บัณฑูร ล่ำซำ-สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

มีเรื่องราวของคนสองคนที่สมควรกล่าวถึง ในฐานะที่เป็น Role Model ของสังคมธุรกิจไทย (รายละเอียด โปรดอ่านจากนิตยสารผู้จัดการฉบับที่แล้ว) ในฐานะที่มีความเหมือนและแตกต่างกันอย่างน่าสนใจ ทั้งสองมีอายุไล่ เลี่ยกัน โดยบัณฑูร ล่ำซำ (2496) มีอายุมากกว่า สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (2498) อยู่ 2 ปี ซึ่งถือ ว่าเป็นคนรุ่นเดียวกันในสังคมไทย แต่ทั้งสองกลับมีจุดเริ่มต้นในฐานะที่แตกต่างกันอย่างมาก

บัณฑูรเติบโตขึ้นมาในฐานะบุตรชายคนเดียวของบัญชา ล่ำซำ ผู้บริหารธนาคารกสิกรไทยที่ประสบความสำเร็จมากคนหนึ่ง ในฐานะตระกูลธุรกิจเก่าแก่ และมีชื่อเสียงของสังคมไทย บิดาของเขาเป็นนักบริหารที่มีความเชื่อการบริหารสมัยใหม่ โดยเฉพาะจากระบบการบริหารธุรกิจแบบอเมริกัน พร้อมกับความเชื่อระบบการศึกษาอเมริกัน บัณฑูรผ่านระบบการศึกษาจากระบบอเมริกันตั้งแต่วัยเด็ก จากสถาบันการศึกษาชั้นดีของสหรัฐฯ ซึ่งถือว่าเป็นสถาบันการศึกษาชั้นดีของโลกด้วย ขณะเดียวกันมารดาของเขาเป็นราชนิกุล สายที่มีความสัมพันธ์กับสังคมไทย ไม่น้อย หม่อมราชวงศ์สำอางวรรณ เทวกุล หลานของพระองค์เจ้าเทววงศ์วโรปกรณ์ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศคนแรก ผู้มีบทบาทสำคัญในช่วงสำคัญมากของประวัติศาสตร์ในรัชกาลที่ 5 ในยุคอาณานิคมที่คุกคามสังคมไทยมากที่สุดเมื่อราว 100 ปีที่ผ่านมา

บัณฑูร มีความเชื่อมั่นระบบการบริหารธุรกิจ แบบอเมริกัน มองผลสำเร็จของการบริหารที่มีเป้าหมายเด่นชัด แม้เขาจะเป็นทายาทของตระกูลธุรกิจเก่าแก่ ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่ความเข้มข้นของความผูกพันด้วยระบบกงสีนั้นไม่มีอยู่ในความคิดของเขาแล้ว

สมคิดมาจากครอบครัวเชื้อสายจีนที่มีวิถีชีวิตความเป็นจีนค่อนข้างเข้มข้นในวัยเด็ก ด้วยฐานะที่ไม่ดีของครอบครัว ทำให้เขาต้องไปใช้ชีวิตในช่วงต้นกับญาติ เขาเติบโตกับความยากลำบากของชีวิต เนื่องจากกิจการค้าขายเล็กๆ ของบิดาต้องล้มละลายไปในช่วงที่ลืมตาดูโลก แต่สมคิดมีแรงบันดาลใจอย่างสูงในการช่วยตนเอง และการศึกษา หลังจากจบปริญญาตรีทางเศรษฐศาสตร์ที่ธรรมศาสตร์ ก็ขวนขวายหาทุนไปเรียนต่างประเทศ แต่กว่าจะได้ทุนกลับเป็นทุนระดับปริญญาเอก หลังจากเรียนระดับปริญญาโทที่นิด้า การเรียนรู้สังคมอเมริกันในช่วงสั้นๆ ไม่มีความหมายมากมายนัก นอกจากได้สร้างความสนใจวิชาการการตลาด และกลยุทธ์ทางธุรกิจฝังในความคิดของเขามากกว่าความเข้าใจสังคมอเมริกัน โดยเฉพาะผลงานเขียนหนังสือที่ว่าด้วยกลยุทธ์ร่วมกับศาสตราจารย์ที่มีชื่อเสียงแห่งสหรัฐฯ เป็นสิ่งอ้างอิงที่มีค่ามาก

สมคิดกลับเมืองไทยในฐานะนักเรียนนอก ในช่วงที่เมืองไทยกำลังเปลี่ยนแปลงโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ ภายหลังสงครามเวียดนามต่อเนื่องเข้าสู่ยุค เศรษฐกิจบูมช่วงหนึ่ง ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัย ที่จบปริญญาเอกที่สำคัญ ชีวิตการต่อสู้ดิ้นรนในชีวิต ทำให้เขามีความเข้าใจผู้คนต่างๆ ได้อย่างมาก บุคลิกที่นุ่มนวล เข้ากับคนได้ดี กลายเป็นลักษณะพิเศษอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ผู้คนที่รู้จักจะชอบเขาเป็นพิเศษเสมอ

บัณฑูร ล่ำซำ เริ่มทำงานที่ธนาคารกสิกรไทย ที่ดูเหมือนจะเป็นเส้นทางที่ถูกกำหนดไว้แล้วอย่างเคร่งครัด ในฐานะทายาทคนต่อไปของธนาคารแห่งนี้ ในช่วงปี 2522-2535 เป็นช่วงของการเรียนรู้และสะสมประสบการณ์ระบบธนาคารพาณิชย์ ภายใต้การดูแลของบิดา - บัญชา ล่ำซำ อย่างดี

แม้ในช่วงนั้นธนาคารกสิกรไทย เครือข่ายธุรกิจแวดล้อมธนาคารจะเติบโตไปอย่างมาก แต่บัณฑูรกลับให้ความสนใจอย่างเข้มข้นในบทบาทของเขาที่วางไว้แล้ว นั่นคือนำพาธนาคารให้เจริญก้าวหน้าต่อไปในยุคของเขา ซึ่งมีแรงกดดันไม่น้อย เนื่องจากบิดาของเขาทำฐานไว้อย่างดี ดังนั้นเขาจึงศึกษาระบบธนาคารไทยอย่างถึงแก่น ภาพธนาคารในความคิดของเขาเริ่มกระจ่างชัด และเมื่อถึงช่วงบริหารเขาก็รู้ทันทีว่าระบบธนาคารไทยไม่ได้เข้มแข็ง ในฐานะเป็นธุรกิจวงในของสังคมไทยแต่อย่างใด

นั่นคือที่มาของผู้บริหารธนาคารคนแรกที่ปรับระบบธนาคารไทยเข้าสู่ระบบธนาคารสากล ในยุคที่ธนาคารไทยต้องปรับตัวอย่างรุนแรงครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เมื่อเผชิญการแข่งขันกับระบบธนาคารโลกได้ ธนาคารกสิกรไทยจึงเป็นธนาคารแรก ที่ทำได้ โดยบุคคลผู้นี้ซึ่งให้ความสำคัญกับระบบธุรกิจแบบเดิมของเอเชียหรือกงสีน้อยมาก

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ แม้จะอยู่วงนอกสังคม ธุรกิจไทย แต่ก็เป็นวงนอกที่กำลังมีโอกาสครั้งใหญ่ สถานการณ์ขณะนั้นสังคมไทยกำลังแง้มประตูเปิดโอกาสให้ "ผู้มาใหม่" มากขึ้น อย่างน้อย 2 มิติ ตลาดหุ้นภายหลังวิกฤติในปี 2522-2527 แล้วค่อยปรับตัวอย่างช้าๆ ในทิศทางที่ดีขึ้น ขณะเดียวกัน "ความรู้การบริหารธุรกิจสมัยใหม่" เป็นกระแสสังคม ในช่วงนั้น สนับสนุนโอกาสของ "ผู้มาใหม่" ในการสร้างองค์กรที่มีความพร้อมกับโอกาสที่เปิดขึ้น

สมคิดเข้าไปเป็นที่ปรึกษาของธุรกิจที่สำคัญหลายแห่ง พร้อมกับความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้มีบทบาทเปิดประตูตลาดหุ้นให้กับ "ผู้มาใหม่" ปรัชญาและความคิดสอดคล้องกับการแสวงหาโอกาสใหม่ของคนเช่นเขา ไม่นานจากนั้น สมคิดก็เข้าไปอยู่ในวงในของ "ผู้มาใหม่" ในสังคมยุคนั้น และเมื่อธุรกิจ เติบโตจากโอกาสใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตของสถาบันการเงินหรือธุรกิจโทรคมนาคม สมคิดได้ยืนตรงกลางของความเติบโตนั้นแล้ว เขาเป็นนักวิชาการเพียงคนเดียวก็ว่าได้ ที่เข้าไปอยู่ใจกลางของโอกาสใหม่ทางธุรกิจ แม้เพียงในฐานะที่ปรึกษาก็ตาม

มีสิ่งหนึ่งที่คนทั้งสองคล้ายๆ กัน เขาเข้าใจ กระแสสังคมไทยมากทีเดียว บัณฑูรมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสื่อมวลชน เช่นเดียวกับสมคิด เพราะทั้งสองเข้าใจว่านี่คือวิธีหนึ่งในการเข้าถึงกระแสสังคมได้ดี แต่เส้นทางจากนั้นดูมีทางแยกพอสมควร

บัณฑูรเข้าถึงสังคมในวงกว้าง ขณะที่สมคิด สร้างเครือข่ายวงใน บัณฑูรจับกระแสต่างๆ ที่เข้าถึง "ความรู้สึก" ของสังคม ไม่ว่าการให้ธนาคารกสิกรไทยทุกสาขาชักธงชาติ ในช่วงสังคมไทยมีกระแสในเชิงต่อต้านการเข้ามาของอิทธิพลต่างชาติ ในช่วงวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งรณรงค์โครงการช่วยเหลือเด็กที่เพิ่งทำไป บทบาท ในการแสดงออกของเขาในแต่ละช่วง ไม่ว่าการให้สัมภาษณ์หรือปาฐกถา บัณฑูร ล่ำซำ จะมีวิธีคิด ที่เข้าถึงกระแสสังคมอย่างดี ว่าไปแล้ว เขาก็น่าจะเป็นนักบริหารธุรกิจที่มีความเป็น "ดารา" มากที่สุดคนหนึ่งในสังคมไทย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นวิเคราะห์ได้ว่า จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตามภาพที่เห็นนี้ส่งผลถึง "ภาพพจน์" ที่ดีของธนาคารกสิกรไทย ซึ่งมีประโยชน์ต่อธุรกิจทั้งระยะสั้นและยาวทั้งสิ้น

ขณะที่สมคิด หลังจาก "ก้าวกระโดด" มา สู่ตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง ในรัฐบาลของผู้มาใหม่ของสังคมไทยในยุค 2 ทศวรรษมานี้ ซึ่งเป็นโมเดลความสำเร็จที่สำคัญของคนรุ่นใหม่ที่สร้างโอกาสได้อย่างรวดเร็วนั้น เขาพยายามสร้างเครือข่ายวงใน เข้าถึงวงในมากขึ้น จากกลุ่ม "ผู้มาใหม่" เชื่อมไปสู่กลุ่มรากฐานเดิมของสังคมไทย ไม่เพียงเท่านั้น ความคิดเชิงกลยุทธ์ได้ถูกนำมาใช้ทางการเมือง เขากำลังเข้าถึงวงในระบบการเมืองของ ไทยต่อไป

นี่คือคนสองคนที่ผู้คนในสังคมไทยกำลังติดตาม เฝ้ามอง และศึกษาอย่างตั้งใจ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.