ปัดฝุ่น"ไทยโก้"ลุยตลาดเครื่องไฟฟ้า ส่ง3สินค้าชิมลางปลุกกระแสนิยมไทย


ผู้จัดการรายสัปดาห์(29 กรกฎาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

เปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ไทย "ไทยโก้" ที่โชว์เมดอินไทยแลนด์จำหน่ายทั่วประเทศ ระดมพันธมิตร 10 ราย เดินหน้าด้วยทุน 50 ล้าน มีกุลธรเคอร์บี้ถือ 49 % ลดขนาดโครงการเดิมที่ครอบคลุมทุกประเภทเครื่องไฟฟ้า เหลือ 3 ตัวหลัก อาทิ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า พร้อมจับมือ 7-Eleven เจาะตลาดให้ผู้บริโภคพิสูจน์คุณภาพ!

สุรพร สิมะกุลธร รองประธานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานกลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และประธานบริษัท กุลธรเคอร์บี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความคืบหน้าในการผลักดันสินค้าแบรนด์ไทย ภายใต้ชื่อ "ไทยโก้" (Thaico) ว่า ในการประชุมล่าสุดมีมติว่าจะเดินหน้าต่อโครงการนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาหาหุ้นส่วนเพิ่มเติม อีก 1-2 รายใหญ่ ที่จะร่วมถือหุ้น 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ โดยในส่วนของบริษัทฯจะถือหุ้นใหญ่ 49% ซึ่งจะมีประมาณ 10 รายร่วมลงทุน

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ตกลงว่าจะปรับขนาดของอุตสาหกรรมไทยโก้ให้มีขนาดเล็กลง เพื่อให้เกิดความเหมาะสมตามสภาพ โดยยื่นจดทะเบียน 50 ล้านบาท จากแผนเดิม 100 ล้านบาท และจะผลิตสินค้า3-4 ประเภท อาทิ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เป็นต้น

"เบื้องต้นจะผลิตสินค้าโดยจ้างโรงงานที่มีอยู่ในประเทศ เพราะหากตั้งโรงงานจะต้องใช้ทุนสูง และอาจถูกต่อต้าน จากนั้นจะจ้างมืออาชีพมานั่งบริหารงาน"

สุรพร กล่าวยอมรับว่า ที่โครงการนี้มีความล่าช้า มาจากความกล้าๆกลัวๆของผู้ประกอบการ ในเรื่องการยอมรับสินค้าไทย และราคาของชิ้นส่วนวัสดุที่ปรับสูงขึ้น จากปัจจัยราคาน้ำมัน อาทิ ทองแดง เหล็ก พลาสติก ในขณะที่ราคาเครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ปรับราคา หรือปรับได้น้อย จึงไม่คุ้มกับการลงทุน

"ปัญหาใหญ่ประการสำคัญคือ คนไทยไม่นิยมใช้สินค้าไทย ทำให้เป็นปัญหาทางตลาด"

สินค้าที่ผลิตขึ้นในประเทศหลายตัว จำเป็นต้องไปใช้ชื่อต่างประเทศ โดยเฉพาะแบรนด์ญี่ปุ่น เป็นเรื่องใหญ่ที่ผู้ลงทุนส่วนใหญ่มองเห็นและไม่กล้าเสี่ยง

"ทั้งๆที่สินค้าไทยมีคุณภาพ และมาตรฐานที่ไม่ต่างจากต่างประเทศ แต่คนไทยกลับไม่มั่นใจ หลายตัวที่ขายดีในตลาด ทั้งๆที่ผลิตในประเทศ แต่ขายดีได้เพราะใช้สัญชาติจากประเทศอื่น"

ดังนั้น ช่องทางหนึ่งที่ได้วางไว้ และได้เจรจาไปแล้ว คือการจำหน่ายสินค้า หนึ่งในเป้าหมายคือ ร้าน 7-Eleven ที่มีอยู่ทั่วประเทศกว่า 5,000 แห่ง จะทำให้สินค้าที่จะผลิตกระจายอยู่ในตลาด คาดว่าจากนี้ 4-5 ปีจะเห็นเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ไทยโก้อยู่ในตลาด

"หากสินค้าประสบผลสำเร็จก็จะผลักดันเข้าตลาดฯ เพื่อกระจายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปได้เข้ามามีส่วนร่วม ก่อนที่จะตั้งโรงงานขึ้นมาผลิตสินค้าของตนเอง และกระจายครอบคลุมให้ครบในทุกประเภทสินค้า" รองประธานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าว

ปัจจุบัน สินค้าไทยหลายตัวทำตลาดอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง เช่น แอฟริกา และเวียตนาม โดยประทับสัญญาลักษณ์ว่าผลิตจากประเทศไทยโดยตรง และขณะนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมมือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศ เพื่อสร้างมาตรฐานคุณภาพขึ้นมา ในนาม "คิวมาร์ท" เพื่อให้การรับประกันสินค้าที่ผลิตได้ตามมาตรฐานสินค้าคุณภาพดี เพื่อการันตีให้กับลูกค้า ผู้บริโภคทั่วไปได้มั่นใจในการเลือกใช้สินค้าไทยที่ดี มีคุณภาพและราคาไม่สูงเกินไปด้วย ถือเป็นการยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าไทยอีกระดับหนึ่ง

ทั้งนี้ "ไทยโก้" ริเริ่มมาตั้งแต่สมัยของ สมศักดิ์ เทพสุทิน ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยต้องการให้ไทยมีสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นของตนเอง หลังจากที่พบว่าหลายประเทศมีแบรนด์สินค้าของตนเอง อาทิ เกาหลี ไต้หวัน และจีน โดยมีสุรพร เป็นแกนนำในการผลักดันโครงการนี้ ภายใต้ชื่อไทยโก้ มีแผนงาน 5 ปี ที่จะผลิตสินค้าครอบคลุมเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกประเภท

ขณะที่มีรายงานระบุว่า ประเทศไทยต้องจ่ายค่าแบรนด์สินค้าสูง 2-5 % ของราคาสินค้า โดยปีหนึ่งๆ จะสูงประมาณ 36,000 ล้านบาท และในไตรมาสแรกของปี 2549 เสียดุลการค้าจำนวนมาก โดยเฉพาะจากเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องนำเข้ามากกว่าส่งออกรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวฝากถึงผู้บริโภคว่า การใช้สินค้าไทยเป็นการช่วยชาติมหาศาล และขณะนี้ สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์ มีการส่งออกเท่ากับ 1 ใน 3 ของสินค้าที่ส่งออกรวมทั้งประเทศ นอกจากนี้ ยังเป็นการกระตุ้นการบริโภคสินค้าภายในประเทศ ประหยัดเงินตรา และช่วยให้คนไทยมีงานไทยด้วย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.