ตัดมันเส้นไทยเจ๊งFTAจีนยับ


ผู้จัดการรายวัน(15 สิงหาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ตอกกลับพาณิชย์แจงไทยได้ดุลเอฟทีเอกับจีน เผยหากดึงมันเส้นที่ส่งออกกว่า 63% ออก ก็จะขาดดุลการค้าทันที เหมือนที่บอกเหตุผลขาดดุลการค้ากับออสเตรเลีย เพราะนำเข้าทองคำกับน้ำมันรวมกัน 52% ด้านผู้ส่งออกหวังผลไม้ไทยจะเข้าสู่จีนได้มากขึ้น ถ้ารัฐแก้อุปสรรคกีดกันได้หมด

การที่ประเทศไทยได้ทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับประเทศต่างๆ ทั้งในส่วนของการนำร่องเปิดเสรีสินค้าบางรายการที่ทำกับจีนและอินเดีย หรือทำแบบเต็มรูปแบบ คือ เปิดเสรีทั้งสินค้าและบริการที่ทำกับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งผลจากการเปิดเสรีได้ทำให้ไทยได้ดุลการค้าบ้าง ขาดดุลการค้าบ้าง ตามที่ภาครัฐได้ออกมาชี้แจงอยู่ตลอดนั้น

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า การทำเอฟทีเอกับจีน ได้เริ่มนำร่องเปิดเสรีมาตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2546 จนถึงเดือนมิ.ย.2548 เป็นเวลา 1 ปี 8 เดือน ไทยสามารถส่งออกสินค้า ผักและผลไม้ไปจีนได้มูลค่า 24,526 ล้านบาท และนำเข้าจากจีนในสินค้าชนิดเดียวกัน มูลค่า 10,930 ล้านบาท ซึ่งผลจากการที่ไทยส่งออกมากกว่านำเข้า ทำให้ไทยยังเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าคิดเป็นมูลค่า 13,595 ล้านบาท

ทั้งนี้ จากสถิติข้างต้นพบว่าสินค้าที่มีการส่งออก มากที่สุด ได้แก่ มันเส้น 63% รองลงมา คือ ลำไยแห้ง 8% ลำไยสด 6% ทุเรียนสด 6% ปลาแช่แข็งและกุ้งแช่แข็ง 4% ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากจีนมากที่สุด ได้แก่ แอปเปิล 38% ลูกแพร์ 12% ปลาแช่แข็ง 14%

แหล่งข่าวจากผู้ส่งออกผักและผลไม้ไทยไปจีน รายหนึ่งกล่าวว่า ต้องยอมรับว่ามันเส้นสามารถส่งออก ได้เพิ่มขึ้นจริง โดยในช่วงครึ่งปีแรก 2548 (ม.ค.-มิ.ย.) ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไปจีนได้มูลค่า 7,249 ล้านบาท แยกเป็นมันสำปะหลังอัดเม็ดและมันเส้น 5,751.7 ล้านบาท แป้งมัน 1,146.6 ล้านบาท ที่เหลือเป็นผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอื่นๆ เพราะจีนมีความต้องการนำเข้าเพิ่มมากขึ้น จากการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตแอลกอฮอล์ และกระดาษ แต่ก็มีข้อสังเกตว่าจีนนำเข้ามันเส้นสูงอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว โดยในปี 2545 ซึ่งเป็นปีก่อนทำเอฟทีเอ จีนก็นำเข้าเป็นมูลค่า 5,894.9 ล้านบาท

"ถ้าตัดมูลค่าการส่งออกมันเส้น ซึ่งมีประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาทออกไป ในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา ไทยก็จะขาดดุลกับจีนเกือบ 1 พันล้านบาท ซึ่งการระบุเช่นนี้เป็นเหตุผลเดียวกับที่กระทรวงพาณิชย์บอกว่าที่ไทยขาดดุลกับออสเตรเลียเพราะนำเข้าทองคำกับน้ำมันรวมกันกว่า 50% เลยทำให้ไทยขาดดุลการค้ากับออสเตรเลีย กับจีนถ้าคิดเหมือนกัน ไทยก็ขาดดุลการค้าเช่นกัน" แหล่งข่าวกล่าว

อย่างไรก็ตาม เอฟทีเอก็ช่วยให้สินค้าอื่นๆ มียอดการส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น ลำไยส่งออกได้มูลค่า 477.5 ล้านบาท ทุเรียน 571.6 ล้านบาท ซึ่งเป็นการส่งออกเพิ่มขึ้นจากการทำเอฟทีเอจริง เพราะในช่วงปี 2545 ก่อนทำเอฟทีเอ ผลไม้ทั้ง 2 ชนิดนี้ส่งออกไปจีนได้ไม่มาก โดยปี 2545 ทุเรียนส่งออกได้เพียงมูลค่า 1.1 ล้านบาท ส่วนลำไยมูลค่า 99.3 ล้านบาท

ขณะที่นางเสาวณีย์ บุญเปี่ยม นายกสมาคมผู้ส่งออกผักและผลไม้ไทย กล่าวว่า เอฟทีเอช่วยให้ผลไม้ไทยมีโอกาสเข้าสู่ตลาดจีนได้เพิ่มขึ้น แต่เมื่อก่อนที่มีปัญหา เพราะจีนมีกฎระเบียบการนำเข้าที่เข้มงวด เช่น การกักกันสินค้า การตรวจสอบเข้มงวด ในเรื่องสารตกค้าง ทำให้ผลไม้ไทยเข้าสู่ตลาดจีนได้ยาก ซึ่งหลังจากนี้ไป หวังว่าภาครัฐจะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา และทำให้ไทยได้ประโยชน์จากเอฟทีเอจริงๆ เพราะเท่าที่ดูแนวโน้มจากนี้ไป จีนมีความต้องการผลไม้ไทยมากขึ้น เหตุผลเดิมขาดดุลออสเตรเลีย

นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวว่า ผลการทำเอฟทีเอระหว่างไทย-ออสเตรเลีย ตั้งแต่ 1 ม.ค.-มิ.ย.2548 ไทยส่งออกสินค้าทั้งสิ้น 56,203 ล้านบาท สินค้าที่ส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถบรรทุก สัดส่วน 28% รถยนต์นั่ง 15% เครื่องคอมพิวเตอร์ 3% ปลากระป๋อง 3% และเครื่องปรับอากาศ 3%

ขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าจากออสเตรเลียในช่วง เดียวกัน คิดเป็นมูลค่า 66,795 ล้านบาท โดยนำเข้าทองคำมากที่สุดจำนวน 32% มูลค่า 21,667 ล้าน บาท รองลงมาเป็นน้ำมันดิบ 20% มูลค่า 13,419 ล้านบาท ที่เหลือเป็นอะลูมิเนียมไม่เจือ 7% เหล็ก 4% อะลูมิเนียมเจือ 2.8% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าออสเตรเลีย มูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หากไม่นับทองคำและน้ำมันดิบ ซึ่งนำเข้ามากสุดเป็นสัดส่วนรวมกัน 52% แล้ว ไทยจะได้ดุลการค้าเอฟทีเอกับออสเตรเลียประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท

"ตัวเลขนำเข้าทองคำที่ยังสูงอยู่เป็นการสะสมมาตั้งแต่ต้นปีแล้ว ซึ่งครึ่งปีแรกมีการนำเข้ามามาก เพราะออสเตรเลียเป็นแหล่งนำเข้าทองคำอันดับต้นของไทย โดยปี 2547 ไทยนำเข้าทองคำจากออสเตรเลียถึงครึ่งหนึ่งจากการนำเข้าทองคำทั้งหมด ทั่วโลก แต่หลังจากที่กระทรวงฯ ได้แก้ไขปัญหาทองคำ โดยเชิญผู้นำเข้ามาขอความร่วมมือ เชื่อว่าสถานการณ์นำเข้าทองในครึ่งปีหลังจะดีขึ้นอย่างแน่นอน แต่ในส่วนของเอฟทีเอต้องมองประโยชน์สินค้าที่ได้จากการลดภาษี เพราะปกติทองคำที่นำเข้าจากออสเตรเลียก็ไม่มีภาษีอยู่แล้ว"

นายราเชนทร์กล่าวอีกว่า ขณะที่เอฟทีเอไทย-อินเดียที่มีการลดภาษีนำร่องระหว่างกัน 82 รายการ ตั้งแต่เดือนก.ย.2547-มิ.ย.2548 ไทยส่งออกสินค้าได้ทั้งสิ้น 7,895 ล้านบาท สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องรับโทรทัศน์ 27% พลอย 5% ส่วนประกอบยานยนต์ 5% หลอดภาพโทรทัศน์สี 5% และนำเข้าสินค้าจากอินเดียทั้งสิ้น 2,172 ล้านบาท สินค้านำเข้า สำคัญ ได้แก่ หลอดภาพโทรทัศน์สี 9% อะลูมิเนียมไม่เจือ 10% เพชรและพลอย 6% อะลูมิเนียมเจือ 8% กระปุกเกียร์ 33% ส่งผลให้ไทยได้ดุลการค้าจากอินเดียทั้งสิ้น 5,723 ล้านบาท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.