เปิดแผนสินเชื่อ 5 ปีธสน.ปล่อยกู้ลงทุนชาติลุ่มน้ำโขง - ปี 48 เป้า 1 แสนล.


ผู้จัดการรายสัปดาห์(26 พฤศจิกายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

ธสน. วางแผนสินเชื่อใหม่ มุ่งปล่อยกู้ให้นักธุรกิจที่จะเข้าไปลงทุนในประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง ตามด้วยเอเชียตะวันตกและเอเชียตะวันออก พร้อมทั้งเร่งจัดทำข้อมูลเชิงลึกของแต่ละประเทศ เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการตัดสินใจ หวังดันไทยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว

จากที่ภาวะการลงทุนซึ่งเคลื่อนไหวและเติบโตอยู่ตลอดเวลา ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) จึงได้ออกนโยบายในการปล่อยสินเชื่อใหม่ เป็นแผนระยะยาว 5 ปี (ปี 2548-2552) โดยจะเน้นการปล่อยกู้เพื่อการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น จากเดิมที่มุ่งปล่อยกู้ให้แก่ภาคการส่งออกเป็นหลัก ทั้งนี้เพราะต้องการเพิ่มช่องทางการลงทุนของนักธุรกิจให้มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งแนวคิดนี้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการขยายการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) ก็สนับสนุนให้นักธุรกิจไทยไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อนำเงินตราเข้าประเทศ

“เนื่องจากธนาคารอื่นๆมีการปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการที่ลงทุนภายในประเทศอยู่แล้ว ขณะที่นักลงทุนที่จะไปลงทุนในต่างประเทศนั้นหาแหล่งเงินกู้ค่อนข้างยาก ธสน.จึงหันมาปล่อยกู้ให้แก่นักลงทุนเหล่านี้มากขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งจากนโยบายการปล่อยสินเชื่อใหม่นี้เชื่อว่าจะทำให้ยอดสินเชื่อในปี 2548 ของ ธสน.จะเพิ่มขึ้นจากปี 2547 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท เป็น 1 แสนล้านบาท และกำไรเพิ่มขึ้นจากปี 2547 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 500 ล้านบาท เป็น 530 ล้านบาท ในปี 2548” สถาพร ชินะจิตร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย กล่าวกับ ‘ผู้จัดการรายสัปดาห์’

แผนของ ธสน. ก็คือจะเน้นปล่อยกู้ให้แก่นักธุรกิจที่เข้าไปลงทุนในประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง อันประกอบด้วย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เป็นอันดับแรก เนื่องจากเห็นว่าประเทศเหล่านี้มีทรัพยากรอยู่มาก ค่าแรงงงานถูก และที่สำคัญจะเป็นการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในภูมิภาคแถบนี้ กลุ่มถัดไปจะปล่อยกู้ให้แก่นักธุรกิจที่จะไปลงทุนในประเทศแถบเอเชียตะวันตกและเอเชียตะวันออก ทั้งนี้เพราะการดูแลและการบริหารจัดการสามารถทำได้สะดวกกว่าในประเทศที่อยู่ห่างไกล

ประเภทกิจการของธุรกิจที่ขอสินเชื่อเพื่อการลงทุนในประเทศและต่างประเทศก็มีความแตกต่างกัน โดยสินเชื่อในประเทศส่วนใหญ่จะเป็นกิจการที่เกี่ยวกับการผลิตสินค้าประเภทอาหาร สินค้าเกษตรแปรรูป เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ และอัญมณี ส่วนสินเชื่อเพื่อลงทุนในต่างประเทศ มักเป็นกิจการกิจการประเภทสาธารณูปโภค และเหมืองแร่

ปัจจุบันประเทศที่ ธสน. ปล่อยกู้ให้แก่ผู้ประกอบการที่จะเข้าไปลงทุนมากที่สุดคือ พม่า โดยมียอดสินเชื่อรวม 9,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนร่วมระหว่างนักธุรกิจไทยและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของพม่า เนื่องจากประเทศพม่ายังเป็นประเทศสังคมนิยมซึ่งกิจการส่วนใหญ่ยังอยู่ในการควบคุมของภาครัฐ อีกทั้งรัฐบาลไม่ค่อยส่งเสริมการลงทุนของบริษัทข้ามชาติ ทำให้การลงทุนร่วมกับหน่วยงานของรัฐมีความเสี่ยงน้อยกว่าการเข้าไปเปิดบริษัททำธุรกิจโดยลำพัง

นอกจากนั้น ธสน.ยังมีแผนที่จะศึกษาและจัดทำฐานข้อมูลทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านภายใต้กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อการค้าการลงทุน โดยในปี 2548 จะเริ่มศึกษาข้อมูลของประเทศเวียดนามก่อนเป็นอันดับแรก เนื่องจากเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่และมีศักยภาพด้านการค้าและการลงทุนสูงมาก อีกทั้งกำลังมีการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 9 ที่จะเชื่อมต่อสะพานข้ามแม่น้ำโขง บริเวณ จ.มุกดาหาร ของไทย กับสะหวันนะเขตของลาว ไปยังดานังของเวียดนาม ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จปลายปี 2548

“เราจะจัดทำข้อมูลเชิงลึกซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่นักธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนในต่างประเทศ ผู้ลงทุนจะได้มีข้อมูลรอบด้าน ทั้งในแง่สภาพเศรษฐกิจ แรงงาน วัตถุดิบ กฎหมายและระเบียบปฏิบัติต่างๆ และเพื่อให้ได้ข้อมูลอย่างครบถ้วน ธสน.จึงใช้เวลาศึกษาและจัดทำโดยเฉลี่ยประเทศละ 1 ปี ซึ่งในปี 2549 คาดว่าจะทำข้อมูลของประเทศอินโดนีเซียหรืออินเดีย แล้วแต่ความเหมาะสม” กรรมการผู้จัดการ ธนส.ระบุ

จากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นพบว่าปัจจุบันเวียดนามกำลังเร่งพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและปรับปรุงกฎหมายเพื่อส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติ รวมทั้งกระตุ้นภาคส่งออกของเวียดนามเอง ก่อนจะเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกในปีหน้า ขณะเดียวกันเวียดนามถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรถึง 82.7 ล้านคน ซึ่งกิจการที่นักธุรกิจไทยน่าจะเข้าไปลงทุนมากที่สุดคือการท่องเที่ยวและบริการ

ทั้งนี้ เวียดนามไม่อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติถือกรรมสิทธิ์อย่างถาวร แต่จะให้สิทธิในการใช้ที่ดิน(Land Use Right)ในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งราคาค่าเช่าจะแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ เป็นที่น่าสังเกตว่าอัตราค่าเช่าที่ดินในเขตศูนย์กลางเศรษฐกิจอย่างฮานอยและโฮจิมินห์อยู่ในระดับที่สูงมาก ขณะที่ที่ดินในเขตรอบนอกเมือง รวมทั้งเขตนิคมอุตสาหกรรม และเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ สำหรับอัตราค่าจ้างแรงงานอยู่ในระดับต่ำในทุกพื้นที่ ส่วนค่าสาธาณูปโภคพื้นฐานโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับหลายประเทศในเอเชีย รวมทั้งไทยด้วย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.