|

ทีโอทีถกกทช.ลดค่าต๋งกระทบแผนเข้าตลาดฯ
ผู้จัดการรายวัน(11 สิงหาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ทีโอทีต่อรอง กทช. ลดค่าธรรมเนียมจากที่ต้องจ่าย 5 พันล้านบาท ให้เหลือ 500 ล้านบาทแทน พ้อหากไม่ยอมลดก็ไม่ต้องเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้านเอไอเอส ดีแทค ประสานเสียงหลักการคิดค่าธรรมเนียม กทช.ทำให้ได้รายได้สูงเกินสมควร
นายธีรวิทย์ จารุวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที กล่าวว่าได้เข้าหารือพร้อมทั้งยื่นหนังสือกับพล.อ.ชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เมื่อวานนี้ (10 ส.ค.) เพื่อแสดงความเห็นโต้แย้งในเรื่องค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่กทช.จะเรียกเก็บภายหลังจากที่ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมให้ทีโอทีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาประกอบด้วย
1. ค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรคมนาคม ซึ่งกทช.จะเก็บในอัตราเลขหมายละ 1 บาทต่อเดือนหรือ 12 บาทต่อปี โดยที่ปัจจุบันมีเลขหมายใช้งานอยู่ทั้งหมด 40 ล้านเลขหมาย หากทีโอทีต้องจ่ายตามอัตรากทช.จะอยู่ที่ประมาณปีละ 480 ล้านบาท ซึ่งเป็นอัตราที่สูงเกินไป ทีโอทีจึงเสนอที่จะจ่ายเลขหมายละ 50 สตางค์ต่อเดือน หรือปีละ 240 ล้านบาท พร้อมทั้งขอจ่ายเงินให้ กทช. 3 เดือนต่อครั้ง เนื่องจากเลขหมาย โทรคมนาคมมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ
2. ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ที่กทช.จะเก็บในอัตรา 3% ของรายได้ทีโอที ซึ่งตกลงกันที่ 6.3 หมื่นล้านบาทประกอบด้วยรายได้จากส่วนแบ่งรายได้ของบริษัทร่วมการงาน ค่าแอ็กเซ็สชาร์จและการให้บริการของทีโอที คิดเป็นเงินประมาณ 1,900 ล้านบาทต่อปี โดยที่ทีโอทีพร้อมจ่ายกทช.ประมาณ 0.5% หรือคิดเป็นเงินประมาณ 320 ล้านบาท
และ 3. ค่าธรรมเนียมในการให้บริการโทรคมนาคมโดยทั่วถึง (Universal Service Obligation หรือ USO) ที่ กทช.จะเก็บในอัตรา 4% จากรายได้ 6.3 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 2,500 ล้านบาท ทีโอทีก็ขอที่จะไม่จ่ายค่า USO ในขณะที่ทีโอทีจะขอให้กทช.พิจารณาหากลไกในอนาคตเพื่อจะจ่ายเงินให้ทีโอทีชดเชยกับการให้บริการ USO ของทีโอที เนื่องจากที่ผ่านมาทีโอทีมีหลายโครงการที่เป็นบริการ USO โดยปีที่ผ่านมาทีโอที รับภาระขาดทุนจากบริการ USO มากถึงประมาณ 1 หมื่นล้านบาท
ส่วนเรื่องที่ 4 คือค่าธรรมเนียมการใช้คลื่นความถี่ ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปอัตราจากกทช. ทีโอทีจึงต้องรอตัวเลขก่อนที่จะแสดงความเห็นยอมรับหรือโต้แย้ง
เขากล่าวว่าหากนำอัตราที่กทช.จะเก็บใน 3 เรื่องมาคิดรวมกัน (480+1,900+2,500) ทีโอทีจะต้องมีภาระเพิ่มขึ้นประมาณ 5,000 ล้านบาททันที เมื่อเทียบจากปีที่ผ่านมาทีโอทีมีกำไร 11,523 ล้านบาท เท่ากับทีโอทีจะเหลือกำไรไม่ถึง 7 พันล้านบาท ซึ่งคาดว่าภาระที่เพิ่มนี้จะกระทบกับแผนการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ของทีโอทีแน่นอน
"ค่าธรรมเนียมต่างๆ ของ กทช.กลายเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ และมีผลกับแผนการเข้าตลาดฯ ของทีโอทีไปแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ทีโอทีได้แจ้งให้ท่านรมว.ไอซีทีและสำนักรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลังรับทราบแล้ว"
นายธีรวิทย์กล่าวว่า หากดูจากข้อเสนอของทีโอทีในการต่อรองลดค่าธรรมเนียม กทช.ก็จะมีรายได้จากด้านทีโอทีประมาณ 560 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมกับบริษัท กสท โทรคมนาคม ที่มีรายได้ประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท หากเสียค่าใบอนุญาตเท่าทีโอทีประมาณ 0.5% หรือ 120 ล้านบาท เมื่อรวมกับภาระค่า USO อีกจำนวนหนึ่ง โดยที่กสทไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเลขหมาย และหากปลายปีมีการออกใบอนุญาตใหม่ๆที่จะทำให้ กทช.มีรายได้เพิ่มเข้ามาอีก ทำให้เห็นว่า กทช.จะมีรายได้ที่น่าจะเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายและการกำกับดูแล
"เงิน 560 ล้านบาท สำหรับทีโอทีแล้วผมเชื่อว่ามีความเหมาะสมและทีโอทีพร้อมจ่ายโดยที่ไม่มีผลกระทบกับแผนการเข้าตลาดฯ แต่ถ้าหากต้องจ่ายเกือบ 5 พันล้านบาท ผมว่าไม่ต้องเข้าตลาดฯ แล้ว"
นายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ส่วนงานธุรกิจสื่อสารไร้สาย บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอสกล่าวว่าเอไอเอสไม่เห็นด้วยในหลักการหารายได้ของ กทช. ด้วยการคิดค่าธรรมเนียมในลักษณะเป็นเปอร์เซ็นต์ของรายได้ เพราะท้ายสุดภาระดังกล่าวจะถูกผลักไปให้ผู้บริโภค โดยเฉพาะในเรื่องค่าธรรมเนียม USO ที่เก็บถึง 4% ของรายได้ถือเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม กทช.ควรทำในลักษณะการตั้งเป็นงบประมาณว่าต้องการใช้ในแต่ละปีมากน้อยแค่ไหน เพื่อประโยชน์ ในเรื่องการประเมินผลความสำเร็จของโครงการด้วย เนื่องจากเอกชนเกือบทุกรายคงต้องการทำธุรกิจหลักมากกว่ามาให้ความสำคัญกับบริการ USO ซึ่งหาก กทช.กำหนดไว้ที่ 4% กทช.ก็จะได้เงินมหาศาล เพราะหากคิดขนาดตลาดของธุรกิจโทรคมนาคมในภาพรวมประมาณ 2 แสนล้านบาท กทช.จะมีรายได้จากค่า USO มากถึง 8 พันล้านบาท
"เมื่อมีเงินมากขนาดนี้ ภาพ กทช.จากการกำกับดูแลจะเปลี่ยนไปเป็นองค์กรแห่งการจัดซื้อเพื่อให้บริการ USO ซึ่งหากมองภาพใหญ่ การคิดค่าธรรมเนียมเป็นลักษณะเปอร์เซ็นต์จากรายได้ ก็ไม่แตกต่างจากสัญญาร่วมการงานเดิมที่ประชาชนก็จะไม่ได้อะไรที่ดีขึ้น"
ด้านนายพิทยาพล จันทนะสาโร รองประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการสายงานคอร์ปอเรต ดีแทค ตั้งข้อสังเกตว่านโยบายการคิดค่าธรรมเนียมในลักษณะเป็นเปอร์เซ็นต์จากรายได้ จะทำให้อุตสาหกรรมในภาพรวมเกิดความเสียหายมากกว่าเป็นผลดี และนโยบายการเงินของ กทช.มุ่งจะรับใช้สังคมหรือมุ่งที่จะสร้างรายได้มากกว่า เพราะค่าธรรมเนียมต่างๆที่เก็บในลักษณะเป็นส่วนแบ่งรายได้เมื่อรวมๆ กันแล้วประมาณ 10% ของรายได้ทั้งอุตสาหกรรม ที่ประมาณ 1.5-2 แสนล้านบาท เท่ากับกทช.จะมี รายได้ 1.5-2 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งถือว่าไม่สมเหตุสมผล
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|