ธุรกิจเรียนดนตรี600ล้านคึก 2ค่ายยักษ์รุกขยายชิงตลาด


ผู้จัดการรายวัน(23 สิงหาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

ปัจจุบันมีผู้สนใจเรียนด้านดนตรีมากขึ้น ทั้งการเล่นดนตรีประเภทต่างๆ และการร้องเพลง เพราะเป็นช่องทางจะก้าวสู่อาชีพสร้างราย ได้อย่างงาม ทำให้ตลาดเรียนดนตรีขยายตัวกว้างขวางยิ่งขึ้น ครอบคลุมตั้งแต่กลุ่มเด็กเล็ก ตั้งแต่ 5 ขวบขึ้นไป จนถึงกลุ่มผู้ใหญ่ ดึงดูดให้ผู้สนใจจะประกอบธุรกิจโรงเรียนสอนดนตรีมากขึ้น ผู้ประกอบการธุรกิจโรงเรียนดนตรีราย ใหญ่ 2 รายที่ครองตลาดเรียนดนตรีขณะนี้ จึง ต่างเร่งปรับกลยุทธ์เชิงรุก เพื่อขยายสาขารูปแบบ แฟรนไชส์ครอบคลุมตลาด ที่คาดว่าจะมูลค่าไม่ต่ำกว่า 600 ล้านบาทปี 2545

ตลาดการเรียนดนตรีและเรียนร้องเพลง แนวโน้มขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากปัจจัยเกื้อหนุนสำคัญๆ หลายประการดังนี้

-การขยายตัวสวนกระแสเศรษฐกิจธุรกิจบันเทิงด้านดนตรี

-การส่งเสริมเยาวชนร่วมกิจกรรมด้านต่างๆ รวมทั้งด้านดนตรีสถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เยาวชนไทยห่างไกลจากยาเสพติด

-ผู้ปกครองสนับสนุนบุตรหลานเรียนดนตรีมากขึ้น เพื่อประโยชน์ด้านพัฒนาความสามารถพิเศษของเด็ก

-สังคมยอมรับอาชีพนักร้องนักดนตรีมาก ขึ้น เพราะเป็นอาชีพที่มีชื่อเสียง และสร้างรายได้อย่างงาม โรงเรียนสอนดนตรีจึงเป็นหนึ่งในธุรกิจเพียงไม่กี่ประเภทปัจจุบัน ที่ยังมีลู่ทางเติบโตอีก มาก ผู้สนใจลงทุนมากขึ้น ซึ่งมีทั้งผู้ที่อยู่ในแวดวง ด้านดนตรี และผู้ซื้อแฟรนไชส์โรงเรียนดนตรีที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง

ธุรกิจโรงเรียนดนตรีรูปแบบแฟรนไชส์ เป็น การลงทุนที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้ที่มีเงินทุน แต่อยู่นอกแวดวงดนตรี แม้ต้องใช้เงินลงทุนสูง คือประมาณแห่งละ 5-10 ล้านบาท พื้นที่ประมาณ 350-400 ตารางเมตรขึ้นไป แต่โอกาสประสบความสำเร็จ ค่อนข้างสูงเช่นกัน คืน ทุนได้ภายใน 3-5 ปี หากบริหารงานมีประสิทธิภาพ เพราะเจ้าของแฟรนไชส์ จะดูแลเอาใจใส่แต่ละสาขาอย่างใกล้ชิด เพื่อรักษาชื่อเสียงสถาบัน นับตั้งแต่คัดเลือกผู้สมัคร พิจารณา ทำเลที่ตั้ง จัดหาครู ฝึกอบรมครู จัดหลักสูตร จัดหาเครื่องดนตรี ตำรา และอุปกรณ์การสอนต่างๆ รวมทั้งทำแผนการตลาดให้ธุรกิจโรงเรียน ดนตรีรูปแบบแฟรนไชส์ เป็นการลงทุนที่ขยายตัวคึกคักปัจจุบัน เนื่องจากการปรับกลยุทธ์เชิงรุก เพื่อขยายเครือข่ายสาขา ช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดของโรงเรียนสอน ดนตรีที่มีชื่อเสียง 2 ค่ายใหญ่ คือโรงเรียนสยาม ดนตรียามาฮ่า และโรงเรียนดนตรีเคพีเอ็น มิวสิค

โรงเรียนสยามดนตรียามาฮ่า (หรือโรงเรียน ดนตรีสยามกลการเดิม) บุกเบิกธุรกิจโรงเรียนดนตรีในไทย 36 ปีที่แล้ว ครองตลาดเรียนดนตรี ส่วนใหญ่ปัจจุบัน ได้เปรียบด้านเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องดนตรียามาฮ่านำเข้าจากญี่ปุ่น มีหลักสูตรการสอนได้มาตรฐานรองรับ ทำให้ผู้เรียนจบหลักสูตรโรงเรียนฯ ได้ใบรับรองจากสถาบันดนตรียามาฮ่า

ปีนี้โรงเรียนดนตรีสยามกลการตั้งเป้าหมายขยายตัวร้อยละ 10 จะเน้นเปิดในศูนย์ การค้าเป็นหลัก มีแผนจะปรับภาพลักษณ์ใหม่ เนื่องจากที่ผ่านมา สาขาโรงเรียนที่เป็นแฟรนไชส์ ทั้งหมด จะมีชื่อเรียกต่างกัน ทำให้สับสน จึงจะเปลี่ยนเป็นชื่อเดียวกันทั้งหมด คือโรงเรียนดนตรี สยามกลการ เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และสร้างความน่าเชื่อถือผู้เรียน

การเปลี่ยนชื่อโรงเรียนครั้งนี้ จะดำเนินการ พร้อมกับเปลี่ยนโลโก้ บรรยากาศ และหลักสูตรการสอน ที่ต้องมีครบทุกหลักสูตรทุกสาขา คาดว่าปีนี้จะดำเนินการเสร็จ 38 แห่ง จาก สาขาทั้งหมด 76 แห่ง จะขยายสาขาเพิ่มอีก 10 แห่งปีนี้ ทำให้จำนวนนักเรียนทั่วประเทศ จะเพิ่มเป็นกว่า 30,000 คนปีนี้ จากเดิมที่มีประมาณ 28,000 คน

การปรับภาพลักษณ์ใหม่ให้มีมาตรฐานเดียวกัน และขยายสาขาเพิ่มขึ้น ของโรงเรียนดนตรีสยามกลการ มุ่งจะรองรับการขยายตัวอย่างรวดเร็วของตลาด รวมทั้งเพื่อรับมือการ รุกขยายตลาดคู่แข่งรายสำคัญ คือโรงเรียนดนตรี เคพีเอ็น มิวสิค คาดว่าจะส่งผลธุรกิจส่วนโรงเรียนดนตรีสยามกลการ เลี้ยงตัวเองได้

โรงเรียนดนตรีเคพีเอ็น มิวสิคเป็นโรงเรียน สอนดนตรีอีกแห่ง ที่แม้เพิ่งพัฒนาไม่นาน คือ ประมาณ 2 ปี แตˆคาดว่าจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นตามลำดับ เนื่องจากเจ้าของเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนดนตรีสยามกลการปี 2509 รวมทั้งริเริ่ม ให้ประกวดร้องเพลงชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย (KPN Award) และประกวดร้องเพลงยุวชนชิง ชนะเลิศแห่งประเทศไทย (KPN Junior Award) ซึ่งได้รับความสนใจอย่างสูง แต่ละปี จะมีผู้สมัครประกวดจำนวนมากจากทั่วประเทศ เพราะการประกวดดังกล่าว เป็นประตูก้าวสู่เส้นทางเป็นนักร้องอาชีพที่มีชื่อเสียงต่อไปในอนาคต

โรงเรียนดนตรีเคพีเอ็น มิวสิคพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรการสอนใหม่ โดยเน้นสอนดนตรีลักษณะพัฒนาหลักสูตรดนตรีระดับสูงขึ้นไป เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจดนตรี รวมถึงพัฒนาคุณภาพรวดเร็วขึ้น และดึงบุคลากรที่มีชื่อเสียง และความสามารถด้านดนตรีจำนวนมาก ช่วยพัฒนาหลักสูตรการเรียน การสอน เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้เรียน

ปัจจุบันเคพีเอ็นฯ สาขา 6 แห่ง ประกอบด้วย สำนักงานใหญ่ 1 แห่ง อีก 5 แห่งเป็นสาขา รูปแฟรนไชส์ นักเรียนรวม 1,000 คน เป้าหมาย จะเพิ่มสาขารูปแฟรนไชส์อีก 15 แห่ง ทำให้นักเรียนเพิ่มเป็น 4,000 คนสิ้นปีนี้

เคพีเอ็นฯ ยังมีแผนจะขยายตลาดต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นช่วงปลายปีนี้ ใช้คอนเซ็ปต์โรงเรียน บ้านดนตรี ซึ่งเปิดในหมู่บ้าน รุกขยายแฟรนไชส์ต่างจังหวัด ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์ใหม่ จาก เดิมโรงเรียนดนตรีเปิดในศูนย์การค้า และอาคาร พาณิชย์ ที่ค่าเช่าพื้นที่ค่อนข้างสูง

นอกจาก 2 โรงเรียนดังกล่าว ยังมีโรงเรียน สอนดนตรี มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เปิดสอนระดับมัธยมต้น และเปิดสอนผู้สนใจทั่วไป และโรงเรียนขนาดเล็กๆ อีกจำนวนมาก ทั้งโรงเรียนสอนดนตรีไทย โรงเรียนดนตรีสากล และโรงเรียนสอนร้องเพลง ส่วนใหญ่ต่างมีสาขา เพียง 1-2 แห่ง รวมทั้งยังมีอาจารย์มีชื่อเสียงอีก ไม่น้อย ซึ่งมีทั้งที่สอนดนตรีเป็นอาชีพหลัก และอาชีพเสริม รับสอนดนตรีตามบ้านอาจารย์ หรือรับสอนตามบ้านนักเรียน อาจารย์เหล่านี้ นิยมใช้หลักสูตรการสอนสถาบันที่มีชื่อเสียงต่าง ประเทศ เช่น ทรินิตี้ของอังกฤษ

สถาบันต่างประเทศ จะส่งอาจารย์มาไทยเป็นช่วงๆ แต่ละปี เพื่อจัดการสอบนักเรียนแต่ละระดับหลักสูตร นักเรียนที่ผ่านการทดสอบ ตามเกณฑ์ต่างๆ แต่ละระดับหลักสูตร จะได้ใบรับรองจากสถาบันดังกล่าว

อาจารย์สอนตามบ้านเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะมี ประสบการณ์สอนตามโรงเรียนดนตรีที่มีชื่อเสียงมาก่อน ฝีมือเป็นที่ยอมรับของผู้ปกครอง หรือนักเรียน อย่างกว้างขวาง จึงเปิดสอนที่บ้าน หากมีสถานกว้างขวางพอ มีเครื่องดนตรีเพียงพอ ให้นักเรียนฝึกซ้อม หรือสอนตามบ้านนักเรียน

การสอนลักษณะนี้ จะสร้างรายได้ให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยกว่าเป็นครูดนตรีตามโรงเรียนดนตรี ขณะที่ผู้ปกครองก็พอใจที่บุตรหลานของ ตน จะได้เรียนกับอาจารย์ลักษณะเรียนเดี่ยว อาจารย์จะดูแลได้อย่างใกล้ชิด และแก้ไขข้อบกพร่องนักเรียนแต่ละคนที่แตกต่างกันได้

อาจารย์เหล่านี้มักรวมกลุ่มกัน เพื่อนำนักเรียนของตน เปิดการแสดงบนเวทีเป็นครั้งคราวเพื่อให้นักเรียนได้ประสบการณ์ รวมทั้งจะดูแลเป็นธุระ ติดต่อการสมัครสอบ และเตรียมความพร้อมนักเรียน เพื่อทดสอบตามเกณฑ์ต่างๆ ที่สถาบันผู้จัดการสอบกำหนดการสอนดนตรี จึงเป็นอาชีพที่ไม่ควรมองข้ามผู้มีความชอบและทักษะด้านดนตรี เพราะตลาดรองรับยังขยายตัวได้อีกมาก ประกอบเป็นอาชีพเสริม หรืออาชีพอิสระได้ โดยไม่จำเป็นต้องเปิดสอนรูปโรงเรียนดนตรี ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ผู้จะประกอบธุรกิจด้านการ เรียนดนตรี ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจรูปแบบใดก็ตาม นอกจากควรเป็นผู้มีความสามารถด้านดนตรี หรือมีประสบการณ์ด้านดนตรี ยังจำเป็นต้องให้ความสำคัญด้านเอาใจใส่ดูแลนักเรียนอย่างใกล้ชิดของครูผู้สอน เพื่อดึงความสามารถที่มีอยู่ของ นักเรียนออกมาได้ ทำให้นักเรียนรู้จักตัวเอง และศักยภาพด้านดนตรีที่ตนเองมีอยู่ เมื่อผ่านการฝึกฝนจนชำนาญ สามารถพัฒนาทักษะแต่ละขั้นตอน ตามหลักสูตรได้ ความก้าวหน้านักเรียน เป็นบทพิสูจน์ความสามารถครูสอนดนตรี และความร่วมมือของนักเรียน

รวมทั้งการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพของ โรงเรียนดนตรี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะทำให้ทุก ฝ่าย ต่างประสบความสำเร็จตามเป้าหมายของตนในที่สุด



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.