ล็อกซเล่ย์ หนุนสร้างเด็กสมองใส


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

ขณะที่ประเทศไทยของเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุค “นิกส์” เทคโนโลยีนำสมัยในประเทศกลับเป็นความศิวิไลซ์สำเร็จรูปที่ต้อง “อิมปอร์ต” มาด้วย จำนวนเงินมหาศาล จึงนับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่บริษัทล็อกซเล่ย์และกรมอาชีวศึกษาได้จับมือกันสร้างสนามประลองกำลังปัญญาให้กับเยาวชนไทย ในโครงการ “ประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่” ซึ่งเขาเหล่านี้อาจจะเป็นความหวังใหม่ให้แดนสยามแห่งนี้เป็น “นิกส์” ได้อย่างเต็มภาคภูมิ

เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า บริษัทล็อกซเล่ย์เป็นเครือบริษัทที่มีสินค้าอยู่เป็นจำนวนมาก เรียกกันว่าขายตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องอุปโภคในชีวิตประจำวัน วัสดุก่อสร้าง เคมีภัณฑ์เครื่องใช้สำนักงาน เครื่องจักรอุตสาหกรรมอาวุธยุทโธปกรณ์ จนไปถึงโครงการทางด่วนพิเศษเลยทีเดียว ซึ่งจะสังเกตได้ว่าเป็นสินค้าไฮเทคโนโลยีเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งคุณหญิงชัชนี จาติกวณิช ผู้เคยกุมบังเหียนบริษัทแห่งนี้ได้พูดเอาไว้ว่า

“ไฮ เทคโนโลยี เป็นของที่จำเป็นประเทศไทยต้องไปทางนั้นเพราะเริ่มอินดัสเตรียลไลซ์และเป็นของที่ต้องเป็นคนมีทุนทำ หาความรู้ใหม่ๆเข้ามาทรานส์เฟอร์เทคโนโลยีใหม่ๆได้ ไม่ใช่ใครก็เอาเข้ามาได้ง่ายๆ...” เมื่อเป็นเช่นนี้การที่บริษัทล็อกซเล่ย์ เข้ามาให้การสนับสนุนโครงการนี้จึงเป็นการยิงลูกศรที่ตรงเป้ายิ่งนัก

ธงชัย ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการบริษัท ล็อกซเล่ย์(กรุงเทพฯ) เปิดเผยกับ “ผู้จัดการ” ว่าการเข้ามาสนับสนุนโครงการนี้บริษัทไม่ได้มุ่งหวังผลงานของนักศึกษามากนัก เพียงต้องการกระตุ้นให้เกิดความสนใจในการคิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆขึ้นมา โดยล็อกซเล่ย์ได้มอบเงินทุนจำนวน 3 แสนบาทเพื่อเป็นเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายในการจัดงานให้กับกรมอาชีวศึกษา

แต่แม้ว่าธงชัยจะต้องการเพียงเป็นแรงกระตุ้น แต่ผลงานของนักศึกษาเทคโนฯที่นำมาแสดงเป็นตัวอย่างก็น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว อาทิ เขากบมหัศจรรย์ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการบรรเทาสาธารณภัย เครื่องควบคุมไฟฟ้าในบ้านทางโทรศัพท์ DTMF เปลอัตโนมัติที่จะไกวเองเมื่อมีเสียงเด็กร้อง เครื่องตรวจจับก๊าซคลอรีนหมอนลมอาชีวะ เป็นต้น แต่ที่แปลกใหม่และคงไม่มีประเทศใดคิดทำก็คงจะเป็น เครื่องตำส้มตำของนักศึกษาช่างคิดจากวิทยาลัยเทคนิคลพบุรี

“ผลงานเหล่านี้ เขาใช้เวลาว่างจากการตีกันมาค้นคิด...” อาทร จันทวิมลรองอธิบดีกรมอาชีวศึกษา กล่าวอย่างติดตลกกับ “ผู้จัดการ” ผลงานที่นำเข้าประกวดนั้น อาทรชี้แจงว่าไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งประดิษฐ์คิดค้นกันใหม่ทั้งหมด อาจเป็นการลอกเลียนแบบมาหรือลอกไอเดียต่างประเทศมาก็ได้ ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใดแต่ที่สำคัญต้องประดิษฐ์เอง โดยจำกัดวงเงินไว้ไม่เกินชิ้นละ 2 หมื่นบาท

การประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่นี้จะมีการคัดเลือกจากวิทยาลัยในสังกัดกรมอาชีวศึกษา 5 ภาคทั่วประเทศ โดยแบ่งชิ้นงานออกเป็น 4 ประเภทคือ เครื่องอำนวยความสะดวกภายในบ้านและสำนักงาน เครื่องกลอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกลการเกษตร และอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย ซึ่งทั้งหมดจะนำมาแสดงในงาน “ศิลปหัตถกรรมและอาชีวศึกษา ครั้งที่ 43” อันเป็นงานที่กรมอาชีวศึกษาจัดมาเป็นประจำทุกปี

“ก่อนนี้เด็กเราประดิษฐ์รถสะเทินน้ำสะเทินบกขึ้นมา ก็เคยนำไปใช้ตอนน้ำท่วมเคยคิดค้นรถพลังแกลบ ก็ได้นำไปใช้ในโครงการพระราชดำริและโครงการ อิสานเขียวด้วย...” อาทร บรรยายสรรพคุณของสิ่งประดิษฐ์ที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริงให้ฟัง ธงชัยคงจะเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งถึงได้หลุดปากมาว่า “ถ้าเป็นไปได้ก็อาจจะเอามาผลิตในแง่อุตสาหกรรมแล้วติดตราล็อกซเล่ย์ก็ได้...” ก็คงต้องรอดูกันต่อไปอาจจะมีเครื่องตำส้มตำตราล็อกซเล่ย์ก็ได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.