การปรับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจครั้งที่ 4 ของ ธปท.

โดย ภัชราพร ช้างแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

การแถลงตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อสิ้นเดือนกรกฎาคมมีนัยสำคัญที่ต่างไปจากหลายครั้งที่ผ่านมา เพราะได้มีการปรับประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยปรับจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 2.5%-3.5% เป็น 3%-4% ด้วยเหตุผลว่า เพื่อให้สอดคล้องกับประมาณการของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ 3.5%-4% และอัตราเงิน เฟ้อพื้นฐานที่คาดว่าจะอยู่ในระดับ 0.5%-1% ไม่เปลี่ยนแปลงจากครั้งก่อน

ธปท. มีการปรับการคาดการณ์ตัวเลข การเติบโตทางเศรษฐกิจของปี 2545 มา ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 4 แล้ว ซึ่งน่าสังเกตว่าธปท.ไม่เคยปรับเปลี่ยนตัวเลขบ่อยๆ เช่นนี้มาก่อน

โดยในปีที่แล้ว ธปท.ประกาศตัวเลขไว้ที่อัตรา 1-3% ครั้นมาในเดือนมกราคม 45 ประกาศตัวเลขใหม่เป็น 2-3% และในเดือนพฤษภาคม 45 ก็ประกาศปรับใหม่เป็น 2.5- 3.5% ซึ่งเป็นการประกาศในช่วงต้นเดือน ก่อนหน้าที่คณะทำงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF จะเข้ามาเก็บตัวเลข แล้วประกาศปรับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปลายเดือนพฤษภาคมด้วยเช่นกัน

IMF ประกาศปรับอัตราการเติบโตฯในปี 2545 จากระดับ 2.7% เป็น 3.2% ส่วน ปี 2546 ปรับเป็น 3.5-3.6% ซึ่งถือเป็นอัตราการขยายตัวที่ยังไม่สูงมากนัก

ก่อนหน้านี้ ผู้ว่าการ ธปท.บอกว่าตัวเลข 2.5-3.5% ถือว่ามีความเหมาะสมกับการขยายตัวเศรษฐกิจในขณะนี้ที่เริ่มดีขึ้น ธปท.ยังมีความจำเป็นต้องติดตามตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อประกอบการพิจารณานโยบายเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งจะมีการพิจารณากันอีกครั้งในการประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือนกรกฎาคม แต่ก็คาดว่าจะยังไม่มีการพิจารณาปรับประมาณการเศรษฐกิจใหม่แต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี กนง.ก็ประกาศปรับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไปแล้วเป็นครั้งที่ 4 และอาจจะมีการประกาศเช่นนี้ออกมาอีก ในการประชุมครั้งต่อๆ ไปที่จะมีอีก 3 ครั้งสำหรับปีนี้

การประกาศปรับตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งมาก เพราะปัจจัยเศรษฐกิจนอกประเทศมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย หากดูตัวเลขคาดหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งปีแล้ว หลายสำนักปรับเป็น 4% หรือมากกว่าแล้วด้วยซ้ำไป (ดูตาราง)

การประกาศปรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของ ธปท.มีสัญญาณที่ดีมาจากการฟื้นตัวของภาคการส่งออกไทยที่ดีต่อเนื่อง มาเป็นเดือนที่ 2 ขณะที่ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดก็กลับมาเป็นบวกสูงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ด้วยเช่นกัน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ตัวเลขการส่งออกเป็นปัจจัยที่สร้างความกังวล เพราะมีการขยายตัวติดลบมาตลอดช่วง 10 เดือน

ธปท.ยังได้มีการปรับเพิ่มประมาณการตัวเลขส่งออก โดยคาดว่าจะขยายตัว 2-3% ในปีนี้ จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวเพียง 1-3% แต่ดังที่ทราบกันดีว่าเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังนี้จะแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ภาคเอกชนไทยฟื้นตัวดีขึ้นอย่างแท้จริงหรือยัง เพราะการอัดฉีดจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการเริ่มฝืด เนื่องจากขาดเม็ดเงินมากระตุ้น เพราะได้มีการเร่งเบิกใช้กันไปอย่างเต็มที่ในครึ่งปีแรกแล้ว

การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างแข็ง แกร่งในไตรมาส 1/45 ในระดับ 3.9% ดีกว่าประมาณการของนักวิเคราะห์ที่สำรวจโดยรอยเตอร์ที่ประเมินไว้ที่ 3% เปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนที่เศรษฐกิจขยายตัว 2.1% เนื่อง จากการส่งออกสินค้าในรูปปริมาณที่ปรับเพิ่มขึ้น 3.9% แม้ว่ามูลค่าส่งออกในรูปดอลลาร์ จะลดลงถึง 6.3% บวกกับภาวะการขยายตัวสูงของการใช้จ่ายของผู้บริโภค และการลงทุน และการผลิตที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน

ทั้งนี้การขยายตัวของการใช้จ่ายภาคเอกชน และการลงทุน นับว่าเป็นหัวใจสำคัญ ที่สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจใน ไตรมาส 1/45 ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการเติบโตที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมในประเทศ โดยเฉพาะการผลิตในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง อันเป็นผลจากภาวะฟื้นตัวของความต้องการบ้าน, ภาวะดอกเบี้ยต่ำ, มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล รวมถึงการฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทย ได้ช่วยกระตุ้นการบริโภคด้วย

เนื่องจากรัฐบาลยังมองว่าการส่งออกจะเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม ดังนั้นจึงมีการเน้นมาตรการต่างๆ ที่จะช่วยสนับสนุนการส่งออกอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่เงินบาทมีค่าแข็งในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม และเคลื่อนไหวผันผวนมากในตอนปลายเดือน ก็จะเริ่มมีการออกมาพูดว่า ธปท.ควรดูแลค่าเงินสักหน่อย เพราะเงินบาทที่แข็งเกินไปจะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออก ที่ขายสินค้าแล้วเมื่อแลกเป็นเงินบาทไทยกลับเข้าประเทศ จะได้ปริมาณน้อยลง

ทั้งนี้ ธปท.ก็เริ่มมีการเข้าไปแทรก แซง การซื้อขายเงินบาทบ้างแล้ว ด้วยเสียงสนับสนุนจากทางการและนักวิชาการบางกลุ่ม เพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงิน โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่า ธปท.ได้บอก ว่า การที่เงินบาทมีค่าแข็งขึ้นจากเมื่อต้นปีอยู่ในระดับ 44 บาทต่อดอลลาร์ มาอยู่ที่ระดับ 42 บาท สาเหตุมาจากเงินดอลลาร์ มีค่าอ่อนลงบวกกับปัจจัยที่มีเงินทุนไหลเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ต้นปีมา มีเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาถึง 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว

"ถ้าปล่อย free floatting แบบความฝันของไอเอ็มเอฟ มันอาจจะสวิงแรงกว่านี้เยอะ แต่เราได้ทำในลักษณะ manage float ...เราดูแลพอควร ที่ต้องดูแลพอควรเพราะไม่งั้นคนค้าขายไม่ได้..."

ผู้ว่า ธปท.ยอมรับว่าได้มีการดูแลค่าเงินบาทพอสมควร ซึ่งก็ต้องให้เครดิตแก่ตัวท่านในเรื่องนี้ เพราะคุ้นเคยกับภาคการส่งออกมาก่อน ในฐานะเป็นอดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกแห่งประเทศไทย

และคงไม่ต้องแปลกใจว่า ทำไมธปท.จึงกล้าปรับประมาณการเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นได้อีก ทั้งที่ปัจจัยความเสี่ยงในเรื่องเศรษฐกิจระหว่างประเทศยังมีอยู่อย่างเต็มที่



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.