|
"อินเด็กซ์" ลุยเปิดสาขาต่างประเทศพร้อมตั้งเป้าขยายเพิ่มอีก10แห่งต่อปี
ผู้จัดการรายวัน(11 สิงหาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
"อินเด็กซ์" เร่งปั้นแบรนด์จับมือตัวแทนจำหน่ายต่างประเทศ ลุยปิดสาขาอินเด็กซ์ ตั้งเป้าเปิดสาขาในต่างประเทศ 10 สาขาต่อปี ย้ำเป็นการสร้างมูลค่าสินค้าและความยั่งยืนให้บริษัทระยะยาว แจงปรับสัดส่วนผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้เพิ่มจากเดิม 75% เป็น 90% ยอดขาย 2 ไตรมาสแรกเติบโต 10% คาดครบปี 20% ตามเป้า
นายปรีชา พิพัฒธกุศลสุข ผู้จัดการกลุ่มส่งออก กลุ่ม บริษัท บางกอก อินเตอร์เฟิร์น จำกัด ผู้ผลิต และจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ แบรนด์ อินเด็กซ์ กล่าวว่า ในปี 48 บริษัทยังเน้นการสร้างแบรนด์สินค้าอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาบริษัทพยายามสร้างภาพของแบรนด์ อินเด็กซ์ลีฟวิ่งมอลล์ ให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากขึ้นโดยมีการศึกษาความต้องการของตลาดและผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการให้มากขึ้น รวมถึงมีการประชาสัมพันธ์และการจัดกิจกรรมทางการตลาดเพื่อให้เกิดการเข้าถึงแบรนด์สินค้า อินเด็กซ์ โดยเฉพาะ การเปิดศูนย์ลีฟวิ่งมอลล์ ซึ่งเป็นการปูทางในการสร้างแบรนด์ให้เกิดการยอมรับและขยายไปในตลาดต่างประเทศ
ซึ่งที่ผ่านมาลูกค้าของบริษัท เข้ามาชมงานในประเทศและได้นำ แบรนด์ อินเด็กซ์ เข้าไปเปิดสาขาในต่างประเทศ โดยใช้คอนเซ็ปต์ของลีฟวิ่งมอลล์ ในการจัดวางสินค้าและบรรยากาศในร้าน ซึ่งขณะนี้ บริษัทได้ร่วมกับตัวแทนจำหน่ายใน ต่างประเทศเปิดสาขาไปแล้วใน 13 ประเทศ จำนวน 31 สาขา และบริษัทตั้งเป้าว่าขยายสาขาเพิ่มในส่วนของตลาดต่างประเทศปีละ 10 สาขา ส่วน ในประเทศนั้น บริษัทก็ได้มีแผนจะขยายสาขาอินเด็กซ์ลีฟวิ่งมอลล์จำนวน 6 สาขาในเขตกทม.และต่างจังหวัด คือเอกมัย บางแค บางใหญ่ หัวหิน อุบลราชธานี และเชียงใหม่
"การที่เราเปิดสาขาในประเทศแล้วขยายไปเปิดในต่างประเทศนั้นเพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ของ แบรนด์อินเด็กซ์ให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าให้มากขึ้น และเป็นการสร้างมูลค่าให้กับตัวสินค้า และยังเป็นการสร้างความ ยั่งยืนให้กับตัวบริษัท ซึ่งหากเรายังรับจ้างผลิตสินค้าให้กับผู้ประกอบการ แบรนด์อื่นในจำนวนมากๆ อยู่จะทำให้ ยังมีโอกาสเสี่ยงในเรื่องของความ ยั่งยืนของบริษัทหากคู่แข่งรายอื่นสามารถแย่งลูกค้าของบริษัทไปได้" นายปรีชากล่าว
นายปรีชากล่าวถึงปัญหาการผลิตเฟอร์นิเจอร์เหล็กว่า การที่รัฐบาลกำหนดเพดานการนำเข้าเหล็กในประเทศทำให้เหล็กขาดแคลน และมีราคาสูงขึ้น จากเดิมที่ก่อนหน้านั้นราคาขายเหล็กต่อกิโลกรัมอยู่ที่ 15-16 บาท แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาราคาเหล็กปรับขึ้นมาอยู่ที่ 40 บาท ทำให้ต้นทุนในการผลิตเฟอร์นิเจอร์เหล็กเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ อินเด็กซ์ เริ่มปรับตัวในการผลิตเฟอร์นิเจอร์จากไม้มากขึ้น และหันไปลดปริมาณการผลิตสินค้าเฟอร์นิเจอร์เหล็กลง
ทั้งนี้ เดิมอินเด็กซ์มีสัดส่วนการผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ 75% และเฟอร์นิเจอร์เหล็ก 25% แต่หลังจากที่เหล็กขึ้นราคาและถูกกำหนดเพดานการนำเข้าเหล็กทำให้บริษัทปรับลดจำนวนการผลิตเฟอร์นิเจอร์เหล็กลงมาเหลือ 10% ในปัจจุบันและเพิ่มการผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้เป็น 90% เพื่อเป็น การลดต้นทุนการนำเข้าและนอกจากนี้ การแข่งขันของเฟอร์นิเจอร์เหล็กในต่างประเทศ สินค้าจากประเทศไทยยัง ไม่สามารถแข่งกับสินค้าจากประเทศจีนได้โดยเฉพาะเรื่องราคาเพราะจีนมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าจึงสามารถกำหนดราคาที่ต่ำกว่าได้
นายปรีชากล่าวต่อว่า ในปี 2547 ที่ผ่านมาบริษัทมียอดขายจากตลาดส่งออก 2,200 -2,300 ล้านบาท และมี ยอดขายในประเทศ 2,500-2,600 ล้าน บาท สำหรับปี48นี้ บริษัทตั้งเป้าว่ายอด ขายสินค้าในประเทศจะมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 47 15% และยอดขายตลาดส่งออกเติบโตเพิ่มขึ้น 20% โดยยอดขายเฟอร์นิเจอร์อินเด็กซ์ ใน 2 ไตรมาสที่ผ่านมา เติบโตเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาสระหว่างปี 2547 และปี 2548
ทั้งนี้ การที่ยอดขายในช่วงต้นปี มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 10% นั้นทำให้ในช่วงครึ่งปีหลังบริษัทต้องผลักดันยอดขายให้โตเพิ่มขึ้นอีก 10% ซึ่งก็จะเป็นไปตามเป้าที่วางไว้ อย่างไร ก็ตามอินเด็กซ์มั่นใจว่าจะสามารถทำได้ เพราะในช่วงครึ่งหลังของปีเป็นช่วงฤดูกาลของขายเฟอร์นิเจอร์ และปกติ พฤติกรรมการบริโภคของลูกค้าส่วนใหญ่จะซื้อเฟอร์นิเจอร์ในช่วงปลายปี ซึ่งจะทำให้ยอดขายสูงขึ้นและ สามารถ เติบโตได้ตามเป้า
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|