อุดมศิลป์ ศรีบัว กับงาน "ลายรดน้ำ"

โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

งานศิลปะแนวทางสมัยใหม่ ที่เดินทางข้ามพรมแดน ได้รับการต้อนรับอย่างรวดเร็วจากผู้คนรุ่นใหม่ จนทำให้งานศิลปะไทยถูกลืมจนแทบจะเลือนหายไปกับกาลเวลา

ลายรดน้ำ เป็นภาพจิตรกรรมอีกประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา เสน่ห์ของลายรดน้ำ อยู่ที่ลวดลายอันอ่อนช้อย สวยงาม เนื้อทองคำแท้ ยิ่งทำให้ค่าของงานสูงส่งอลังการยิ่งขึ้น สมัยเก่าก่อนนิยม ทำไว้เป็นตู้เพื่อใช้ในราชสำนัก สำหรับใส่สิ่งของผ้าผ่อน ต่อมาเมื่อนำมาถวายวัด กลายเป็นตู้พระธรรม เพื่อเก็บ คัมภีร์คำสอนทางพุทธศาสนา

ภาพของสัตว์ตัวเล็ก เช่น นก กระรอก ประกอบ อยู่บนใบช่อ และกิ่งก้านของต้นไม้ ผสมผสานกับลายกนกที่สะบัดพลิ้วอย่างสวยงามเหมือนมีชีวิตเหล่านั้น ได้ซึมซาบเข้าไปในจิตวิญญาณของ อุดมศิลป์ ศรีบัว ตั้งแต่เล็กๆ เมื่อได้มีโอกาสติดตามไปเห็นผู้เป็นพ่อซึ่งทำงานเป็นจิตรกร รับเขียนผนังโบสถ์ตามวัดต่างๆ ทาง ภาคเหนือ และได้มีโอกาสเรียนรู้ และฝึกปรือฝีมือ จน กระทั่งย่างเข้าวัยรุ่นอายุประมาณ 15 ปี ก็สามารถช่วย เขียนภาพลายไทยช่วยผู้เป็นพ่อได้อย่างสวยงาม

เมื่อมีโอกาสเข้ามาศึกษาต่อที่สถาบันราชมงคล ทั้งๆ ที่ใจชอบงานทางด้านศิลปะไทย แต่อุดมศิลป์กลับเลือกเรียนจิตรกรรมสากลตามเพื่อนๆ ส่วนใหญ่ และหาเงินเรียนหนังสือด้วยการไปรับจ้างเขียนภาพจิตรกรรรมพุทธประวัติตามผนังโบสถ์ ซึ่งมีลายรดน้ำบ้างแต่ไม่มากนัก รวมทั้งไปเปิดร้านเขียน ภาพล้อ ภาพลายเส้น อยู่ที่ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค จนกระทั่งหันมาสนใจทำลายรดน้ำอย่างจริงจัง เมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา

ขั้นตอนของการทำลายรดน้ำเพื่อให้ได้งานออกมาแต่ละชิ้นนั้นก็น่าพิศวงยิ่งกว่า เพราะนอกจากต้องใช้ฝีมือ ความชำนาญของช่างแล้ว คนทำยังยึดกรรมวิธีแบบโบราณที่สืบต่อมาจากบรรพบุรุษนานหลายร้อยปี

เริ่มจากการออกแบบลายไทยบนกระดาษไขแล้วใช้เข็มปรุลายตามรอย จากนั้นเอาลูกประคบที่ได้มาจากดินสอพองไปประคบกับแบบให้ทั่ว และเตรียมตัดเส้นในสมัยโบราณนั้นช่างจะใช้สีหินหรดาล ซึ่งเป็นก้อนสีเหลืองป่นละเอียด ปัจจุบันหาได้ยากขึ้นจึงต้องเปลี่ยนเป็นสีโปสเตอร์แทน

แต่ที่น่าสนใจก็คือ ยังมีเทคนิคของการเอาน้ำกาวกระถินมาเคี่ยวใช้กับสีเพื่อให้เกิดความ เหนียว เมื่อเริ่มหนืดก็จะใช้น้ำส้มป่อยมาผสม หลังจากนั้นช่างก็จะถมพื้นด้วยสีเหลือง ขั้นตอน ต่อไป เอายางรักมาเช็ดให้ทั่วตามพื้นที่ที่ถมด้วยสีเหลือง ก่อนที่จะเช็ดรักทิ้งไป แล้วใช้ทองคำแท้ แผ่นละประมาณ 3-4 บาท แปะให้ทั่ว เกลี่ยให้เรียบ และใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ ชุบน้ำแปะลง ฉีดน้ำเลี้ยงไปเรื่อยๆ จนกว่ากระดาษ และสีเหลืองที่ลงไว้ตั้งแต่ตอนแรกหลุดตามออกมา

"สูตรโบราณพวกนี้ ตอนเรียนไม่ได้เรียน เพราะผมไม่ได้เรียนศิลปะไทย ตอนเด็กตอนพ่อเขียนโบสถ์ ก็มีช่างพวกนี้เข้าไปแจมด้วยการแปะทองลงรัก ก็เห็นมาตั้งแต่เด็ก ผมก็เป็นประเภทครูพักลักจำ ส่วนพ่อก็คลุกคลี กับงานพวกนี้ จะคอยบอกเทคนิคตามที่เห็นกันมาบ้าง"

ขั้นตอนดังกล่าวหากทำบานประตูสูงประมาณ 1 เมตร โดยเริ่มจากการลอกลาย จะใช้เวลาประมาณ 1 อาทิตย์ แต่หากลวดลายยากก็อาจจะใช้เวลานานกว่านี้

"สำหรับลวดลายที่ใช้ จะขึ้นอยู่กับเจ้าของงาน ว่า ต้องการลายไทยแบบไหน อาจจะมีการประยุกต์บ้างเพื่อให้ได้สัดส่วนกับชิ้นงานที่ทำ แต่ก็ยังยึดลายโบราณเป็นหลักไม่ได้หนีของเก่ามาก เพราะมันจะมีแบบแผน บังคับอยู่ เช่น เครือเถาจะขึ้นอย่างไร จบอย่างไร"

ในยุคที่กระแสวัฒนธรรมไทยกำลังมาแรงในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานี้ งานของเขามีอย่างต่อเนื่องทำทั้งประตู ตู้ และฉาก รวมทั้งฝาผนังตามวัดต่างๆ โดยมีทีมงานช่วยทั้งหมดประมาณ 6 คน การคิดราคา การตั้งราคา และศึกษาในเรื่องสัญญา เป็นสิ่งที่เขาจำเป็นต้องเรียนรู้

"ราคามาตรฐานไม่มีใครรู้ ขึ้นอยู่กับความพอใจของคนซื้อ และคนทำ ดูเรื่องแบบความยากง่ายของลาย ขนาด ค่าแรง ค่าเวลา ค่าอุปกรณ์ เป็นงานที่อาจจะมีราคาแพงพอสมควรเหมือนกัน คิดราคาเป็นตารางเมตรๆ ละ 15,000 บาท ไม่รวมค่าไม้ ค่าทองแผ่น เป็นค่าทำ ค่าแรง อย่างเช่น ประตูบานใหญ่ๆ กี่ตารางเมตร ก็ว่าไป มาบวกกับค่าแบบยากง่าย แค่ไหน ราคาต้องเพิ่มเป็นเท่าไร" ดังนั้นลูกค้าที่เข้ามานอกจากจะต้องมีเงินแล้ว จะต้องเป็นคนที่มีใจรัก และศรัทธาที่จะส่งเสริมศิลปะไทยให้สืบทอดไปอีกนานแสนนานด้วย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.