|

ตลท.สอบปั่น ASL-W4
ผู้จัดการรายวัน(15 สิงหาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ตลท.พบวอร์แรนต์ราคาร้อนหลายตัวผิดปกติ ASL-W4 นำทีมราคาพุ่งวันเดียว 70% ระบุนักลงทุน เปลี่ยนพฤติกรรม เผยการตรวจสอบต้องเทียบราคาหุ้นแม่ประกอบ ย้ำชัดตามทฤษฎีใกล้แปลงสภาพราคาต้องร่วง เพราะเมื่อครบกำหนดมีค่าเท่ากับศูนย์ เผยเบื้องหลังสอบราคาหุ้นกลุ่มโกลเบล็ก- โซลาร์ตรอน พบเครือญาติร่วมขบวน ดันราคา พิจารณาเข้าข่ายผิดกฎหมาย 1-2 เดือนก่อนก.ล.ต.เบรก GBX ออก วอร์แรนต์ เปิดปูมหลังหุ้นใหญ่อกริเพียว "ภูมิพัฒน์" ชื่อเดิม "สรรเพชร คง-ปัญญาพานิชกุล" เคยตกเป็นจำเลยคดี บัญชีเดินสะพัดแบงก์กสิกรไทยเป็นโจทก์เมื่อปี 43 ขณะที่ล่าสุด "ภูมิพัฒน์" โอนหุ้นอกริเพียวออกเหลือ 39.55%
นายสุภกิจ จิรประดิษฐ์กุล ผู้ช่วยผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมานักลงทุนเข้ามาเก็งกำไรใบสำคัญ แสดงสิทธิเพื่อซื้อหุ้นสามัญ หรือ วอร์แรนต์ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะนักลงทุนมีการย้ายกลุ่มลงทุน ทำให้ขณะนี้พบว่ามีวอร์แรนต์หลายบริษัทที่มีการซื้อขายทั้งในส่วนของราคาและปริมาณการซื้อขายที่เข้าข่ายว่าพบความผิดปกติ
ทั้งนี้ คงต้องมีการตรวจสอบไปถึงหุ้นแม่ว่าราคา หุ้นมีความผันผวนมากน้อยเพียงไร โดยจะต้องพิจารณาไปถึงช่องว่างระหว่างราคาหุ้นแม่กับวอร์แรนต์ ที่ต้องเทียบกับราคาแปลงสิทธิ ว่า มีช่องห่างมากน้อย เท่าไร ซึ่งปกติการลงทุนในวอร์แรนต์ถือว่าเป็นการลงทุน ที่มีความเสี่ยงสูงอยู่แล้ว สำหรับวอร์แรนต์ที่ต้องมีการ เข้าไปตรวจสอบ เช่น วอร์แรนต์ ของบริษัท แอ๊ดคินซัน จำกัด (มหาชน) หรือ ASL-W4 เพราะราคามีการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติ หลังจากราคาพุ่งวันเดียว 70%
"มีวอร์แรนต์หลายบริษัทที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบความผิดปกติ แต่คงระบุไม่ได้ว่าการปรับขึ้นต้องเท่าไหร่แล้วจะมีการตรวจสอบ คงต้องดูที่ตัวหุ้นแม่ประกอบด้วย" นายสุภกิจกล่าว
ด้านทฤษฎีแล้วในช่วงที่วอร์แรนต์ใกล้ช่วงที่จะแปลงสภาพ ราคาต้องปรับตัวลดลงเพราะเมื่อครบ อายุแปลงสภาพของวอร์แรนต์แล้วราคาวอร์แรนต์ดังกล่าวจะมีค่าเป็นศูนย์
แต่อย่างไรก็ตาม การที่ความเคลื่อนไหวของวอร์แรนต์หลายบริษัทในช่วงใกล้หมดอายุมีความผันผวนค่อนข้างมากนั้น เรื่องดังกล่าวคงเกิดขึ้นเพราะ หลายเหตุผล ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเก็งกำไรเพราะราคา ต้องมีการปรับลดลง หรือนักลงทุนบางคนต้องการเข้ามาถือลงทุนเพื่อรับสิทธิในการแปลงสภาพ
ส่วนเรื่องการตรวจสอบความผิดปกติราคาหุ้นรวมถึงใบสำคัญแสดงสิทธิ ตั้งแต่ต้นปี 2548 ตลาด หลักทรัพย์ได้มีการส่งข้อมูลการซื้อขายที่พบความผิดปกติไปให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) มากกว่า 2 บริษัท ซึ่งพบว่ามีความผิดทั้งในเรื่องการปั่นราคาหุ้นและเรื่องการใช้ข้อมูลภายใน คือ บริษัท อกริเพียว โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ APURE และ บริษัท บีเอ็นทีเอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ BNT
ส่วนกรณีบริษัท คอมพาสส์อีสต์ อินดัสตรี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ CEI อยู่ระหว่างที่ตลาดหลักทรัพย์กำลังตรวจสอบความผิดปกติเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลภายใน ตลท.ซุ่มเงียบสอบกลุ่มโกลเบล็กฯ
แหล่งข่าวจากตลาดหลักทรัพย์ เปิดเผยว่า สำหรับ บริษัท โกลเบล็ก โฮลดิ้ง แมนเนจเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GBX นั้นตลาดหลักทรัพย์ฯได้มีการ ติดตามความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น GBX และหุ้น บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) หรือ SOLAR มาเป็นเวลานานพอสมควร เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเคลื่อนไหวร้อนแรงไม่ปกติตั้งแต่หุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เรียกว่าร้อนแรงใกล้เคียงกับหุ้นกลุ่มปิคนิคเลยทีเดียว
ทั้งนี้ ก่อนที่ตลาดหลักทรัพย์ฯจะออกมาระบุว่าพบความผิดปกติในการซื้อขายหุ้นโซลาร์ตรอน และมีการขอข้อมูลโบรกเกอร์เพื่อตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯได้พบข้อมูลเบื้องต้นว่า ผู้เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวหุ้นโซลาร์ตรอน และ GBX ล้วนเป็นกลุ่มคนที่เกี่ยวพันกับกลุ่มโกลเบล็กในลักษณะเครือญาติ นอกเหนือจากการนำพอร์ตการลงทุนของ GBX ไปเข้าลงทุน
พฤติกรรมของกลุ่มโกลเบล็ก จึงถูกฝ่ายตรวจ สอบของตลาดหลักทรัพย์ฯจับตามานาน และถึงขั้นมีการพิจารณาในแง่กฎหมายกันค่อนข้างนานในระยะ 1-2 เดือนก่อนที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์จะออกมาชะลอการยื่นขอ ออกใบสำคัญแสดงสิทธิ์(วอร์แรนต์)ของ GBX เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่าการออกวอร์แรนต์ครั้ง นี้ผลประโยชน์จะตกกับกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ GBX อีกครั้ง
นอกจาก GBX ที่ถูกตลาดหลักทรัพย์จับตามองในฐานะเป็นบริษัทจดทะเบียนแล้ว บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โกลเบล็ก จำกัด ก็ยังถูกจับตามอง ในเรื่องของจรรยาบรรณเนื่องจากเกี่ยวพันกับหุ้น โซลาร์ตรอนในฐานะที่ปรึกษาและอันเดอร์ไรเตอร์ นอกจากนี้ที่ผ่านมา บล.โกลเบล็ก ยังเป็นโบรกเกอร์เล็กที่มีสไตล์การทำงานหวือหวา นอกจากเรื่องของการปล่อยมาร์จิ้น (เงินกู้เพื่อซื้อขายหลักทรัพย์) ที่ขณะนี้ถูกเพ่งเล็งแล้ว การขยายตัวของโกลเบล็กโดยมีการเปิดสาขาห้องค้าในต่างจังหวัดช่วงที่ผ่านมาเป็นระยะๆ ก็ต้องไปดึงตัวมาร์เกตติ้ง(เจ้าหน้าที่การตลาด) จากที่อื่นมาเช่นกัน
ทั้งนี้ บล.โกลเบล็ก ยังถูกจับตามองจากเพื่อน ร่วมวงการโบรกเกอร์ด้วยกัน เพราะในขณะที่โบรกเกอร์ ใหญ่ ๆ หลายค่ายไม่สามารถดึงตัวมาร์เกตติ้งได้ แต่ บล.โกลเบล็กทำได้ เนื่องจากกลุ่มโกลเบล็กมีเม็ดเงินที่ในภาษาโบรกเกอร์ด้วยกันเรียกว่าเงินนอกระบบ กล่าวคือ เป็นเงินจากธุรกิจอื่นในกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สามารถดึงมาใช้สำหรับการแย่งชิงตัวมาร์เกตติ้งและอื่นๆ ที่สนับสนุนให้มีวอลุ่มซื้อขายหุ้นสูงได้โดย ที่ตลาดหลักทรัพย์ตรวจสอบไม่พบ ในขณะที่โบรกเกอร์ใหญ่หลายแห่งไม่สามารถทำได้เพราะเงินที่มีอยู่เป็นเงินในระบบบริษัท หากนำไปทำอะไรไม่ถูกต้องตลาดหลักทรัพย์สามารถตรวจพบได้ ปูมหลังหุ้นใหญ่อกริเพียว
แหล่งข่าวกล่าวว่า ส่วนการตรวจสอบกรณีหุ้น APURE ที่ได้พบความผิดปกติและมีการส่งข้อมูลให้กับสำนักงาน ก.ล.ต.นั้น ได้มีการตรวจสอบข้อมูล นอกจากพบว่ามีความเกี่ยวพันกับกลุ่มบริษัท เจ เจ แลนด์ เดเวลลอปเมนท์ ที่กลุ่มปิคนิคมีความเกี่ยวพันด้วยแล้ว ยังพบว่า กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ กลุ่มใหม่ นายภูมิพัฒน์ ธนาวรพิทักษ์ พบว่าชื่อเดิม คือ นายสรรเพชร คงปัญญาพานิชกุล หรือ คงปัญญาพาณิชกุล เคยตกเป็นจำเลยที่ร่วมกับนางวรนารถ คงปัญญาพานิชกุล หรือ นางณัฐมนพิมพ์ ธนาวร-พิทักษ์ จำเลยที่ 2 ในคดีบัญชีเดินสะพัด ซึ่งมีธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องศาลแพ่งเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2543 จำนวนทุนทรัพย์ 17,097,139.64 บาท
โดยศาลแพ่งได้พิพากษาตัดสินไปเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2544 คำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีแก่โจทก์จำนวน 8,936,259.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ เอ็ม อาร์ อาร์ บวกสองต่อปีตามประกาศ ของธนาคารโจทก์ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 31 มกราคม 2541 เป็น ต้นไปจนถึงวันฟ้องดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันแต่ต้อง ไม่เกินร้อยละ 14.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ตามโจทก์ขอ โดยใน การคิดคำนวณยอดหนี้ให้นำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระในแต่ละจำนวน ภายหลังวันที่ 30 มกราคม 2541 มาหักชำระดอกเบี้ยค้างชำระ ณ วันดังกล่าว ก่อน หากมีเหลือจึงนำมาหักชำระต้นเงิน
โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ไม่เกินต้นเงินจำนวน 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ในอัตราที่กำหนดของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับจากวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้โดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นหลักฐานจำนวน 5,263,493.03 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ เอ็ม อาร์ อาร์ บวก 3.75 ต่อปี แต่ไม่เกิน ร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับถัดจากวัน ฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และชำระหนี้บัตรเครดิตจำนวน 212,430.31 บาท พร้อม ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ โจทก์ โดยให้นำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้บัตรเครดิตเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2542 จำนวน 20,000 บาท และวันที่ 5 มิถุนายน 2542 จำนวน 10,000 บาท มาหักดอกเบี้ยค้างชำระ ณ วันดังกล่าว ก่อน หากมีเหลือจึงนำมาหักชำระ ต้นเงิน
หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 76281 ตำบลคันนายาว(คลองกุ่ม)อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร และที่ดินโฉนดเลขที่ 160427 ตำบล วังทองหลาง อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พร้อม สิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ หากไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลย ทั้งสองบังคับชำระหนี้จนกว่าจะครบถ้วนแก่ โจทก์
ด้านรายงานข่าวจากสำนักงาน ก.ล.ต. เปิดเผย ว่า หลังจากที่นายภูมิพัฒน์ ได้เข้ามาเป็นถือหุ้นใหญ่ APURE ในสัดส่วน 50.69% ในเดือนเมษายน 2548 ต่อมานายภูมิพัฒน์ได้รายงานการขายหุ้นโดยการโอนออกไปครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 3.71% และอีก 3.71% ในวันที่ 18 กรกฎาคม ก่อนจะโอนออกอีก 3.71% ในวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้ภายหลังนายภูมิพัฒน์ คงเหลือหุ้นที่ถือ 39.55%
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|