ไข่ "แม้ว" กระฉูด 6 บาท หลังวิกฤตไข้หวัดนก


ผู้จัดการรายสัปดาห์(29 ตุลาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

"อธิบดีกรมปศุสัตว์" ชี้ หวัดนกต้องใช้เวลาแก้ปัญหาถึง 3 ปี นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสัตว์ปีก หวั่น ราคาไข่ไก่พุ่งถึง 6 บาท ด้านสัตวแพทย์หนุนทำวัคซีนป้องกันโรค ควบคู่ไปกับมาตรการเดิม แต่ต้องติดตามและควบคุมฟาร์มไก่อย่างใกล้ชิด ขณะที่นักวิชาการ ระบุ แม้ไม่ใช้วัคซีน เชื้อไข้หวัดนกก็กลายพันธุ์ตามธรรมชาติอยู่แล้ว

ประเด็นที่กำลังมีการถกเถียงในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกในขณะนี้คือควรจะมีการใช้วัคซีนหรือไม่ ผู้เลี้ยงไก่บางส่วนเห็นว่าควรจะนำวัคซีนมาใช้เพื่อสกัดต้นเหตุของปัญหา ขณะที่ภาครัฐเกรงว่าการใช้วัคซีนจะทำให้เชื้อเกิดการกลายพันธุ์ ที่สำคัญจะกระทบกับการส่งออกไก่ โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรป(EU) และญี่ปุ่น เนื่องจากผู้บริโภคในประเทศเหล่านี้ไม่บริโภคไก่ที่ใช้วัคซีน คณะกรรมการพิจารณาแก้ไขสถานการณ์โรคไข้หวัดนก ที่มี จาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จึงมีมติไม่ให้ใช้วัคซีนไข้หวัดนกในประเทศไทย

ยุคล ลิ้มแหลมทอง อธิบดีกรมปศุสัตว์ ยืนยันว่า จุดยืนของกรมปศุสัตว์คือห้ามใช้วัคซีน แม้องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ(FAO) ต้องการให้ประเทศไทยใช้วัคซีนป้องกันหวัดนกเพื่อรักษาชีวิตไก่ แต่การแก้ปัญหาต้องมองหลายมิติ หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้มีข้อสรุปว่าเราต้องรักษาชีวิตคนเป็นหลัก ทางแก้ปัญหาคือเกษตรกรต้องทำฟาร์มระบบปิดที่ได้มาตรฐาน หากสามารถจัดระบบการบริหารจัดการฟาร์มที่มีคุณภาพได้ก็ไม่จำเป็นต้องใช้วัคซีน

แม้เชื้อไข้หวัดนก H5N1 ซึ่งเข้ามาระบาดในประเทศไทยจะไม่สามารถถ่ายทอดจากคนสู่คน เชื้อจะติดต่อด้วยการสัมผัสกับสัตว์ปีกโดยตรง หรือสัมผัสมูก เลือด ของไก่เท่านั้น และการกินไก่สุกที่ผ่านความร้อนในอุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไปถือว่าปลอดภัย แต่เมื่อยังไม่มีทางแก้ปัญหาอย่างเด็ดขาดประชาชนก็ยังไม่มั่นใจ

"คาดว่าเราต้องใช้เวลาถึง 3 ปี จึงจะสามารถแก้ปัญหาไข้หวัดนกได้ ส่งผลให้นโยบายการส่งออกไก่ในอีก 3 ปี ข้างหน้าเปลี่ยนไปด้วย จากปัจจุบันที่สัดส่วนการส่งออกไก่ของไทยคือ ไก่สด 70% ไก่ต้มสุก 30% แต่ในปี 2551 จะส่งออกไก่สดแค่ 30% และไก่ต้มสุกถึง 70% ยุคล ลิ้มแหลมทอง อธิบดีกรมปศุสัตว์ ระบุ

ซึ่งความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับความเห็นของสมาชิกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสัตว์ปีก โดยจากการสอบถามความเห็นของสมาชิกฯที่เข้าร่วมประชุมในหัวข้อ ประเทศไทยต้องเป็นผู้นำการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ไข้หวัดนกของโลก เมื่อวันที่ 22 ต.ค.2547 พบว่า สัตวแพทย์ส่วนใหญ่ 52.48% เชื่อว่าต้องใช้เวลามากกว่า 3 ปี ประเทศไทยจึงจะปลอดจากโรคไข้หวัดนก

น.สพ.กิตติ ทรัพย์ชูกุล นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสัตว์ปีก กล่าวว่า หากการแก้ปัญหาไข้หวัดนกต้องใช้เวลาถึง 3 ปี เชื่อว่าอาชีพ เลี้ยงไก่ของไทยคงล้มทั้งกระดาน และราคาไข่ไก่จะขึ้นไปถึงฟองละ 6 บาท ตอนนี้ไข่ไก่ราคาฟองละ 4 บาท ซึ่งก็ถือว่าแพงมากแล้ว

โดยข้อเท็จจริงแล้วแม้จะไม่มีการใช้วัคซีน เชื้อไข้หวัดนกก็จะพัฒนาสายพันธุ์เองตามธรรมชาติอยู่แล้ว ดังนั้นข้อวิตกที่ว่าการทำวัคซีนจะทำให้เกิดการกลายพันธุ์อาจเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องนัก

การใช้วัคซีนมีส่วนกระตุ้นให้เกิดการกลายพันธุ์ก็จริง แต่เชื้อไข้หวัดนกมีการกลายพันธุ์อยู่แล้วแม้จะไม่ใช้วัคซีน ในประเทศจีนใช้วัคซีนป้องกันไข้หวัดนกมานานแล้ว และมีการพัฒนาวัคซีนอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นแม้เชื้อจะกลายพันธุ์เขาก็รับมือได้ แต่เหตุที่โรคนี้แพร่ระบาดในจีนมากเพราะเกษตรปกปิดข้อมูล น.สพ.กิจ สุนทร กรรมการบริษัท ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ จำกัด กล่าว

สำหรับประเด็นที่ว่าควรใช้วัคซีนในสัตว์ปีกเพื่อแก้ปัญหาไข้หวัดนกหรือไม่นั้น สมาชิกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสัตว์ปีกมีความเห็นใกล้เคียงกัน คือผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้วัคซีนมี 47.52% ขณะที่ผู้ที่เห็นด้วยมี 52.48% แต่การใช้วัคซีนต้องเป็นมาตรการเสริมจากมาตรการเดิมที่ทำอยู่แล้ว คือ การทำลายสัตว์ การควบคุมการเคลื่อนย้าย และที่สำคัญต้องมีระบบป้องกันโรคที่ดี รวมทั้งติดตามและควบคุมการใช้วัคซีนอย่างใกล้ชิด

น.สพ.บัณฑิต ลีลายนะ สำนักเทคนิคและวิชาการสัตว์เลี้ยง เครือเจริญโภคภัณฑ์ ระบุว่า หากจะมีการทำและใช้วัคซีนไข้หวัดนกในฟาร์มเลี้ยงไก่ของไทย ในเบื้องต้นควรดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น กรมปศุสัตว์ และหากบุคลากรของรัฐไม่เพียงพอก็ดึงเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จากภาคเอกชนเข้ามาช่วย อีกทั้งต้องดำเนินการตามข้อกำหนดดังนี้ 1) ฟาร์มที่จะใช้วัคซีนต้องเป็นฟาร์มมาตรฐาน สามารถติดตามผลในสัตว์ปีกทุกตัวได้ 2) ต้องมีทั้งไก่ที่ฉีดวัคซีนและไม่ฉีดวัคซีนอยู่ในฟาร์มเดียวกัน เพื่อที่จะสามารถตรวจสอบได้ว่ามีเชื้อไข้หวัดนกแพร่เข้ามาในฟาร์มหรือไม่ เพราะไก่ที่ฉีดวัคซีนจะตรวจไม่พบเชื้อ 3) วัคซีนต้องได้คุณภาพตามมาตรฐานขององค์กรโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ(OIE) และวัคซีนที่ใช้ต้องเป็นแบบเดียวกันทั่วประเทศ 4) ต้องทำวัคซีนในครบโด๊ส และครบตามโปรแกรมที่กำหนด 5) ต้องมีการเจาะเลือดและตรวจหาเชื้อเป็นประจำ ทั้งไก่ที่มีการทำวัคซีนและไก่ ที่ไม่ได้ทำวัคซีน 6) เมื่อระดับภูมิคุ้มกันของไก่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดต้องทำวัคซีนซ้ำทันที 7) ถ้าตรวจผลการแยกเชื้อแล้วยังให้ผลเป็นบวก (Positive) ต้องทำลายไก่ทิ้งทั้งหมด โดยภาครัฐจ่ายค่าชดเชยให้ 8) ต้องมีการพัฒนาเชื้อไวรัสที่นำมาทำวัคซีนทุก 2-3 ปี ตามสายพันธุ์ที่ระบาด เพื่อให้ทันกับการพัฒนาการของเชื้อที่จะพัฒนาขึ้นตามธรรมชาติ และ 9) ฟาร์มใดที่ต้องการทำวัคซีนต้องแจ้งให้กรมปศุสัตว์ทราบ เพื่อที่จะสามารถติดตามผลได้

การแพร่ระบาดของไข้หวัดนกส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทผู้ผลิตและส่งออกไก่ รวมถึงบริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์ลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ไตรมาสแรกของปี 2547 ขาดทุนสุทธิ 598.37 ล้านบาท บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) ครึ่งแรกของปีนี้ ขาดทุน 292.46 ล้านบาท ส่วนบริษัทลีพัฒนาผลิตภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) ช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2547 มีกำไรสุทธิ 38.64 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 14.29 ล้านบาท และหากไม่สามารถขจัดปัญหาไข้หวัดนกให้หมดไปได้บริษัทเหล่านี้ก็จะยิ่งย่ำแย่ลงอีก

ปัญหาขณะนี้คือแม้ภาครัฐและบริษัทผู้ผลิตและผู้ส่งออกไก่จะเห็นด้วยว่าควรใช้วัคซีน แต่ไม่มีใครกล้าออกหน้าผลักดันเรื่องนี้เพราะเกรงจะขัดแย้งกับนโยบายรัฐบาลที่ประกาศออกมาก่อนหน้านี้ กรมปศุสัตว์จึงทำได้เพียงเสนอของบ 300 ล้านบาท เพื่อพัฒนาห้องปฏิบัติการ และโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดนกที่ปลอดภัยและสามารถผลิตวัคซีนได้ 100 ล้านโด๊ส ซึ่งคงไม่ทันการณ์ เพราะโครงการนี้ต้องใช้เวลาถึง 2 ปี จึงจะสำเร็จ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.