ไปรษณีย์ไทยเล็งตั้งบริษัทลูก ลุยธุรกิจด้านการเงิน-ค้าปลีก


ผู้จัดการรายวัน(18 สิงหาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ไปรษณีย์ไทยก้าวสู่ปีที่ 3 เจรจาสสว.เตรียมตั้งบริษัทลูกลุยธุรกิจด้านการเงินและค้าปลีก สร้างธุรกิจให้มีความหลากหลาย โดยการต่อยอดจากธุรกิจที่มีอยู่ พร้อมโชว์ผลประกอบการครึ่งปีแรกกำไร 333 ล้านบาท ตั้งเป้าสิ้นปีนี้กำไร 700 ล้านบาท

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการบริษัท ไปรษณีย์ไทย (ปณท) กล่าวถึงแผนการดำเนินงานเข้าสู่ปีที่ 3 ว่า ปณทมีแผนงาน 3 เรื่องหลักที่จะดำเนินการคือ 1.การรุกธุรกิจใหม่ๆ ให้มีความหลากหลายมากขึ้น 2.อาจมีการตั้งบริษัทลูก เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจในสิ่งที่ปณทไม่ถนัด เช่น การเงิน ค้าปลีก 3.การนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

สำหรับการตั้งบริษัทลูกของปณทขณะนี้ ได้มีการเจรจากับสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ไปบ้างแล้ว ส่วนจะเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนเมื่อไหร่ต้องขึ้นอยู่กับกระบวนการดำเนินการเป็นหลัก

การที่ปณท.มีแผนจะรุกเข้าไปในเรื่องของการเงิน หรือค้าปลีก เพราะมั่นใจในโครงสร้างพื้นฐานที่วางเอาไว้ เช่น ศูนย์ไปรษณีย์ที่มีอยู่ทั่วประเทศประมาณ 12-13 แห่ง ที่มีการสร้างอาคารไว้แล้ว มีพื้นที่ว่าง จึงมีแผนจะนำพื้นที่ดังกล่าวมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด บวกกับความเชี่ยวชาญด้านการจัดส่งของปณท เพื่อให้มีการเชื่อมทุกระบบตั้งแต่เจ้าของสินค้า การขนส่ง รวมถึงการจัดจำหน่าย

นายธีระพงศ์ สุทธินนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปณท กล่าวว่า สิ่งที่ปณทจะทำในปีที่ 3 คือ 1.ต้องเอาตัวเองให้รอด สามารถเลี้ยงตัวเองได้ 2.สร้างคุณภาพบริการ ความพึงพอใจกับลูกค้า และการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีของพนักงาน จากนโยบายตรงนี้ ปณทได้มีการปรับปรุงแบรนด์ใหม่ ที่จะต้องผูกใจพนักงานเข้าไปด้วย ส่วนสีจะเน้นแดงเป็นหลัก โดยใช้แดงขาว ขณะที่โลโกยังใช้แบบเดิม นอกจากนี้ ยังจะมีการเปลี่ยนเครื่องแบบพนักงานให้มีความทันสมัยมากขึ้น รถก็จะมีการทำให้มีสีสันใหม่ๆ มากขึ้น แผนดังกล่าวปณทจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ 9 ม.ค. 2549 เพราะเรื่องเหล่านี้ต้องใช้เวลา โดยเฉพาะการเตรียมใจให้พร้อมของพนักงาน

“เราจะไม่กระโดดโลดเต้นหวือหวา แต่จะปรับตัวเข้าสู่การทำงานในแบบใหม่ๆ แต่ยังเป็นบริการขั้นพื้นฐานสำหรับคนทั่วไป”

การให้บริการของปณทที่ผ่านมามี 4 บริการหลักคือ 1.บริการสื่อสาร เช่น จดหมาย ไปรษณียบัตร อีเอ็มเอส 2.ประเภทขนส่ง เช่น พัสดุภัณฑ์ 3.การเงิน เช่น ธนาณัติ ตั๋วแลกเงิน 4.ค้าปลีก โดยรับเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าต่างๆ เช่น เครื่องสำอาง จนถึงการเปิดให้เช่าพระเครื่องโดยมีรายได้หลักมาจากบริการประเภทสื่อสาร

ในรอบปีที่ผ่านมาปณทพยายามต่อยอดจากธุรกิจที่มีอยู่ เช่น รับหุ้มห่อ เก็บเงินให้ รับจ้างจ่าหน้าให้ ขณะเดียวกันก็พยายามสร้างพันธมิตรกับบริษัทอื่นที่สามารถทำงานร่วมกันได้ แม้บางอย่างจะต้องแข่งขันกันก็ตาม เช่น การร่วมกับไทยทิกเก็ต มาสเตอร์ ขายตั๋วกีฬา หรือตั๋วบันเทิงต่างๆ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมบริการใหม่ๆ เช่น รับส่งหนังสือหรือเอกสารจากงานนิทรรศการ

“ปีที่ 3 ก็คงทำเหมือนปีที่ 2 เพราะดีอยู่แล้ว แต่จะมีการต่อยอดออกไปให้มีความหลากหลายขึ้นจากสิ่งที่เราลงทุนไปแล้ว เหมือนการขายก๋วยเตี๋ยวที่มีเส้นเล็ก เส้นใหญ่ เส้นหมี่ ก็จะต้องมีบะหมี่ หมี่หยก เพราะถ้าเราหวังพึ่งจากธุรกิจสื่อสารเพียงอย่างเดียว หากมีการแข่งขันที่สูงขึ้นอาจไม่เป็นผลดี”

ด้านผลการดำเนินงานในรอบปี 2548 ช่วง 6 เดือนแรก ปณทมีรายได้จากการดำเนินงาน 6,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2547 ประมาณ 811 ล้านบาท หรือโตขึ้น 15% ขณะที่รายได้มีทั้งหมด 5,877 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,096 ล้านบาท หรือ 23% แต่ยังมีกำไร 333 ล้านบาทปัจจัยที่ทำให้ปณทมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น เพราะมีการปรับเงินเดือนพนักงาน 3% และ 2 ขั้น รายจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มจากรายได้บริการธนาณัติ 45 ล้านบาท และค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น 13 ล้านบาท และในเมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2548 ปณทตั้งเป้าไว้ว่าจะมีกำไรสูงถึง 700 ล้านบาท

“ในภาวะน้ำมันแพงเช่นนี้น่าจะเป็นโอกาสของเรา เพราะอาจจะทำให้ผู้ประกอบการบางรายเลิกงานด้านขนส่ง แล้วหันมาให้บริการของปณทแทน ขณะที่ปณทเองก็จะพยายามยืนราคาค่าบริการเดิมไว้ให้ได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้”


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.