“สินสาคร”เร่งผุดนิคมฯเฟส 3 ดันไทยเป็นฮับการพิมพ์ในภูมิภาค


ผู้จัดการรายสัปดาห์(28 มกราคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

นิคมการพิมพ์สินสาคร เร่งขยายเฟส 3 รับยุคตลาดสิ่งพิมพ์บูม มุ่งเจาะกลุ่ม SME หลังยอดจองเฟส 1-2 กระฉูด ผู้บริหาร เผย ใช้การรวมกลุ่มคลัสเตอร์และอุตสาหกรรมแบบครบวงจรเป็นจุดขาย หวังดันไทยเป็นศูนย์กลางการพิมพ์ในภูมิภาค มั่นใจเปิดดำเนินการได้ในเดือน เม.ย.48

เห็นได้ชัดว่าในปี 2547 ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์มีอัตราการขยายตัวสูงมาก มีการเปิดตัวหนังสือใหม่แถบทุกเดือน และแนวโน้มตลาดหนังสือในปี 2548 ก็คาดว่าจะเติบโตราว 20% ประกอบกับเป็นปีแห่งการเลือกตั้งซึ่งจำเป็นต้องใช้สื่อสิ่งพิมพ์เป็นปัจจัยหลักในการโฆษณาหาเสียง ธุรกิจสิ่งพิมพ์จึงยังคงเป็นกลุ่มธุรกิจที่น่าสนใจ

จากการแข่งขันอย่างดุเดือดภายใต้กรอบการค้าเสรี จึงเกิด ‘นิคมอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์สินสาคร’ ซึ่งนับเป็นนิคมอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทยและแห่งแรกของโลก ขึ้นเมื่อวันที่ 9 ม.ค.2547 และได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้ประกอบการโดยได้มีผู้จองเข้าใช้พื้นที่ของนิคมฯในเฟส 1 และเฟส 2 ถึง 99% แล้ว

สมศักดิ์ ดารารัตนโรจน์ ประธานกรรมการบริหาร นิคมอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์สินสาคร จึงได้ประกาศเปิดตัวนิคมฯ เฟส 3 ซึ่งมุ่งเจาะกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจสิ่งพิมพ์ขนาดกลางและขนาดเล็ก ต่างจากเฟส 1 และเฟส 2 ที่เน้นผู้ประกอบการขนาดใหญ่

“ธุรกิจสิ่งพิมพ์จะอยู่รอดได้มีเพียง 3 วิธีเท่านั้น คือรวมตัวกันเป็นคลัสเตอร์ สร้างความแตกต่างทางธุรกิจ หรือออกสินค้าใหม่ๆ เราจึงสร้างนิคมอุตสาหกรรมที่มีลักษณะเป็นคลัสเตอร์คือสามารถรองรับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร ซึ่งจะช่วยลดค่าขนส่งและลดต้นทุนวัตถุดิบ” ประธานกรรมการบริหาร นิคมอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์สินสาคร กล่าว

ขณะนี้มีผู้ประกอบการรายใหญ่เข้าลงทุนในนิคมฯเป็นจำนวนมาก เช่น บริษัท อัมรินทร์ พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) บริษัท ที เค เอส เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) และบริษัท แปลน พริ้นติ้ง จำกัด นอกจากผู้ประกอบการไทยแล้วยังมีต่างชาติที่ให้ความสนใจเข้าจับจองพื้นที่ด้วย อาทิ บริษัทผลิตสติกเกอร์ จากสิงคโปร์ บริษัทผลิตหมึกพิมพ์ จากมาเลเซีย และบริษัทแปรรูปกระดาษ จากญี่ปุ่น

นิคมอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์สินสาคร ตั้งอยู่บริเวณถนนธนบุรี-ปากท่อ ตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร มีเนื้อที่รวม 860 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่เพื่อสาธารณูปโภคประมาณ 260 ไร่ และเป็นพื้นที่ให้เช่า 600 ไร่ ซึ่งประกอบด้วย เฟส 1 และเฟส 2 เนื้อที่รวม 400 ไร่ เฟส 3 พื้นที่ 200 ไร่

นิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นนิคมฯการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ที่ครบวงจร ตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ เช่น แปรรูปกระดาษ ผลิตหมึกพิมพ์ ทำเพท แยกสี ทำฟิล์ม อุตสาหกรรมกลางน้ำ คือ ขบวนการพิมพ์ต่างๆ จนถึงอุตสาหกรรมปลายน้ำ เช่น เข้ารูปเล่ม ทำไดคัท ประกอบกล่องบรรจุภัณฑ์ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถซื้อวัตถุดิบต่างๆได้จากโรงงานภายในนิคมฯ ขณะเดียวกันก็สามารถขายสินค้าให้กับผู้ผลิตรายอื่นๆในนิคมฯด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย ลดระยะเวลาและค่าขนส่ง รวมถึงช่วยลดต้นทุนการผลิตได้เป็นอย่างมาก

อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์สินสาครได้จัดทำสต็อกวัตถุดิบต่างๆ เช่น กระดาษ หมึกพิมพ์ เพื่อให้โรงงานในนิคมซื้อและเบิกได้ตลอดเวลา ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการไม่ต้องสร้างโกดังและลงทุนเก็บสต็อกวัตถุดิบ นอกจากนั้นนิคมฯยังบริการตรวจเช็คและซ่อมบำรุงเครื่องจักรให้แก่โรงงานต่างๆภายในนิคมฯตลอด 24 ชั่วโมง โดยคิดค่าบริการในราคาถูก

นิคมฯยังมีจุดเด่นด้านทำเลที่ตั้ง เนื่องจากอยู่ใกล้กับกรุงเทพฯซึ่งเป็นแหล่งรวมของการผลิตและจัดจำหน่ายสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ทำให้สะดวกในการขนส่งและทำตลาด และเมื่อนิคมฯเปิดดำเนินการในเดือน เม.ย.2548 ก็จะมีการจัดทำระบบลอจิสติกส์รองรับทันทีซึ่งจะช่วยให้การบริหารจัดการในเรื่องการจัดเก็บและขนส่งสินค้าง่ายขึ้น อีกทั้งจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้อย่างมาก

ที่สำคัญผู้ประกอบการในนิคมฯการพิมพ์จะได้รับสิทธิประโยชน์ใกล้เคียงกับเขตส่งเสริมการลงทุนเขต 3 อาทิ ผู้ประกอบการที่ดำเนินกิจการอยู่แล้วแต่ย้ายเข้ามาตั้งอยู่ในนิคมฯการพิมพ์จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี หากเป็นกิจการที่ตั้งขึ้นมาใหม่จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี ได้รับยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเวลา 2 ปีครึ่ง

นอกจากพื้นที่สำหรับประกอบกิจการอุตสาหกรรมแล้ว นิคมฯยังได้จัดสรรพื้นที่เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ที่จะเข้าทำงานในนิคมฯด้วย โดยจะสร้างแฟลต 29 หลัง (หลังละ 80 ห้อง) และทาวเฮาส์ตามความต้องการของผู้อยู่อาศัย โดยคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าที่มีผู้เข้าอยู่ถึง 15,000 คน

ทั้งนี้ในอนาคตนิคมอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์สินสาครมีแนวคิดที่จะจัดทำระบบจัดจำหน่ายและทำตลาดให้แก่ผู้ประกอบการสิ่งพิมพ์ในนิคมฯด้วย ด้วยการดำเนินการที่ครบวงจรดังกล่าวจึงจัดว่านิคมแห่งนี้เป็นแรงดึงดูดหนึ่งที่จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการพิมพ์ในภูมิภาคนี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.