|
มาเลเซียเร่งผงาดเป็นศูนย์'ฮาลาล'โลก หนีคู่แข่งชิงตลาดมุสลิมมูลค่า$หลายแสนล้าน
ผู้จัดการรายสัปดาห์(7 กรกฎาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
เนื้อฮาลาล ตลอดจนอาหารฮาลาลอื่นๆ เป็นของคู่ครัวเรือนในโลกมุสลิมมานานแล้ว แต่ในเวลานี้ยังมียาสีฟันฮาลาล น้ำยาล้างพื้นฮาลาล แปรงทาสีฮาลาล ตลอดจนผลิตภัณฑ์เสริมความงามฮาลาล !
เพียงแค่ชะแง้ดูกระเป๋าเครื่องสำอางของ นอรา โรสลี ครูสาวใหญ่ชาวมาเลเซีย ก็จะเข้าใจล้ำลึกทีเดียวถึงสิ่งที่พวกเจ้าหน้าที่ด้านการค้าแดนเสือเหลืองกำลังพูดกันว่า อุตสาหกรรมสินค้าฮาลาลน่ะ เต็มเปี่ยมด้วยศักยภาพที่จะเติบโตจนมีมูลค่าทั่วโลกถึงปีละ 560,000 ล้านดอลลาร์ทีเดียว
สิ่งซึ่งบรรจุอยู่ภายในกระเป๋า มีทั้ง ครีมทาหน้า สกินโทนเนอร์ ลิปสติก อุปกรณ์แตะแต้มเครื่องสำอาง รวมทั้งน้ำหอม และทั้งหมดทุกชิ้นล้วนประทับด้วยเครื่องหมายฮาลาล ซึ่งเท่ากับประกาศนียบัตรรับรองว่า ผลิตขึ้นอย่างถูกหลักศาสนาอิสลาม
นอราเล่าว่า ตอนเติบใหญ่อยู่ในมาเลเซียนั้น เธอไม่ค่อยได้คิดอะไรหรอก โดยคิดเอาเองว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่รับประทานและใช้สอยล้วนแต่เป็นของฮาลาลทั้งนั้น
จนกระทั่งเมื่อเธอได้ไปต่างประเทศตอนอายุ 18 ปี เธอจึงตระหนักแก่ใจยิ่งขึ้นถึงความหมายของฮาลาล อะไรที่กินได้และกินไม่ได้ ดังนั้นเธอจึงเริ่มนิสัยที่จะต้องอ่านฉลากและพินิจพิจารณาส่วนผสม
ครูสตรีวัย 38 ปีผู้นี้เป็นตัวอย่างของกลุ่มผู้บริโภคที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกทีทั้งในมาเลเซียและทั่วโลก ซึ่งมีทั้งความมุ่งมั่นและเงินทองที่จะให้มีหลักประกันว่า ผลิตภัณฑ์อันอยู่ในครัวเรือนของพวกเขามากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จะมีเครื่องหมายฮาลาลประทับอยู่
"สามีดิฉันยิ่งพิถีพิถันใหญ่ เขาได้ยาแคปซูลจากหมอ โดยที่พูดกันว่าเป็นแคปซูลทำจากสารเจลาตินซึ่งได้มาจากวัว แต่แม้มาจากวัว สำหรับพวกเราแล้ว ฮาลาลหมายถึงว่าจะต้องเป็นวัวซึ่งคนมุสลิมเป็นคนฆ่าด้วย ดังนั้นเขาจึงส่งอีเมล์ถึงผู้ผลิตสอบถามเรื่องนี้" นอราเล่า พร้อมกับกล่าวต่อว่า เวลานี้เธอและเขายังกำลังรอคำตอบจากผู้ผลิตยารายนั้นอยู่
แนวความคิดในเรื่องฮาลาล ซึ่งเป็นคำภาษาอาหรับแปลว่า "อนุญาต" นั้น ตามประเพณีดั้งเดิมจะใช้กับพวกอาหาร กล่าวคือ เนื้อหมูและผลิตภัณฑ์จากหมู รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกระทั่งสัตว์ซึ่งมิได้ฆ่าตามกระบวนวิธีแบบอิสลามอย่างถูกต้อง ล้วนแล้วแต่ถือว่า ไม่อนุญาตให้ชาวมุสลิมรับประทาน
ทว่า บรรดาผู้ผลิตหัวใสกำลังพบวิธีทำเงินเพิ่มขึ้นจากแนวความคิดว่า อันที่จริงแล้วสินค้าและบริการทุกอย่างก็ว่าได้ล้วนแต่สามารถขอเครื่องหมายฮาลาล ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสำอาง เสื้อผ้า ยาเวชภัณฑ์ บริการทางการเงิน หรือกระทั่งแพกเกจทัวร์
รัฐบาลมาเลเซียเองก็เชื่อว่า เวลานี้ผลิตภัณฑ์ฮาลาลมีมูลค่าถึงปีละ 150,000 ล้านดอลลาร์อยู่แล้ว และจะสามารถขยายได้อีกเป็นเกือบ 4 เท่าตัว ทั้งนี้ด้วยการคำนวณว่าชาวมุสลิมซึ่งมีอยู่ราว 1,800 ล้านคนทั่วโลก แต่ละคนจะใช้จ่ายเป็นค่าอาหารประมาณ 85 เซ็นต์อยู่ทุกวัน
นั่นจะเป็นโอกาสสำหรับมาเลเซีย ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ที่จะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งซึ่งนายกรัฐมนตรีอับดุลเลาะห์ อาหมัด บาดาวี เรียกว่า "พลังตลาดระดับโลกพลังใหม่"
รัฐบาลแดนเสือเหลืองซึ่งกำลังสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศตัวเอง ในฐานะชาติอิสลามแนวทางไม่รุนแรง อีกทั้งเน้นความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและวิทยาศาสตร์ จึงกำลังส่งเสริมมาเลเซียให้กลายเป็นศูนย์กลางผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ฮาลาลระดับโลก
ปัจจุบันมีถึง 6 รัฐในมาเลเซียซึ่งมีการจัดตั้งเขตผลิตสินค้าอาหารฮาลาล บางรัฐกำลังอยู่ระหว่างก่อสร้าง บางรัฐก็เปิดดำเนินการแล้ว แถมที่รัฐยะโฮร์ ซึ่งอยู่ตอนใต้สุดของประเทศติดช่องแคบมะละกา และอยู่ตรงข้ามกับเกาะสิงคโปร์ ยังมีการสร้างศูนย์กระจายผลิตภัณฑ์ฮาลาลขนาดใหญ่โตกว้างขวาง ขึ้นภายในเขตขนถ่ายสินค้าปลอดภาษีของที่นั่นอีกด้วย
ศูนย์กระจายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนี้ มีอาคารหลังหนึ่งที่เป็นศูนย์ครบวงจร "วัน-สต็อป-เซอร์วิส" ในการออกเครื่องหมายฮาลาล ทั้งนี้เพื่อเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งในการดึงดูดบรรดาผู้ผลิต ซึ่งมุ่งส่งออกสินค้าจากที่นั่นไปสู่ตลาดมุสลิมอื่นๆ
มาเลเซียยังจะเป็นเจ้าภาพงานแสดงสินค้าฮาลาลระหว่างประเทศ ที่ใช้ชื่อว่า "อินเตอร์เนชั่นแนล ฮาลาล โชว์เคส" ในเดือนนี้ โดยคุยว่าเป็นเทรดโชว์สินค้าฮาลาลครั้งใหญ่ที่สุดของโลกทีเดียว
จูมาตุน อัซมี แห่งบริษัทสื่อมาเลเซียที่ชื่อว่า คาเซห์เดีย ตั้งข้อสังเกตว่า มาถึงตอนนี้ไม่ว่าชาวมุสลิมหรือไม่ใช่ชาวมุสลิม ต่างมีความคิดเห็นเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแล้ว โดยต่างก็ตระหนักว่าตลาดมุสลิมซึ่งเคยละเลยไม่ใยดีกันมาในอดีตนั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นตลาดซึ่งมีขนาดและมูลค่ามหาศาล
"ชาวมุสลิมทั้งหมดต่างรับประทานอาหารฮาลาล และคนมุสลิมส่วนใหญ่ก็แต่งกายในลักษณะที่เป็นเฉพาะของพวกตน ทว่าพวกเขาไม่เคยถูกจัดกลุ่มว่าเป็นตลาดหนึ่งเดียวมาก่อน" เธอชี้
คาเซห์เดีย เป็นผู้จัดพิมพ์หนังสือคู่มือแนะนำอาหารฮาลาล โดยบริษัทคุยว่าเป็นผู้ทำหนังสือเช่นนี้เจ้าเดียวในโลก โดยมีจำหน่ายในต่างประเทศด้วย ทั้งที่ลอนดอน สิงคโปร์ และออสเตรเลีย
นอกจากนั้น บริษัทยังจัดวารสารของแวดวงอุตสาหกรรมสินค้าฮาลาล ขณะที่รายการโทรทัศน์ภาษาอังกฤษซึ่งจะไปออกอากาศในบรรดาตลาดฮาลาลทั้งหลาย ก็จะเผยแพร่กันภายในปีนี้
เธออธิบายว่า ทั้งหมดเหล่านี้คือความพยายามที่จะส่งเสริมการเข้าถึงศาสนาอิสลามด้วยวิธีการร่วมสมัย
"ในแง่ของศาสนาอิสลามที่ปรากฏอยู่ในจอโลกแล้ว เสียงต่างๆ ที่คุณได้ยินส่วนใหญ่มักจะเป็นของพวกหัวรุนแรง ขณะที่พวกหัวไม่รุนแรงยังไม่ได้พูดออกมาเลย และนั่นคือพวกซึ่งเราต้องการเป็นตัวแทน"
บุคคลวงในอุตสาหกรรมฮาลาลยืนยันว่า การที่ดีมานด์ในผลิตภัณฑ์ของพวกเขากำลังสูงขึ้น ไม่ได้เนื่องจากลัทธิอิสลามเคร่งจารีตกำลังเจริญรุ่งเรือง หากแต่เป็นเพราะชาวมุสลิมมีความตระหนักถึงวิธีปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักศาสนามากขึ้น อีกทั้งมีหนทางเลือกหาสินค้ามากกว่าในอดีตเท่านั้น
"ความรู้สึกอ่อนไหวต่อผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีเครื่องหมายฮาลาล เกิดขึ้นจากผู้บริโภคในทุกวันนี้มีการศึกษามากขึ้น" โมฮาหมัด ยาคอบ แห่งฮาเลเจล ยืนยัน บริษัทของเขาคือผู้ผลิตสินค้าพวกเกลือสินเธาว์ ยาสีฟันสมุนไพร และกระทั่งแคปซูลเจลาติน ประทับเครื่องหมายฮาลาล
โมฮาหมัดบอกว่า ธุรกิจของบริษัทบูมมากภายหลังแตกตัวผลิตสินค้าฮาลาลหลากหลายยิ่งขึ้น โดยปีนี้คาดว่าจะทำกำไรได้ 15 ล้านริงกิต สูงขึ้นมากทีเดียวจาก 9 ล้านริงกิตในปีที่แล้ว
ไม่เฉพาะแต่มาเลเซีย ประเทศเพื่อนบ้านของแดนเสือเหลืองอย่าง บรูไน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ตลอดจนพวกที่อยู่ไกลออกไปทั้งออสเตรเลีย จีน และสหรัฐฯ ล้วนแล้วแต่กำลังพัฒนาศูนย์กลางผลิตภัณฑ์ฮาลาลของตนขึ้นมาทั้งนั้น
ประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ ก็ประกาศดำเนินโครงการ 10 ปีเพื่อสร้างตัวเองให้กลายเป็นซัพลลายเออร์หลักในการส่งอาหารฮาลาลสู่โลกมุสลิม รวมทั้งได้เดินหน้าดำเนินการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลขนาดใหญ่ขึ้นทางจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนมีสถาบันขึ้นมาทำหน้าที่ดูแลมาตรฐานสินค้าฮาลาล แม้เรื่องเหล่านี้กำลังประสบอุปสรรคหนักหน่วง ภายหลังเกิดความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้
ถึงแม้กำลังเผชิญกับการแข่งขันดุเดือดมากขึ้น แต่มาเลเซียยังคงหวังว่าจะสามารถครองความได้เปรียบเอาไว้ได้ ด้วยการสร้างมาตรฐานอันเคร่งครัดในการออกใบรับรองเครื่องหมายฮาลาล และปีที่แล้ว แดนเสือเหลืองก็ได้ประกาศมาตรฐานเรื่องนี้ซึ่งหวังว่าจะเป็นที่ยอมรับในทางสากล จากสภาพที่ปัจจุบันยังไม่มีระเบียบกฎเกณฑ์ซึ่งสอดคล้องตรงกันระดับนานาชาติเอาเลย
และมาเลเซียก็ประสบความสำเร็จงดงาม เมื่อคณะผู้แทนในเวทีประชุมด้านการค้าขององค์การการประชุมอิสลาม (โอไอซี) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของชาวมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้ลงมติในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รับรองมาตรฐานนี้ของแดนเสือเหลือง และเรียกร้องให้ชาติสมาชิกทั้ง 57 รายนำเอาไปใช้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|