
สงครามชิงน้ำยังระอุ
ในที่สุดน้ำลดตอก็ผุด...ตามคำพังเพยโบราณ !!!
เมื่อน้ำในเขื่อนและในอ่างเก็บน้ำแต่ละแห่งของประเทศเหลือแต่ตอจริงๆ !?!
วิกฤตน้ำแล้งครั้งนี้ถือว่าร้ายแรงที่สุด เพราะมันลุกลามจากภาคเกษตรไปสู่ภาคอุตสาหกรรมเข้าแล้ว
พลันที่ โรงงานอุตสาหกรรมในนิคมมาบตาพุด จ.ระยอง ผจญวิกฤตขาดแคลนน้ำอย่างหนัก ทำให้ภาครัฐหันมาดูแลอย่างจริงจัง ทั้งที่ก่อนหน้ายังไม่ค่อยจะหันมาดูเท่าไร ว่ากันว่า เป็นเพราะในแถบตะวันนอก มีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของประเทศอาศัยทำมาหากินอยู่หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นโรงกลั่น โรงแยกก๊าซ ของปตท . ปุ๋ยแห่งชาติ (NPC) ทีพีไอ โรงผลิตไฟฟ้า โรงงานปูนซิเมนต์ไทย เป็นต้น
ทั้งที่ทราบกันดีว่า ปัญหาภัยแล้งเกิดขึ้นกับภาคเกษตรมาแล้วตั้งแต่ปี 2547 แต่ก็ยังไม่มีมาตรการแก้ปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จนกระทั่งมันลุกลามไปสู่ภาคอุตสาหกรรม หัวใจสำคัญของชาติ ถึงทำให้รัฐบาลเต้นผาง เพราะเป็นสัญญาณอันตรายในด้านความเชื่อมั่นจากนักลงทุนไทยและต่างประเทศไปแล้ว
“น้ำในอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลและดอกกรายใกล้หมดลงทุกวัน เพราะมีใช้กันมาก โดยไม่มีการวางแผนถึงภาคการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม”ปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน และปัจจุบันเป็น สว.กรุงเทพฯ บอก
เขาถูกให้เป็นผุ้รู้เรื่องน้ำในสภาฯสูงดีที่สุดคนหนึ่ง เพราะเคยนั่งควบคุมแผนเรื่องน้ำของประเทศและปัจจุบันก็ยังติดตามสถานการณ์น้ำมาตลอด เขาอธิบายกลไกของในภาคตะวันออก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรม โรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก ให้การส่งเสริมการลงทุน แต่รัฐบาลไม่เคยวางแผนรับมือการเติบโตการลงทุนภาคอุตสาหกรรม
อุตสาหกรรมโต-แต่น้ำทรุด
ตัวเลขการใช้ในอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลและดอกกรายคือแหล่งน้ำที่เป็นหัวใจของอุตสาหกรรมในแถบนี้ ฟ้องชัดในข้อมูลของกรมชลประทาน ระบุว่า ความต้องการใช้น้ำปี 2536 เท่ากับ 14.25 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)ต่อปี พอปี 2540 ความต้องการใช้น้ำเพิ่มเป็น 86.19 ล้าน ลบ.ม./ปี หรือช่วง 4 ปี มีความต้องการใช้น้ำเพิ่มประมาณ 80 ล้านลบ.ม. ขณะที่ช่วงปี 2547 มีความต้องการใช้น้ำพุ่งเป็น 211.88 ล้านลบ.ม.ต่อปี และปี 2548 มีความต้องการใช้น้ำ 278 ล้านลบ.ม. เพิ่มขึ้นเพียงปีเดียวถึง 60 ล้านลบ.ม.ต่อปี
“จากตัวเลขที่ผมดูแล้ว ภาคอุตสาหกรรมต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ แต่ไม่มีการเตรียมหาแหล่งน้ำรองรับ ยังคงใช้อ่างเก็บน้ำที่เดิม ทำให้มันเกิดปัญหาวันนี้”สว.กรุงเทพฯ ให้ความเห็น
รัฐคิดแผนผันน้ำช่วยอุตฯ
สำหรับสถานการณ์น้ำภาคตะวันออกและความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหา ศูนย์ประสานและติดตามสถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน รายงานว่า สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำภาคตะวันออก(จังหวัดระยองและชลบุรี) ล่าสุด(28 ก.ค. 48) ที่อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 15.28 ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างเก็บน้ำดอกกราย มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 7.94 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมปริมาณน้ำทั้งสองแห่งประมาณ 23.22 ล้านลูกบาศก์เมตร
“กรมชลประทาน ได้วางแผนการบริหารจัดการน้ำจากอ่างฯทั้งสองแห่งจำนวน 17.49 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำทั้งด้านการอุปโภค-บริโภค การเกษตร และการอุตสาหกรรม วันละประมาณ 500,000 ลูกบาศก์เมตร สามารถใช้น้ำได้ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2548 ส่วนที่อ่างเก็บน้ำบางพระ มีปริมาณน้ำในอ่างฯทั้งหมด 16.14 ล้านลูกบาศก์เมตร หากไม่มีฝนตกลงจะสามารถใช้น้ำได้ถึงประมาณเดือนธันวาคม 2548”
ขณะที่ความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์น้ำในภาคตะวันออก นั้น กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าปี 2548 ได้แก่ การขุดเจาะบ่อบาดาล โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล การวางท่อผันน้ำจากแม่น้ำระยองเข้าสู่ระบบท่อของบริษัทอีส วอเตอร์ฯ เพื่อส่งน้ำให้กับนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และการผันน้ำจากคลองทับมา-คลองน้ำหู-นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด
หากดำเนินการแล้วเสร็จทั้ง 3 โครงการจะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำใช้ได้ประมาณวันละ 400,000 ลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังบอกว่า ได้วางแผนการผันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อช่วยเหลือระบบประปา อุตสาหกรรม ในจังหวัดฉะเชิงเทราและชลบุรี (โครงการฯพระองค์ไชยานุชิต) เพื่อไปเติมน้ำให้อ่างเก็บน้ำบางพระ และบริษัท อีส วอร์เตอร์ฯ ได้วางท่อจากแม่น้ำบางปะกงไปยังอ่างเก็บน้ำบางพระ ซึ่งทั้งสองโครงการจะสามารถผันน้ำมาเติมให้อ่างเก็บน้ำบางพระได้ปีละไม่ต่ำกว่า 70 ล้านลูกบาศก์เมตร
สำหรับการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในระยะเร่งด่วน ได้กำหนดแผนดำเนินการ โดยการวางท่อผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ไปยังอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล การวางท่อผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ไปลงอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ การศึกษาการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำดอกกรายและวางท่อผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำดอกกรายไปยังอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล การขุดลอกแม่น้ำระยอง(ท้ายฝายบ้านค่ายถึงปากแม่น้ำระยอง ซึ่งหากดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ส่วนแนวโน้มสถานการณ์น้ำในภาคตะวันออก นั้น กรมชลฯระบุว่า เนื่องจากขณะนี้จะเข้าสู่ช่วงฤดูฝนตกชุกมากที่สุด(ช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน) ทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำภาคตะวันออกมีแนวโน้มที่ดีขึ้น คาดว่าจะไม่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำในปี 2548...
นั่นเป็นแผนที่กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ในฐานะภาครัฐออกมา และยังมั่นใจว่า จะไม่เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำในปี 2548 ขณะที่คนอื่นมองในทางตรงข้าม
เกษตกรต้านหวั่นกระทบเกษตร
แต่ปรากฎว่า น้ำในส่วนที่ภาครัฐจะนำมาผ่องถ่ายให้ภาคอุตสาหกรรมได้ถูกต่อต้านจากเกษตรกร ซึ่งเกรงว่าจะทำให้ภาคเกษตรขาดแคลนน้ำได้ จึงได้ยื่นหนังสือประท้วงต้อครม.สัญจรที่ จ.จันทบุรี รวมทั้งก่อตัวต่อต้านการขุดวางท่อ การปิดกั้นน้ำของแม่น้ำระยองไม่ให้ลงสู่ทะเล ซึ่งหลายฝ่ายเกรงว่าจะทำให้น้ำทะเลหนุน เกิดปัญหาน้ำเค็มในแม่น้ำตามมา รวมทั้ง ชาวบ้านได้คัดค้านการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมของภาคตะวันออกโดยบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสวอเตอร์ ซึ่งเป็นผู้จัดการและได้คัดค้านการตั้งโรงสูบน้ำของอีสวอเตอร์ที่คลองน้ำหู ในเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด
เกิดเป็นสงครามย่อยๆระหว่างรัฐกับชาวบ้าน ภาคเกษตร ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมก็ยืนยันว่า หากรัฐไม่สามารถหาน้ำมาป้อนได้ จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมหยุดชะงักในปี 2549
สอดคล้องกับความเป็นห่วงของ ปราโมทย์ ไม้กลัด ซึ่งคำนวณจากปริมาณน้ำที่มีอยู่ในอ่างเก็บน้ำ รวมไปถึงปริมาณน้ำฝนที่ตกลง เขายืนยันว่า ปัญหาวิกฤตน้ำปีนี้จะไม่รุนแรงเท่าปี 2549 คือนับตั้งแต่ 1 มกราคม 2548 เป็นต้นไป เมื่อพ้นฤดูฝนไปแล้ว ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้งหนองปลาไหลและดอกกรายจะแห้งขอด ไม่มีน้ำให้ใช้
ในส่วนของแผนแก้ไขวิกฤตน้ำของภาครัฐในเรื่องการขุดบ่อบาดาล รวมไปถึงการนำฝนหลวงมาช่วยนั้น เขาให้ความเห็นว่า น้ำบาดาลมีปริมาณไม่มากพอที่จะนำไปใช้ภาคอุตสาหกรรมได้ ขณะที่ฝนหลวงก็ทำให้ฝนตกในแนวระนาบทั่วไป ไม่ได้ตกมากจนทำให้น้ำในอ่างเก็บน้ำมีปริมาณสูงขึ้น
“การเอาน้ำจากชาวบ้าน ไม่ควรจะต้องออกเป็นมติครม. แค่ไปพูดคุย ทำความเข้าใจกันให้ได้ ซึ่งเกษตรกรก็กลัวว่าจะทำให้ไม่มีน้ำใช้ในปี 2549 ซึ่งมันน่าห่วงกว่าปีนี้เสียอีก”
ตัวเลขใช้น้ำไม่ตรงกัน?
ในเว็บไซต์ของกรมชลประทานเอง รายงานถึงลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออกว่า มีพื้นที่ลุ่มน้ำ 13,829 ตร.กม. มีน้ำท่าเฉลี่ยรายปี 11,115 ล้าน ลบ.ม. สามารถแบ่งออกเป็น 12 ลุ่มน้ำย่อย ครอบคลุมจังหวัด ตราด ระยอง ส่วนใหญ่ของจังหวัดชลบุรี และบางส่วน ของจังหวัดจันทบุรี ในปัจจุบันมีโครงการขนาดใหญ่และ ขนาดกลางที่ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ 37 โครงการ ความจุในการเก็บกักน้ำรวม 538 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ได้รับประโยชน์รวม 25,921.0 ไร่ มีโครงการขนาดเล็กประมาณ 139 โครงการ รวมความจุ ในการเก็บกักน้ำ 26 ล้าน ลบ.ม.
“ในปัจจุบันมีการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร การอุปโภค-บริโภค การอุตสาหกรรมและเพื่อการท่องเที่ยวรวมกันประมาณปีละ 119 ล้าน ลบ.ม. โดยขาดแคลนน้ำมากที่สุดในลุ่มน้ำย่อยชลบุรี คลองใหญ่ และระยองตะวันตก”
เป็นที่น่าสังเกตว่าปริมาณน้ำที่ต้องการใช้ปี 119 ล้านลบ.ม.ตามรายงานของกรมชลฯกลับน้อยกว่า ปริมาณความต้องการใช้ของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งสภาอุตสาหกรรมออกมาบอกว่า ต้องใช้น้ำวันละ 500,000 ลบ.ม.เท่ากับว่า 1 ปีจะต้องใช้น้ำ 180 ล้านลบ.ม.
ส่วนมติครม.สัญจรที่จันทบุรีได้อนุมัติงบก้อนใหญ่ 4.8 หมื่นล้าน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาคอุตสาหกรรมของภาคตะวันออก พร้อมกับมีแผนว่าจ้างบริษัทจากออสเตรียทำโครงการผันน้ำจากกัมพูชา
ต้นตออีสวอเตอร์
แหล่งข่าวในสภาอุตฯกล่าวถึงปัญหาขาดแคลนน้ำในแถบตะวันออก เป็นเพราะการไม่สรรหาแหล่งน้ำใหม่เพิ่มขึ้น ทั้งที่ภาครัฐทราบดีว่าภาคอุตสาหกรรมกำลังขยายตัว อีกทั้งการจัดการบริหารน้ำที่ตกอยู่ในมือของ อีสต์วอเตอร์ ก็ไม่ได้ไปแสวงหาแหล่งน้ำใหม่ๆร่วมกับกรมชลประทาน ใช้แต่น้ำในอ่างหนองปลาไหลและดอกกรายเท่านั้น ทำให้เกิดปัญหาวิกฤตน้ำขั้นรุนแรงในวันนี้
“อีสต์วอเตอร์ เป็นคนเดียวที่ขายน้ำ โดยไม่มีรายอื่นทำให้ไม่มีการแข่งขัน ซึ่งรัฐบาลต้องแก้ไขด่วน ก่อนจะเกิดปัญหามากกว่านี้”แหล่งข่าวระบุ
ระวังโคราช-อีสานเจอหนักปี 49
ไม่เพียงแต่ปัญหาขาดแคลนน้ำในภาคตะวันออกเท่านั้น แต่ภาคอื่นๆ โดยเฉพาะอีสานก็มีความรุนแรงไม่แพ้กัน เพียงแต่เป็นข่าวน้อยกว่าเท่านั้น
ปราโมทย์ ไม้กลัด บอกว่า ปัญหาขาดแคลนน้ำนั้นได้เกิดขึ้นกับจ.นครราชสีมาและจังหวัดในแถบอีสานตอนบน เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนเหลือน้อยมาก
“ปี2549 อีสานจะเจอปัญหาขาดน้ำอย่างหนัก”เขาระบุ
ข้อมูลปริมาณน้ำในเขื่อนลำตะคอง ณ วันที่ 23 มีนาคม 2548 พบว่า ปัจจุบันเหลือเพียง 47 ล้านลบ.ม.จากเดิมที่สามารถจุน้ำได้ถึง 324 ล้านลบ.ม.โดยเขื่อนลำตะคองจะปล่อยน้ำปริมาณ 8 ล้านลบ.ม. ต่อวัน ครอบคลุมพื้นที่ส่งน้ำ 5 อำเภอในจังหวัดนครราชสีมา ได้แก่ อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.ขามทะเลสอ และ อ.เมือง
ขณะที่ข้อมูลสถิติย้อนหลัง 10 ปี จากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตรระบุว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนลำตะคองเริ่มลดลงมาตั้งแต่ปี 2538 เหลือน้ำเพียง 115 ล้านลบ.ม และเพิ่มขึ้นสูงถึง 325 ล้านลบ.ม ในปี 2546 หลังจากนั้นเป็นต้นมาปริมาณน้ำก็เริ่มลดลงมาเรื่อยๆ จนถึงระดับ 60 ล้านลบ.ม.ในต้นปี 2548 อันมาจากภาวะแห้งแล้งสะสมตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา
ไม่เพียงเท่านั้น น้ำในเขื่อนลำพระเพลิง ปี 2547 มีปริมาณ 75 ล้านลบ.ม.แต่วันที่ 1 ม.ค.48เหลือเพียง 2.49 ล้านลบ.ม. เขื่อนลำนารองปี 2547 มี 41 ล้านลบ.ม.แต่วันที่ 1 ม.ค.48 มีเพียง 3.45 ล้านลบ.ม. เป็นต้น
จึงคาดกันว่า สถานการณ์น้ำของประเทศในปี 2549 จะน่าเป็นห่วงยิ่งกว่าปีนี้เสียอีก
*************
การนิคมฯแนะบริษัทเอกชน
ตั้งเครื่องดึงน้ำทะเลผลิตน้ำจืดแทน
นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดดิ้นแก้วิกฤติน้ำ เสนอบริษัทเอกชนในเขตนิคม ใช้น้ำทะเลมาผลิตเป็นน้ำประปา เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมแทนแหล่งน้ำเดิม ระบุลงทุนเพียง 55 ล้านบาทต่อกำลังการผลิต 500 ลบ.ต่อวัน
แนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำภาคตะวันออกในขณะนี้ของรัฐบาลนั้น จะเน้นไปที่การขุดบ่อบาดาลและการวางท่อส่งน้ำเพื่อเข้ามาใช้ในโครงการจำนวนมาก รวมไปถึงความเชื่อมั่นว่าระดับน้ำในเขื่อนจะมีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการ อย่างไรก็ดี ในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ก็ได้ศึกษาแนวทางเร่งด่วนไว้แล้ว และเตรียมเสนอให้บริษัทเอกชนในเขตมาบตาพุด นำมาใช้ก็คือ การนำน้ำทะเลมาแปลงเป็นน้ำจืดเพื่อใช้ในกิจการแทน
ทั้งนี้เพราะได้มีหน่วยงานหลายแห่งประสบความสำเร็จในการนำน้ำทะเลมาผลิตเป็นน้ำจืด คือเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี เกาะสมุย และเกาะล้าน เป็นต้น
สำหรับกรรมวิธีการดังกล่าวใช้หลักการกรองโดยการสูบน้ำทะเลผ่านเข้าเครื่องกรองน้ำทะเลที่สามารถแยกเกลือออกจากน้ำ โดยใช้เครื่องสูบน้ำแรงดันสูงเพื่อดันน้ำบริสุทธิ์ให้ผ่านเยื่อเมมเบรนโดยอนุภาค เกลือจะไม่สามารถผ่านทะลุเยื่อเมมเบรนไปได้ น้ำที่ผ่านเยื่อเมมเบรน จึงมีความบริสุทธิ์มาก
ส่วนการผลิตจะเริ่มต้นจากการสูบน้ำเค็มจากน้ำทะเลขึ้นมาเข้าระบบ R.o (ระบบรีเวอร์ส ออสโมซีส) โดยปริมาณน้ำทะเลที่สูบขึ้นมา 100 % จะผลิตน้ำจืดได้ 30 % สำหรับน้ำทะเลส่วนที่เหลือจากการกรอง 70%จะปล่อยลงกลับสู่ทะเล
ลักษณะการทำงานของระบบกรองน้ำทะเลเป็นน้ำประปาแบบรีเวอร์ส ออสโมซีส จะมีกระบวนการทำงานคือ ถังกรองทราย เครื่องกรองตะกอน แบบถุงกรอง เครื่องสูบน้ำความดันสูง เยื่อเมมเบรน และระบบจ่ายสารคลอรีน
สำหรับกำลังการผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเลนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้โดยแหล่งผลิตแห่งแรกที่เกาะสีชัง มีกำลังการผลิต 500 ลบ.ต่อวันมีงบประมาณการลงทุนขั้นแรก 55 ล้านบาท หรือตกประมาณคิวละ70 บาท ขณะที่น้ำประปาหรือน้ำบาดาลคิวละ15-20 บาท หากบริษัทเอกชนต้องการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้เพื่อกิจการก็สามารถดำเนินการได้ทันที
ทางด้าน ศ.ดร.ปริญญา นุตาลัย กรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติบอกว่า การนำเอาเทคโนโลยีการผลิตน้ำทะเลเป็นน้ำจืดมาใช้ในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นเกาะที่ไม่มีแหล่งน้ำจืดซึ่งสาเหตุเกิดจากการขยายตัวทางด้านการท่องเที่ยว แต่ในอนาคตหากไม่มีการจัดการบริหารต้นทุนน้ำให้เป็นระบบแล้วภาคอุตสาหกรรมอาจจะต้องพึ่งพาเทคโนโลยีนี้อย่างแน่นอน
“บริษัทไทยออยส์ เป็นเอกชนรายแรกที่ยอมลงทุนนำเทคโนโลยีนี้ในอนาคตเชื่อว่าจะมีบริษัทเอกชนหลายรายต้องนำเทคโนโลยีนี้มาใช้แน่”เขาระบุ
***********
ปตท.ตั้งวอร์รูมแก้วิกฤตน้ำ
ไล่ซื้อที่ขุด“ตาน้ำ”วางท่อเข้าโครงการ
วิกฤติการน้ำภาคตะวันออกระอุ บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ดิ้นแก้ปัญหาตัวเอง กลุ่มปตท.ตั้งวอร์รูมติดตามการเคลื่อนไหวระดับน้ำใกล้ชิด ไล่ซื้อที่ดินที่คาดว่ามี “ตาน้ำ” ขุดเจาะวางท่อส่งน้ำเข้าโครงการ เบื้องต้นใช้รถน้ำมัน เรือน้ำมัน วิ่งซื้อน้ำและขนน้ำไว้ใช้ใอุตสาหกรรม ส่วนนิคมมาบตาพุดผุดแผนระยะยาวแก้วิกฤติน้ำแล้ว
ปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาคตะวันออกโดยเฉพาะเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดถือเป็นปัญหาใหญ่ที่มีผลจากการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องของภาคอุตสาหกรรมโดยแท้ แม้วันนี้รัฐบาลจะประกาศมาตรการให้ความช่วยเหลือออกมาอย่างต่อเนื่องแต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ภาคเอกชนเบาใจ บริษัทเอกชนหลายแห่ง ได้เตรียมการหาแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้แล้วเช่นกัน
แหล่งข่าวจากบริษัทการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย(ปตท) ซึ่งมีบริษัทและบริษัทในเครือตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ยอมรับว่า ขณะนี้บริษัทเอกชนที่อยู่ในนิคมฯต่างมีความตื่นตัวและเตรียมรับมือกับภาวะการขาดแคลนน้ำไว้แล้ว แม้ปัจจุบันจะมีปัญหาขาดแคลนน้ำ แต่คาดว่าจะรุนแรงที่สุดในราวเดือนมกราคม 2549 เพราะป็นช่วงที่เข้าสู่ภาวะหน้าแล้ง หากฝนในปีนี้มีปริมาณที่ไม่เพียงพอกับความจุของอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลและดอกกลาย
“ กลุ่ม ปตท.ของเรามีธุรกิจเป็นแสนล้าน หากรอแผนรัฐบาลธุรกิจของกลุ่มปตท.ต้องเสียหายมาก ตอนนี้เราได้จัดตั้ง “วอร์รูม” เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของน้ำทั้งในส่วนของอ่างเก็บน้ำ ปริมาณน้ำฝนและการดำเนินการแก้ไขของทางรัฐบาลตลอดเวลาซึ่งรายงานสถานการณ์ปัจจุบันพบว่าขณะนี้มีปริมาณน้ำที่ยังติดลบอยู่ถึง 300,000 คิว”
อย่างไรก็ดี บริษัทเอ็นพีซี ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มปตท. ได้เตรียมการแล้วเช่นกัน ล่าสุดได้ใช้งบกว่า 100 ล้านบาทกว้านซื้อที่ดินที่คาดว่าจะมี “ตาน้ำ”เพื่อขุดเจาะและวางท่อดึงน้ำมาใช้ ภายในโครงการ ปัจจุบันเอ็นพีซีต้องใช้น้ำอย่างน้อยวันละ 20,000 คิว โดยเบื้องต้นที่ยังไม่สามารถวางท่อส่งน้ำใหม่ได้นั้น บริษัทในกลุ่มปตท.แก้ปัญหาโดยการวิ่งซื้อน้ำ จากแหล่งต่าง ๆ แล้วขนใส่รถบรรทุกน้ำมันและเรือบรรทุกน้ำมัน ลำเลียงเข้ามาใช้เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนไปก่อน จนกว่าระบบท่อส่งน้ำใหม่จะแล้วเสร็จ
“ตอนนี้ไม่ใช่แต่ปตท.ที่ไล่ซื้อที่ดินที่มีตาน้ำ บริษัทใหญ่ที่อยู่ย่านมาบตาพุดและพื้นที่ระยองที่สามารถช่วยตัวเองได้ก็ใช้วิธีซื้อที่ดินเพื่อขุดน้ำบาดาลและวางท่อส่งน้ำกันเอง เพราะเราเชื่อว่าน้ำจะขาดแคลนและรุนแรงมากในต้นปีหน้า”
แหล่งข่าว ระบุว่า แนวทางแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำนั้นและจะได้ผลดีที่สุดในขณะนี้คือ จะต้องหยุดดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังน้ำชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์น้ำจะดีขึ้น แต่เชื่อว่าแนวทางนี้ทางรัฐบาลคงไม่ยอมแน่ เพราะต้องหันมาใช้น้ำมันเตาเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นและค่า ผันแปร (FT) เพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะต้นทุนในการดำเนินธุรกิจก็จะสูงตามไปด้วย
พีรวัฒน์ รุ่งเรืองศรี ผู้อำนวยการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด บอกว่า ขณะนี้ทางนิคมได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจึงได้วางมาตรการการใช้น้ำเป็นสองระยะคือ ระยะสั้นได้ขอความร่วมมือกับบริษัทเอกชนทุกแห่งให้ร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดโดยมีการนำน้ำที่ใช้มารีไซเคิลใหม่ซึ่งบริษัทเอกชนเหล่านี้ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาวทางการนิคมฯได้เสนอปัญหาไปยังรัฐบาลให้รับทราบซึ่งรัฐบาลได้มีการแก้ไขปัญหาแล้วคือการให้บริษัทอีสวอเตอร์ต่อท่อเพื่อดึงน้ำจากแหล่งอื่นมาช่วยพร้อมกับการเร่งเจาะน้ำบาดาลเข้ามาเสริมด้วย
“ผมไม่อยากให้เกิดความกังวลเพราะตอนนี้รัฐบาลเองลงมาช่วยเต็มที่ แม้ในอนาคตอุตสาหกรรมจะเติบโตขึ้นเราจึงต้องวางแผนการใช้น้ำใหม่ โดยแผนที่วางไว้ประกอบด้วยแผนระยะสั้นคือการเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำก่อนนั่นคือการให้น้ำกลับมาสู่ภาวะปกติซึ่งจะต้องรอฝนตก ส่วนระยะยาวคือการดึงน้ำจากแหล่งอื่นมาใช้ เช่นปัจจุบันนี้จังหวัดชลบุรีจะใช้น้ำจากจังหวัดระยองแต่แผนนี้จะให้ชลบุรีไปใช้น้ำของอ่างเก็บน้ำบางพระ”
พีรวัฒน์ ระบุว่า เชื่อมั่นสถานการณ์ต่างๆจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นโดยเฉพาะการเข้ามาขุดเจาะน้ำบาดาลนั้นจะช่วยลดปริมาณการใช้น้ำในอ่างเก็บน้ำได้มากซึ่งจากการคาดการณ์ในปีหน้าเราเชื่อว่านิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดจะมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|