"อุ๋ย"กล่อมเอกชน-นักวิชาการ"เคลิ้ม" แปร4ปัญหาศก.การเงินช่วยรัฐฯฟื้น


ผู้จัดการรายวัน(22 สิงหาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ ของประเทศยังมีความเสี่ยง โดยเฉพาะความเสี่ยง ในระยะสั้นเกี่ยวกับต่างประเทศ คือการฟื้นตัวทางด้านเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นสำคัญที่จะมีผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางด้านเศรษฐกิจโลกและของประเทศไทยเอง

จากความเสี่ยงดังกล่าว ธปท.จึงต้องดำเนิน นโยบายที่ยืดหยุ่น ไม่ประมาทมองถึงแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะ 3- 4 ปีข้างหน้าจะเติบโตอย่างไรขึ้นอยู่กับปัจจัยภายในประเทศ วาง 4 กรอบปัญหา พร้อมแนวทางแก้

ขณะนี้ได้มีการแก้ไขปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นเดิมได้ระดับหนึ่งแล้ว ธปท.มีข้อเสนอ 4 ปัญหาที่จะเป็นตัวช่วยสนับสนุนให้ปัจจัยภายใน ประเทศเอื้อต่อการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและ ดำเนินนโยบายอย่างไม่ประมาท ประกอบด้วย 1)ระบบสถาบันการเงินต้องมีความมั่นคง 2)เรื่อง หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) 3)หนี้สาธารณะ และ 4) นโยบายการเงิน

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรอธิบายข้อแรกเรื่องระบบสถาบันการเงิน จะต้องมีความมั่นคง ยืดหยุ่นต่อการปรับเปลี่ยนต่อสถานการณ์ว่า นโยบายการเงินจะไม่เกิดผลอะไรเลย หากสถาบันการเงินยังไม่มีความเข้มแข็ง

ขณะนี้สถาบันการเงินเริ่มมีการปรับตัวดีขึ้น อย่างต่อเนื่อง สังเกตได้จากผลประกอบการ ครึ่งปีแรกเริ่มมีกำไรและมีแนวโน้มที่จะทำกำไรได้ต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันปัญหาของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มีการลดลงได้ระดับหนึ่ง ขณะนี้เหลืออยู่ประมาณ 10.2% ของสินเชื่อทั้งระบบ ซึ่ง สถาบันการเงินได้มีการตั้งสำรองไว้ครบตามเกณฑ์ ที่ธปท.กำหนดเรียบร้อยแล้ว

"ขณะนี้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงตามมาตราฐานบีไอเอสทั้งระบบอยู่ที่ระดับ 13.7% ซึ่งสูงกว่าระดับที่ธปท.ได้กำหนด 8.5% ดังนั้นโดยภาพรวมแล้วถือว่าฐานะของสถาบันการเงินอยู่ในเกณฑ์ที่วางใจได้ แต่ยังมีปัญหาที่เป็นรายธนาคาร ที่ต้องแก้ไขอยู่บ้าง เช่น เรื่องของธนาคาร นครหลวงไทยและธนาคารศรีนคร ที่ธปท.ได้แก้ไข โดยการควบรวมกิจการ"

โจทย์ก็คือ ในระยะต่อไปจะต้องทำให้สถาบันการเงินมีเงินกองทุนที่เพียงพอเพื่อรองรับการขยายสินเชื่อ รวมทั้งมีการแปรรูปของธนาคารพาณิชย์รัฐ ซึ่งธปท.จะต้องศึกษาของระบบการควบคุมดูแลให้อยู่ในระดับสากลต่อไป

ต่อมาเรื่องหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ขณะนี้อยู่ในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายหรือมีผลกระทบกับฐะนะของสถาบันการเงิน โดยเอ็นพีแอลของสถาบันการเงินมีการตั้งสำรองไว้ครบหมดแล้ว จากเอ็นพีแอลเดิมในปี 2542 อยู่ที่ระดับ 2.56 ล้านล้านบาท คิดเป็น 46.8% ขณะนี้ได้มีการ ปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว ณ มิ.ย 45 เอ็นพีแอลลดลงเหลือ 1.4 ล้านล้านบาท และได้มีเอ็นพีแอล ย้อนกลับรวมทั้งเอ็นพีแอลที่เกิดขึ้นใหม่อีกประมาณ 6.3 แสนล้านบาท ทำให้ตัวเลขเอ็นพีแอล ขณะนี้อบยู่ที่ระดับ 1.78 ล้านล้านบาท

"เอ็นพีแอลที่เหลืออยู่นั้น เชื่อว่าจะไม่เกิดผลเสียหายกับสถาบันการเงิน เนื่องจากมีการโอนเอ็นพีแอลไปอยู่ที่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) จำนวน 7.2 แสนล้านบาท โดยการโอนเข้าไปนั้นจะโอนตามมูลค่าหลักประกัน และจากประสบการณ์ที่ผ่านมามีการแก้ไขปัญหาหนี้แล้วจะได้รับคืนมากกว่ามูลค่าหลักประกัน จึงไม่น่าจะเกิดผลเสียหาย"

ส่วนของเอ็นพีแอลที่อยู่ในธนาคารพาณิชย์มีประมาณ 6.9 แสนล้านบาท ธนาคารพาณิชย์ได้มีการตั้งสำรองไว้ประมาณ 4.4 แสนล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ธปท.ได้กำหนดไว้เท่าตัว โดยจะต้องต้องสำรองเพียง 2.45 แสนล้านบาท

ยังเหลือส่วนที่เป็นปัญหาอยู่คือ เอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์รัฐมีอยู่ประมาณ 3.7แสนล้าน บาท ซึ่งส่วนนี้จะมีความเสียหายเท่าไรนั้น ธปท. ได้มีการวางแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะยาว โดยให้มีการออกพันธบัตรกองทุนฟื้นฟูฯ

ประการที่ 3 หนี้สาธารณะ ผู้ว่าฯธปท.กล่าว ว่าการที่หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น ถือว่าเป็นความเสี่ยงในระยะปานกลาง แต่ในทางวินัยทางการคลัง คิดว่า รัฐบาลทำถูกต้องแล้ว ที่จัดทำงบประมาณแบบขาดดุลลดลง จะทำให้งบประมาณสมดุล ได้ในอีก 4-5 ปีข้าง

"การแก้หนี้กองทุนฟื้นฟูของธปท. เป็นการส้รางความชัดเจนให้กับนักลงทุน นำไปสู่การปรับตัวของระบบการเงินที่ดีขึ้นและเมื่อปัญหากองทุนฟื้นฟูได้รับการแก้ไข การตั้งสถาบันประกันเงินฝากจะตามมา ทำให้ทุกฝ่ายตื่นตัว ระวังเงินในการลงทุน ลดภาระของภาครัฐและ ผู้เสียภาษี เพราะปัจจุบันภาระการรับค้ำประกันของรัฐสูง ยังบิดเบือนกลไกการกู้ยืมในตลาดอาร์พี" ประการที่ 4 นโยบายการเงิน มองว่า นโยบายการเงินมีความเหมาะสมแล้ว ภายใต้กรอบของเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ รวมทั้งนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นระบบลอยตัว ซึ่งมีความยืดหยุ่นได้ตามกลไกตลาด เป็นการรักษาระดับเสถียรภาพของเศรษฐกิจได้ดี ซึ่งเชื่อว่านโยบายการเงินดำเนินมาถูกทางแล้ว "ทั้งหมดนี้ยังเหลือแต่ทางด้านวิชาการที่ จะมีการสัมมนาในวันนี้เพื่อกำหนดแล้วทางของเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ"

ย้ำหนี้สาธารณะตัวถ่วง บสท.ยังมีความเสี่ยง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าช่วงที่ 2 ว่าด้วยเสถียรภาพ ทางเศรษฐกิจด้านการคลัง และด้านต่างประเทศ โดยเป็นการเสนองานวิชาการจากธนาคารแห่งประเทศไทย ในหัวข้อเรื่อง "ความยั่งยืนทางการคลังกับเป้าหมายเงินเฟ้อ : การผสมผสานนโยบายที่เหมาะสม"

โดยนางสาวิตรี สัจจาภินันท์ อัศวานุชิต และนายวรพัฒน์ เจนสวัสดิชัย เสนอบทความ โดยสรุปว่า ภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เศรษฐกิจของประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอยรัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการคลัง แบบขาดดุล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและยังต้องรับภาระความเสียหายของภาคการเงินจากวิกฤตดังกล่าว ส่งผลให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น เป็นจำนวนมาก จึงเป็นความเสี่ยงสำคัญของประเทศในระยะปานกลาง

นางสาวิตรี กล่าวว่า ในบทความได้วิเคราะห์ถึงหนี้สาธารณะในระยะต่อไปว่าจะเข้าขั้นวิกฤตหรือไม่ ฐานะทางการคลังจะยั่งยืนแค่ไหน รวมทั้งประเมินความเสี่ยงทางการคลัง ทั้งภาระที่อาจเพิ่มเติมจากงบประมาณและภาระผูกพันที่อาจเกิดขึ้นด้วยทั้งนี้เพื่อนำแบบจำลองทางการคลัง มาประมาณการหนี้สาธารณะในระยะต่อไป

เพื่อนำมาเชื่อมโยงกับแบบจำลองเศรษฐกิจ มหภาค ของธปท.และนำไปสู่ผลสรุปของการผสมผสานนโยบายการเงิน การคลังที่เหมาะสม ในระยะต่อไป

"การเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะอย่างรวดเร็วภายหลังวิฤกตเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดความกังวลผลต่อภาวะเงินเฟ้อและการเบียดบังทรัพยากรภาคเอกชน"

อย่างไรก็ดี การก่อหนี้ที่ผ่านมามิได้กู้เงินจากธนาคารกลาง โดยตรงไม่ทำให้ฐานเงินเพิ่มขึ้นมากกว่า อัตราปกติ จึงไม่ส่งแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ ประกอบกับเศรษฐกิจมีการใช้กำลัง การผลิตและแรงงานในระดับต่ำ ทำให้ GDP ที่เกิดขึ้นจริงต่ำกว่า ดังนั้น การใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาล จึงยังไม่กดดันเงินเฟ้อ และไม่เบียดบังทรัพยากรภาคเอกชน ซึ่งสอดคล้องกับการที่ระบบการเงินยังมีสภาพคล่อง ส่วนเกินเป็นจำนวนมาก

"สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2540 ซึ่งเป็นปีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ มีจำนวน 1,668.7 พันล้านบาท หรือ 35% GDP หรือเพียง 773 พันล้านบาท หากไม่นับหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่ไม่ได้รวมอยู่ในหนี้สาธารณะขณะนั้น

ดังนั้น หนี้สาธารณะจึงเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า เทียบกับ 2,869 พันล้านบาท หรือ 53.5%GDP ณ สิ้นมีนาคม 2545 เป็นหนี้ในประเทศ 71% หนี้ต่างประเทศ 29% ซึ่งการเพิ่มขึ้น เป็นผล มาจากการทำนโยบายการคลังแบบขาดดุล ประกอบกับการรับความเสียหายของภาคการเงินเป็นสำคัญ"

นางสาวิตรี กล่าวว่า ตัวเลขหนี้สาธารณะ ในระดับ 53.5% GDP เป็นตัวเลขที่ conservative พอสมควรแล้ว เนื่องจากเป็นการคำนวณจากหนี้โดยตรงของรัฐบาลและหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯและภาระผูกพัน และได้รวมการประเมินความเสี่ยงของหนี้รัฐวิสาหกิจที่มีความเสี่ยงสูง ไว้ด้วยแล้วเช่นกัน

"จากการประเมินพบว่า มีรัฐวิสาหกิจเพียง 11 แห่งที่มีความเสี่ยงสูงซึ่งคิดเป็น 4% ของรัฐวิสาหกิจรวมเท่านั้น เมื่อนำรัฐวิสาหกิจทีเสี่ยง ต่ำ มาคำนวณแล้ว ตัวเลขหนี้สาธารณะที่เหลือจะคิดเป็นสัดส่วน 49% GDP เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขที่กระทรวงการคลังประเมินไว้อีก แต่อย่างไรก็ตาม ในการประมาณการธปท.ได้นำตัวเลข 53.5% มาใช้ในการคำนวณ"

ในการผสมผสานนโยบายการเงินการคลัง เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวเต็มที่ในอนาคต และเอกชนเพิ่มกำลังการผลิตจนกระทั่ง GDP เติบโตในระดับที่มีศักยภาพ ความต้องการเงินทุนจะสูงขึ้น รัฐวิสาหกิจจะหันมากู้ในประเทศแทนการกู้ต่างประเทศ อาจส่งผลให้สภาพคล่องตึงตัว สร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ย ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องหันมาดำเนินนโยบายการคลัง แบบหดตัว (Fiscal Consolidation) เพื่อให้สอดรับกับการฟื้นตัวของภาคเอกชนและรัฐบาล รวมทั้งรัฐวิสาหกิจ ที่ต้องร่วมกันทำแผนก่อหนี้ภาครัฐอย่างเป็นระบบ

ขณะเดียวกันนโยบายการเงิน ธปท.จะรักษาอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยผสมผสานนโยบายการเงินการคลัง อย่างเหมาะสม ด้วยการมีฐานะการคลังยั่งยืน และมีเสถียรภาพด้านราคา เพื่อเอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจที่ยั่งยืน แนะขึ้น VAT 10% ปรับฐานะการคลังกลับสมดุล โดยในระยะปานกลางประมาณ 10 ปีข้างหน้า ฐานะการคลังสามารถกลับสู่สมดุลได้หนี้สาธารณะและภาระหนี้ ยังอยู่ในวิสัยที่จัดการได้ แต่ควรมีการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มกลับมาเป็น 10% และมีการปฏิรูประบบข้าราชการ เพื่อควบคุมรายจ่ายประจำมิให้มีการขยายตัวมากเกินไปอันจะช่วยลดความเสี่ยงด้านการคลังให้น้อยที่สุด

"การขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มกลับเป็น 10% เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ฐานะการคลังกลับเข้าสู่ภาวะสมดุลได้ หากไม่สามารถขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มได้ก็ต้องพิจารณามาตรการเพิ่มรายได้ทางอื่น ที่ได้รายได้ทัดเทียมกันในระยะยาว

อย่างไรก็ดี ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภค แต่ไม่จัดเก็บจากการลงทุนและใช้อัตราศูนย์สำหรับการส่งออก จึงเป็นภาษีที่ช่วยชะลอการบริโภค ส่งเสริมการออม ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจสมดุลในระยะยาวนอกจากนี้ยังต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บอยู่เสมอ"

อนึ่ง ยังมีความเสี่ยงจากการดำเนินงานของ บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) หากอัตราการได้คืนของสินทรัพย์ (Recovery Rate) ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แม้หลายฝ่ายจะคาดว่าบสท. จะไม่มีความเสียหาย เนื่องจากรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในราคาที่ต่ำมาก การเพิ่มประสิทธิ-ภาพการจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ยังจำเป็นเพื่อช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าว

ส่วนความเสี่ยงจากการกระจายอำนาจการคลังท้องถิ่นหากไม่สามารถถ่ายโอนไปยังองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ได้ ในขณะที่รายจ่าย ที่รัฐบาลกลางไม่ลดลง จะทำให้ขนาดของภาครัฐใหญ่ขึ้น รัฐบาลจึงควรเร่งจัดการโอนงานและคนให้สอดคล้องกับรายได้ที่จัดสรรไปให้อปท.ด้วย

แนวนโยบายในระยะต่อไป ควรมีการปฏิรูประบบภาษีอื่นๆ ที่เพิ่มรายได้และสร้างความเป็นธรรมมากขึ้น อาทิ ทบทวนการลดหย่อน ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ลดการช่วยเหลือด้าน ภาษีการส่งเสริมการลงทุนของคณะกรรมการ ส่งเสริมการลงทุน และมีการจัดสรรงบประมาณแบบพหุศก เพื่อวางกรอบการใช้จ่ายของรัฐบาลในระยะปานกลางอย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากนั้น รัฐบาลควรเน้นการขยายฐานภาษี และเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดเก็บภาษีโดยรวม สำหรับการดำเนินนโยบายในระยะยาว ต้องดำเนินนโยบายการคลังอย่างระมัดระวัง ในระยะยาว 20-30 ปีข้างหน้า รัฐบาลจะสามารถทยอยชำระหนี้รัฐบาลได้จนหมด ทั้งหนี้รัฐบาลเพื่อชดเชยการขาดดุลในช่วง 10 ปีแรก และหนี้จากการรับภาระความเสียหายของกองทุนฟื้นฟูฯ ทั้งหมด

อย่างไรก็ดี การไม่มีหนี้สาธารณะเลย อาจจะไม่ใช่นโยบายที่เกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากหนี้สาธารณะ ช่วยพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ ซึ่งจะเป็นทางเลือกในการระดมทุน ของภาคเอกชน นายนพดล บูรณะธนัง และ นายชัยพัฒน์ พูนพัฒน์พิบูลย์ นักวิชาการสายนโยบายการเงินเสนองานวิจัย เรื่อง "ฐานะหนี้ต่างประเทศและดุลบัญชีเดินสะพัดที่สอดคล้องกับเสถียรภาพระยะยาว"

นายนพดลกล่าวว่า เหตุที่ทำการวิจัยดังกล่าว เนื่องจากเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น ดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มที่จะกลับมาขาดดุล และอาจต้องอาศัยเงินทุนจากต่างประเทศเพิ่มอีกครั้ง ในระยะยาว ซึ่งทำให้ระดับการปรับตัวของหนี้ต่างประเทศ และดุลบัญชีเดินสะพัดไม่สอดคล้องกันได้ จากการศึกษาดุลบัญชีเดินสะพัด ที่สอดคล้องกับเสถียรภาพระยะยาวโดยมีปัจจัยสำคัญที่กำหนดความสามารถในการสร้างรายได้คือ การขยายตัวของ GDP การขยายตัวของผลิตภาพและการขยายตัวของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ส่วนปัจจัยสำคัญที่สะท้อนความจำเป็นในการรักษาสภาพคล่องของประเทศ คือ สัดส่วนเงินสำรองระหว่างประเทศต่อการนำเข้าหรือสัดส่วนเงินสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ระยะสั้น พบว่าดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ควรขาดดุลต่อเนื่องเกินร้อยละ 2.3-3.3 ต่อ GDP การประเมินความ สามารถการชำระหนี้ต่างประเทศ และความเสี่ยงด้านสภาพคล่องโดยใช้สัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อGDPและหนี้ต่างประเทศต่อการส่งออกเป็นเครื่องชี้โดยพบว่า ฐานะความมั่นคงทางการเงินและสภาพคล่องของประเทศปรับตัวดีขึ้นมากหลังวิกฤต

โดยในไตรมาสแรกหนี้ต่างประเทศต่อ GDP อยู่ในระดับ 59.7% และหนี้ต่างประเทศต่อการส่งออกอยู่ในระดับ 92.7% ส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศคิดเป็น 7.5 เดือนของการนำเข้าซึ่งตามมาตรฐานทั่วไปไม่ควรต่ำกว่า 3-4 เดือน

นายนพดล กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลง ของการส่งออกและนำเข้าจะมีผลต่อพลวัตของดุลบัญชีเดินสะพัด แต่ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะปรับตัวไม่มากเนื่องจากการอ่อนตัวของค่าเงินบาทซึ่งจะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

ข้อเสนอแนะการดำเนินนโยบายมีดังนี้ ควรดูแลดุลบัญชีเดินสะพัดให้สอดคล้องในระยะยาว เช่น ลดสินค้านำเข้าฟุ่มเฟือย ควรมี นโยบายส่งเสริมการออมเพิ่มประสิทธิภาพ การลงทุน รักษาวินัยการเงินการคลังเพื่อลด ช่องว่างการออมและการลงทุน การนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาการส่งออก การสร้างเครดิตไลน์ กับต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยลดการสำรองเงินระหว่างประเทศลง เพราะการมีเงินสำรองจะมีต้นทุน

ขณะเดียวกัน ควรส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศโดยตรงเพราะจะมีผลต่อรายได้ในอนาคต การพัฒนาระบบติดตามการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศซึ่งจะช่วยให้รัฐสามารถปริหารสภาพคล่องได้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.