อาร์.เอส.ฯเบรกค่ายยักษ์เปิดเพลงละเมิดสิทธิ์


ผู้จัดการรายวัน(18 สิงหาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

อาร์.เอส. ดีเดย์ เก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงแล้ว เบรก 3 ค่ายวิทยุยักษ์ เอไทม์ เวอร์จิ้น คลิค ถ้ายังไม่จ่ายค่าลิขสิทธิ์ไม่มีสิทธิ์เปิด ชี้เก็บค่าลิขสิทธิ์ 2.5% จากรายได้รวมของสถานี เร่งขยายช่องทาการสร้างรายได้เพิ่ม รุดเจรจาสายการบินต่างชาติ หวังผลปีนี้รายได้ถึง 200 ล้านบาท

นายสุทธิศักดิ์ ประศาสน์ครุการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดเก็บลิขสิทธิ์ไทย จำกัด ในเครือ บริษัท อาร์.เอส.โปรโมชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯเริ่มจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงในเครืออาร์.เอส.ฯกับสถานีวิทยุที่นำเพลงของอาร์.เอส.ฯไปเปิดอย่างจริงจังแล้วเมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา ซี่งขณะนี้มีค่ายสกาย-ไฮในเครืออาร์.เอส.ฯได้ขออุญาติเรียบร้อยแล้ว เป็นการเลื่อนจากแผนงานเดิมที่เตรียมจะเก็บค่าลิขสิทธิ์ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาแล้ว โดยอัตราการเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์นั้น บริษัทฯคิดอัตรา 2.5% ของรายได้รวมของสถานีนั้นๆ

ทั้งนี้หากค่ายเพลงใดหรือสถานีวิทยุใดที่เปิดเพลงของค่ายอาร์.เอส.ฯโดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาติลิขสิทธิ์แล้ว และยังไม่ได้จ่ายค่าลิขสิทธิ์จะไม่สามารถเปิดเพลงได้อีก โดยเฉพาะค่ายเอไทม์มีเดียของเครือจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ค่ายเวิอร์จิ้นเรดิโอ และค่ายคลิกเรดิโอ แต่ถ้าหากว่ามีการติดต่อเพื่อจ่ายค่าลิขสิทธิ์ก็สามารถที่จะดำเนินการได้ทันที

นอกจาก 3 ค่ายเพลงใหญ่นี้แล้ว บริษัทฯยังอยู่ระหว่างการเจรจาติดต่อกับหน่วยงานและองค์กรอื่นอีกมาก เช่น บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ซึ่งคาดว่าจะสามารถสรุปรายละเอียดได้ในเร็วๆนี้ ขณะเดียวกันบริษัทฯยังมีแผนที่จะขยายช่องทางการจำหน่ายลิขสิทธิ์เพลงในค่ายของอาร์.เอส.ฯอีกมาก เพื่อเป็นการสร้างรายได้ด้วย โดยอยู่ระหว่างการเจรจากับหลายสายการบินทั้งในเอเซีย ยุโรป และอเมริกา ที่จะนำเพลงในเครือของอาร์.เอส.ฯไปเปิดให้บริการบนเครื่องบิน คาดว่าการเจรจาจะสามารถสรุปและเริ่มดำเนินการได้ภายในต้นปีหน้า

หากแผนการขยายช่องทางใหม่ๆบรรลุผลแล้ว รวมทั้งการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงจากสถานีวิทยุต่างๆจากค่ายเพลงต่างๆ คาดว่าจะทำให้รายได้ในปีนี้ของบริษัทฯมีประมาณ 200 ล้านบาท หรือเติบโตประมาณ 20% จากรายได้ปีที่ผ่านมาที่ทำได้ 140 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นสัดส่วนรายได้จากการขายลิขสิทธิ์เพื่อการเผยแพร่ 80% และสัดส่วนจากการขายลิขสิทธิ์เพื่อทำซ้ำ 20% ซึ่งเพียงแค่เดือนกรกฎาคมเดือนเดียวมีรายได้เพิ่มจากเดือนมิถุนายนถึง 30% เพราะมีสาเหตุมาจากการที่บริษัทฯแบ่งการบริหารใหม่ออกเป็น 5 ทีมงาน ที่แบ่งการดูแลการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์แต่ละภูมิภาค

เขาให้ความเห็นด้วยว่า แผ่นซีดีเถื่อนมีการขยายตัวไปตามย่านชุมชนมากขึ้น หลังจากที่ภาครัฐมาปรามปรามตามศูนย์การค้าขนาดใหญ่และลดลงไปมาก แต่ในย่านชุมชนหรือหมู่บ้านตามต่างจังหวัดเริ่มมีมากขึ้น จึงขอความร่วมมือกับตำรวจภูธรเพื่อให้ดำเนินการในแต่ละท้องถิ่นต่อไป


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.