บริษัทแดนมังกรยื่นเสนอซื้อยูโนแคล การก้าวคืบของวิสาหกิจจีนบนเวทีโลก


ผู้จัดการรายสัปดาห์(30 มิถุนายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ไชน่า เนชั่นแนล ออฟชอร์ ออยล์ คอร์ปอเรชั่น (ซีนูก) บริษัทน้ำมันใหญ่ที่เป็นรัฐวิสาหกิจของจีน ยื่นข้อเสนอมูลค่า 18,500 ล้านดอลลาร์เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ขอซื้อกิจการ ยูโนแคล คอร์ป บริษัทพลังงานอเมริกันซึ่งมีผลประโยชน์จำนวนมากอยู่ในแถบเอเชีย รวมทั้งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย

มองในแง่ธุรกิจ การเสนอเทคโอเวอร์คราวนี้ (ซึ่งมูลค่าจริงๆ น่าจะเป็น 20,600 ล้านดอลลาร์ด้วยซ้ำ เพราะต้องบวกหนี้สินของยูโนแคล และค่าใช้จ่ายในการสะสางควบรวม) เป็นการให้ราคาสูงกว่าข้อเสนอซื้อของเชฟรอน คอร์ป บริษัทน้ำมันใหญ่อันดับ 2 ของอเมริกา ซึ่งคณะกรรมการบริหารบริษัทยูโนแคลยอมรับไปก่อนหน้านั้น เพียงแต่รอขั้นตอนการออกเสียงอนุมัติของผู้ถือหุ้น โดยเชฟรอนเสนอในรูปจ่ายเป็นเงินสดและหุ้น(ของเชฟรอน)ผสมกัน ที่ตีราคายูโนแคลเอาไว้ที่ 18,000 ล้านดอลลาร์

บริษัทของฝ่ายจีนยังเพิ่มความสดใสให้แก่ออฟเฟอร์ของตน ด้วยการให้สัญญาที่จะรักษาตำแหน่งงานของพนักงานยูโนแคลซึ่งอยู่ในสหรัฐฯเอาไว้ ตลอดจนจะยังคงขายผลิตภัณฑ์ของยูโนแคลที่จำหน่ายอยู่ในอเมริกาต่อไป

มองในแง่ของจีน การที่แดนมังกรต้องการครอบครองยูโนแคล ก็เพราะมันสามารถตอบสนองพลังที่กำลังขับดันให้จีนออกเสาะแสวงหาทรัพย์สินต่างชาติอยู่ในเวลานี้ถึง 2 พลังพร้อมๆ กัน นั่นคือ ความกระหายที่จะได้วัตถุดิบมาป้อนและประคับประคองเศรษฐกิจซึ่งกำลังฟูเฟื่อง และความปรารถนาที่จะได้แบรนด์ของโลกตะวันตกมาช่วยทำตลาดสินค้าส่งออกของจีน

ในเรื่องแรงขับดันเสาะหาทรัพยากรธรรมชาติ การซื้อยูโนแคลจะทำให้ซีนูกมีน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสำรองแหล่งใหม่ๆ ขึ้นมาทันที แถมจำนวนมากอยู่ในเอเชีย ในเวลาที่ราคาพลังงานกำลังพุ่งสูง และเศรษฐกิจจีนก็กำลังกระหายจัด

นอกจากนั้น ปีที่แล้ว ป่าวสตีล ผู้ผลิตเหล็กกล้าชั้นนำของจีน ก็ไปทำข้อตกลงร่วมทุนในออสเตรเลียและบราซิล เพื่อเป็นหลักประกันด้านซัปพลายสินแร่เหล็ก เปโตรไชน่า กับซิโนเปก 2 รัฐวิสาหกิจด้านน้ำมันใหญ่ที่สุด ก็ออกไปช็อปปิ้งต่างแดนเช่นกัน

แต่ใช่ว่าการแสวงหาสินค้าโภคภัณฑ์เช่นนี้จะประสบความสำเร็จเสมอไป อาทิ ปีที่แล้ว ไชน่า มินเมทัลส์ กิจการด้านโลหะพื้นฐานซึ่งใหญ่ที่สุดของแดนมังกร พยายามเข้าเทคโอเวอร์ นอแรนดา ผู้ผลิตสินแร่สัญชาติแคนาดาด้วยราคา 7,000 ล้านดอลลาร์ ทว่าประสบความล้มเหลว

ความหวั่นวิตกว่าไชน่า มินเมทัลส์ ยังจะพยายามต่อไป มีส่วนสำคัญมากทีเดียวในการกระตุ้นให้รัฐบาลแคนาดาเสนอร่างกฎหมายในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีเนื้อหามุ่งสกัดไม่ให้ต่างชาติเทคโอเวอร์บริษัทบางประเภท ซึ่งอาจกระทบกระเทือนความมั่นคงปลอดภัยแห่งชาติ

นอกจากการมุ่งหาทรัพยากรธรรมชาติอันจำเป็นต่อการทำให้ผลผลิตยังเฟื่องฟูต่อไปแล้ว บริษัทจีนยังกำลังถูกกระตุ้นด้วยแรงขับดันที่จะเสาะแสวงแบรนด์ซึ่งอาจประสบปัญหาหนักในเวลานี้ทว่าเป็นที่รู้จักมักคุ้นในระดับโลก

สาเหตุก็เพราะแม้ปัจจุบัน บริษัทจีนกำลังได้เปรียบในเรื่องต้นทุน เนื่องจากสามารถหาแรงงานมากมายได้ในราคาถูก แต่ยังคงมีปัญหาเรื่องภาพลักษณ์ พวกผู้บริโภคต่างชาติยังคงมองสินค้าจีนว่าราคาถูกถึงใจทว่าไม่ค่อยมีคุณภาพ ในขณะที่เหล่าบริษัทจีนขยับตัวขึ้นมาตาม "สายห่วงโซ่มูลค่า" พวกเขาจึงต้องการซื้อหาแบรนด์ต่างประเทศซึ่งพวกเขาสามารถนำเอาผลิตภัณฑ์ซึ่งน่าจะมีอนาคตดีของพวกเขาไปผูกไว้ด้วย

ปลายปีที่แล้ว เลโนโว บริษัทผู้ผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์พีซีชั้นนำของจีน ซึ่งมีสายสัมพันธ์กับรัฐบาล เพราะเจ้าของคือบัณฑิตยสถานทางวิทยาศาสตร์ของจีน ได้เข้าซื้อธุรกิจพีซีจากยักษ์ใหญ่ไอบีเอ็มในราคา 1,750 ล้านดอลลาร์ ดีลรายนี้มีเงื่อนไขว่า เลโนโวยังได้สิทธิใช้ชื่อไอบีเอ็มติดบนเครื่องคอมพิวเตอร์ของตนไปอีก 5 ปี

เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ไฮเออร์ ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นนำของจีน ก็จับมือกับบริษัทลงทุนแบบ ซื้อมา-ปรับปรุงกิจการ-ขายไป ของอเมริกันอีก 2 แห่ง เสนอซื้อบริษัทเมย์แท็ก ด้วยราคา 1,300 ล้านดอลลาร์ เพื่อเพิ่มความสามารถในการขยับขยายกิจการสู่ดินแดนอื่นนอกเหนือจากจีน ซึ่งไฮเออร์ครองส่วนแบ่งตลาดผลิตภัณฑ์บางประเภทเอาไว้ถึง 70% อยู่แล้ว ถึงแม้คณะกรรมการบริหารบริษัทเมย์แท็ก ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องดูดฝุ่นชื่อดังแบรนด์ฮูเวอร์ จะได้ตกลงรับข้อเสนอซื้อมูลค่า 1,100 ล้านดอลลาร์จากบริษัทภายในสหรัฐฯแห่งหนึ่งเอาไว้ก่อนแล้ว

ตอนต้นปี 2004 บริษัททีซีแอลของจีน ก็เข้าซื้อธุรกิจด้านผลิตโทรทัศน์ของยักษ์ใหญ่ธอมสันแห่งฝรั่งเศส ทำให้ทีซีแอลกลายเป็นผู้ผลิตเครื่องรับทีวีชั้นนำของโลกเมื่อดูจากปริมาณการผลิต

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การซื้อแบรนด์ชื่อก้องอยู่แล้วย่อมเป็นการรวดเร็วกว่า และหลายๆ กรณีก็อาจจะถูกกว่าการสร้างแบรนด์ใหม่ขึ้นมา แต่ใช่ว่าฝ่ายจีนพร้อมที่จะทุ่มเทเงินทองให้แก่แบรนด์ดังทุกยี่ห้อ ซั่งไห่ ออโตโมทีฟ อินดัสทรี คอร์ป (ซาอิก) ซึ่งปีที่แล้วเพิ่งเสนอราคาเหนือกว่าคู่แข่งชาวโสมขาว ในการซื้อซังยอง ผู้ผลิตรถอันดับ 4 ของเกาหลีใต้ เมื่อเร็วๆ มานี้กลับล่าถอยยกเลิกดีลที่จะเข้าซื้อ เอ็มจี โรเวอร์ บริษัทรถยนต์อังกฤษซึ่งตอนนั้นใกล้จะล้มละลาย และพอฝ่ายแดนมังกรถอนตัวก็เลยเจ๊งไปจริงๆ

อันที่จริง ซาอิกดูจะซื้อหาทรัพย์สินทางปัญญาจำนวนมากที่ตัวเองต้องการจากโรเวอร์ไปเสร็จสรรพแล้ว และไม่ต้องการจ่ายเงินทองมากมายต่อไปอีกเพื่อรักษาบริษัทเอาไว้ ในกรณีนี้จึงถือได้ว่า ฝ่ายจีนเก่งกาจพอที่จะเจาะเข้าไปซื้อเทคโนโลยีอันมีประโยชน์ แม้ในเวลาที่เสาะหาสิทธิในแบรนด์ของโลกตะวันตก

ฝ่ายตะวันตกโจมตีว่า การที่รัฐบาลจีนพยายามเอาอกเอาใจรัฐวิสาหกิจของตน ก็เป็นพลังขับดันอีกอย่างหนึ่งซึ่งทำให้เกิดกระแสกิจการแดนมังกรขยายตัวสู่ต่างประเทศในเวลานี้

พวกเขาบอกว่าขณะที่เจ้าหน้าที่จีนต้องการให้เศรษฐกิจในประเทศพัฒนาสู่ระบบตลาด ก็มีความหวั่นเกรงด้วยว่ารัฐวิสาหกิจใหญ่นับร้อยๆ แห่ง ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่สมัยการวางแผนจากส่วนกลาง และเต็มไปด้วยความอุ้ยอ้ายไร้ประสิทธิภาพ จะล้มครืนและส่งผลกระทบตามมามากมาย ดังนั้น รัฐบาลแดนมังกรจึงพยายามอัดฉีดวิสาหกิจของพวกเขาด้วยเงินกู้ดอกเบี้ยถูก และความได้เปรียบอื่นๆ ซึ่งส่งผลให้กิจการเหล่านี้เกิดภาวะศักยภาพการผลิตล้นเกิน ตลอดจนอุ้มชูกิจการเหล่านี้ในการแข่งขันที่ไม่มีความเป็นธรรม แล้วสภาพเช่นนี้ก็กลายเป็นตัวผลักดันให้รัฐวิสาหกิจซึ่งประสบความสำเร็จจากวิธีดังกล่าว รวมทั้งกิจการเอกชนทำนองเดียวกันแบบไฮเออร์ ต้องเร่งมองหาลู่ทางโอกาสในต่างแดน

ข้อโจมตีเรื่องความผูกพันอุปถัมภ์กันอย่างใกล้ชิดระหว่างรัฐวิสาหกิจที่บุกต่างแดนกับรัฐบาลจีน ดูเหมือนกำลังจะถูกนำมาใช้เพื่อขัดขวางการเทคโอเวอร์ยูโนแคลของซีนูก

ภายหลังซีนูกประกาศข้อเสนอของฝ่ายตน เชฟรอนซึ่งจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในการแข่งขัน หากยูโนแคลเห็นแก่เงินทองที่จะได้มากกว่า ก็ออกคำแถลงซึ่งมุ่งชี้ว่า เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่รัฐมีบทบาทแข็งขันยิ่งในเรื่องเศรษฐกิจ ดังนั้นธุรกรรมคราวนี้จึงควรที่จะมองให้แตกต่างไปจากการลงทุนทางการตลาดในสหรัฐฯรายอื่นๆ

"สิ่งที่เรากำลังเล่นกันอยู่นี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับภูมิรัฐศาสตร์ ไม่ใช่ธุรกิจการพาณิชย์ธรรมดา" ปีเตอร์ รอเบิร์ตสัน รองประธานเชฟรอนกล่าวในการให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล

ตามรายงานข่าวของวอลล์สตรีทเจอร์นัลนั้น อันที่จริงเชฟรอนเองก็มีโรงงานเคมีภัณฑ์แห่งหนึ่งตั้งอยู่ในจีน อีกทั้งยังพูดถึงตัวเองว่าเป็น "ผู้เล่นชั้นนำรายหนึ่ง" ในการสำรวจขุดเจาะน้ำมันในเขตอ่าวป๋อไห่ของแดนมังกร แถมซีนูกนี่แหละคือหุ้นส่วนในจีนของเชฟรอน ถึงแม้การผลิตในจีนยังถือเป็นสัดส่วนที่เล็กน้อยมากในผลผลิตโดยรวมทั่วโลกของยักษ์ใหญ่น้ำมันอันดับ 2 ของอเมริกันรายนี้ก็ตาม


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.