4 ปีพลิกตลท.สู่ตลาดทุน


ผู้จัดการรายวัน(16 สิงหาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

"กิตติรัตน์ ณ ระนอง" ผู้จัดการตลาดหุ้นคนที่ 9 ให้สัมภาษณ์ ทุกแง่มุมกับ "ผู้จัดการรายวัน" หลังนั่งเก้าอี้ใกล้ครบเทอม 4 ปีในวันที่ 9 กันยายนนี้ มองย้อนภาพเมื่อ 4 ปีที่แล้ววันนี้ตลาดหุ้นไทยกำลังเจือจางแปลงร่างสู่ตลาดทุนไทย ท่ามกลางการรอคอยการตัดสินใจต่อหรือไม่ต่อวาระผู้จัดการสมัยที่ 2 ซึ่งยังคงเป็น หัวข้อ TALK OF THE TOWN ในเวลานี้

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวถึงภาพตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ภาพตลาดหุ้นไทยเปลี่ยน ความเป็นตลาดหุ้นเจือจางลงไป โดยมีสิ่งที่เข้ามาทดแทนเสริมแต่งเป็นภาพ "ตลาดทุน" มากขึ้น แม้ว่าปัจจุบัน เราจะยังเรียกตลาดหลักทรัพย์ว่าเป็นตลาดทุนได้อย่างสมบูรณ์ไม่มากนักก็ตาม

เพราะองค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งเรื่องตลาดตราสารหนี้ที่ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก ซึ่งเหตุผลหนึ่ง คงเพราะตลาดตราสารหนี้ในปัจจุบันยังไม่มีพันธบัตร รัฐบาลเข้ามาซื้อขาย รวมถึงตลาดอนุพันธ์ที่จะเพิ่งเป็นรูปเป็นร่างได้ในปี 2548

ส่วนศูนย์รับฝากข้อมูลก็ยังเปิดให้บริการเมื่อ ไม่นานมานี้ แต่ก็ถือว่าองค์ประกอบที่ครบถ้วนที่สะท้อนภาพของตลาดทุนที่สมบูรณ์ในอนาคตได้

"ครั้งแรกที่ผมได้รับทาบทามให้เข้าดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ยอมรับว่าคิดหนักเหมือนกัน เพราะผมออกไปจากวงการที่เกี่ยว- ข้องกับภาคตลาดทุนกว่า 4 ปี แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ เข้ามาทำในช่วงแรกๆ นั้นล้วนเป็นเรื่องการให้ความรู้ ไม่ว่าจะเป็นให้ความรู้เยาวชน นักลงทุน ให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนให้มากขึ้น"

ปัจจุบันการส่งเสริมในเรื่องของการให้ความรู้ดังกล่าวได้สะท้อนออกมาหลายช่องทางผ่านสื่อหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสถานีโทรทัศน์ Money Channel UBC 97 หรือจะเป็นหนังสือที่เกี่ยวข้องกว่า 50 เล่ม หรือจะเป็นทางวิทยุ ซึ่งบทบาทและหน้าที่ ดังกล่าวจะต้องส่งไปยังผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์คนใหม่ด้วย

นายกิตติรัตน์ยอมรับด้วยว่า การทำงานบางอย่างในความรู้สึกบางเรื่องคืบหน้ามาก บางเรื่อง คืบหน้าน้อย แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สะท้อนได้อย่างชัดเจนในขณะนี้คือ กรอบของตลาดทุนไทยเริ่มกว้าง ขึ้นจากอดีต แต่หากถามว่าสิ่งที่ได้ทำมาเกือบ 4 ปี พอใจมากแค่ไหน คงตอบได้เพียงว่า ยังไม่พอใจ

"ผมยังไม่พอใจ แม้ที่ผ่านมาสิ่งที่ทำหลายๆ อย่างในช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะเรื่องการให้ความรู้ แม้เราเดินมาไกล ทำมาเยอะ แต่ก็ยังมีเยอะที่ยังไม่ได้ทำ เพราะหนทางในการพัฒนาภาคตลาดทุนของไทยยังอีกไกลมาก โดยเฉพาะเรื่องการสร้างความเข้าใจในภาคการลงทุนในประชาชนซึ่งปัจจุบันยังถือได้ ว่าสัดส่วนคนที่ไม่เข้าใจในการลงทุนมากกว่าคนที่เข้าใจ"

ปัจจุบันหากจะมองการเติบโตของตลาดอื่นๆ เพื่อเทียบเคียงกับตลาดหุ้น ซึ่งอาจจะนิยามกลุ่มการเติบโตของตลาดได้เป็น 4 ระดับ คือ 1.ตลาดที่ประเทศไทยเป็นคนผลิตและใช้ในประเทศ หรือ IN-IN 2.ตลาดที่เป็นการนำวัตถุดิบเข้ามาใช้ในการผลิต หรือ OUT-IN 3.ตลาดที่ผลิตในประเทศแล้วนำออก ไปขาย หรือเรียกว่า IN-OUT และสุดท้าย 4. คือตลาดที่ผลิตในประเทศที่ 2 แล้วส่งไปขายในประเทศที่ 3 หรือเรียกว่า OUT-OUT

นายกิตติรัตน์กล่าวอีกว่า ที่ต้องยกทฤษฎีข้าง ต้นมาประกอบ เพื่อจะบอกว่าปัจจุบันภาคตลาดทุนของไทยยังอยู่ในระดับที่ 2 ซึ่งก็ถือว่ามีการเติบโตขึ้นมาก ตั้งแต่ตลาดหลักทรัพย์ก่อตั้งขึ้นจนถึงสมัย อาจารย์มารวย ผดุงสิทธิ์ เป็นผู้จัดการตลาดหุ้น ตลาดทุนไทยอยู่ในระดับที่ 1 เท่านั้น ซึ่งหากมีการตั้งคำถามต่อว่าคนไทยที่เข้าไปลงทุนในต่างประเทศมีไหมนั้น ก็ตอบได้เลยว่ามีแต่ยังน้อยมาก ส่วนใหญ่ IN-OUT หรือการที่เราไปลงทุนในต่างประเทศ ปัจจุบัน ยังต้องลงทุนผ่านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)ทั้งหลาย แต่ถึงแม้ว่าจะมีการลงทุนในต่างประเทศแต่เราก็ยังพูดไม่ได้ว่ามีผู้จัดการกองทุนคนไหนที่ได้ขึ้นชื่อว่ารู้จักตลาดหุ้นในต่างประเทศดี

หากเราเปรียบเทียบในเรื่องดังกล่าวกับประเทศ ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ ประเทศเหล่านั้นเค้าอยู่ในขั้นที่ 4 กันแล้ว

ในส่วนของการทำงานที่ผ่านมา เรื่องที่ต้องถือว่าเป็นเรื่องที่ยากที่สุด คือ การทำงานกับคนที่ไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้Ž ขออนุญาตยืมคำพูดของ รองศาสตราจารย์ ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาอธิบาย เพราะว่าหาก เรื่องใดก็ตามที่ผู้ที่เกี่ยวข้องรู้ดีเท่ากันหมด เรื่อง ที่จะทำนั้นถือว่าไม่ยาก แต่หากว่าผู้ที่เกี่ยวข้องรู้ว่า ตัวเองไม่รู้ การจะทำให้รู้ก็ยังเป็นเรื่องที่ไม่ยากมาก

"สิ่งที่ยากอย่างที่บอก คือการที่เราไม่รู้แม้กระทั่งว่าเราไม่รู้ในเรื่องนั้นๆ สิ่งที่พูดถึงคงสะท้อนได้ดีกับการทำงาน บางครั้ง บางเรื่อง บางประเด็น ต้อง มีถกเถียงกันจนทำให้เกิดเหตุที่ต้องขัดใจกัน ซึ่งงาน ที่ผมทำหลายครั้งที่พบกับเหตุการณ์แบบนี้ ซึ่งตอนนี้ก็ต้องกลับมานั่งเสียดายเวลาที่เถียงกัน จริงแล้วเอามาทำประโยชน์หรือคิดในเรื่องดีๆได้ตั้งหลายเรื่อง ยกตัวอย่างง่ายๆ เรื่องธุรกิจแอลกอฮอล์ ที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ ผมเชื่อว่ากลุ่มผู้คัดค้านส่วนใหญ่ ก็เป็นคนดี ซึ่งก็ต้องมีคนไม่ดีบ้าง ส่วนกลุ่มที่จะให้เข้าตลาดหลักทรัพย์ผมว่าเค้าก็เป็นคนดี แต่ยังต้องมีการถกเถียงเรื่องนี้ไม่รู้นานเท่าไหร่"

ขอยกตัวอย่างให้กรณีหนึ่ง มีอยู่ประเทศหนึ่งประกาศเปิดบ่อนขึ้นกลางเมือง ซึ่งก็ต้องมีทั้งฝ่ายที่เห็น ด้วยและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่ เกิดขึ้นฝ่ายที่เค้า ไม่เห็นด้วยเค้าก็ไม่เข้าไปเล่นการพนัน

ขณะที่ฝ่ายที่เค้าเห็นด้วยเพราะช่วยในเรื่องของ เศรษฐกิจ เขาก็ไม่ได้เป็นกลุ่มที่เข้าไปเล่นเหมือนกัน ทุกสังคมความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันมันต้องมีอยู่แล้ว แต่รู้ไหมตลาดหุ้นคือที่ที่คนมีความเห็นไม่ตรงกันมาก ที่สุด เพราะมีทั้งคนซื้อมีทั้งคนขาย บางวันซื้อขายกันมูลค่าเป็นพันล้าน บางวันก็ซื้อขายมูลค่าเป็นหมื่น ล้าน สิ่งนี้ที่สะท้อนให้ต้องมีการพูดถึงคำว่าธรรมา-ภิบาลกันอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา

"ระดับความรู้ความเข้าใจในสังคมก็ถือเป็น สิ่งสำคัญหากคนในสังคมมีความเข้าใจความรู้ในระดับที่ไม่เท่ากัน"

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะสะท้อนการเติบโตของภาคตลาดทุนจะต้องมีองค์ประกอบ 4 อย่าง คือ 1.Product ซึ่งแสดงถึงจำนวนบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ 2.Place คือความสะดวกของนักลงทุนในการซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งปัจจุบันการ ส่งคำสั่งซื้อขายเป็นไปในลักษณะคำสั่งตรง ไม่ต้องมีการผ่านบริษัทรองบริษัทหลักทรัพย์อีกทีเหมือนสมัยก่อน 3. Price คือ ค่าธรรมเนียมของการซื้อขาย ซึ่งบอกไม่ได้ว่าค่าธรรมเนียมที่ถูกเป็นเรื่องที่ดี เรื่อง ดังกล่าวต้องขึ้นอยู่ที่ความพอดีมากกว่า 4.Promotion หรือการส่งเสริมการขาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดงานในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างความสนใจให้มีมากขึ้น

หากพิจารณาหลักการทั้ง 4 เรื่องที่พูดถึงในแง่ ของบริษัทจดทะเบียนในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาที่เพิ่มขึ้นประมาณ 100 บริษัท และมีการเพิกถอนทั้งที่ต้องเพิกถอนและถูกสั่งให้เพิกถอนมีจำนวนประมาณ 10 บริษัท แม้จะมีมาตรการทางด้านภาษีเข้ามากระตุ้นก็ตาม ซึ่งเป็นเพียงมิติหนึ่งเท่านั้น เพราะหากเศรษฐกิจดีบริษัทก็พร้อมจะเข้าจดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์อยู่ดี

ขณะที่มาร์เกตแคปรวมของตลาดหลักทรัพย์ ที่เติบโตขึ้นจากระดับ 1.2 ล้านล้าน มาเป็น 4.6-4.7 ล้านล้านในปัจจุบันซึ่งโตขึ้นประมาณ 3 เท่าก็น่าจะสะท้อนการเติบโตได้ในระดับหนึ่ง

"ที่เราหวังคืออยากให้มาร์เกตแคปรวมมีขนาดเท่าเงินฝากของประชาชนในธนาคาร ซึ่งนายก-รัฐมนตรีเคยพูดไว้ว่าอยากให้มาร์เกตแคปของตลาด หุ้นไทยมีค่าเท่ากับจีดีพีของประเทศ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระดับ 7 ล้านล้านบาท"

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า เมื่อปี 2546 มีวันหนึ่งที่ปริมาณการซื้อขาย หรือวอลุ่มการซื้อขายสูงกว่า 6.4 หมื่นล้านบาท ตอนนั้นยอมรับว่ากังวล แต่เมื่อเราผ่านช่วงนั้นมาได้ ถึงขณะนี้เชื่อได้เลยว่าระบบคอม- พิวเตอร์ของตลาดหลักทรัพย์ในวันนี้จะสามารถรองรับวอลุ่มการซื้อขายในระดับแสนล้านได้อย่างไม่มีปัญหาแน่นอน

"ผมตั้งเป้าอยากให้ตลาดหลักทรัพย์เป็นตลาด หลักทรัพย์ที่ดีที่สุดในประเทศไทย นั่นคือการ ตอบสนองความคาดหวังของคนได้ทั้งหมดไม่ว่าจะเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่และพร้อมจะหาแนวทางใหม่ๆ เพื่อพัฒนาตลาดทุนไทย อย่างเรื่องที่เราจะต้องไปโรดโชว์กับ 15 บริษัทจดทะเบียนซึ่งน่าจะถือได้ว่าเป็น ครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะขนผู้บริหารระดับชั้นนำของประเทศไปเปิดตัวที่นครปักกิ่ง ประเทศจีน แต่สิ่งที่ผู้จัดการ ตลท.ทุกคน รับรู้ คือ ผู้จัดการตลท.มักจะไม่ได้ดูความสำเร็จ ของ เรื่องที่ตัวเองเริ่มต้นในสมัยที่ยังทำงานอยู่ และก็ต้องมีหลายเรื่องที่ผู้จัดการ ตลท.คนที่อยู่ในตำแหน่งจะได้รับผลจากผลงานของผู้จัดการ ตลท. คนก่อนๆ"

นายกิตติรัตน์กล่าวว่า ที่พูดเช่นนี้เพราะหลาย เรื่องที่ต้องใช้เวลากว่าจะเห็นเป็นรูปเป็นร่าง อย่างเรื่องตลาดตราสารหนี้ เริ่มกันครั้งแรกตั้งแต่ปี 2545 กว่าจะได้เปิดใช้ก็ปี 2546 ซึ่งตอนนี้แม้ว่าจะเปิดมาได้สักระยะแล้วก็ยังถือว่าไม่สมบูรณ์ ส่วนเรื่องตลาดอนุพันธ์ ยิ่งใช้เวลานานกว่าพระราชบัญญัติจะออกใช้ก็ปลายปี 2545 กว่าจะมีการแต่งตั้งให้ ตลท. เป็นหน่วยงานที่ดูแลก็ปลายปี 2546 ซึ่งกว่าจะจัดตั้งทีมงานกว่าจะเปิดให้มีการซื้อขายได้อีกใช้เวลาอีกปีกว่าๆ

ส่วนสิ่งที่น่าจะก้าวเข้าสู่ความสำเร็จในช่วงที่พ้นตำแหน่งผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์หลัง 9 กันยายน 2548 ไปแล้ว คงเป็นสถานีโทรทัศน์ Money Channel แม้ว่าวันนี้จะไม่ค่อยมีคนรู้จักเท่าไหร่ แต่ เชื่อว่าในอนาคตคนจะรู้จักแหล่งความรู้ที่ผมสร้าง ขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงจำนวนหนังสือที่ช่วยให้ความรู้ความเข้าใจที่เกี่ยวข้องการลงทุน การออม ทั้งเด็ก เยาวชน ตลอดจนประชาชน และกลุ่มนักลงทุนด้วย

"ผมทุ่มเทกับการทำงานทุกวันที่เข้ามารับตำแหน่ง ผมไม่เสียดายเวลาในการทำงานในช่วงเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา ผมอาจจะเสียดายบ้างก็เรื่องที่ผมมีเวลา ให้ครอบครัวน้อยไป แต่ถ้าถามว่าเมื่อครบวาระในวันที่ 9 ก.ย.นี้ผมจะทำอะไรต่อไปนั้น บอกได้แค่เพียงว่าตอนนี้ผมยังไม่ได้คิดถึงเรื่องนั้นเลย"

สำหรับธุรกิจโบรกเกอร์ขณะนี้ถือว่าเติบโตขึ้นจากที่มี 27 บริษัทหลักทรัพย์เมื่อช่วงแรกที่ได้เข้ามาเป็นผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ ขณะนี้ก็เพิ่มมาเป็น 38 บริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกตลาดหลักทรัพย์อยู่ ส่วนในอนาคตจะเปิดเสรีค่าธรรมเนียมซื้อขายหุ้น (ค่าคอมมิชชัน) หรือไม่เป็นเรื่องอนาคต แต่ส่วนตัวแล้วผมไม่เห็นด้วย

เนื่องเพราะที่ผ่านมาชี้ชัดแล้วว่า การเปิดเสรีฯทำให้มีปัญหาเรื่องการได้รับข้อมูลเพื่อช่วยเป็นเครื่อง- มือในการลงทุนในตลาดหุ้น เพราะปัจจัยพื้นฐานเป็น สิ่งสำคัญที่ต้องใช้ในการพิจารณา และนักลงทุนรายย่อยก็จะไม่มีเครื่องมือในการลงทุน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.