ฟาฮัดสิ้น-อับดุลเลาะห์ครองบัลลังก์ซาอุดี


ผู้จัดการรายสัปดาห์(5 สิงหาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กษัตริย์ฟาฮัดซึ่งพระวรกายอ่อนแอลงเรื่อยๆ ยังคงทรงมีฐานะเป็นพระประมุขของราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียแต่ก็เพียงในทางนิตินัยเท่านั้น ขณะที่ในทางพฤตินัยแล้ว ประเทศทะเลทรายและรุ่มรวยน้ำมันแห่งนี้อยู่ในการปกครองของเจ้าชายอับดุลเลาะห์ มกุฎราชกุมารผู้เป็นพระอนุชาต่างมารดา

ดังนั้น การสวรรคตของกษัตริย์ฟาฮัดเมื่อวันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม ตามติดด้วยการประกาศสถาปนาอับดุลเลาะห์ขึ้นเป็นพระประมุของค์ต่อไปในทันที จึงดูไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปนักหนาในระยะสั้น

สมาชิกในพระราชวงศ์ และนักเฝ้าจับตาดูซาอุดีอาระเบีย ต่างพยากรณ์ว่า จะไม่มีความเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างราชอาณาจักรแห่งนี้กับอเมริกา หรือในการปราบปราบพวกมุสลิมเคร่งจารีตที่เลือกใช้หนทางต่อสู้ด้วยความรุนแรง ซึ่งได้ผลาญชีวิตผู้คนไปหลายร้อยแล้วในการโจมตีหลายต่อหลายครั้งทั่วประเทศ

และก็คาดกันว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในนโยบายเกี่ยวกับน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย โดยที่ประเทศนี้ยังจะแสดงบทบาทเป็นผู้ค้ำประกันให้มีซัปพลายน้ำมันดิบออกมาให้โลกได้ใช้สอยไม่ขาดเขิน ถึงแม้ความพยายามเรื่องนี้ไม่สามารถหยุดยั้ง ไม่ให้ราคาทองคำสีดำพุ่งขึ้นทำสถิติใหม่ โดยแตะระดับ 62 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อวันจันทร์(1)ได้ก็ตาม

อย่างไรก็ดี มีแรงกดดันทั้งภายในและภายนอกที่ซาอุดีอาระเบียจะต้องเผชิญ ซึ่งอาจพิสูจน์ให้เห็นว่า กษัตริย์อับดุลเลาะห์ ผู้ทรงมีพระชนมายุในวัย 80 น้อยกว่าอดีตกษัตริย์ฟาฮัดไม่กี่ปี จะต้องทรงดิ้นรนต่อสู้หนักทีเดียวเพื่อรักษาทุกสิ่งทุกอย่างให้เหมือนเดิม

อเมริกา ซึ่งในศตวรรษที่ 20 ได้เข้าแทนที่อังกฤษในฐานะมหาอำนาจต่างชาติหลักซึ่งหนุนหลังราชตระกูลอัลซาอุด เมื่อเร็วๆ นี้เองได้กลับลำนโยบายที่เคยยึดถือมานาน ในอันที่จะหาทางรักษาเสถียรภาพในตะวันออกกลางไว้ให้ได้ แม้หมายถึงการขาดไร้ประชาธิปไตยก็ตาม ทั้งนี้เวลานี้วอชิงตันกำลังบีบคั้นเหล่าพันธมิตรอาหรับ ให้ต้องมอบเสรีภาพพื้นฐานทางการเมืองบางประการแก่ปวงพสกนิกร

ขณะเดียวกัน กลุ่มอิสลามแนวทางรุนแรงซึ่งก่อกำเนิดขึ้นเองจากภายในประเทศ ก็กำลังหาทางทำให้ซาอุดีอาระเบียเดินหน้าไปในอีกทิศทางหนึ่ง พวกสุดโต่งเหล่านี้ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากสำนักคิดอิสลามเคร่งจารีตที่เรียกว่า ลัทธิวะฮาบีย์ อันได้รับการส่งเสริมและมีอิทธิพลสูงยิ่งในราชอาณาจักรทะเลทรายแห่งนี้ ไม่เพียงต่อต้านคัดค้านฝ่ายตะวันตกและอิทธิพลของตะวันตกในโลกมุสลิมเท่านั้น หากยังต้องการทำลายล้างราชวงศ์ซาอุดีในปัจจุบันอีกด้วย

เหตุการณ์วินาศกรรมอเมริกาในวันที่ 11 กันยายน 2001 ซึ่งคนร้ายส่วนใหญ่เป็นชาวซาอุดี และสั่งการโดย อุซามะห์ บิน ลาดิน ผู้เป็นหน่อเนื้อเชื้อไขจากระบบรากฐานของซาอุดีอาระเบียเอง ไม่ได้ทำให้คณะผู้บริหารของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช คิดสืบสาวหาสาเหตุรากเหง้า หากข้อสรุปที่พวกเขาดูจะยอมรับก็คือ ระบอบราชาธิปไตยซาอุดีดูไม่อาจสร้างเสถียรภาพดังที่วาดหวังกันไว้เสียแล้ว

ยิ่งการที่ระบอบนี้ส่งเสริมสนับสนุนแนวคิดอิสลามแบบเคร่งจารีต รวมทั้งการให้เงินสนับสนุนแก่การสร้างมัสยิดและโรงเรียนศาสนาอิสลามแห่งใหม่ๆ เพื่อเผยแพร่ลัทธิวะฮาบีย์ไปทั่วโลก จึงมีชาวตะวันตกหลายส่วนวิพากษ์กล่าวหาว่า ระบอบปกครองซาอุดีนี้แหละกำลังสร้างแหล่งอบรมบ่มเพาะนักรบญิฮัด

อย่างไรก็ดี บุชน่าจะใช้ความระมัดระวังตามสมควร ในการกดดันกษัตริย์ซาอุดีองค์ใหม่ ให้เดินหน้าปฏิรูปทางประชาธิปไตย เพราะการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังใดๆ ในระยะสั้นอาจก่อให้เกิดความปั่นป่วนไม่สงบภายในขึ้นมา ซึ่งจะยิ่งเป็นภัยคุกคามต่อการซัปพลายน้ำมันดิบของซาอุดีอาระเบีย อันเป็นสิ่งที่เศรษฐกิจสหรัฐฯและเศรษฐกิจโลกโดยรวมยังต้องพึ่งพา

แต่นอกเหนือความรำคาญใจจากบุชและคณะรัฐบาลอเมริกันแล้ว ยังมีแรงกดดันจากแหล่งอื่นๆ อีกที่มุ่งหมายให้ซาอุดีอาระเบียต้องเปลี่ยนแปลงปฏิรูป อาทิ พวกผู้นำแวดวงธุรกิจของประเทศต่างต้องการให้เปิดเสรีมากขึ้น อย่างน้อยก็ในทางเศรษฐกิจ ขณะที่ช่องทีวีนานาชาติและอินเทอร์เน็ตก็กำลังเผยให้พลเมืองซาอุดีได้เห็นพัฒนาการทางการเมืองแบบเสรีนิยมในประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้นว่า การให้สิทธิเลือกตั้งแก่สตรีในคูเวต, การเลือกตั้งประธานปาเลสไตน์แบบมีการแข่งขันขับเคี่ยวกัน รวมทั้งวัฒนธรรมและรสนิยมบริโภคนิยมแบบตะวันตก

อันที่จริง ระบอบปกครองซาอุดีอาระเบียมีความเคลื่อนไหวไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยอยู่เหมือนกัน แม้จะถูกวิจารณ์ว่ายังน้อยนิดนักหนา

ในปี 1993 กษัตริย์ฟาฮัดเป็นผู้อำนวยการให้จัดตั้งสภาชูเราะห์ ซึ่งสมาชิกได้เพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 150 คนภายหลังเจ้าชายอับดุลเลาะห์ขึ้นเป็นผู้ปกครองโดยพฤตินัยแล้ว ถึงแม้สภานี้เป็นเพียงสภาที่ปรึกษาและไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็เริ่มแสดงบทบาทเพิ่มขึ้น

ตอนต้นปีนี้เอง ซาอุดีอาระเบียยังจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งแรก นั่นคือการเลือกคณะผู้บริหารครึ่งหนึ่งในระดับการปกครองส่วนท้องถิ่น ถึงแม้ผู้ชายเท่านั้นที่มีสิทธิลงคะแนน และยังห้ามการจัดตั้งพรรคการเมือง แต่ก็ยินยอมให้เหล่าผู้สมัครออกรณรงค์หาเสียง ซึ่งทำให้มีการแข่งขันชิงชัยกันอย่างจริงจัง โดยที่ผู้ชนะจำนวนมากคือพวกอนุรักษนิยมเคร่งศาสนา

ในอีกด้านหนึ่ง บางสิ่งบางอย่างที่เคยสร้างความโกรธเกรี้ยวมากที่สุดให้แก่พวกนักรบญิฮัดชาวซาอุดี ก็ได้เปลี่ยนแปลงไปในช่วงปลายๆ รัชสมัยกษัตริย์ฟาฮัด (ซึ่งก็คือในช่วงการปกครองทางพฤตินัยของมกุฎราชกุมารอับดุลเลาะห์)

ทหารอเมริกันซึ่งกษัตริย์ฟาฮัดเคยต้อนรับเข้ามาในดินแดนซาอุดีท่ามกลางเสียงโต้แย้งทัดทานหนักเมื่อปี 1991 ภายหลังการรุกรานยึดครองคูเวตของซัดดัม ฮุสเซน เวลานี้ได้ถอนออกไปแล้ว

และถึงแม้กษัตริย์ฟาฮัดเคยสนับสนุนการทำสงครามกับอิรักครั้งแรกเมื่อปี 1991 ทว่าในปี 2003 อับดุลเลาะห์ซึ่งมีฐานะมั่นคงด้วยตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก็สามารถฉวยใช้ประโยชน์จากความแตกแยกกันในหมู่ชาติตะวันตก และคัดค้านการรุกรานอิรักครั้งที่สอง

อย่างไรก็ตาม ดังที่แสดงให้เห็นแล้วจากกระแสนักรบญิฮัดชาวซาอุดี ซึ่งเข้าไปก่อการโจมตีแบบพลีชีพในอิรักอย่างไม่ขาดสาย แรงสนับสนุนความรุนแรงสุดโต่งนั้นยังคงมีอยู่อย่างเข้มแข็ง มีความหวาดกลัวกันว่าคนซาอุดีเหล่านี้ที่รอดชีวิตจากการเข้าร่วมการก่อความไม่สงบในอิรัก ที่สุดแล้วจะเดินทางกลับบ้านและกลายเป็นภัยคุกคามใหญ่หลวงเสียยิ่งกว่าพวกกลับจากอัฟกานิสถานในทศวรรษ 1980 ด้วยซ้ำ

ถึงแม้พระประมุของค์ใหม่มีความพยายามอย่างระมัดระวังที่จะวางตัวให้เหินห่างมากขึ้นจากนโยบายการต่างประเทศของอเมริกัน ขณะเดียวกัน หน่วยงานรักษาความมั่นคงของซาอุดีเองก็ประสบความสำเร็จระดับหนึ่งในการจำกัดวงภัยคุกคามของพวกมุ่งใช้ความรุนแรง ทว่ากษัตริย์อับดุลเลาะห์ก็ยังอาจทรงพบว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะพยายามปรองดองนโยบายภายนอกแบบโปรตะวันตก ให้เข้ากับนโยบายภายในประเทศซึ่งมุ่งเป็นพันธมิตรกับเหล่านักการศาสนามุสลิมซึ่งส่วนใหญ่แล้วต่อต้านตะวันตก

นอกเหนือจากต้องเผชิญกับความต้องการที่ขัดแย้งกันระหว่างพวกที่ปรารถนาให้มีความเสรีมากขึ้น กับพวกซึ่งมุ่งมั่นให้เป็นอิสลามเคร่งจารีตยิ่งขึ้นแล้ว กษัตริย์อับดุลเลาะห์ยังอาจจะพบด้วยว่า เอาเข้าจริงแล้ว พระองค์มิได้ทรงมีสมบูรณาญาสิทธิ์เลย

ความสามารถในการปกครองของพระองค์อาจจะถูกจำกัดด้วยอำนาจของเจ้าชายซาอุดีชั้นผู้ใหญ่องค์อื่นๆ รวมทั้งเจ้าชายสุลต่าน พระอนุชาต่างมารดาที่กษัตริย์อับดุลเลาะห์เองทรงสถาปนาขึ้นเป็นมกุฎราชกุมารของพระองค์

การที่กษัตริย์อับดุลเลาะห์ทรงใช้ชีวิตค่อนข้างสมถะ ซึ่งตรงกันข้ามกับความเป็นเพลย์บอยและสูบยาสูบจัดของกษัตริย์ฟาฮัดผู้ล่วงลับ ย่อมหมายความว่าพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ด้วยพระพลานามัยแข็งแรง

กระนั้นวัยย่อมบั่นทอนพลังอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ขณะที่พระองค์จำเป็นต้องทรงมีพลังล้นเหลือในการรับมือกับแรงกดดันทั้งจากภายในและภายนอกราชวงศ์


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.