หวั่นหนึ้บัตรเครดิตก่อวิกฤตการเงิน


ผู้จัดการรายวัน(30 สิงหาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

ยอดสมาชิกบัตรพลาสติกพุ่งไม่หยุด คาด อีกสองปีทะลัก 4.5 ล้านใบ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติผวามรสุมหนี้ทำคนไทยระดับล่างกลายเป็นบุคคลล้มละลาย เสนอรัฐบาลออกมาตรการควบคุมการออก บัตรเครดิตทั้งของสถาบันการเงินและไม่ใช่สถาบันการเงิน ติดดาบให้แบงก์ชาติสามารถดูแลธุรกิจบัตรเครดิตได้ทั้งหมด ขณะที่เลขาฯสภาพัฒน์ ก็ผวาภัยสงคราม-ราคาน้ำมันถีบ ตัวสูงจะทำให้เศรษฐกิจผันผวนได้จึงคงตัวเลขเศรษฐกิจโตที่ 3.5-4% ไม่คล้อยตามคลัง

แม้ว่าทิศทางโดยรวมของภาวะเศรษฐกิจไทยขณะนี้จะดีขึ้น แต่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลบางมาตรการ อาจจะย้อนกลับมาทำลายเศรษฐกิจได้ภายหลัง โดยเฉพาะหนี้เสียส่วนบุคคลผลจากการขยายตัวของบัตรเครคิตอย่างรวดเร็ว

ในการประชุมสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ วันนี้ (29 ส.ค.) ได้พิจารณาความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะทำงานกิจการสภาที่ปรึกษาฯ เกี่ยวกับ"นโยบายการเงินเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ" และเห็นชอบให้นำเสนอรัฐบาลเพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป

ผู้แทนคณะทำงานการบริการและการท่องเที่ยว ได้รายงานต่อที่ประชุมสภาที่ปรึกษาฯ ว่า ในปัจจุบันรัฐบาลได้มีการกระตุ้นการบริโภคภาย ในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นนโยบายที่ดีในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ในหลายๆมาตรการ รวมทั้งการออกบัตรเครดิตที่ลดเงื่อนไขการกำหนดรายได้ขั้นต่ำ จนผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ซึ่งเสมือนเป็นการปล่อยสิน เชื่อรายย่อย และผ่อนชำระในอัตราดอกเบี้ยสูง

ปัจจุบันพบว่า มีผู้ถือบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นอย่างมากโดยตัวเลขในเดือน มี.ค. 2545 มีบัตรเครดิตที่ออก โดยธนาคารพาณิชย์จำนวน 2.68 ล้านบัตร มียอดสินเชื่อคงค้าง 4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือน ม.ค. 2544 กว่า 8 แสนบัตร และยอดสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นกว่า 9 พันล้านบาท และคาดว่าบัตรเครดิตจะเพิ่ม ขึ้นเป็น 4.5 ล้านบัตรภายใน 2 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ การใช้บัตรเครดิต ส่วนมากจะเป็นการกู้เงินไปใช้จ่ายโดยไม่เกิดผลผลิต และต้องชำระดอกเบี้ยสูงเฉลี่ยกว่า 20% อาจจะเป็นผลให้ผู้ถือบัตรมีหนี้สินทับถมกลายเป็นบุคคลล้มละลายได้ และหากมีจำนวนมากจะกลายเป็นปัญหาต่อเนื่องทางสังคมและเศรษฐกิจ ดังที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นมาแล้ว

ดังนั้น คณะทำงานฯจึงมีข้อคิดเห็นและข้อเสนอ ต่อเรื่องดังกล่าว คือ

1. รัฐบาลต้องมีมาตรการทางการเงินที่เข้มงวด กับธุรกิจบัตรเครดิตที่ผ่านระบบสถาบันการเงินและธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน โดยกำหนดหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ 1.1 ไม่ควรมุ่งหวังที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการออกบัตรเครดิตให้ประชาชนใช้จ่ายมากๆ ซึ่ง เป็นการใช้จ่ายล่วงหน้า ถ้าหากผู้กู้มีรายได้ไม่ต่อเนื่อง ก็จะเกิดเป็นวิกฤตรอบใหม่ที่จะเกิดกับประชาชนโดย ตรง, 1.2 ให้มีการกำหนดรายได้ขั้นต่ำของผู้ขอมีบัตรเครดิตในระดับที่ไมˆต่ำจนเกินไป และ 1.3. ให้บัตรเครดิตทุกประเภทอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานเดียวคือธนาคารแห่งประเทศไทย

2. รัฐบาลควรจะมุ่งเน้นกระตุ้นการใช้จ่ายกับผู้ ที่มีเงินออม ให้ออกมาใช้จ่ายมากกว่าเดิมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

3. รัฐบาลควรจะกระตุ้นเศรษฐกิจโดยมุ่งเน้นการส่งออกเพื่อนำเงินตราเข้าประเทศให้มากขึ้น ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว ต่างจากการกระตุ้นการบริโภคจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้นเท่านั้น

สคช.ผวาสงคราม-ราคาน้ำมัน ป่วนภาวะเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง

ด้านนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์)ในฐานะกรรมการธนาคาร แห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการธปท.ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนี้ฟื้นตัวเล็กน้อยอย่างเป็นที่น่าพอใจโดยเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาไม่มีปัจจัยใดที่น่ากังวล

"โดยรวมก็ยังดีอยู่ ไม่มีตัวไหนแกว่งมากจนผิด ปกติ ยกเว้นพวกหุ้นแต่ก็ไม่ถือว่าผิดปกติ ซึ่งผมคิด ว่าอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้คลังปรับเป้าเศรษฐกิจก็ได้"

ด้านการประมาณการเศรษฐกิจ ของสภาพัฒน์เองนั้น นายจักรมณฑ์กล่าวว่าตลอดทั้งปีน่าจะอยู่ที่ประมาณ 3.5-4% เช่นเดิม ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2 นี้จะมากกว่าหรือน้อยกว่า 3.9% ซึ่งเป็นตัวเลขในไตรมาสแรก ไม่เกิน 0.3% โดยในวันที่ 17 ก.ย. นี้จะมีการแถลงตัวเลขจริงของเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2 และประมาณการตลอดทั้งปี และหากไม่มีปัจจัยตัวใดเปลี่ยนแปลงคาดว่าไม่น่าจะมีการปรับประมาณการ

เลขาฯสภาพัฒน์ กล่าวว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เดือนก.ค. นั้นคาดว่าน่าจะมีตัวเลขอยู่ที่ 0.3% ซึ่งไม่ถือว่าต่ำจนกลายเป็นเงินฝืด

"เงินเฟ้อน้อยมากไม่ได้แปลว่าเงินฝืด เพราะอาจมีสาเหตุมาจากการแข่งขันในตลาดเงินเฟ้อโลกต่ำ การส่งออกถูกกดราคาเพราะเราต้องใช้ปริมาณมากเพื่อรักษายอดขาย ยอดขายรถยนต์ที่เพิ่ม เหล่านี้เป็น ตัวกดเงินเฟ้อ แต่ไม่ใช่ฝืด เงินฝืดหมายถึงการชะงักการจับจ่ายใช้สอย"

ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนนั้น นายจักรมณฑ์ กล่าว ว่าไม่อ่อน แต่ไม่ถึงกับแข็งค่า ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เงินเฟ้อต่ำ

นายจักรมณฑ์กล่าวถึงสิ่งที่คณะกรรมการธปท. แสดงความเป็นห่วงว่าจะเป็นปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อ การขยายตัวของเศรษฐกิจคือสงครามระหว่างสหรัฐฯกับตะวันออกกลางแต่คาดว่าไม่น่าจะเกิดขึ้น รวมทั้งราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และการส่งสินค้าออกที่เริ่มลำบาก อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาสภาพัฒน์ได้ ประมาณการส่งออกทั้งปีเผื่อไว้แล้วที่ 1.7% จึงคาดว่า ไม่น่าจะกระทบตัวเลขเศรษฐกิจ
ส่วนประมาณการเศรษฐกิจในปี 46 นั้น นายจักรมณฑ์คาดว่าน่าจะอยู่ที่ 4-4.5% "ที่ดีที่สุดของไทยตัวเลขเศรษฐกิจน่าจะอยู่ที่ 5% แต่ถ้าไม่ถึงก็ค่อยยืดการชำระหนี้ออกไปอีกหน่อยแต่ถ้าเกินกว่านั้นก็ไม่ดีเหมือนกันเพราะพื้นฐานเราไม่ แข็งแรงพอ" เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าว ก่อนหน้านี้ 1 วัน กระทรวงการคลังได้แถลงประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจใหม่โดยเห็นว่า เศรษฐกิจจะเติบโตสูงกว่าที่คาดไว้ 3.5% ภายในปีนี้เป็น 4-4.5% และในไตรมาสที่ 2 คาดว่าจะเติบโตสูงถึง 4.9%



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.