|

"เอ็ม ลิ้งค์" โบกมือลางานประมูลรัฐเปลืองตัวโดนด่าหันขายของแทน
ผู้จัดการรายวัน(16 สิงหาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
เอ็ม ลิ้งค์ทิ้งงานประมูลโครงการขนาดใหญ่ หลังเจอปัญหาต้องไฟแนนซ์หนักแถมถูกโจมตีหาว่าล็อกสเปกตั้งแต่ต้น ปรับแผนธุรกิจใหม่ เน้นขายมือถืออย่างเดียวโดยเฉพาะโนเกีย ที่เป็น 1 ใน 3 ผู้จำหน่ายหลัก
นายอนุสรณ์ อมรฉัตร กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็ม ลิ้งค์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า "โครงการบิลลิ่งของบริษัท กสท โทรคมนาคมจะเป็นโครงการขนาดใหญ่ของหน่วยงานรัฐโครงการสุดท้ายที่เอ็ม ลิ้งค์จะเข้าร่วมประกวดราคาในฐานะเป็น Bidder เพราะมีปัญหา 2 ด้านหลักๆ คือด้านการเงินซึ่งโครงการขนาดใหญ่จำเป็นต้องมีการลงทุนสูงและผู้เข้าร่วมประมูลรายอื่นๆ จะหาสินค้ามาแข่งกับเอ็ม ลิ้งค์ในการประมูล "
ภาพการประมูลโครงการขนาดใหญ่จะไม่เห็นอีกต่อไป งานประมูลยังไม่ได้โครงการก็ถูกตีแล้ว แค่เข้าร่วมประมูลก็มีกระแสข่าวว่าล็อกสเปก หรือเข้าไปฮั้วกับรายนั้นรายนี้ เพื่อให้เป็นผู้ชนะ แต่ความจริง เอ็ม ลิ้งค์เข้าไปอย่างโปร่งใส มีการหาเงินประกัน จัดหาอุปกรณ์ วางแผนคำนวณต้นทุนในการทำประมูลทุกครั้ง
เขายกตัวอย่างว่างานโครงการต่อไปสำหรับเอ็ม ลิ้งค์จะเป็นลักษณะเช่น สมมติเอ็ม ลิ้งค์ได้ไลเซนส์ซอฟต์แวร์บางตัวของหัวเหว่ย ที่จำเป็นต้องใช้ในการประมูลโครงการหนึ่ง เอ็ม ลิ้งค์ก็พร้อมขายซอฟต์แวร์ตัวนั้นให้ Bidder ที่สนใจ โดยบวกกำไรเข้าไป หรือการเป็นตัวแทนของทรังก์โมบาย โมโตโรล่า หากใครได้โครงการที่ไหนก็สามารถมาซื้อสินค้าหรือระบบจากเอ็ม ลิ้งค์ได้ แต่เอ็ม ลิ้งค์จะไม่เข้าประมูลเอง ซึ่งต่างจากเดิมที่เคยตั้งใจว่าจะขยายการเติบโตของธุรกิจด้วยรายได้จากงานประมูล
เอ็ม ลิ้งค์ ปรับแผนธุรกิจใหม่ ด้วยการให้ความสำคัญกับการขายโทรศัพท์มือถือมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากโนเกียเปลี่ยนโครงสร้างช่องทาง จำหน่ายในประเทศไทยใหม่ ด้วยการลดจำนวนดิสทริบิวเตอร์จาก 9 ราย เหลือเพียง 3 ราย คือดีพีซีในกลุ่มเอไอเอส ยูดีในกลุ่มยูคอม และเอ็ม ลิ้งค์ ทำให้เชื่อว่าการตัดราคาโทรศัพท์มือถือโนเกียจะลดลง และจะทำกำไรได้มากขึ้น และทำให้ส่วนแบ่งตลาดของเอ็ม ลิ้งค์สูงขึ้นจากการที่ผู้ค้าปลีกต้องมาซื้อผ่านเอ็ม ลิ้งค์ อย่างเจ มาร์ท แทนที่จะเป็นการซื้อโดยตรงกับโนเกียเหมือนที่ผ่านมา
"เรามียอดขายมือถือครึ่งปีแรกประมาณ 597,219 เครื่อง ซึ่งเป็นของโนเกียมากกว่า 90% คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดทั้งหมดประมาณ 18% โดยที่เอ็ม ลิ้งค์คาดว่าจะมียอดขายมือถือทั้งปีประมาณ 1-1.2 ล้านเครื่อง"
เอ็ม ลิ้งค์ยังกลับมาเป็นตัวแทนจำหน่ายหลักของโมโตโรล่าอีกครั้ง โดยมุ่งรุ่นที่เป็นไฮเอนด์ เนื่องจากเอ็ม ลิ้งค์มีความชำนาญในการทำตลาดมือถือรุ่นตั้งแต่มิดเอนด์ถึงไฮเอนด์ ซึ่งได้กำไรมากกว่า และที่ผ่านมาเอ็ม ลิ้งค์มีส่วนแบ่งตลาดรุ่นโลว์เอนด์เพียง 9% แต่มีมิดเอนด์ 37% และไฮเอนด์ 54%
เอ็ม ลิ้งค์เชื่อว่าตลาดมือถืออีก 2-3 ปีข้างหน้า ยังเติบโตต่อไปโดยเฉพาะตลาดเครื่องทดแทน ซึ่งหากมียอดเพียง 20% ของมือถือทั้งระบบก็หมายถึงจำนวน 4-5 ล้านเครื่องในแต่ละปี นอกจากนี้แนวทางพัฒนาโทรศัพท์มือถือเองที่มุ่งเน้นด้านบันเทิงอย่างกล้องความละเอียดสูงระดับ 3 ล้านพิกเซล พร้อมเอ็มพี 3 ในระดับราคาที่ลดลง 20-30% เมื่อเทียบกับคุณสมบัติการใช้งานรวมทั้งปัจจัยเทคโนโลยี 3G ที่โอเปอเรเตอร์มีแนวทางในการพัฒนาบริการ ซึ่งจำเป็นต้องมีมือถือมารองรับ เป็นปัจจัยบวกที่จะส่งผลให้ตลาดมือถือมีการเติบโตสูงขึ้น
ในส่วนของการเปิดร้านค้าปลีกในชื่อ "เอ็ม ชอป" ที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 100 แห่ง ในปีนี้จะไม่มีแผนการขยายจำนวนสาขาเพิ่มแต่อย่างใด ซึ่งธุรกิจการจำหน่ายมือถือมีการแข่งขันกันสูง หากมีการขยายตัวมากอาจจะได้รับผลกระทบและอาจส่งผลให้กับตัวแทนจำหน่ายหรือกลุ่มผู้ค้าปลีกที่ได้ซื้อเครื่องจากเอ็ม ลิ้งค์ จะแข่งขันได้ลำบากในการทำราคาจำหน่ายหน้าร้าน
สำหรับตลาดรวมโทรศัพท์มือถือของประเทศไทยในครึ่งปีแรกของปี 2548 มียอดจำหน่ายมือถือทั้งสิ้น 3.25 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้น 9.44% เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2547 จากการที่ผู้ผลิตรายใหญ่การปรับตัวด้านราคาสินค้าลง และมีการเปิดตัวสินค้าใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปัจจุบันมือถือของโนเกีย มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด กว่า 50% โดยคาดว่าในสิ้นปี 2548 ตัวเลขของ ตลาดรวมมือถือจะอยู่ที่ประมาณ 6.5 ล้านเครื่อง
สำหรับผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2548 รายได้รวมของเอ็ม ลิ้งค์และบริษัทย่อยอยู่ที่ 2,530.67 ล้านบาท กำไรสุทธิ 65.30 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบตัวเลขในไตรมาสเดียวกันของปี 2547 รายได้ รวมเพิ่มขึ้น 111.78 % และกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 68.62% ทำให้รายได้รวมครึ่งปีแรกเท่ากับ 4,550.61 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิครึ่งปีแรกเท่ากับ 138.77 ล้านบาท และคาดว่ารายได้ทั้งปีไม่ต่ำกว่า 9 พันล้านบาท
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|