ญี่ปุ่นอาศัยFTAคุมตลาดรถยนต์อาเซียน


ผู้จัดการรายสัปดาห์(30 มิถุนายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

หลายปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นดิ้นรนอย่างหนักเพื่อทำข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับบรรดาประเทศย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมุ่งจะให้บริษัทผู้ผลิครถยนต์ญี่ปุ่นสามารถส่งสินค้าปลอดภาษีไปเสนอขายแก่ผู้บริโภคกว่า 530 ล้านรายในภูมิภาคนี้ ความสำเร็จตรงนี้หมายถึงตลาดสำคัญที่จะช่วยทดแทนตลาดอันเหือดแห้งในเหล่าประเทศพัฒนาแล้ว

ตอนนี้ การรุกเชิงการทูตของญี่ปุ่นเริ่มมีความสำเร็จสำคัญๆให้เห็นแล้ว พร้อมกับส่งสัญญาณเป็นภัยคุกคามต่อผู้ผลิตรถยนต์ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหลากหลายชาติที่หว่านเม็ดเงินลงทุนมากมายไว้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยหวังว่าพวกนักการเมืองใน 10 ประเทศย่านนี้จะผลักดันให้เกิดเขตการค้าเสรี แล้วการลงทุนทั้งหลายก็จะได้รับผลพวงตอบแทน

อย่างไรก็ตาม การลุ้นทำนองดังกล่าวกลับไม่บังเกิดผลสมปรารถนา อาทิ ในกรณีของค่ายรถฟอร์ด มอเตอร์ที่ฟิลิปปินส์

ฟอร์ดเคยเป็นหนึ่งในผู้ส่งรถยนต์เข้าสู่ฟิลิปปินส์โดยเสียภาษีรุนแรง แต่ภายหลังมา ยอมทุ่มทุนกว่า 250 ล้านดอลลาร์ สร้างโรงงานในฟิลิปปินส์ และสามารถผลิตรถยนต์ป้อนตลาดแบบไม่แบกภาระค่าภาษีศุลกากร

ด้วยเหตุนี้ฟอร์ดจึงไม่พอใจเลยเมื่อได้เห็นญี่ปุ่นวิ่งเต้นพยายามอย่างหนักที่จะบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีกับฟิลิปปินส์ในปลายปีที่แล้ว เพราะถ้าญี่ปุ่นได้ตรงนี้ รถยนต์สำเร็จรูปตลอดจนอะไหล่จากญี่ปุ่นจะไม่ต้องเสียภาษี และสามารถตีตลาดฟิลิปปินส์ด้วยต้นทุนที่ถูกลงมาก ดีกรีความไม่พอใจดังกล่าวรุนแรงถึงระดับที่ว่า ฟอร์ดออกปากเตือนประธานาธิบดีสาวสวยแห่งฟิลิปปินส์ว่า ถ้าญี่ปุ่นได้ข้อตกลงค้าเสรีกับฟิลิปปินส์ ชาติอื่นๆ ที่ไม่ใช่ญี่ปุ่นอาจถึงกับไม่ยอมมาลงทุนในฟิลิปปินส์กันอีกเลย

กระนั้นก็ตาม ญี่ปุ่นมีโอกาสสูงมากที่จะสมปอง เพราะการผลักดันดังกล่าวซึ่งจะเอื้อประโยชน์มหาศาลแก่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น อิงอยู่บนการแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจมาก กล่าวคือ พยาบาลชาวฟิลิปปินส์จะได้ไฟเขียวจากทางการญี่ปุ่นให้เข้าไปทำงานอย่างสะดวกในญีปุ่น บนข้ออ้างว่าญี่ปุ่นกำลังก้าวเข้าสู่สังคมที่อุดมด้วยผู้สูงอายุ จึงจำเป็นต้องนำเข้านางพยาบาลจำนวนมากไปตอบสนองอุปสงค์ตรงนี้

ทั้งนี้ข่าวบอกว่าการลงนามการค้าเสรีทวิภาคีระหว่างสองชาตินี้จะอุบัติขึ้นในกลางเดือนกันยายน ในระหว่างการเยือนญี่ปุ่นโดยท่านประธานาธิบดีกลอเรีย อาร์โรโย

ความสำเร็จของญี่ปุ่นกินนัยกว้างขวางกว่าแค่บริบทแห่งการสยายปีกในตลาดยานยนต์ หากยังเป็นการเน้นย้ำถึงความพยายามที่ญี่ปุ่นจะต้านทานจีน ซึ่งแสดงความทะเยอทะยานทางเศรษฐกิจอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างโจ่งแจ้ง นอกจากนั้น ยังเป็นบททดสอบความผิดพลาดของพวกบริษัทผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติอื่นทั้งหลายที่แห่มาลงทุนไว้มากมาย เพราะหลงเชื่อสัญญาลมปากของนักการเมืองว่าจะสร้างเขตการค้าเสรีของภูมิภาค ทั้งๆ ที่เรื่องใหญ่ๆ อย่างนี้อาจะเป็นสิ่งที่เกินความสามารถของนักการเมือง

นับจากปี 1997 เป็นต้นมา ค่ายรถยนต์ชื่อดังระดับโลกจากสหรัฐฯและยุโรปแห่กันมาทุ่มเม็ดเงินลงทุนหลายร้อยล้านดอลลาร์ ภายในบรรยากาศฝันหวานว่าชาติสมาชิกอาเซียนสัญญาจะสร้างให้ภูมิภาคนี้เป็นเขตการค้าเสรีปลอดภาษีศุลกากร ในช่วงนั้น สินค้ารถยนต์จากประเทศสมาชิกอาเซียนหนึ่งๆ ที่ส่งเข้าตลาดของอีกชาติสมาชิกหนึ่ง ต้องเสียภาษีกันเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ ขณะที่เสียงเชียร์การลงทุนต่างชาติให้สัญญาว่าภายในปี 2005 ภาษีรถยนต์และอะไหล่จะลดลงเหลือเพียง 5% หากเป็นสินค้าที่ผลิตโดยใช้ส่วนประกอบที่ผลิตในประเทศอาเซียนไม่น้อยกว่า 40%

แรงเชียร์มาพร้อมกับเสียงโฆษณาประมาณว่า มาลงทุนด่วน ยึดครองฐานก่อนที่เขตการค้าเสรีจะเปิดฉากทะยานตัว

ดังนั้น เหล่าบริษัทรถยนต์จากยุโรปซึ่งครองตลาดรถหรูในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาแต่เก่าก่อนอย่าง เดมเลอร์ไครสเลอร์เจ้าของแบรนด์ เมอร์ซิเดซ เบนซ์, บีเอ็มดับเบิลยู, วอลโว, เปอร์โยต์ และโฟล์กสวาเกน ล้วนแต่ยอมลงทุนมหาศาล สร้างโรงงานในไทย เพื่อเดินตามกติกา คือขอเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตในกรอบ"โลคอล คอนเทนต์ 40%" เพื่อรับผลประโยชน์จากการส่งรถยนต์และอะไหล่จากไทยไปสู่ประเทศอาเซียนอื่นๆ แบบที่จ่ายภาษีแค่ 5%

แล้วปัญหาก็อุบัติตามมา เมื่อตลาดของอาเซียนมิได้พัฒนารวดเร็วมากมายดั่งคำโฆษณา และประเทศเสาหลักอาเซียนก็ไม่รีบร้อนจะเดินหน้า อาทิ มาเลเซียมาบอกกันตอนนี้ว่า จะต้องรอไปจนถึงปี 2008 กว่าที่มาเลเซียจะสามารถลดอัตราภาษีได้ เพราะมาเลเซียต้องปกป้องอุตสาหกรรมรถยนต์ของประเทศให้เข้มแข็งก่อน

เมื่อชาติเหล่านี้ไม่รักษาคำพูด ญี่ปุ่นจัดแจงตัดช่องน้อยพอดีตัว เบียดแทรกเข้าแสวงประโยชน์จากความเหลื่อมตรงนี้ ด้วยแนวคิดการเปิดเสรีทวิภาคี คว้าความได้เปรียบไปจากการเปิดเสรีแบบยกแผงเต็มกระดานในคราวเดียว

ญี่ปุ่นเริ่มเปิดการเจรจาค้าเสรีทวิภาคีกับสิงคโปร์เป็นเจ้าแรกเมื่อปี 2002 แล้วต่อด้วยไทยกับมาเลเซีย หากญี่ปุ่นบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีกับไทย ค่ายรถยนต์ อาทิ โตโยต้า มอเตอร์ส จะสามารถเข็นรถรุ่นแพงอย่าง เลกซัส เข้าเบียดเอาชนะรถยุโรปได้อย่างฉลุย เพราะการปลอดต้นทุนภาษีจะทำให้ราคาขายเลกซัสถูกลงมา 50% จากระดับ 5 ล้านกว่าบาทในปัจจุบัน เหลือแค่ 2.5 ล้านบาท สถานการณ์อย่างนี้ เลกซัสตีเบนซ์และบีเอ็มดับเบิลยูกระจุยตกขอบสนามแข่งขันได้แน่นอน

ความเป็นไปได้ที่ญี่ปุ่นจะเปิดค้าเสรีกับไทยในขณะนี้ติดค้างในประเด็นสำคัญอย่างเรื่องเปิดตลาดสินค้าเกษตร ขณะที่กรณีของมาเลซียมีความก้าวหน้าเรื่องนี้มากกว่า เพราะพัฒนาการของรถยนต์แห่งชาติที่มาเลเซียต้องพึ่งพิงอย่างมากอยู่กับค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นคือไดฮัตสุ และมิตซูบิชิ

ขณะที่ญี่ปุ่นถูกพันธมิตรสหรัฐฯและยุโรปโวยว่ายุทธศาสตร์การทูตมุขนี้ นับว่าเล่นแรงเกินไป ซึ่งอาจเป็นการเปิดช่องให้ญี่ปุ่นถูกชาติพันธมิตรเล่นงานโต้ตอบด้วยประเด็นอื่น ญี่ปุ่นก็มีข้ออ้างที่พอจะเอาตัวรอดได้ ด้วยการอ้างว่าการดิ้นรนของตนเป็นการตอบโต้กับการรุกคืบของจีนในอาเซียนอันเป็นพื้นที่ที่ญี่ปุ่นถือเป็นเขตยึดครองทางเศรษฐกิจเก่าแก่ของตน ทั้งนี้ จีนบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีกับอาเซียนเรียบร้อยแล้ว

ไม่ว่าจะถูกโต้ตอบจากชาติพันธมิตรหรือไม่ ยุทธศาสตร์การค้าของญี่ปุ่นว่าด้วยการเปิดเสรีการค้าทวิภาคีต้องเดินหน้า ไม่มีถอยอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่องทางที่มองเห็นได้ว่า ความสัมพันธ์การค้าแบบเสรีนี้ จะเป็นสะพานเชื่อมไปสู่ตลาดข้างเคียงได้อีกมาก อาทิ ตลาดอินเดีย ซึ่งไทยกับอินเดียโอเคกันแล้วในเรื่องหั่นภาษีนำเข้าลงครึ่งหนึ่งสำหรับสินค้าอะไหล่และชิ้นส่วนรถยนต์ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2004 โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ"เอิร์ลลี่ ฮาร์เวิสต์"

กระนั้นก็ตาม แผนการอันแยบยลของญี่ปุ่นใช่ว่าใครเขาจะมองไม่ทะลุ แรงต่อต้านจากผู้ผลิตรถยนต์ในอินเดียแสดงฤทธิ์เดชกันแล้ว

เวทีการแข่งขันในตลาดรถยนต์อาเซียนนับวันแต่จะคุกรุ่นสาหัสด้วยตัวแสดงมากมายที่ถูกโยงเข้าสู่ความขัดแย้งเชิงผลประโยชน์ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ เรื่องนี้ไม่จบโดยรวดเร็วและแฮปปี้เอนดิ้งแน่นอน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.