|

สิ่งทออาเซียนประคองตัวได้ดีเกินคาด แม้ถูกสินค้าราคาต่ำจากจีนรุกชิงส่วนแบ่ง
ผู้จัดการรายสัปดาห์(21 กรกฎาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
สมาชิกสมาคมอาเซียน โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาน้อยกว่า สามารถปรับตัวได้ดีเกินคาดหมาย ในการรับมือกับโลกซึ่งไม่มีระบบโควตาสิ่งทอ ภายหลังข้อตกลงมัลติไฟเบอร์ อะกรีเมนต์ หมดอายุลงเมื่อตอนเริ่มต้นของปีนี้ และเปิดทางสะดวกให้สินค้าราคาถูกกว่าจากจีน หลั่งไหลทะลักเข้าตีตลาดใหญ่ทุกหนแห่งบนพื้นพิภพ
สินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เป็นรายการส่งออกสำคัญยิ่งสำหรับหลายประเทศอาเซียน อาทิ กัมพูชา ลาว และอินโดนีเซีย การแปรเปลี่ยนอย่างมโหฬารในภูมิทัศน์การค้าสิ่งทอ นับแต่ที่จีนกระโดดเข้ามาร่วมวงได้อย่างเต็มตัว แน่นอนว่าได้สร้างผลกระทบบางประการต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในอาเซียน
อย่างไรก็ตาม ตรงกันข้ามกับที่ผู้คนจำนวนมากหวาดเกรงกัน อุตสาหกรรมแขนงนี้ของอาเซียนไม่ได้ล้มครืนลงในทันที เมื่อสินค้าส่งออกอันมากมายเหลือคณาของจีน พุ่งถะถั่งท่วมท้นบรรดาตลาดใหญ่ๆ ในโลกตะวันตก
ตามตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ยอดส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มโดยรวมของอาเซียนสู่สหรัฐฯ ตกลงเพียง 1.62% ในรอบ 4 เดือนแรกของปี 2005 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะเดียวกับที่สินค้าออกราคาถูกจากจีนก็ทำได้อย่างที่คาดหมายกันไว้ นั่นคือ ทำยอดเข้าสู่ตลาดอเมริกาได้เพิ่มขึ้นถึง 44.95%
แต่ถึงแม้ผลกระทบต่ออาเซียนโดยรวมดูไม่ได้ร้ายแรงอะไรนัก ภาพจะเปลี่ยนไปอย่างน่าสนใจมากขึ้น หากนำเอาตัวเลขของอุตสาหกรรมสิ่งทอและอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มมาพิจารณาแบบแยกออกจากกัน
จากการพินิจด้วยวิธีนี้ เห็นได้ชัดเจนเลยว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอของอาเซียนนั่นแหละ ไม่ใช่การผลิตเครื่องนุ่งห่มเลย ซึ่งกำลังแบกรับแรงกดดันแห่งพลังแข่งขันจากเจ้ายุทธจักรต้นทุนต่ำอย่างจีน
ข้อเท็จจริงก็คือ ขณะที่ยอดส่งออกสิ่งทออาเซียนสู่ตลาดสหรัฐฯได้ถดถอยลง 19.3% นั้น ยอดส่งออกเครื่องนุ่งห่มกลับเพิ่มสูงขึ้น 7.9% โดยที่การส่งออกเครื่องนุ่งห่มของอาเซียนทุกประเทศ (ยกเว้นจากฟิลิปปินส์และสิงคโปร์) ต่างขยายตัวได้เพิ่มขึ้นทั้งนั้นในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้
ถึงแม้ปัจจุบันจีนสามารถครองฐานะเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในรายการเครื่องนุ่งห่มเข้าสู่อเมริกา โดยชิงส่วนแบ่งตลาดไว้ได้ 18.2% อาเซียนก็ไม่ได้ถูกทิ้งห่างอะไรด้วยมาร์เก็ตแชร์ 17.2% เรื่องนี้บ่งชี้ว่าอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มของสมาชิกอาเซียน น่าจะมีความสามารถในการยืดหยุ่นปรับตัวได้ดีกว่าที่คนทั่วไปเชื่อกัน
แน่นอนว่า เรายังไม่สามารถใช้สิ่งบ่งบอกระยะสั้นเหล่านี้มาเป็นเครื่องชี้แนวโน้มในระยะยาวได้อย่างมั่นอกมั่นใจแล้ว โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงธรรมชาติของพวกผู้ซื้อเครื่องนุ่งห่มที่ไม่ค่อยชอบเปลี่ยนแบบแผนการซื้อของพวกตนอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเกรงจะไปกระทบกระเทือนสายโซ่แห่งซัปพลาย
ขณะเดียวกัน จีนเองก็ยังอาจถูกจำกัดกีดกันจนไม่สามารถสำแดงพลังมัดกล้ามแห่งสิ่งทอของตัวเองได้อย่างเต็มเหนี่ยว สืบเนื่องจากประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ยังมีสิทธิไปจนถึงปี 2013 ที่จะประกาศโควตาจำกัดสินค้าจากจีน ด้วยเหตุผลว่าเพื่อเป็นการคุ้มครองให้เวลาแก่อุตสาหกรรมของประเทศตนที่จะปรับตัว ดังที่สหรัฐฯเพิ่งประกาศใช้ไปเมื่อไม่นานมานี้
ถึงแม้อาจมีสิ่งที่ทำให้สะดุดติดขัดเหล่านี้ ทว่านับแต่ที่เครื่องจักรสิ่งทอจีนสามารถเดินเครื่องได้เต็มสูบ รายงานของสื่อมวลชนก็บ่งชี้ว่า มันได้สร้างความเจ็บปวดเสียหายแก่ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนหนึ่งที่พึ่งพิงอาศัยสิ่งทอเป็นสินค้าส่งออก
เสียงครวญล่าสุดดังมาจากแอฟริกาใต้ ซึ่งคนงานสิ่งทอของประเทศนั้นกำลังเรียกร้องขอความคุ้มครอง ไม่ให้สินค้านำเข้าราคาถูกจากจีนไหลทะลักเข้าไป โดยที่อุตสาหกรรมแขนงนี้ในประเทศนั้นได้ปลดพนักงานกันไปแล้ว 75,000 คนนับแต่ปี 2002
ภูมิภาคอาเซียนเองก็เช่นกัน มิใช่จะปลอดจากความเจ็บปวดในช่วงระยะผ่านแบบนี้โดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคสิ่งทอ
ตัวอย่างเช่น อินโดนีเซีย ตามรายงานสำรวจแรงงานฉบับล่าสุด มีการสูญเสียตำแหน่งงานในภาคสิ่งทอ-ผ้าถักทอไปราว 300,000 ตำแหน่งในปี 2004 ปัญหาน่าจะยิ่งเลวร้ายลงอีก เมื่อพิจารณาจากตัวเลขการส่งออกสิ่งทอของแดนอิเหนาสู่สหรัฐฯ ที่ลดฮวบถึง 21.2% ในช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ เปรียบเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน
มาเลเซีย กับ ฟิลิปปินส์ ก็ถูกกระหน่ำแรงเหมือนกัน เพราะยอดส่งออกถดถอยลง 31.8% และ 44.6% ตามลำดับ
เฉกเช่นเดียวกับในแอฟริกาใต้ สินค้าสิ่งทอนำเข้าราคาถูกจากจีน ซึ่งหลั่งไหลเข้ามาทั้งแบบถูกและผิดกฎหมาย กำลังทำให้คนงานท้องถิ่นต้องตกงานเป็นจำนวนมาก ตัวอย่างเช่นในอินโดนีเซีย ผ้าโพลีเอสเตอร์ที่ผลิตในแดนอิเหนาขายกันราคาเมตรละ 7,000 รูเปียห์ ทว่าผ้าแบบเดียวกันของจีนราคาแค่ 2,300 รูเปียห์
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความมืดมนในอนาคตของผู้ประกอบการต้นทุนต่ำรายเล็กๆ สิ่งที่ยังเป็นความหวังเรืองรองสำหรับอินโดนีเซียก็คือ พวกโรงงานสิ่งทอระดับกลางและระดับไฮเอนด์ ยังคงสามารถแข่งขันได้ โดยที่ผู้ซื้ออเมริกันและยุโรปยังคงสั่งซื้อซัปพลายเหล่านี้ด้วยเหตุผลหลายๆ ประการ ทั้งเรื่องราคา คุณภาพ และการปฏิบัติตามมาตรฐานด้านแรงงาน ทั้งนี้ตามรายงานของสถานทูตสหรัฐฯประจำจาการ์ตา
สำหรับเวียดนามแม้กำลังจับตามองยอดส่งออกที่พุ่งลิ่วๆ ของจีนด้วยความกระวนกระวายใจ แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังประคับประคองตัวเองไว้ได้ค่อนข้างดี โดยยอดส่งออกสิ่งทอและเครื่องแต่งกายไปยังสหรัฐฯสามารถเติบโตเพิ่มขึ้น 9.8% ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2005 เนื่องจากมีแรงงานซึ่งมีประสิทธิภาพการผลิตสูง และโครงสร้างพื้นฐานก็ค่อนข้างดี
ดังนั้น ขณะที่ภาพโดยรวมสำหรับภูมิภาคอาเซียน มิได้เป็นภาพแห่งความหายนะอย่างสิ้นเชิง ทว่าการท้าทายจากจีน โดยเฉพาะในเรื่องการตัดราคาลดทอนผลกำไร ก็เป็นสิ่งที่แจ่มแจ้งชัดเจน
กระนั้น นี่มิได้หมายความว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่อาเซียนจะยังอาจประคองตัวรักษาความสามารถในการแข่งขันเอาไว้ เพราะแม้กระทั่งว่าจีนเป็นผู้ผลิตสิ่งทอและเครื่องแต่งกายที่มีต้นทุนสูงสุดและทรงประสิทธิภาพที่สุด แต่พวกผู้ซื้อเครื่องนุ่งห่มชาญฉลาดทั้งหลาย ย่อมไม่ต้องการเสี่ยงที่จะปล่อยให้จีนกลายเป็นซัปพลายเออร์แต่ผู้เดียวของพวกตน
ในขณะที่การผลิตเครื่องแต่งกายของโลกกำลังมีการรวมศูนย์กลายเป็นกลุ่มก้อนหลักๆ เพียงสองสามกลุ่มก้อน อาเซียนก็ยังสามารถสร้างตัวเองให้กลายเป็นหนึ่งในหมู่ผู้เล่นสำคัญได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมาถึงเรื่องการผลิตเครื่องแต่งกาย ซึ่งยังคงเป็นตัวสร้างรายได้ก้อนโตให้แก่เหล่าชาติอาเซียน
อย่างไรก็ดี การที่จะทำเช่นว่านี้ได้ อาเซียนจำเป็นต้องปรับปรุงเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันของตน ตัวอย่างเช่น เพิ่มการบูรณาการในแนวดิ่ง ทั้งนี้เพราะหนึ่งในความได้เปรียบสำคัญของจีนก็คือ มีการบูรณาการแนวดิ่งในระดับสูงนั่นเอง ตามการศึกษาวิจัยของอาเซียนเอง ในโรงงานจีนจำนวนมากมีโรงงานต่างๆ ในสายโซ่การผลิตอยู่ด้วยกันหรือใกล้เคียงกัน จึงทำให้ใช้เวลาในการประกอบเป็นเครื่องแต่งกายสำเร็จรูป น้อยกว่าที่อื่นๆ ถึงราว 30% ทีเดียว
ขณะเดียวกัน โครงสร้างพื้นฐานที่ทรงประสิทธิภาพ ก็ทำให้ใช้เวลาสั้นลงในการนำเครื่องนุ่งห่มส่งออกผ่านท่าเรือของจีนและฮ่องกง ซึ่งเรื่องนี้มีความสำคัญเป็นพิเศษสำหรับรายการที่เป็นแฟชั่นชั้นสูง อาทิ ชุดสตรี และชุดที่ออกแบบโดยดีไซเนอร์
ในสภาพเช่นนี้ ย่อมเป็นสิ่งสำคัญที่อาเซียนต้องรีบเร่งส่งเสริมการบูรณาการของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มระดับภูมิภาค ตัวอย่างเช่น การยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรระหว่างกันสำหรับผลิตภัณฑ์แขนงนี้
เนื่องจากเป็นการยากที่สินค้าเครื่องแต่งกายของอาเซียนจะแข่งขันกับสินค้าทำนองเดียวกันจากจีนโดยสู้ที่ราคา ชิ้นงานของอาเซียนจึงต้องหันไปเน้นเรื่องดีไซน์และคุณภาพ อันหมายถึงการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนา
การสร้างความแตกต่างในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ยังจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการซื้อขายภายในแวดวงอุตสาหกรรมสิ่งทอระหว่างจีนกับอาเซียนมากขึ้นอีกด้วย อันจะทำให้อาเซียนไม่ต้องเหนื่อยแข่งขันกับจีนลูกเดียว
ดังนั้น ขณะที่การท้าทายจากจีนดูจะเป็นเรื่องร้ายแรงมากในเวลานี้ มันก็ไม่ใช่เป็นเรื่องเอาชนะไม่ได้เลย ถ้าหากมีการดำเนินมาตรการที่ถูกต้องและลงมือทำอย่างรวดเร็ว
มาตรฐานแรงงานคือความได้เปรียบ
สำหรับกัมพูชาซึ่งกำลังเจ็บปวดจากการที่โรงงานบางแห่งต้องปิดตัวลง และคนงานต้องตกงานนั้น ยังมีผลกระทบทางสังคมอีกประการหนึ่งซึ่งเป็นที่จับตามองกัน อันได้แก่การลดมาตรฐานด้านแรงงาน
ในยามที่ผลิตภัณฑ์เมดอินไชน่าไหลท่วมท้นฉุดให้ราคาต่ำลงนั้น ก็มีนายจ้างจำนวนมากในกัมพูชาถูกกล่าวหาว่า ฉวยโอกาสเอาเรื่องนี้เป็นข้ออ้างเพื่อลดค่าแรงและเพิ่มชั่วโมงทำงาน ทั้งนี้ตามรายงานของไอซีเอฟทียู องค์การแรงงานนานาชาติที่อยู่ในอิทธิพลของสหรัฐฯ
เรื่องนี้นับเป็นการก้าวถอยหลังของกัมพูชา ซึ่งเคยประสบความสำเร็จในการสร้าง niche market ให้ตัวเอง ด้วยการผลิตเสื้อผ้าที่สามารถประทับตราว่า ปลอดจากการใช้แรงงานทาส ให้แก่แบรนด์ดังทันสมัยอย่าง แกป เอชแอนด์เอ็ม และ ลีวายส์ โดยเป็นผลลัพธ์จากข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-กัมพูชาปี 1999 ซึ่งสินค้าเครื่องนุ่มห่มกัมพูชาจะได้สิทธิเข้าสู่ตลาดอเมริกันเป็นพิเศษ หากโรงงานผลิตปฏิบัติตามมาตรฐานด้านแรงงาน
ถึงแม้ข้อตกลงการค้าฉบับดังกล่าว ไม่มีผลบังคับแล้วในโลกที่ยกเลิกระบบโควตา ทว่ายุทธศาสตร์การพิทักษ์มาตรฐานแรงงาน เพื่อรักษาออเดอร์จากพวกบริษัทซึ่งมุ่งแสดงจิตสำนึกทางสังคม ก็ยังเป็นเรื่องสำคัญยิ่งยวด ในเมื่อกัมพูชายังไม่สามารถแข่งขันกับจีนได้เลย เมื่อพิจารณาเฉพาะเรื่องประสิทธิภาพทางการผลิตล้วนๆ
อันที่จริง ตามการสำรวจผู้ซื้อระดับนานาชาติในปี 2004 ของเวิลด์แบงก์ ปรากฏว่ากว่า 60% ของบริษัทที่สั่งซื้อสินค้าเครื่องนุ่งห่มจากกัมพูชาบอกว่า เรื่องการปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงาน มีความสำคัญทัดเทียม หรือกระทั่งสำคัญกว่าเรื่องราคา คุณภาพ และความรวดเร็วในการจัดส่ง
เวลานี้บริษัทเฉกเช่น แกป และ มาร์กส์แอนด์สเปนเซอร์ ยังคงใช้กัมพูชาเป็นแหล่งซัปพลายผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม ก็เนื่องจากเหตุผลนี้แหละ
ทำนองเดียวกับกัมพูชา ลาวก็ต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นอย่างมากในการหารายได้จากการส่งออก แต่เนื่องจากลาวอยู่ในฐานะชาติยากจนสุดๆ จึงยังคงได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าจากสหภาพยุโรป(อียู) อันเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของลาวด้วย ทำให้ได้รับการป้องกันไม่ให้ต้องเผชิญแรงกดดันจริงๆ ในตลาดมากนัก
อย่างไรก็ตาม ความได้เปรียบเช่นนี้ย่อมไม่คงอยู่ตลอดไป และเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่ลาวจะต้องรีบเร่งหาแหล่งที่มาแห่งการเจริญเติบโตแหล่งใหม่ๆ เอาไว้ด้วย
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|