เอกชนขานรับช่วยคุ้มครองธุรกิจแต่คนโฆษณาหวั่นสูญเสียโอกาส


ผู้จัดการรายวัน(2 กันยายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

เอกชนเห็นดีรัฐนำกฎหมายความลับทางการค้ามาใช้ เชื่อมีผลทำให้การประกอบธุรกิจได้รับความคุ้มครองดีขึ้น พร้อมแนะควรทำประชาสัมพันธ์ให้มากกว่านี้ เพราะเอกชนส่วนใหญ่ยังไม่มีความเข้าใจในกฎหมายดังกล่าวดีพอ ขณะที่วงการโฆษณาหวั่นสูญเสียโอกาสทางธุรกิจและเกิดปัญหาหากย้ายค่ายทำงาน

นายอาชว์ เตาลานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า เอกชนมีความเห็นด้วยกับการที่กระทรวงพาณิชย์ได้นำพ.ร.บ.ความลับทางการค้ามาใช้ เพราะเป็นผลดีกับผู้ประกอบธุรกิจที่จะมีช่องทางในการรักษาความลับในการประกอบธุรกิจไว้ได้

หลังจากที่ผ่านๆ มา การประกอบธุรกิจมักจะมีปัญหาความลับทางธุรกิจรั่วไหลเนื่องจากไม่มีช่องทางการป้องกัน แต่หลังจากที่กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว การนำเอาความลับของธุรกิจไปใช้จะได้รับการคุ้มครองดีขึ้น หากผู้ประกอบธุรกิจมีความเอาใจใส่อย่างเพียงพอ

“เอกชนก็รู้ๆ กันอยู่ว่าในการประกอบธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอะไรก็ตาม ล้วนแต่มีความลับในการประกอบธุรกิจอยู่ แต่ที่ผ่านมาการจะรักษาความลับตรงนี้ บางทีทำได้ยาก เพราะเอกชนไม่รู้ว่าจะใช้อะไรเข้ามาป้องกันเพราะไม่มีอะไรบังคับ จึงต้องหาทางป้องกันความลับทางธุรกิจด้วยตนเอง แต่เมื่อกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้

ช่องว่างตรงนี้ก็หมดไปเพราะเอกชนผู้ทำธุรกิจจะสามารถใช้กฎหมายนี้มาป้องกันความลับในการประกอบธุรกิจของตนเองได้ หากทำตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด” นายอาชว์กล่าว

นายอาชว์กล่าวว่า ต้องยอมรับว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายใหม่ เอกชนส่วนใหญ่ยังไม่มีความเข้าใจในกฎหมายฉบับนี้อย่างดีพอ และบางครั้งไม่รู้ว่าจะใช้กฎหมายฉบับนี้ให้เกิดประโยชน์ต่อการประกอบธุรกิจได้อย่างไร จึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ที่เป็นผู้บังคับใช้ตามกฎหมาย จะต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ภาคธุรกิจมีความเข้าใจกฎหมายฉบับนี้ ว่าเขาจะได้รับความคุ้มครองหรือจะได้รับประโยชน์จากกฎหมายนี้อย่างไร และมีหน้าที่ต้องทำอะไรบ้าง

“ถ้ารัฐโหมประชาสัมพันธ์ให้มากนักธุรกิจก็จะได้เข้าใจว่าในการประกอบธุรกิจของเขาเขาจะต้องหาทางรักษาความลับเอาไว้ จะได้มีความระมัดระวังในการประกอบธุรกิจเพิ่มขึ้น เพราะหากความลับทางธุรกิจถูกคู่แข่งขโมยไปอาจจะเป็นผลเสียต่อการประกอบธุรกิจได้ หรือถ้าไม่อยากให้ปัญหานี้เกิดขึ้น ก็ต้องหาทางในการป้องกันความลับโดยอาศัยเงื่อนไขตามกฎหมายมาใช้” นายอาชว์กล่าว

ส่วนผลเสียจากการมีกฎหมายฉบับนี้ นายอาชว์ กล่าวว่า ภาคเอกชนเห็นว่าไม่มี เพราะเป็นกฎหมายที่ร่างขึ้นมาเพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจประกอบธุรกิจได้ง่ายขึ้นและสะดวกขึ้น และไม่เป็นการปิดกั้นใครแต่เป็นการส่งเสริมให้คนทำธุรกิจมีความระมัดระวัง ในการประกอบธุรกิจ และถือเป็นการสร้างรากฐานในการทำธุรกิจที่ดี ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับประเทศในที่สุด

ส.โฆษณาฯหวั่นเสียโอกาสธุรกิจ

ด้านนายปราเมศร์ รัชไชยบุญ นายกสมาคมธุรกิจโฆษณาแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกฎหมายฉบับนี้ว่า จะส่งผลต่อวงการโฆษณาในหลายกรณี เช่น

หนึ่ง ประเด็นเรื่องความลับของข้อมูล ที่ต้องแยกให้ออกว่าข้อมูลใดคือความลับของลูกค้าและข้อมูลใดที่เป็นความลับของเอเยนซี่ เพราะการเสนองานกับลูกค้าแต่ละครั้งจะมีข้อมูลของเอเยนซี่โฆษณาที่คิดขึ้นมาเองและอีกส่วนหนึ่งเป็นข้อมูลจากลูกค้า ซึ่งที่ผ่านมาทำให้เกิดปัญหาคู่วงการเอเยนซี่ก็คือ ลูกค้าขโมยความคิดของเอเยนซี่ไปปรับใช้ในการโฆษณาเอง

สอง การรับงานลูกค้าที่เป็นคู่แข่งขันทางการค้า ซึ่งที่ผ่านมา มีลูกค้าเป็นจำนวนมากที่ไม่ต้องการให้เอเยนซี่รับลูกค้าที่เป็นคู่แข่งขัน ซึ่งบางครั้งทำให้เอเยนซี่เสียโอกาสทางธุรกิจ ยิ่งกรณีที่ลูกค้าเลิกสัญญาไปก่อนครบกำหนด

สาม ข้อกำหนดในสัญญาจ้างงานจะส่งผลต่อโอกาสการทำงานของคนในวงการเอเยนซี่

นายปราเมศร์ กล่าวว่า คนในวงการโฆษณาเกรงว่าบริษัทเอเยนซี่จะมีข้อผูกมัดในการเซ็นสัญญาจ้างงาน เช่น เมื่อลาออกจากบริษัทแล้วจะต้องไม่ไปทำงานในบริษัทที่ทำธุรกิจเดียวกันอย่างน้อย 1 ปี เพื่อป้องกันไม่ให้เอาความลับทางการค้าไปเปิดเผย แต่ความเป็นจริงในปัจจุบันคนในวงการเอเยนซี่มีการย้ายค่ายกันตลอดเวลาโดยไม่มีปัญหา เพราะไม่มีกฎหมายว่าด้วยเรื่องความลับทางการค้า

“ผมเกรงว่าหากเอเยนซี่หลายแห่งทำข้อสัญญาในการเข้าทำงานในเอเยนซี่ใหม่ จะส่งผลต่อคนโฆษณาที่ต้องทิ้งช่วงการทำงาน ซึ่งไม่น่าเกิดขึ้นเพราะเชื่อว่าคนในวงการเอเยนซี่มีจรรยาบรรณมากพอที่จะรักษาความลับของลูกค้าเอาไว้ได้” นายกสมาคมธุรกิจโฆษณาแห่งประเทศไทย กล่าว

ขณะที่นางมาลาทิพย์ คุณวัฒนา กรรมการผู้จัดการบริษัทเดนท์สึ แอนด์ รูบิแคม จำกัด กล่าวว่า กฎหมายนี้จะส่งผลดีและช่วยพัฒาวงการโฆษณามีมาตรฐานมากขึ้น และช่วยคุ้มครองผลงานโฆษณาตั้งแต่เริ่มต้นจนสำเร็จเป็นชิ้นงานโฆษณาออกจาก ซึ่งรวมถึงการวิจัย สร้างสรรค์ผลงาน การผลิตจนเป็นผลงานโฆษณาที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งจะทำให้นักโฆษณาไม่ขโมยความคิดของกันและกัน

ไพร้ซฯเชียร์สุดใจ

นายศิริพงษ์ ศุภกิจจานุสรณ์ หุ้นส่วนสายงานสำนักกฎหมาย ‘ไพร้ซวอเตอร์เฮ้าส์ คูเปอร์ส’ กล่าวแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า แม้ปัจจุบันไทยจะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาหลายฉบับด้วยกัน อาทิ พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า-เครื่องหมายบริการ ฯลฯ แต่ก็ยังถือว่าไม่ครอบคุมการประดิษฐ์คิดค้นต่างๆ ได้อย่างรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่ยังไม่สมบูรณ์ถึงขั้นที่จะต้องขอรับสิทธิบัตร

ดังนั้นเมื่อพ.ร.บ.ความลับทางการค้าถูกนำมาใช้ จึงถือเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถใช้เป็นมาตรการ ในการคุ้มครองผู้ประกอบการได้อย่างรอบด้านมากขึ้น ที่สำคัญคือมีกระบวนการลงโทษและค่าปรับที่เหมาะสมเมื่อเทียบกับกฎหมายเดิมที่มีอยู่ เช่น ถ้าเป็นบุคคลทั่วไป มีโทษจำคุก 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท แต่ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยราชการ มีโทษจำคุก 5-7 ปี ปรับตั้งแต่ 500,000-1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“ข้อมูลจากนิตยสารฟอร์จูนรายงานเอาไว้ชัดเจนว่า ในแต่ละปีมูลค่าความเสียหายที่เกิดจากการนำความลับทางการค้าไปเผยแพร่ของทั่วโลกนั้นสูงถึง 45 พันล้านเหรียญเลยทีเดียว โดยครึ่งหนึ่งคือ 50% เป็นข้อมูลที่รั่วไหลไปจากกิจการไฮเทค ส่วนอีก 30% เป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับวิชาชีพต่างๆ ส่วนในไทยยังไม่เคยมีการเก็บตัวเลขอย่างเป็นทางการชัดเจน

“ผมคิดว่า การที่ไทยออกกฎหมายฉบับนี้มา มีประโยชน์มาก เพราะผู้ประกอบการที่มีความสามารถในการคิดค้นจะเบาใจได้เยอะขึ้นว่า สิ่งที่ตัวเองสร้างสรรค์ขึ้นมา แม้จะยังไม่ถึงขีดสุดที่จะได้รับสิทธิบัตรหรือลิขสิทธิ์ แต่ก็ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้า”

อย่างไรก็ตาม นายศิริพงษ์ก็ยอมรับเช่นกันว่า การที่จะเข้าข่ายและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายนี้ บริษัทต่างๆ จะต้องสร้างมาตรการชั้นความลับเพื่อให้เข้าข่ายตามองค์ประกอบเสียก่อน

เช่น บริษัทอาจจะมีการทบทวนและเซ็นสัญญาจ้างกับพนักงานใหม่ทั้งหมด หรือกรณีที่เป็นบริษัทรับจ้างโฆษณาก็จะต้องระบุทุกครั้งเมื่อนำงานไปเสนอว่า ข้อมูลตรงไหนบ้างที่ถือว่าเป็นความลับทางการค้า เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำแนวคิดไปใช้โดยพละการ ขณะที่กลุ่มบริษัทที่รับจ้างผลิตสินค้า ก่อนที่จะรับจ้างผลิตสินค้าอะไร ก็จะต้องมีการเซ็นสัญญาเพื่อความปลอดภัยทุกครั้งเพื่อป้องกันตนเอง เป็นต้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.