เครื่องนุ่งห่มไทยรอฟัน 2 แสนล.เร่งตกลงเอฟทีเอ สหรัฐฯ-ญี่ปุ่น


ผู้จัดการรายสัปดาห์(6 พฤษภาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม จี้รัฐเร่งเจรจาเอฟทีเอ เปิดสินค้าเสื้อผ้า สิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม หวังกระฉูดตลาดนอก ระบุขณะนี้โอกาสทองของไทยมาถึงแล้ว ทั้งในสหรัฐฯ และญี่ปุ่น คาดหากเปิดฟันกำไรเพิ่มอีก 50 % กว่า 2 แสนล้านบาทเข้าประเทศ ส่วน กทม.เมืองแฟชั่น คืบหน้าอีกระดับ

กาสชัย แจ่มขจรเกียรติ อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เปิดเผยถึง การเจรจาเอฟทีเอ ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา และไทยกับญี่ปุ่นว่า ในส่วนของอุตสาหกรรมสิ่งทอเครื่องนุ่งห่มรอคอยสิ่งนี้อยู่ เพราะจะช่วยส่งเสริมขยายการส่งออกสินค้านี้ในต่างประเทศ โดยมั่นใจว่า หากเจรจาเอฟทีเอ เป็นที่ตกลงระหว่างไทย-สหรัฐ จะเพิ่มยอดการส่งออกของไทย อีก 50 % สำหรับไทย-ญี่ปุ่น จะทำให้เพิ่มยอดอีก 10 % คิดเป็นมูลค่าของตลาดรวม 2 แสนล้านบาท จากปัจจุบันยอดรวมที่ส่งออก มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท เพิ่มจากปีก่อน 11.5 % และตั้งเป้าส่งออกปีนี้โต 17-20 % ขณะที่ยอดการส่งออกไตรมาสแรกของปี 2548 อยู่ที่ประมาณ 6 %

อย่างไรก็ตาม คาดว่าการเจรจาเอฟทีเอ ระหว่างไทย-สหรัฐอเมริกาจะแล้วเสร็จภายในต้นปี 2549 และไทย-ญี่ปุ่นจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ เพราะมีความพยายามอย่างสูงเพื่อประสานให้สำเร็จ และถือเป็นโอกาสทองของไทยที่จะส่งไปจำหน่ายที่ญี่ปุ่นที่มีการนำเข้าเครื่องนุ่งห่มถึง 80 % ต่อปี จากความขัดแย้งด้านความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ญี่ปุ่น หรือการที่จีนส่งสินค้าเกินดุลเข้าสหรัฐฯเป็นจำนวนมหาศาลส่งผลต่อความมั่นใจในคุณภาพและสินค้า คาดว่าจะเกิดปัญหาต่อสินค้าจีนในอนาคตอันใกล้นี้แน่นอน

ทั้งนี้ปัญหาที่ติดอยู่ขณะนี้ในการเจรจา คือเงื่อนไขที่ต้องเจรจาในทุกอุตสาหกรรม ซึ่งมีบางอุตสาหกรรมที่ยังถูกมองว่าหากเจรจาแล้วไทยจะเสียเปรียบอย่างมาก โดยเฉพาะสินค้าภาคเกษตร และภาคบริการ รวมถึงความไม่เข้าใจในภาคสาธารณจากองค์กรเอกชนที่รัฐต้องเร่งชี้แจง

สำหรับกำลังการผลิตในปัจจุบัน อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า มีความพร้อมที่จะรองรับความต้องการของตลาดโดยเฉพาะภาคการผลิตที่มีแนวโน้มว่าในอนาคตอันใกล้นี้จะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ

จากสถานการณ์ปัจจุบันในฐานะ OEM รับจ้างผลิต มาเป็น Super OEM คือพัฒนาศักยภาพการผลิตและยกระดับขึ้นเป็นแบรนด์-การออกแบบ และการแบ่งกลุ่มพัฒนาคุณภาพสินค้าเพื่อรับการแข่งขันเสรี ทั้งหมดนี้เป็นความจำเป็นของโรงงานต่างๆ ที่ต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงการควบรวมโรงงานขนาดเล็กเข้าด้วยกันเพื่อเพิ่มศักยภาพ มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยการผลิตเรื่องมาตรฐาน นำผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาต่อยอดสินค้าทั้งเรื่องคุณภาพและปริมาณเพื่อตอบสนองตลาด โดยเฉพาะการสร้างความแตกต่าง

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจจะส่งผลถึงโรงงานผลิตเสื้อผ้าระดับเล็ก-กลาง ที่ไม่สามารถอยู่ได้ในภาวะการแข่งขันสูง โรงงานขนาดกำลังการผลิต 5,000-10,000 คนจะเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้ รวมไปถึงการย้ายฐานการผลิตจากต่างประเทศเข้ามาในไทยจากปัจจัยที่เอื้อหลายประการ ซึ่งปรากฎการณ์ดังกล่าวเริ่มเกิดขึ้นแล้ว เมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา

ส่วนความคืบหน้าของโครงการผลักดันกรุงเทพฯเมืองแฟชั่น อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในเฟส 1 ขั้นตอนที่ 2 คือ ทั้ง 11 โครงการตามแผนกำลังเข้าสู่ช่วงปฎิบัติการ 6 โครงการ คาดว่าต่อจากนี้อีก 18 เดือน แผนงานต่างๆจะเป็นไปตามแผนแม่บทที่ได้วางไว้ ซึ่งเวลานี้อยู่ระหว่างคัดเลือกในทุกส่วนที่จะเข้ามาร่วมพัฒนา เช่น ผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาสายธารการผลิต การออกแบบ การพัฒนาทั้งในและต่างประเทศ และมีกิจกรรมการเสนอผลงานออกสู่สายตาประชาชนเป็นระยะๆ ที่สำคัญคือการพยายามให้แนวทางต่อการปรับตัวแก่บรรดาผู้ประกอบการ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.