มังกรปรับค่าเงินส่งผลดีต่อเอเชียจริงหรือ


ผู้จัดการรายสัปดาห์(29 กรกฎาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

จีนปรับเปลี่ยนนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคราวนี้ อาจกลายเป็นผลดีในระยะยาวต่อเศรษฐกิจของชาติอื่นๆ ในเอเชีย ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกโดยรวม นั่นเป็นภาพสวยสดที่พวกตะวันตกพยายามนำมาครอบให้เอเชีย เพื่อซ่อนเจตนาอันแท้จริงของพวกเขา

การปรับเพิ่มค่าเงินหยวนขึ้นอีก 2.1% ของจีนคราวนี้ ฝ่ายตะวันตกซึ่งออกแรงบีบคั้นกดดันมานาน พากันบ่นพึมว่ายังน้อยนิดนัก แต่พวกเขาก็วาดภาพว่ามันอาจเป็นเครื่องหมายแห่งการเริ่มต้นของยุคใหม่สำหรับเอเชีย ซึ่งเป็นภูมิภาคที่สกุลเงินตราต่างๆ ยังคงผูกติดอยู่กับดอลลาร์อย่างเข้มงวด แม้อาจจะอย่างไม่เป็นทางการก็ตาม

ภาพจำลองสถานการณ์ที่นักเศรษฐศาสตร์ตะวันตกจำนวนมากกำลังวาดหวังให้ชาวเอเชียเชื่อว่าเป็นจริงได้ ก็คือ การปรับค่าเงินหยวนจะทำให้เงินตราสกุลอื่นๆ ในเอเชียต่างพลอยเพิ่มค่าขึ้นด้วยเมื่อเทียบกับดอลลาร์, แล้วชาติเอเชียจะทำการค้าระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น, ขณะที่บรรดาเศรษฐกิจในภูมิภาคจะพากันรุ่งเรืองเนื่องจากภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำและดีมานด์ภายในประเทศแข็งแกร่ง

สภาพเช่นนี้ย่อมมีบทบาทผลักดันเศรษฐกิจโลกโดยรวม ยิ่งเมื่อพิจารณาว่าในเวลานี้โลกกำลังเผชิญกับอุปสรรคยากลำบากหลายประการที่กีดขวางการเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืนด้วยแล้ว บทบาทดังกล่าวก็ยิ่งเพิ่มความสำคัญมากขึ้น

ทั้งนี้อุปสรรคที่ว่ามีอาทิ การที่อัตราดอกเบี้ยกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น และการที่ประชากรทั้งในยุโรปและสหรัฐฯต่างกำลังมีอายุเฉลี่ยแก่ตัวลง ถ้าหากเอเชียมีความสดใสรุ่งเรือง ย่อมสามารถช่วยให้โลกข้ามพ้นแนวโน้มเหล่านี้ได้

นานหลายทศวรรษมาแล้ว การเติบโตในเอเชียจำนวนมากได้แรงขับดันจากการขายสินค้าต้นทุนต่ำไปสู่โลกพัฒนาแล้ว ชาติผู้ส่งออกในทวีปนี้ย่อมต้องการให้สกุลเงินตราของพวกตนผูกโยงกับดอลลาร์สหรัฐฯไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมๆ เนื่องจากการค้าส่วนใหญ่ในโลกยังคงคิดมูลค่ากันเป็นเงินตราสกุลนี้

วิกฤตการเงินในปี 1997-98 แม้แสดงให้เห็นว่าอัตราแลกเปลี่ยนที่ค่อนข้างจำกัดตายตัวเช่นนี้มีอันตรายเพียงใด แต่ก็ยังไม่อาจเปลี่ยนใจของชาติเอเชียจำนวนมาก อาทิ จีนกับฮ่องกงยังคงผูกตรึงเงินตราของพวกตนเอาไว้กับดอลลาร์อย่างค่อนข้างตายตัว มาเลเซียกระทั่งหวนกลับมาใช้ระบบแบบนี้ด้วยซ้ำ แม้แต่ประเทศซึ่งว่ากันว่าใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว เพียงแต่ไม่ถึงกับเสรีไปทั้งหมด ก็เห็นชัดว่าทางการได้เข้าไปแทรกแซงมิให้สกุลเงินตราของตนมีค่าแข็งเกินไป เพื่อรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันของสินค้าออกของประเทศตนเอาไว้

อย่างไรก็ตาม ด้านกลับของนโยบายเช่นนี้ก็คือ เศรษฐกิจเอเชียเหล่านี้มีการนำเอาเงินตราของตนไปแลกกับเงินตราต่างประเทศมาเก็บสะสมไว้ ซึ่งเสี่ยงที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูง เช่นเดียวกับมีการได้เปรียบดุลการค้าจำนวนมหาศาล ที่ก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่บรรดาคู่ค้าในโลกพัฒนาแล้ว พร้อมกันนั้นเศรษฐกิจภายในประเทศเหล่านี้เองก็กลับถูกละเลย

นักเศรษฐศาสตร์บางคนอย่างเช่น บิล เบลเชียร์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ภูมิภาคเอเชียแห่งบริษัทหลักทรัพย์แมคควอรี ซีเคียวริตีส์ ในฮ่องกง ชี้ว่า การที่เศรษฐกิจของประเทศเล็กๆ จะโฟกัสที่การส่งออก ต้องถือเป็นสิ่งสมเหตุสมผลทีเดียว ทว่าไม่น่าจะใช่แล้วสำหรับประเทศใหญ่อย่างจีน อินเดีย หรือ อินโดนีเซีย ซึ่งเศรษฐกิจภายในประเทศมีขนาดมโหฬาร

บัดนี้เมื่อจีนยอมถอดปลั๊ก เลือกที่จะใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งยืดหยุ่นมากขึ้น และมาเลเซียก็ประกาศเดินตามในทันที

บรรดานักเศรษฐศาสตร์บอกว่า ความเคลื่อนไหวเช่นนี้คงไม่ก่อให้เกิดผลกระทบใหญ่หลวงในทันทีทันใด ทว่าในระยะยาวแล้ว หลายๆ คนวาดหวังว่า ความเคลื่อนไหวคราวนี้จะสามารถกระตุ้นให้เศรษฐกิจประเทศต่างๆ ในเอเชียเกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน

ตลาดการเงินคือรายหนึ่งที่กำลังวางเดิมพันว่า ความเคลื่อนไหวของจีนกับมาเลเซียจะกระตุ้นให้สกุลเงินเอเชียอื่นๆ ปรับเปลี่ยนไปในทางเพิ่มค่าขึ้นด้วย ดังเห็นได้จากเงินเยนญี่ปุ่น เงินดอลลาร์เอ็นทีไต้หวัน และเงินดอลลาร์สิงคโปร์ ต่างเริ่มมีแนวโน้มขาขึ้น เหตุผลที่ทำให้ตลาดการเงินคิดเช่นนี้ก็ง่ายๆ นั่นคือ ชาติเอเชียอื่นๆ ที่เคยลังเลกลัวจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน น่าจะไม่รู้สึกเช่นนั้นอีกแล้ว และยินยอมปล่อยให้เงินตราของพวกตนลอยเพิ่มค่า

หากสกุลเงินตราต่างๆ ในเอเชียพากันปรับเพิ่มขึ้น ย่อมจะมีผลส่งเสริมให้ผู้คนในประเทศเหล่านี้บริโภคสินค้าเข้ากันมากขึ้น เพราะพวกเขาจะรู้สึกว่าสินค้านอกมีราคาถูกลง

มีสื่อตะวันตกอย่างเช่น หนังสือพิมพ์เอเชียน วอลล์สตรีท เจอร์นัล พยายามวาดภาพว่า ความต้องการในสินค้านอกเช่นนี้จะทำให้การค้าระหว่างประเทศในเอเชียเจริญเติบโต

แต่เอาเข้าจริงแล้ว สินค้านอกที่จะขายได้เป็นกอบเป็นกำ จะเป็นสินค้าเอเชีย หรือสินค้าสหรัฐฯและยุโรป คงต้องติดตามกันต่อไป


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.