สีซอ ตอนที่ 1

โดย อเนกระรัว
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

ผมเคยเขียนเรื่องการหัดเล่นดนตรี (ผู้จัดการ ก.ย. ถึง พ.ย.2544) ในคราวนั้นผมเสนอให้การหัดเล่นกีตาร์และเครื่องคีย์บอร์ด ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่เหมาะกับการเริ่มต้นและดูสามัญเป็นอย่างยิ่ง คราวนี้ ผมขอเสนอสิ่งที่ท้าทายทั้งสติปัญญา ความสามารถ ความพยายาม และความอดทน กับการหัดเล่นเครื่องดนตรีที่ไม่สามัญ....ซอฝรั่ง หรือไวโอลิน

ไวโอลิน เป็นเครื่องดนตรีที่คลาสสิก ดูเท่ และมีเสน่ห์ ทั้งรูปและเสียง และถ้าท่านมีโอกาสได้ยืนสีไวโอลินท่ามกลางผู้คน ท่านก็จะดูเท่และมีเสน่ห์น่าประทับใจยิ่ง มีข้อแม้ว่าน้ำเสียงที่เปล่งออกมาก็ต้องเข้าท่าด้วย เป็นเวลานานหลายร้อยปีมาแล้วที่เรารู้จักไวโอลิน ในนามของพระเอกแห่งวงดนตรีประเภทเพลงคลาสสิก

แต่ความจริงเครื่องดนตรีไวโอลินได้แทรกซึมอยู่กับสังคมมนุษย์หลายกลุ่มชน ตั้งแต่ราชสำนักยุโรปจนถึงยิปซีพเนจร ชาวประมงไอริช ไปจนถึงคาวบอยที่เท็กซัส เราจะได้ยินเสียงไวโอลินหมู่ในภาพยนตร์เพลงอินเดีย เพลงจีนร่วมสมัย มาจนถึง Venessa May, The Corr หรือ Bond ส่วนในบ้านเรา ไวโอลินก็เข้ากันได้อย่างยิ่งกับเพลงสุนทราภรณ์ เพลงไทยเดิม และเพลงมหาอมตะนิรันดร์กาลต่างๆ นานา

การหัดเล่นไวโอลินด้วยตนเองไม่ใช่สิ่งต้องห้ามหรือเป็นไปไม่ได้สำหรับบุคคลปกติทั่วไป แต่การจะพัฒนาให้เล่นได้ดีเล่นได้ไพเราะ ดูจะไม่ง่ายนัก (เรียกว่าโหดมหากาฬดูจะใกล้เคียงกว่า) ไวโอลิน เป็นเครื่องดนตรีที่เล่นยากที่สุดชิ้นหนึ่ง ตามความเห็นของผม (และใครต่อใคร)

อย่างไรก็ดี ตามประสาคนอยู่ไม่สุขอย่างผมก็ไม่วายที่จะลองของ ผมเริ่มต้นด้วยการหาซื้อไวโอลินมาหัดเล่นเอง โชคดีที่ผมมีเพื่อนของเพื่อนที่เป็นอาจารย์สอนไวโอลิน ผมจึงได้ไวโอลินเมดอินไทยแลนด์คุณภาพดีเท่าที่จะเป็นไปได้ในราคาห้าพันกว่าบาท จะหาซื้อที่ถูกกว่านี้ก็มีแต่ไม่แนะนำ เพราะจะได้ไวโอลินคุณภาพไม่ดี ราคาที่ถูกที่สุด และพอหาดีได้อยู่ที่ประมาณ 5,000 ถึง 8,000 บาท แต่มีเคล็ดลับอยู่ที่ท่านอาจต้องพึ่งผู้รู้ช่วยเลือกซื้อให้

สำหรับท่านทั้งหลาย ก่อนจะถลำตัวไปมากกว่านี้ ผมมีข้อพิจารณาเบื้องต้นก่อนการตัดสินใจหัดเล่นไวโอลิน ซึ่งได้แก่ ท่านจะต้องมีเวลาให้อย่างน้อย 1 ชั่วโมงวันเว้นวันสำหรับฝึกหัด และใช้เวลาประมาณ 3 ถึง 6 เดือน เพื่อให้รู้ดำรู้แดงกันไป ซึ่งในระหว่างเวลานี้ท่านเกิดหลงรักเสียงไวโอลินของตัวเอง ก็ถือเป็นความสำเร็จขั้นหนึ่ง (ถ้าคนรอบข้าง ก็หลงรักด้วยถือเป็นความสำเร็จที่งดงามยิ่ง) ท่านจะต้องมีที่ซ้อมเล่นเป็นสัดส่วนที่ไม่ไปรบกวนโสตประสาทใคร

ข้อสำคัญที่สุดท่านจะต้องเป็นเจ้าของหูที่มีความสามารถเรื่องระดับเสียงของดนตรี (Relative Pitch) คือสามารถรู้จักความเพี้ยน หรือไม่เพี้ยนของเสียงดนตรี ยกตัวอย่างถ้าท่านชอบร้องโอเกะหลุดคีย์เป็นนิตย์ หรือผู้ฟังบ่นแกมประชดว่า ร้องเพี้ยนขณะที่ท่านไม่รู้สึกอะไร ท่านไม่ควรหัดเล่นไวโอลิน หาคีย์บอร์ดหรือกีตาร์มาหัดจะเหมาะกว่า

ไวโอลินต้องการการควบคุมระดับเสียง (Pitch) ที่ละเอียดมาก เพราะที่ Finger Board ซึ่งเป็นที่ให้นิ้วมือซ้ายกดสายจะไม่มีเครื่องหมายหย่อง หรือ Fret ที่จะทำให้ได้ระดับเสียงที่แน่นอน ท่านจะต้องใช้นิ้วเปล่าๆ กดลงตำแหน่งที่ถูกต้อง โดยมีความผิดพลาดเป็นเศษเสี้ยวของมิลลิเมตร และทุกตัวโน้ตที่เล่นท่านจะต้องใช้หูฟังและปรับนิ้วให้ได้เสียงที่ถูกต้องตลอดเวลา ยิ่งเล่นตัวโน้ตเสียงยิ่งสูง หูและนิ้วมือจะต้องมีความเที่ยงตรงสูงยิ่งตามไปด้วย

ถ้าท่านตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะหัดเล่นไวโอลิน เริ่มแรกท่านต้องหาเครื่องดนตรี ถ้าหยิบยืมใครมาได้ ก็รีบดำเนินการ ถ้าหยิบยืมไม่ได้จำเป็นต้องหาซื้อ ผมแนะนำให้ซื้อไวโอลินตัวแรกราคาประหยัดก่อน ไม่ได้ขู่แต่เพราะความหวังดี เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงที่ท่านอาจล้มเลิกความตั้งใจเล่นไวโอลินในเวลารวดเร็ว หรือไม่เช่นนั้น (มองโลกในแง่ดี) ท่านได้พัฒนาฝีมือและได้ค้นพบตัวเอง ท่านค่อยหันไปเล่นไวโอลินคุณภาพระดับ Artist หรือ Professional ได้ในราคาประมาณ 50,000 บาทขึ้นไปก็ได้

ความรู้แถมพก ในกรณีที่ท่านซื้อให้ตัวเอง ก็ต้องเลือกขนาด 4/4 หรือขนาดมาตรฐาน ในกรณีที่จะซื้อให้ลูกหลาน ไวโอลินอาจต้องมีขนาดเล็กลง เนื่องจากขนาดมือของเด็ก เช่น ขนาด 1/4 สำหรับเด็ก 6-7 ขวบ ขนาด 1/2 สำหรับเด็ก 8-9 ขวบ ขนาด 3/4 สำหรับเด็ก 10-11 ขวบ และสำหรับเด็ก 12 ขวบขึ้นไป คือ ขนาดเต็มส่วน 4/4 (ทั้งนี้อายุโดยประมาณ พิจารณาขนาดของมือเด็กเป็นสำคัญ) นอกจากตัวไวโอลิน แล้วยังมีคันสี แท่งยางสน กล่องใส่ไวโอลิน ที่รองบ่า และเพื่อให้การตั้งเสียงง่ายขึ้น สายที่ 1 และ 2 (สาย E และ A) ควรติดที่ปรับเสียงละเอียด (Tuner) ไว้ด้วย

อุปกรณ์เสริมที่สำคัญอีกอย่างคือ ที่ตั้งเสียง ถ้าท่านมีเครื่องดนตรีที่มีเสียงที่ถูกต้องอยู่แล้วเช่น คีย์บอร์ด หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มี Sound Card ท่านอาจใช้เครื่องเหล่านั้นช่วยตั้งเสียง ไม่เช่นนั้นท่านอาจซื้อที่ตั้งเสียงสำหรับกีตาร์ชนิดเป่ามาใช้กับไวโอลินก็ได้ หรือถ้าท่านอยากได้ความถูกต้องเที่ยงตรง แต่ขณะเดียวกันยังขาดความมั่นใจในหูของตัวเอง ผมแนะนำให้ใช้เครื่องตั้งเสียงอิเล็กทรอนิกส์ที่ละเอียดแม่นยำและใช้ง่าย นอกจากนั้นเครื่องเคาะจังหวะหรือ Metronome ซึ่งทำหน้าที่ให้จังหวะสำหรับการซ้อมเล่นดนตรีก็เป็นอุปกรณ์ที่มีประโยชน์ เพราะสามารถช่วยท่านพัฒนาการนับจังหวะให้ถูกต้อง

หลังจากที่จัดหาเครื่องดนตรีคู่กายได้แล้ว ก็หันมาหาแหล่งข้อมูลเพื่อการเริ่มต้น ในกรณีที่ท่านต้องการพึ่งพาตนเองอย่างเด็ดเดี่ยว แหล่งข้อมูลที่เข้าท่าและครบครันที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้นอินเทอร์เน็ต ถึงตรงนี้หลายท่านอาจสะดุด (เล่นไวโอลินก็ยากแล้วยังต้องหัดเล่นคอมพิวเตอร์อีก) เพื่อไม่ให้ไปกันใหญ่ โลก "โลว์เทค" ก็ยังมีข้อมูลที่ใช้ได้อยู่เช่นกัน

กรณีของผม ผมอ่านหนังสือเก่าเก็บชุด Teach Yourself Books "The Violin" เขียนโดย Theodore Rowland-Entwistle ซึ่งก็ได้ข้อมูลที่เพียงพอสำหรับการเริ่มต้น (หรืออาจใช้หนังสือเล่มอื่นแนวเดียวกัน) แต่ถ้าท่านใช้อินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว ตรงสู่ Web Site สอนไวโอลินได้เลย เด่นสุดที่ผมหาได้ ได้แก่ www.violinonline.com และ www.wps.pwp.blueyonder.co.uk จะพบว่าเรียนรู้ได้ง่ายกว่ากันเยอะ

ข้อมูลใน Web Site ทั้งสองมีความรู้พื้นฐานตั้งแต่เรื่องของท่าทาง การจับเครื่องดนตรี การจับคันสี วิธีการสี มีแบบฝึกหัดเบื้องต้น ข้อแนะนำและความรู้ที่เป็นประโยชน์รวมถึงความรู้พื้นฐานทางดนตรี ที่พิเศษใน Web Site ยังมีตัวอย่างเพลงและดนตรีสำหรับประกอบการซ้อม ในรูปของ Midi File สำหรับเล่นด้วยคอมพิวเตอร์ด้วย

ถึงตรงนี้ผมก็ขอฝากการบ้านไว้ให้ท่านลองหาหนังสือการเล่นไวโอลินเบื้องต้นมาอ่าน หรือท่อง Web Site ที่ระบุข้างบน ท่านอาจยังไม่ต้องลงทุนซื้อไวโอลินตั้งแต่ต้น ค้นหาข้อมูลก่อนจนรู้สึกฮึกเหิมได้ที่แล้วค่อยว่ากันก็ได้ แล้วคราวหน้าพบกันครับ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.