ชุมพล ณ ลำเลียง โชว์ผลงานปูนใหญ่ไตรมาสแรก


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

การแถลงข่าวครั้งนี้มีความหมายมากสำหรับชุมพล ณ ลำเลียงเพราะมันย่อมหมายถึงการกำหนดกระบวนยุทธ์ต่างๆ ของเขากับทีมงานบริหารชุดใหม่นั้น ไม่ผิดพลาด เมื่อผนวกรวมไปกับตัวเลขส่งออกที่เพิ่มขึ้น ผลผลึกที่ออกมาก็คือ ในไตรมาสแรกของปีนี้บริษัทมีกำไรสุทธิถึง 2,489 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งขาดทุนไป 1,136 ล้านบาท รายได้รวมสูงถึง 33,258 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน ถึง 40 % หรือ 9,508 ล้านบาท มียอดขายรวม 32,741 ล้านบาทเพิ่มขึ้น จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 40% เป็นยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น 33% และยอดขายต่างประเทศเพิ่มขึ้น 64%

กำไรของปูนใหญ่มาจากสินค้าหลักๆ 3 ตัว คือ ปูนซิเมนต์ ปิโตรเคมี และกระดาษ ปูนซิเมนต์นั้นมียอดขาย 6,014 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% เป็นผลจากการส่งออกเพิ่มขึ้น แต่ความต้องการปูนซิเมนต์ในประเทศนั้น เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเพียง 1-2% เท่านั้น ส่วนแนวโน้มทั้งปี ชุมพลยืนยันว่าไม่เกิน 5%

ปิโตรเคมี มียอดขาย 10,563 ล้านบาท ปีที่แล้วในช่วงเดียวกันมียอดขายเพียง 3,361 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากโรงงานโอเลฟินส์ และพีทีเอ เดินเครื่องผลิตเต็มที่ ประกอบกับสินค้าปิโตรเคมีเองก็ได้ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก

ส่วนกระดาษมียอดขาย 6,291 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิม 40% เป็นเพราะความต้องการตลาดในต่างประเทศเพิ่มขึ้น

บริษัทยังมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนรวมทั้งค่าใช้จ่ายจากการปรับโครงสร้างธุรกิจก็ลดลงมาก ในปี 2542 ที่ผ่านมา ปูนใหญ่ได้ขายเงินลงทุนทั้งหมด หรือเกือบทั้งหมดในหลายบริษัทออกไป เช่น บริษัทกระจกสยาม การ์เดียน บริษัทเทียนจินซิเมนต์ไทยยิปซั่ม โปรดักส์ จำกัด บริษัทสยามมากอต โต จำกัด Lamosa Revestimientos S.A. de C.V. TileCera,Inc. Tile Cera Distributing,Inc.

ชุมพลยอมรับว่าปูนใหญ่ยังมีสินทรัพย์อีกมาก ที่ต้องการขายโดยเฉพาะที่ดิน เพียงแต่ว่าต้องรอเวลา เพราะขณะนี้ มีแต่ชาวต่างชาติที่ต้องการของถูกและกดราคาอย่างหนัก

นอกจากนี้การที่บริษัทได้ออกหุ้นกู้ไม่เกิน 50,000 ล้านบาท เมื่อเดือนมีนาคม 2543 และบริษัทได้ออกหุ้นกู้ล็อตแรก มูลค่า 25,000 ล้านบาท เพื่อแปลงหนี้จากต่างประเทศเป็นเงินบาท และยืดการชำระหนี้จากระยะสั้น เป็นระยะยาวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ต่างประเทศลดลงเป็นร้อยละ 32 ของหนี้ทั้งหมด หรือ 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีหนี้ต่างประเทศ 75% หรือ 3,700 ล้านเหรียญสหรัฐ

ปัจจุบันปูนซิเมนต์มีภาระหนี้สิน ประมาณ 175,000 ล้านบาท แต่ละปี ปูนใหญ่จะคืนเงินกู้ได้ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท เพราะฉะนั้น แต่ละปีดอกเบี้ยจะลดลงประมาณ 1,500 ล้านบาท

"เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เราง้อสถาบันการเงินมากเลยนะ ไม่ให้ดึงเงินกู้เราคืน แต่ตอนนี้เขากลับบอกเราว่าอย่าเพิ่งคืนเงิน เพราะกลัวจะไม่ได้ดอกเบี้ยงามๆ" ชุมพลเล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.