‘เพิ่มสินสตีล’รุกสร้าง 2 โรงงานใหม่ เพิ่มทุน 100 ล้านจ่อคิวเข้าตลาดหุ้น


ผู้จัดการรายสัปดาห์(18 มีนาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

บริษัทเพิ่มสินสตีล เตรียมยื่นไฟลิ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เม.ย.นี้ โดยเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 400 ล้าน เป็น 5000 ล้าน ‘ชูเกียรติ ยงวงศ์ไพบูลย์’ เผย จะออกขาย 100 ล้านหุ้น เพื่อระดมทุนไปใช้สร้างโรงงานใหม่ 2 แห่ง พร้อมทั้งเร่งขยายกำลังการผลิตและออกผลิตภัณฑ์ใหม่อีก 3 ตัว หวังดันรายได้ปี 48 เพิ่มเป็น 2.2 พันล้านบาท

เป็นที่น่าสังเกตว่าปีนี้ธุรกิจเหล็กต่างพากันจ่อคิวกันเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัท เพิ่มสินสตีลเวิคส์ จำกัด (มหาชน) ก็เป็นบริษัทหนึ่งที่กำลังเตรียมตัวเข้าตลาดเพื่อนำเงินมาใช้ในขยายกำลังการผลิตเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้แก่บริษัท

ชูเกียรติ ยงวงศ์ไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพิ่มสินสตีลเวิคส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ ‘ผู้จัดการรายสัปดาห์’ ถึงแผนการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มสิน ว่า บริษัทเพิ่มสินจะยื่นไฟลิ่งในต้นเดือน เม.ย.นี้ โดยจะเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 400 ล้านบาท เป็น 500 ล้านบาท โดยออกหุ้นจำนวน 100 ล้านหุ้น (ราคาพาร์หุ้นละ 1 บาท ) เพื่อระดมทุนมาใช้การสร้างงานผลิตเหล็ก C-Line (เหล็กที่ใช้ในการยึดฝ้าเพดาน) และโรงงานงานผลิตแผ่นหลังคาเคลือบสารโพลียูลิเทน (PU) ส่วนเงินที่ได้จากการระดมทุนในส่วนที่เหลือนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทต่อไป

“โรงงานทั้ง 2 แห่งดังกล่าว จะอยู่ที่มหาชัย จ.สมุทรสาคร บนเนื้อที่ประมาณ 1 หมื่นตารางเมตร โดยจะใช้เงินลงทุนประมาณ 120 ล้านบาท ขณะนี้การก่อสร้างคืบหน้าไป 40% แล้ว ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถเดินเครื่องได้ในเดือน มิ.ย.2548 ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพิ่มสินสตีลเวิคส์ จำกัด (มหาชน) ระบุ

นอกจากนั้นยังมีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตและออกผลิตภัณฑ์ใหม่อีกหลายตัว โดยแผนงานในปี 2548 บริษัทเพิ่มสินจะกำลังการผลิตในหลายผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1) หลังคาเหล็ก จะเพิ่มกำลังการจาก 2 ล้านตารางเมตรต่อปี เป็น 3 ล้านตารางเมตรต่อปี 2) เหล็กเคลือบเคมีด้วยไฟฟ้า เพิ่มกำลังการผลิตจาก 4.5 พันตันต่อปี เป็น 6 พันตันต่อปี

สำหรับแผนงานในการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในปีนี้นั้น มี 3 รายการ คือ

1) แผ่นหลังคาเคลือบสารโพลียูลิเทน (PU) ซึ่งมีคุณสมบัติป้องกันความร้อน กันไฟ และกันเสียง ใช้ในการสร้างโรงงาน โดยจะนำออกจำหน่ายในเดือน เม.ย.นี้ และจะผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 6 แสนตารางเมตรต่อปี คาดว่าจะสามารถทำรายได้ได้ประมาณ 100 ล้านบาทต่อปี

2) เหล็ก C-Line ซึ่งเป็นเหล็กที่ใช้ในการยึดฝ้าเพดาน โดยวางเป้าหมายว่าจะผลิตออกมาประมาณ 10 ล้านเส้นต่อปี และ 3) เหล็กกล้าแรงดึงสูงชุบสังกะสี รูปตัวซี (C) จะผลิตจำนวน 1.2 หมื่นล้านตันต่อปี

“การเพิ่มกำลังการผลิตและออกผลิตภัณฑ์ใหม่ดังกล่าวจะทำให้ในปี 2548 บริษัทเพิ่มสินมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 2.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2547 ที่มีรายได้ 1.6 พันล้านบาท ถึง 37.5% ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพิ่มสินสตีลเวิคส์ จำกัด (มหาชน) กล่าว

บริษัทเพิ่มสินฯเป็นบริษัทผลิตและจำหน่ายเหล็กรีดเย็นที่ใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ เครื่องใช้สำนักงาน เช่น โต๊ะ ตูเอกสาร เครื่องใช้ไฟฟ้า และโครงสร้างอาคาร มีจุดเด่นเรื่องความพร้อมด้านเครื่องไม้เครื่องมือในการตัดและผ่าเส้นเหล็ก สามารถซื้อวัตถุดิบได้จำนวนมากและราคาถูกเนื่องจากมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ค้าเหล็กรีดเย็นรายใหญ่ บริษัทมีการรับประกันสินค้า ในกรณีที่สินค้ามีปัญหาผู้ซื้อสามารถนำสินค้ามาเปลี่ยนได้ อีกทั้งยังมีทีมวิศวกรที่คอยให้คำปรึกษาแก่ลูกค้าในเรื่องการขึ้นรูปเหล็กอีกด้วย

มียอดขายเหล็กรีดเย็นที่ใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ปีละ 1 แสนตันต่อปี เหล็กกล้าแรงดึงสูง ซึ่งมีความยืดหยุ่นสูงและใช้ในการก่อสร้างโรงงาน 1.2 หมื่นตันต่อปี เหล็กเคลือบเคมี 6 พันตันต่อปี แผ่นหลังคา 2 ล้านตารางเมตรต่อปี โดยส่วนใหญ่ 95% เป็นการขายภายในประเทศ และที่เหลืออีก 5% ส่งออกไปยังจีน อินเดีย บังคลาเทศ และเวียดนาม

ชูเกียรติ ยงวงศ์ไพบูลย์ มั่นใจว่าการดำเนินธุรกิจของบริษัทเพิ่มสินฯมีทิศทางที่สดใส เนื่องจากในปี 2548 มีการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์และการก่อสร้างค่อนข้างสูง ส่งผลให้ความต้องการเหล็กรีดเย็นเพิ่มขึ้นด้วย ปัจจุบันประเทศไทยสามารถผลิตเหล็กรีดเย็นได้ประมาณ 2.2 ล้านตันต่อปี ขณะที่ความต้องการทั้งระบบสูงถึง 6 ล้านตันต่อปี แม้ว่าโรงงานผลิตเหล็กรีดร้อนในไทยหลายแห่งกำลังดำเนินการขยายกำลังการผลิต แต่ปัจจุบันยังไม่มีโรงงานเหล็กรีดเย็นภายในประเทศโรงงานใดที่มีแผนจะขยายโรงงานหรือเพิ่มกำลังการผลิต ทำให้ปริมาณความต้องการเหล็กรีดเย็นในตลาดมีมากกว่าปริมาณสินค้า

นอกจากนั้นขณะนี้ประเทศต่างๆยังมีความต้องการใช้เหล็กเพิ่มขึ้น โดยในปี 2548 จีนจะเพิ่มการผลิตรถยนต์อีก 1 เท่าตัว และมีโครงการก่อสร้างต่างๆเพิ่มขึ้น ด้านอินเดียกำลังจะเปิดประเทศ จึงต้องเร่งดำเนินการปรับปรุงสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ และคาดว่าเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวก็จะมีการก่อสร้างเพิ่มขึ้น ส่วนสหรัฐอเมริกา ก็กำลังมีการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมหนัก

ขณะที่รัสเซียมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนสถานะจากผู้ส่งออกเหล็กมาเป็นผู้นำเข้า เนื่องจากปัจจุบันเศรษฐกิจภายในประเทศรัสเซียดีขึ้นจึงมีโครงการก่อสร้างเพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการเหล็กเพิ่มสูงขึ้นด้วย เห็นได้ชัดว่ายอดส่งออกเหล็กของรัสเซียลดลงกว่าช่วง 2 ปีที่ผ่านมาถึง 60%

“ตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นเหล็กขาดตลาด แต่เชื่อว่าในไตรมาส 4 ปีนี้ เหล็กจะมีราคาสูงขึ้น เนื่องจากขณะนี้ตลาดมีความต้องการเพิ่มขึ้น ที่เห็นได้ชัดคือ ในปีนี้บริษัทรถยนต์และบริษัทด้านอุตสาหกรรมไฟฟ้าเพิ่มการลงทุนในไทยมากขึ้น อย่าง บริษัทนิสสัน โตโยต้า และอีซูซุ ต่างก็เร่งเพิ่มกำลังการผลิต” ชูเกียรติ ยงวงศ์ไพบูลย์ กล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.