|

เปิดแผน 3 กระทรวงเศรษฐกิจ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(4 มกราคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
จากประมาณการณ์คาดว่าในปีหน้าแนวโน้มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะชะลอตัวลง ขณะที่ราคาสินค้าเริ่มปรับตัวสูงขึ้น และราคาน้ำมันซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตยังคงผันผวน รัฐบาลจะทำเช่นไรในสถานการณ์เช่นนี้
พินิจ จารุสมบัติ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) ซึ่งถือเป็นหน่วยงานด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้พูดคุยกับ ‘ผู้จัดการรายสัปดาห์’ ถึงทิศทางการดำเนินงานในปี 2548 ของหน่วยงานดังกล่าว
กระทรวงอุตสาหกรรมวางเป้าหมายการดำเนินงานไว้อย่างไร
ในปีหน้าเราจะเน้นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมต้นน้ำ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่ทดแทนการนำเข้า พร้อมทั้งส่งเสริมอุตสาหกรรม SME ที่สำคัญจะต้องมีการรวมกลุ่มกันเป็นคลัสเตอร์เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตและเพิ่มศักยภาพให้แก่ภาคอุตสาหกรรมนั้นๆ
แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมนั้นจะต้องมุ่งไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยี เนื่องจากอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานนั้นมีกำไรต่ำ นอกจากนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างกระทรวงบางส่วนเพิ่มเติมอีก ซึ่งรายละเอียดอยู่ระหว่างการดำเนินการ
การดำเนินงานของกระทรวงพาณิชย์ในปีหน้าจะเป็นอย่างไร
ผมให้นโยบายกระทรวงพาณิชย์ไปว่าจะเน้นเรื่องประสิทธิภาพมากกว่าปริมาณ เพราะเป็นกระทรวงที่บทบาทในการขับเคลื่อนทางการค้าและการตลาด ปัจจุบันตลาดโลกมีการแข่งขันสูง กฎกติกาทางการค้าเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะการเปิดเสรีการค้า FTA และการค้าภายใต้กรอบขององค์การการค้าโลก(WTO) ประเทศต่างๆมักไม่ใช้มาตรการทางภาษีเพื่อกีดกันการค้าแต่จะนำประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน หรือปัญหาแรงงานมาเป็นข้ออ้างในการกีดกันการค้าแทน กระทรวงพาณิชย์ จึงต้องรู้รอบด้านเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดยุคใหม่ ที่ผ่านมาได้มีประชุมร่วมระหว่างกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อที่จะบูรณาการร่วมกัน
กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายว่ายอดการส่งออกในปี 2548 จะสูงถึง 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 4,000,000 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปี 2547 ที่ยอดการส่งออกอยู่ที่ 90,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์ต้องบุกเบิกตลาดส่งออกใหม่ไปพร้อมๆกับการพัฒนาตลาดเก่า ต้องดูช่องทางว่าสินค้าตัวไหนสามารถส่งออกไปยังตลาดใดได้บ้าง อีกทั้งต้องประสานกับภาคการผลิต คือ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้ประกอบการต่างๆ ที่สำคัญต้องแจ้งให้หน่วยงานเหล่านี้ทราบว่าผู้ซื้อต้องการสินค้าแบบใด
ประเทศไหนบ้างที่กระทรวงพาณิชย์จะเข้าไปเปิดตลาด
ก็มี อินเดีย อินโดนีเซีย จีน ประเทศแถวอ่าวเบงกอน ประเทศในแถบตะวันออกกลาง แถบแอฟริกา ประเทศที่แยกออกจากรัสเซีย ประเทศออสเตรเลียซึ่งลงนามการเปิดเขตการค้าเสรี FTA กับไทยไปเมื่อวันที่ 1 ม.ค.2547 ส่วนตลาดเก่า อย่าง สหรัฐ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ฯลฯ เราก็ต้องเพิ่มช่องทางทางการค้าให้มากยิ่งขึ้น
กระทรวงพาณิชย์จึงต้องทำงานหนักขึ้น
ทั้งนี้ในส่วนของการส่งออกสินค้านั้น เราเน้นเรื่องการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเฉพาะสินค้าเกษตร เช่น แทนที่จะขายข้าวสาร ก็ส่งเสริมให้แปรรูปเป็นเส้นหมี่ ขนม หรืออาหารกึ่งสำเร็จรูป นอกจากการส่งออกสินค้าแล้ว ประเทศไทยจะต้องส่งออกทุน เทคโนโลยี และประสบการณ์ในการทำงานด้วย โดยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยที่มีความเข้มแข็งในการดำเนินธุรกิจ อย่าง โรงงานน้ำตาล โรงสีข้าว โรงงานผลิตยางรถยนต์ ไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น
กระทรวงพาณิชย์จะมีการปรับโครงสร้างกระทรวงใหม่หรือไม่
เราจะปรับโครงสร้างกระทรวงโดยจะโยกบางหน่วยงานไปสังกัดกระทรวงอื่น เช่น กรมการประกันภัยจะย้ายไปอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงการคลัง จริงๆแล้วกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรมควรจะเป็นกระทรวงเดียวกัน แล้วตั้งเป็นกระทรวงการค้าและผู้ประกอบการ
สคบ.จะมีการปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงานอย่างไรหรือไม่
นโยบายในปีหน้าจะเน้นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจะต้องเร่งเพิ่มศักยภาพการดำเนินงานเพื่อให้สามารถดูแลผู้บริโภคที่ถูกหลอกลวงหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการซื้อสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะผลักดันให้ สคบ.เป็นองค์กรอิสระ มีอำนาจพิจารณาให้คุณให้โทษแก่ผู้ประกอบการได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป ขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมาย
โครงสร้างของคณะกรรมการบริหาร สคบ.จะมาจากตัวแทนหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยการสรรหาของคณะกรรมการสรรหาฯ ซึ่งคาดว่าการตั้ง สคบ.เป็นองค์กรอิสระจะแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2549 และในระหว่างนี้ก็จะโยก สคบ.มาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์ก่อน เพราะเป็นหน่วยงานที่ดูแลด้านการค้าโดยตรง
พร้อมกันนั้นจะมีการปรับปรุงกฎหมายของ สคบ.ด้วย เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายดังกล่าวไม่ได้ให้อำนาจเด็ดขาดแก่ สคบ.ในการจัดการผู้ผลิตสินค้าที่เอาเปรียบผู้บริโภคทำให้บริษัทเหล่านี้ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก อาทิ มีการระบุให้ชัดเจนว่าลักษณะอย่างไรบ้างที่เข้าข่ายเอาเปรียบผู้บริโภค เช่น สินค้าไม่มีคุณภาพ ราคาสูงเกินจริง โฆษณาหลอกลวง การลดแลกแจกแถมหรือการชิงโชคที่ทำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าเพราะหวังรางวัลหรือของแถมมากกว่าตัวสินค้า ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติและมีขั้นตอนที่รวดเร็วขึ้น
ที่สำคัญผมอยากให้เขียนกฎหมายที่เกี่ยวกับการซื้อบ้านแยกออกมาเป็นหมวดหมู่ต่างหาก เพราะปัญหาการซื้อบ้านถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับประชาชน ส่วนเรื่องธุรกิจขายตรงก็ต้องกำหนดให้ชัดว่ากรณีใดที่ทำได้หรือทำไม่ได้ ตอนนี้ได้ให้นโยบายไปแล้ว สศบ.กำลังพิจารณาปรับปรุงร่างกฎหมาย รัฐบาลสมัยหน้าสามารถนำกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาได้ทันที
ในส่วนของกระทรวงแรงงาน วางนโยบายไว้อย่างไร
กระทรวงแรงงานจะวางยุทธศาสตรในการพัฒนาฝีมือแรงงานใหม่ โดยเปลี่ยนจากการมุ่งพัฒนาฝีมือในกลุ่มอาชีพที่ใช้แรงงาน เช่น การก่อสร้าง เย็บปักถักร้อย ช่างกลโรงงาน มาเป็นการพัฒนาฝีมือในกลุ่มอาชีพที่ใช้เทคโนโลยี เช่น คอมพิวเตอร์ ซอฟแวร์ เนื่องจากอาชีพเหล่านี้สามารถนำรายได้เข้าประเทศได้จำนวนมหาศาล เพราะราคาและกำไรต่อหน่วยสูง ขณะที่การส่งออกสินค้าประเภทอื่นมีต้นทุนสูงแต่กำไรน้อย
อย่างไรก็ดีการพัฒนาทักษะแรงงานดังกล่าวต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งจะเข้ามามีบทบาทในการให้ความรู้และฝึกอบรม เชื่อว่าแนวทางการพัฒนาแรงงานดังกล่าวจะทำให้แรงงานไทยมีศักยภาพละตรงกับความต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|